เรือบรรทุกเครื่องบิน “วิกรานต์” (Vikrant) ซึ่งอินเดียผลิตเองในประเทศลำแรก ถูกส่งเข้าประจำการแล้ววันนี้ (2 ก.ย.) ในความพยายามของรัฐบาลนิวเดลีที่จะเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อคานอำนาจกองเรือขนาดใหญ่ของ “จีน” รวมไปถึงยกระดับอุตสาหกรรมต่อเรือในแดนภารตะ
ไอเอ็นเอส “วิกรานต์” ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤตแปลว่า “ทรงพลัง” หรือ “กล้าหาญ” ถือเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ที่ถูกส่งเข้าประจำการในกองทัพอินเดีย ตามหลังเรือไอเอ็นเอส “วิกรมาทิตย์” (INS Vikramaditya) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินยุคโซเวียตที่อินเดียซื้อต่อมาจากรัสเซียเมื่อปี 2004 เพื่อใช้สำหรับลาดตระเวนป้องกันน่านน้ำแถบมหาสมุทรอินเดีย และอ่าวเบงกอล
เรือ “วิกรานต์” ความยาว 262 เมตร ถูกออกแบบโดยกองทัพเรืออินเดีย และผลิตขึ้นที่อู่ต่อเรือโคชิน (Cochin) ทางตอนใต้ของประเทศ
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เป็นประธานในพิธีขึ้นระวางประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินวิกรานต์ ซึ่งตรงกับช่วงครบรอบ 75 ปีที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ
โมดี ย้ำว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่นี้นอกจากจะเพิ่มแสนยานุภาพทางทะเลให้กองทัพอินเดียแล้ว ยังสะท้อนว่าอินเดียได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่มีศักยภาพผลิตเรือบรรทุกเครื่องบินใช้เองได้
วิกรานต์ ยังถือเป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดที่อินเดียเคยสร้างมา โดยสามารถบรรทุกลูกเรือได้ 1,600 คน รวมถึงเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์อีก 30 ลำ
กระทรวงกลาโหมอินเดียยืนยันว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในอินเดียเกิน 75% โดยมีบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 6 ราย และธุรกิจรายย่อยอีกกว่า 100 รายที่ผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรกลต่างๆ ส่งให้กองทัพ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมชี้ว่า โครงการต่อเรือวิกรานต์ที่ล่าช้ากว่ากำหนด 6 ปี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตพุ่งขึ้นไป 6 เท่าตัว และอยู่ที่ราวๆ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กองทัพอินเดียเตรียมจะทดลองนำฝูงบินขับไล่ MiG-29K ขึ้นและลงจอดบนเรือวิกรานต์ และคาดว่าเรือบรรทุกเครื่องบินระวางขับน้ำ 47,400 ตันลำนี้จะพร้อมปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2023
อินเดียยังมีแผนที่จะนำเครื่องบินรบหลายรุ่นขึ้นไปประจำการบนเรือวิกรานต์ ในจำนวนนี้รวมถึงเครื่องบินขับไล่ Rafale-M ที่ผลิตโดยบริษัท ดัสโซลต์ (Dassault) ของฝรั่งเศส และ F/A-18 Block III Super Hornet จากค่ายโบอิ้ง
ที่มา : AP