เกาหลีเหนือแสดงความสนใจส่งแรงงานก่อสร้างไปช่วยฟื้นฟูดินแดนยึดครองของรัสเซียทางตะวันออกของยูเครน ผู้เชี่ยวชาญชี้เปียงยางอาจมีเป้าหมายไกลกว่าแค่รายได้จากการส่งออกแรงงาน แต่หวังผลในการกระชับความร่วมมือกับมอสโก และปักกิ่งเพื่อร่วมกันต่อต้านอิทธิพลของอเมริกา และส่งเสริมระบบโลกหลายขั้วด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำมอสโกได้พบตัวแทนจาก 2 กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน และกล่าวถึงการร่วมมือในด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน
การหารือดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเมื่อเดือนกรกฎาคม เกาหลีเหนือเป็นประเทศเดียวนอกจากรัสเซียและซีเรียที่ยอมรับการประกาศเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ในดอนบาส
อย่างไรก็ดี การว่าจ้างแรงงานเกาหลีเหนือไปทำงานในดอนบาส จะเป็นการละเมิดมติแซงก์ชันเกาหลีเหนือของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จากการที่โสมแดงเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของตน
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนสงสัยว่า เกาหลีเหนือจะส่งแรงงานเข้าไปยังดอนบาสได้อย่างไรทั้งที่การสู้รบยังดุเดือด และตะวันตกจัดส่งอาวุธช่วยยูเครนไม่หยุดหย่อน แต่พวกเขามองว่า มีแนวโน้มสูงที่เปียงยางจะสามารถส่งแรงงานไปหลังจากการสู้รบในดอนบาสเบาบางลง เพื่อหาเงินจุนเจือเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือที่เสื่อมทรุดมานานจากมาตรการแซงก์ชัน การปิดพรมแดนสู้โควิด และการบริหารจัดการผิดพลาดตลอดหลายทศวรรษ
นอกจากนั้น การส่งออกแรงงานยังสนับสนุนยุทธศาสตร์ระยะยาวของโสมแดงในการกระชับความร่วมมือกับรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นส่วนใหม่ที่มีเป้าหมายในการลดอิทธิพลอเมริกาในเอเชีย
มารัต คัสนูลลิน รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวว่า บริษัทก่อสร้างเกาหลีเหนือได้เสนอตัวช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสงครามในดอนบาส และรัสเซียยินดีต้อนรับแรงงานเกาหลีเหนือ
การเปิดเผยดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนอย่างชัดเจนของรัสเซีย หลังจากเมื่อปลายปี 2017 มอสโกสนับสนุนมาตรการแซงก์ชันครั้งใหม่ของคณะมนตรีความมั่นคง ต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งเรียกร้องให้ชาติสมาชิกยูเอ็นขับแรงงานเกาหลีเหนือทั้งหมดออกจากประเทศภายใน 24 เดือน
ลิม ซูโฮ นักวิเคราะห์อาวุโสของสถาบันเพื่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองที่ดำเนินการโดยหน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้ ชี้ว่า สำหรับรัสเซีย แนวคิดในการว่าจ้างแรงงานเกาหลีเหนือไปฟื้นฟูเมืองหลังสงครามควรค่าอย่างยิ่ง เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมาคนงานก่อสร้างเกาหลีหนือจำนวนมากไปทำงานที่รัสเซียซึ่งมีความต้องการแรงงานเหล่านี้สูงมากเนื่องจากค่าแรงถูกและทำงานมีคุณภาพ
ทั้งนี้ แม้รัสเซียส่งแรงงานเกาหลีเหนือกลับประเทศก่อนถึงเส้นตายของยูเอ็นในเดือนธันวาคม 2019 ทว่า ยังคงมีแรงงานส่วนหนึ่งที่ไม่ทราบจำนวนแน่นอนทำงานอยู่ในรัสเซียหรือตกค้างอยู่ที่นั่น หลังจากเกาหลีเหนือปิดพรมแดนป้องกันโควิด
กัง ดงวาน ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือของมหาวิทยาลัยดงอาในเกาหลีใต้ มองว่า เกาหลีเหนืออาจเคลื่อนย้ายแรงงานหลายร้อย หรือกระทั่งหลายพันคนไปยังดอนบาสได้อย่างง่ายดาย หากตัดสินใจใช้แรงงานที่ยังทำงานอยู่ในรัสเซียขณะนี้
กระนั้น ยังไม่ชัดเจนว่า ดอนบาสจะเป็นแหล่งรายได้ที่ดีสำหรับเกาหลีเหนือหรือไม่ เนื่องจากรัสเซียเองขาดแคลนเงินสดอันเป็นผลจากมาตรการแซงก์ชันสถาบันการเงินของรัสเซีย ขณะที่เกาหลีเหนือไม่อยากได้เงินรูเบิลเพราะกังวลเกี่ยวกับอำนาจซื้อ
อย่างไรก็ตาม ลิมเชื่อว่า เปียงยางอาจยินดีรับค่าตอบแทนเป็นอาหาร เชื้อเพลิง และเครื่องจักรกลแทน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนละเมิดมาตรการแซงก์ชันของยูเอ็น
ขณะเดียวกัน ฮอง มิน นักวิเคราะห์อาวุโสของสถาบันเพื่อการรวมชาติของเกาหลีใต้ ระบุว่า เปียงยางอาจมีเป้าหมายไกลกว่าแค่รายได้จากการส่งออกแรงงาน
เขาแจงว่า การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ของอเมริกากับจีน และการเผชิญหน้ากับรัสเซีย ช่วยลดความกดดันต่อเกาหลีเหนือที่หันมาร่วมมือกับมอสโกและปักกิ่งมากขึ้นเพื่อร่วมกันต่อต้านอิทธิพลของอเมริกา และส่งเสริมระบบโลกหลายขั้ว
นอกจากนั้น เปียงยางยังอาศัยสงครามในยูเครนเร่งพัฒนาอาวุธ และฟื้นการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปในปีนี้ โดยมุ่งใช้ประโยชน์จากความแตกแยกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำให้รัสเซียและจีนซึ่งต่างมีสิทธิยับยั้งไม่สนับสนุนญัตติของสหรัฐฯ ซึ่งต้องการขยายมาตรการแซงก์ชันเกาหลีเหนือ
มอสโกและเปียงยางยังเห็นพ้องกันในนโยบายสำคัญหลายอย่าง โดยเกาหลีเหนือกล่าวหาอเมริกาซ้ำๆ ว่า เป็นต้นเหตุวิกฤตยูเครน และว่า นโยบายความเป็นเจ้าโลกของตะวันตกเป็นเหตุผลที่ทำให้การปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนมีความชอบธรรม
ขณะเดียวกัน รัสเซียเฝ้าประณามการฟื้นการซ้อมรบร่วมขนาดใหญ่ระหว่างเกาหลีใต้กับอเมริกาในปีนี้ โดยกล่าวหาว่า ทั้ง 2 ประเทศต้องการยั่วยุเปียงยางและทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น
นัม ซุงวุก ศาสตราจารย์แผนกการรวมชาติและการทูตของมหาวิทยาลัยโคเรียในเกาหลีใต้ ทิ้งท้ายว่า แม้ต้องจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ แต่เกาหลีเหนืออาจส่งแรงงานกลุ่มเล็กๆ ไปทำภารกิจสำรวจศึกษาสถานการณ์ในดอนบาสในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า และค่อยๆ เพิ่มจำนวนคนงานโดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การสู้รบ ซึ่งสุดท้ายตัวเลขอาจจบที่ 10,000 คน
(ที่มา : เอพี)