มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตซึ่งปิดฉาก “สงครามเย็น” ลงโดยปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ ถึงแก่อสัญกรรมแล้วเมื่อวันอังคาร (30 ส.ค.) ในวัย 91 ปี ขณะที่ผลงานทางการเมืองของเขายังคงจุดประเด็นถกเถียงไม่รู้จบว่า ท้ายที่สุดแล้วเขาควรจะถูกเรียกว่าเป็น “วีรบุรุษ” หรือว่า “คนทรยศ” กันแน่?
กอร์บาชอฟ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 และคนสุดท้ายที่ปกครองสหภาพโซเวียตเมื่อช่วงปี 1985-1991 ได้ทำสนธิสัญญาลดอาวุธกับสหรัฐฯ และจับมือเป็นหุ้นส่วนกับมหาอำนาจตะวันตกเพื่อสลาย “ม่านเหล็ก” ที่แบ่งแยกยุโรปมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วยให้เยอรมนีตะวันตกและตะวันออกกลับมารวมกันเป็นประเทศเดียว
อย่างไรก็ดี การปฏิรูปในยุคของ กอร์บาชอฟ ก็มีส่วนทำให้สหภาพโซเวียตอ่อนแอลงจนถึงขั้นล่มสลายในที่สุด
โรงพยาบาลเซ็นทรัลคลินิก (Central Clinical Hospital) ในกรุงมอสโกระบุในถ้อยแถลงว่า “มิคาอิล กอร์บาชอฟ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว หลังมีอาการป่วยหนักและเรื้อรังมานาน” ขณะที่ ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ระบุว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของอดีตผู้นำคนสำคัญ และได้มีการส่งจดหมายแสดงความอาลัยไปยังครอบครัวของ กอร์บาชอฟ ด้วย
ผู้นำรัฐบาลทั่วโลกต่างส่งสาส์นไว้อาลัยต่อการจากไปของ กอร์บาชอฟ โดย อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า กอร์บาชอฟ ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 1990 "เป็นผู้เบิกทางให้ยุโรปก้าวสู่ยุคแห่งเสรี" ขณะที่นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ชี้ว่า “ความพยายามอย่างไม่ย่อท้อของ กอร์บาชอฟ ที่จะทำให้สหภาพโซเวียตกลายเป็นสังคมเปิด ยังคงแบบเป็นอย่างให้แก่พวกเราทุกคน”
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวสดุดี กอร์บาชอฟ ว่าเป็น “ผู้นำที่หาได้ยาก” ซึ่งมีส่วนทำให้โลกนี้ปลอดภัยขึ้น
“สิ่งเหล่านี้คือการกระทำของผู้นำที่หาได้ยาก ผู้ที่มีจินตนาการมองเห็นว่าอนาคตที่แตกต่างนั้นเป็นไปได้ และมีความกล้าหาญพอที่จะเอาอาชีพการงานทั้งหมดเข้าแลกเพื่อให้ได้มันมา” เขากล่าว
“และผลที่ได้รับก็คือ โลกที่ปลอดภัยกว่าเดิม และเสรีภาพที่กว้างไกลยิ่งขึ้นสำหรับประชากรหลายล้านคน”
ไบเดน บอกด้วยว่า นโยบายกลาสนอสต์ (glasnost) และเปเรสตรอยกา (perestroika) ของ กอร์บาชอฟ ซึ่งสื่อความหมายถึง “ความเปิดกว้าง” และ “การปรับโครงสร้าง” ไม่ใช่แค่เพียงสโลแกนที่ฟังดูสวยหรู หากแต่เป็นหนทางที่ทำให้ชาวโซเวียตก้าวเดินไปข้างหน้า หลังจากถูกโดดเดี่ยวและกีดกันมานานหลายปี
หลังจากความตึงเครียดและการเผชิญหน้าหลายสิบปีในยุคสงครามเย็น กอร์บาชอฟ ถือเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตที่มีแนวทางเชื่อมสัมพันธ์กับโลกตะวันตกมากที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
“เขาได้มอบเสรีภาพให้แก่ประชากรหลายร้อยล้านคน ทั้งในรัสเซียและดินแดนโดยรอบ รวมถึงครึ่งหนึ่งของยุโรป” กรีกอรี ยาฟลินสกี อดีตผู้นำฝ่ายค้านรัสเซียให้ความเห็น “มีผู้นำเพียงไม่กี่คนในประวัติศาสตร์ที่มีอิทธิพลตัดสินความเป็นไปในยุคสมัยเช่นเขา”
กระนั้นก็ตาม มรดกที่ กอร์บาชอฟ ทิ้งไว้ให้แก่รัสเซียกลับพังทลายลงในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา โดยเฉพาะหลังจากที่ ปูติน ส่งกองทัพรุกรานยูเครน จนทำให้รัสเซียเผชิญมาตรการคว่ำบาตรอย่างหนักจากสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก ในขณะที่นักการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มกลับมาพูดถึง “สงครามเย็น” ครั้งใหม่
“การจากไปของ กอร์บาชอฟ ในช่วงเวลานี้นับว่ามีนัยสำคัญ เพราะผลงานและเสรีภาพที่เขาทุ่มเททำมาทั้งชีวิตได้ถูกทำลายลงแล้วอย่างสิ้นเชิงโดย ปูติน” อันเดร โคเลสนิคอฟ นักวิจัยอาวุโสจากมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ระบุ
- ‘วีรบุรุษ’ หรือ ‘คนทรยศ’?
แม้โลกตะวันตกจะยกย่อง กอร์บาชอฟ ว่าเป็นผู้นำโซเวียตที่ช่วยยุติสงครามเย็น แต่คนรัสเซียส่วนใหญ่กลับมองว่าเขาเป็นนักการเมืองที่ “ไร้เดียงสา” และทำให้มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่อย่างสหภาพโซเวียตต้องล่มสลาย เผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจนานหลายปี ถูกประชาคมโลกเยาะเย้ยถากถาง และสูญเสียอิทธิพลในทางภูมิรัฐศาสตร์ไปเกือบจะหมดสิ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ไม่พอใจนโยบายกดขี่ผู้ต่อต้านและปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของรัฐบาล ปูติน กลับเห็นว่า กอร์บาชอฟ เป็น “นักประชาธิปไตย” และเป็นอดีตผู้นำที่พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
ทำเนียบเครมลินได้ออกแถลงการณ์สดุดี มิคาอิล กอร์บาชอฟ ว่าเป็น “รัฐบุรุษระดับโลกที่ไม่ธรรมดา” ซึ่งช่วยปิดฉากสงครามเย็นลงได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็วิจารณ์ว่าเขา “คิดผิดอย่างมหันต์” ที่หวังว่าความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับ “พวกตะวันตกกระหายเลือด” จะหมดไป
ถ้อยแถลงนี้สะท้อนความเจ็บปวดของ ปูติน เกี่ยวกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 ภายใต้การนำของกอร์บาชอฟ โดย ปูติน เองย้ำมาโดยตลอดว่ามันคือ “หายนะทางภูมิรัฐศาสตร์” ครั้งเลวร้ายที่สุดในศตวรรษที่ 20 และตัวเขาเองปรารถนาที่จะนำพารัสเซียย้อนกลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง หากสามารถทำได้
ปูติน ยังเคยกล่าวไว้ว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียต “คือการแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ของรัสเซียในประวัติศาสตร์” ที่ดำรงคงอยู่ยาวนานมากว่า 1,000 ปี
ในจดหมายที่ส่งถึงครอบครัวของ กอร์บาชอฟ เมื่อวันพุธ (31) ปูติน ซึ่งเป็นอดีตสายลับ KGB ได้แสดงความเสียใจต่อการจากไปของอดีตผู้นำ พร้อมยกย่อง กอร์บาชอฟ ว่า “มีอิทธิพลอย่างสูงต่อประวัติศาสตร์โลก” และเป็นผู้นำที่พยายาม “เสนอทางเลือกและการปฏิรูปต่างๆ ให้สหภาพโซเวียต” ในยุคนั้น
อย่างไรก็ตาม เขาหลีกเลี่ยงที่จะไม่ประเมินผลงานของ กอร์บาชอฟ ว่าดีหรือไม่อย่างไร ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการตอบแทนที่ กอร์บาชอฟ เองก็ไม่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ปูติน จนถึงขั้นตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม (legitimacy) ในการเป็นผู้นำของเขา
ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกของปูติน ออกมาใช้คำพูดที่ตรงยิ่งกว่า โดยระบุว่าแม้ กอร์บาชอฟ จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษผู้ยุติสงครามเย็น แต่บทบาทของเขาในประวัติศาสตร์ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
“ท่านต้องการเชื่อว่าสงครามเย็นจะยุติลงได้จริง และมันจะนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งความโรแมนติกอันเป็นนิรันดร์ ระหว่างสหภาพโซเวียตใหม่กับทั่วโลกและตะวันตก” เขากล่าว
“แต่ความคิดโรแมนติกของท่านนั้นผิดพลาด ช่วงเวลาโรแมนติก หรือการฮันนีมูน 100 ปี ไม่เคยเกิดขึ้นจริง และพวกศัตรูได้สำแดงสัญชาติญาณกระหายเลือดออกมาอีกครั้ง โชคยังดีที่พวกเราตระหนักรู้ และเข้าใจมันอย่างทันท่วงที”
ปูติน กล่าวหาองค์การสนธิสัญญาแอนแลนติกเหนือ (นาโต) ว่าละเมิดสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะไม่ขยายอิทธิพลไปทางตะวันออก ซึ่งเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากตอนที่ กอร์บาชอฟ ได้เจรจากับ เฮลมุต โคห์ล นายกฯ เยอรมนีในขณะนั้น เกี่ยวกับการรวมเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน ซึ่งในตอนนั้นว่ากันว่าผู้นำตะวันตกหลายคน รวมถึง เจมส์ เบเกอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ให้สัญญาปากเปล่ากับผู้นำโซเวียตว่านาโตจะไม่ขยายดินแดนไปทางตะวันออก “แม้แต่นิ้วเดียว”
ปูติน เคยออกมาตำหนิ กอร์บาชอฟ หลายครั้งที่ไม่ได้เรียกร้องให้ตะวันตกทำสัญญาข้อนี้แบบ “เป็นลายลักษณ์อักษร” และเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่รบกวนความสัมพันธ์รัสเซีย-ตะวันตกมานานหลายสิบปี กระทั่งความตึงเครียดได้ถูกบ่มเพาะจนถึงจุดระเบิด เมื่อรัสเซียตัดสินใจส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.
ปูติน เคยทวงสัญญาข้อนี้จากตะวันตกหลายครั้ง รวมถึงสุนทรพจน์ที่มีชื่อเสียงของเขาระหว่างการประชุมด้านความมั่นคงที่มิวนิกเมื่อปี 2007 ซึ่ง ปูติน เรียกร้องให้ชาติตะวันตกต้องรับผิดชอบกับการ “กลืนน้ำลายตัวเอง”
กอร์บาชอฟ มีอาการป่วยเรื้อรัง และแทบไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนมานานหลายปี แต่ก็มีบางครั้งที่เขาออกคำแถลงวิงวอนให้โลกตะวันตกและตะวันออกฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และพยายามสนับสนุนการเจรจาระหว่างวอชิงตันกับมอสโกในประเด็นอาวุธนิวเคลียร์
ในช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิต กอร์บาชอฟ ไม่เคยออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนเกี่ยวกับสงครามในยูเครน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า เขามีความเห็นสอดคล้องกับผู้นำรัสเซียคนปัจจุบันที่มองว่ายูเครนซึ่งเป็นหนึ่งใน 15 อดีตรัฐโซเวียต ควรจะ “อยู่ในวงโคจร” ของรัสเซียต่อไป โดยเคยให้สัมภาษณ์สื่ออยู่ครั้งหนึ่งว่า “มันอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่เราเป็นประชากรกลุ่มเดียวกัน”
กอร์บาชอฟ ยังแสดงท่าทีสนับสนุนปฏิบัติการยึดคาบสมุทรไครเมียเมื่อ 2014 แต่ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไซบีเรียว่า “ควรจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายขั้นสุด” และ “สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นเรื่องไร้สาระ”
สื่อรัสเซียอ้างข้อมูลจากบุตรสาวและมูลนิธิของ กอร์บาชอฟ ว่า พิธีศพจะจัดขึ้นที่ Hall of Columns ภายในอาคาร House of Unions กรุงมอสโก ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ จากนั้นร่างของอดีตผู้นำโซเวียตคนสุดท้ายจะถูกนำไปประกอบพิธีฝังที่สุสานโนโวเดวิชี (Novodevichy Cemetery) เคียงข้างกับนาง “ไรซา” ภรรยาผู้ล่วงลับไปก่อนเมื่อปี 1999
พาเวล พาลาซเชนโก หัวหน้าฝ่ายสื่อสารมวลชนของมูลนิธิกอร์บาชอฟ ระบุว่า จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมพิธีการของทำเนียบเครมลินเข้ามาดูแลเรื่องพิธีศพภายใน Hall of Columns แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะถึงขั้นเป็น “รัฐพิธี” หรือไม่