xs
xsm
sm
md
lg

เจอปัญหาอีก! นาซาเลื่อนปล่อยจรวด SLS ไปดวงจันทร์เป็นรอบที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นาซาเมื่อวันเสาร์ (3 ก.ย.) ยกเลิกความพยายามหนที่ 2 ในการนำจรวดใหม่ความสูงเท่าตึก 30 ชั้น ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าและพาแคปซูลทดสอบที่ไม่มีลูกเรือมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ หลังจากวิศวกรตรวจพบปัญหาเชื้อเพลิงรั่ว

ผู้คนหลายล้านทั่วโลก และฝูงชนจำนวนมากรวมตัวกันบริเวณชายหาดต่างๆ ในฟลอริดา หวังเป็นสักขีพยานการพุ่งทะยานครั้งประวัติศาสตร์ของจรวด Space Launch System (SLS) แต่ปัญหาเชื้อเพลิงรั่วใกล้ฐานร่างของจรวดถูกพบตอนที่กำลังเติมไฮโดรเจนเหลวเย็นจัด

"คำสั่งปล่อยจรวดภายใต้ภารกิจ Artemis I launch ในวันนี้ถูกยกเลิก" นาซาระบุในถ้อยแถลง "มีความพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อจัดการกับพื้นที่รั่วไหล แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้"

วิคเตอร์ โกลเวอร์ มนุษย์อวกาศให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า "การเลื่อนหนล่าสุดนี้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง หลังคุณเกิดการรั่วไหลลักษณะนี้ มันเป็นกลไกที่ซับซ้อนเหลือเชื่อ เมื่อคุณเลื่อน ผู้คนควรมีความเชื่อมั่น ไม่ใช่เสียความเชื่อมั่น"

การเลื่อนปล่อยจรวดหนแรกเมื่อวันจันทร์ (29 ส.ค.) มีขึ้นหลังจากวิศวกรตรวจพบเชื้อเพลิงรั่วไหล และเซ็นเซอร์ตัวหนึ่งโชว์ว่าหนึ่งในเครื่องยนต์หลัก 4 ตัวของจรวดนั้นร้อนเกินไป

ความพยายามปล่อยจรวดอีกครั้งอาจมีขึ้นในวันจันทร์ หรือวันอังคารหน้า แต่นาซาจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลจากเที่ยวบินที่ต้องละทิ้งไปหนล่าสุดก่อน แล้วถึงค่อยตัดสินใจ

หลังจากวันอังคาร (6 ก.ย.) จรวดจะถูกลากกลับไปยังอาคารประกอบของมันเพื่อทำการตรวจสอบ ส่วนทีมบริหารภารกิจจะประชุมกันในบ่ายวันเสาร์ (3 ก.ย.) และจะเปิดแถลงข่าวในภายหลัง โดยทาง บิล เนลสัน ผู้บริหารของนาซา เผยว่า พวกเขาจำเป็นต้องหาข้อสรุปว่าจะสามารถพยายามปล่อยจรวดอีกครั้งเร็วๆ นี้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เนลสัน กล่าวผ่านเครือข่ายวิดีโอภายในของนาซา ว่า การปล่อยจรวดอาจถูกพักไปจนกระทั่งช่วงกลางเดือนตุลาคม เพราะว่าในช่วงต้นเดือนหน้า ลูกเรือจะใช้ศูนย์อวกาศเคนเนดีเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

ก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ (3 ก.ย.) ชาร์ลี แบล็คเวลล์-ธอมป์สัน ผู้อำนวยการการปล่อยจรวด สั่งเดินหน้าภารกิจด้วยการเติมเชื้อเพลิงเย็นจัดไครโอเจนิกเข้าสู่ถังเชื้อเพลิงของจรวด

เจ้าหน้าที่เตรียมเติมไฮโดรเจนเหลวเย็นจัดราว 3 ล้านลิตร และออกซิเจนเข้าสู่ยานอวกาศ แต่สุดท้ายแล้วไม่นานกระบวนการดังกล่าวก็ประสบปัญหา

จุดประสงค์ของภารกิจ Artemis I คือทดสอบว่าแคปซูล Orion ซึ่งติดตั้งอยู่บนจรวด SLS มีความปลอดภัยสำหรับบรรทุกมนุษย์อวกาศในอนาคตหรือไม่

มันจะใช้เวลานานหลายวันก่อนที่ยานอวกาศจะเดินทางไปถึงดวงจันทร์ และจะบินห่างจากดวงจันทร์ในระยะใกล้ที่สุดราวๆ 100 กิโลเมตร

การเดินทางครั้งนี้คาดหมายว่าจะใช้เวลาราวๆ 6 สัปดาห์ และหนึ่งในจุดประสงค์หลักของมันคือทดสอบโล่ป้องกันความร้อนของแคปซูล ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 ฟุต ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา

ในขากลับสู่ชั้นบรรยากาศโลก โล่ป้องกันความร้อนจำเป็นต้องทนต่อความเร็วระดับ 40,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอุณหภูมิ 2,760 องศาเซลเซียส หรือราวๆ ครึ่งหนึ่งของความร้อนของดวงอาทิตย์

Artemis ตั้งชื่อตามน้องสาวฝาแฝดของเทพเจ้าอะพอลโล ตำนานเทพกรีก ซึ่งชื่อของเทพเจ้าองค์นี้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อภารกิจเยือนดวงจันทร์ครั้งแรกของสหรัฐฯ

ภารกิจอะพอลโล มีเพียงมนุษย์อวกาศผู้ชายผิวขาวที่ขึ้นไปยังดวงจันทร์ระหว่างปี 1969 ถึง 1972 แต่ภารกิจ Artemis จะพบเห็นบุคคลผิวสีรายแรก และผู้หญิงคนแรกได้เหยียบย่างบนพื้นผิวของดวงจันทร์

ความสำเร็จของภารกิจ Artemis I จะสร้างความโล่งใจใหญ่หลวงแก่หน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯ หลังประสบปัญหาล่าช้ามานานหลายปีและงบประมาณบานปลาย

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น