xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’ไม่ลืม ‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ คนทำให้สหภาพโซเวียตพังครืน ขณะ‘ตะวันตก’ชูบทบาทยุติสงครามเย็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตถึงแก่อสัญกรรมแล้วเมื่อวันอังคาร (30 ส.ค.) ในวัย 91 ปี เขาเป็นที่จดจำกันในโลกตะวันตก ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการปิดฉาก “สงครามเย็น” โดยปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ ขณะที่ภายในประเทศเอง มรดกที่เขาทิ้งเอาไว้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน จากการที่เขาเป็นบิดาของนโยบายปฏิรูปทางการเมืองและสังคม ทว่าเขาก็คือผู้ที่นั่งเป็นประมุขในเวลาที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย

กอร์บาชอฟ ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐคนที่ 8 ของสหภาพโซเวียต แต่เป็นคนเดียวและคนสุดท้ายซึ่งดำรงตำแหน่งที่ใช้ชื่อว่าประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต ได้ทำสนธิสัญญาลดอาวุธกับสหรัฐฯ และจับมือเป็นหุ้นส่วนกับมหาอำนาจตะวันตกเพื่อสลาย “ม่านเหล็ก” ที่แบ่งแยกยุโรปมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วยให้เยอรมนีตะวันตกและตะวันออกกลับมารวมกันเป็นประเทศเดียว

อย่างไรก็ดี การปฏิรูปภายในประเทศในยุคของ กอร์บาชอฟ ก็มีส่วนทำให้สหภาพโซเวียตอ่อนแอลงจนถึงขั้น “ล่มสลาย” ในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน เรียกว่าเป็น “หายนะทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุด” ของโลกในศตวรรษที่ 20

โรงพยาบาลเซ็นทรัลคลินิก ในกรุงมอสโกระบุในถ้อยแถลงเมื่อคืนวันอังคาร (30 ส.ค.) ว่า “มิคาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในคืนนี้ หลังมีอาการป่วยหนักและเรื้อรังมานาน”

สำนักข่าวทาสส์รายงานว่า ร่างของอดีตผู้นำคนสุดท้ายของโซเวียตจะถูกนำไปประกอบพิธีฝังที่สุสานโนโวเดวิชี เคียงข้างกับนาง “ไรซา” ภรรยาผู้ล่วงลับไปก่อนเมื่อปี 1999

ผู้นำรัฐบาลโลกตะวันตกต่างส่งสาส์นไว้อาลัยต่อการจากไปของ กอร์บาชอฟ โดย อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า กอร์บาชอฟ ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 1990 "เป็นผู้เบิกทางให้ยุโรปก้าวสู่ยุคแห่งเสรี” ขณะที่นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ชี้ว่า “ความพยายามอย่างไม่ย่อท้อของ กอร์บาชอฟ ที่จะทำให้สหภาพโซเวียตกลายเป็นสังคมเปิด ยังคงแบบเป็นอย่างให้แก่พวกเราทุกคน”

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวคำอาลัยต่อการจากไปของอดีตผู้นำโซเวียตรายนี้ โดยระบุว่า ตนเชื่อว่า “กลาสนอสต์ (glasnost) และ เปเรสตรอยกา (perestroika) ซึ่งหมายถึง “ความเปิดกว้าง” และ “การปรับโครงสร้าง” ไม่ใช่แค่เพียงสโลแกน หากแต่เป็นหนทางที่ทำให้ชาวสหภาพโซเวียตก้าวเดินไปข้างหน้า หลังจากที่ถูกโดดเดี่ยวและกีดกันมานานหลายปี”

ผู้นำสหรัฐฯ ยังกล่าวชื่นชม กอร์บาชอฟ ว่าเป็น “ผู้นำที่หาได้ยาก” ซึ่งมีส่วนทำให้โลกนี้ปลอดภัยขึ้น

“สิ่งเหล่านี้คือการกระทำของผู้นำที่หาได้ยาก ผู้ที่มีจินตนาการมองเห็นว่าอนาคตที่แตกต่างนั้นเป็นไปได้ และมีความกล้าหาญพอที่จะเอาอาชีพการงานทั้งหมดเข้าแลกเพื่อให้ได้มันมา”

“และผลที่ได้รับก็คือ โลกที่ปลอดภัยกว่าเดิม และเสรีภาพที่กว้างไกลยิ่งขึ้นสำหรับประชากรหลายล้านคน”

ทั้งนี้หลังจากความตึงเครียดและการเผชิญหน้าหลายสิบปีในยุคสงครามเย็น กอร์บาชอฟ ได้นำสหภาพโซเวียตเข้าใกล้ตะวันตกมากที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สำหรับปฏิกิริยาจากทางรัสเซียนั้น อาร์ที สื่อทีวีของทางการรัสเซีย ระบุในรายงานข่าวของตนว่า นโยบายต่างๆ ของกอร์บาชอฟทำให้เขาได้รับความนิยมชมชื่นในโลกตะวันตก แต่ในประเทศของเขาเองนั้น เขายังคงเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งแม้กระทั่งถึงทุกวันนี้ เขาได้รับยกย่องจากคนจำนวนมากสำหรับความริเริ่มลดกำลังอาวุธของเขา, การรวมประเทศเยอรมนี, การกระตุ้นส่งเสริมให้ “ม่านเหล็ก” พังทลายลงมา และการยุติสงครามเย็น เช่นเดียวกับการอนุญาตให้พวกประเทศยุโรปตะวันออกมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง

อย่างไรก็ตาม อดีตผู้นำโซเวียตผู้นี้ก็ประสบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก ส่วนใหญ่จากในประเทศของเขาเอง จากผู้ที่เชื่อว่านโยบายต่างๆ ของเขาได้สร้างความอ่อนแอให้แก่สหภาพโซเวียต ตลอดจนรัสเซีย ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบทอดต่อจากโซเวียต รวมทั้งนโยบายต่างๆ ของกอร์บาชอฟ ยังเป็นสาเหตุสำคัญทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย

นักวิพากษ์วิจารณ์บางคนกล่าวย้ำเป็นพิเศษว่า จากการที่กอร์บาชอฟผลักดันความริเริ่มต่างๆ ในการลดกำลังอาวุธของเขา รวมทั้งที่เป็นการลงมือกระทำเพียงลำพังฝ่ายเดียวด้วย เขาก็ได้บ่อนทำลายแสนยานุภาพทางทหารและทางอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียต ขณะที่คนอื่นๆ กล่าวหาอดีตผู้นำโซเวียตผู้นี้ว่าล้มเหลวในในการป้องกันไม่ให้นาโต้แผ่ขยายมาทางตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็กำลังมาจ่ออยู่ที่ชายแดนของรัสเซีย

ทางด้าน ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ระบุว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้แสดงความ “เสียใจอย่างสุดซึ้ง” ต่อการจากไปของอดีตผู้นำคนสำคัญ และในเวลาต่อมา ปูติน ได้กล่าวในโทรเลขแสดงความไว้อาลัยส่งถึงครอบครัวของกอร์บาชอฟ โดยบอกว่า “กอร์บาชอฟเป็นนักการเมืองและรัฐบุรุษ ผู้ซึ่งสร้าผลกระทบอย่างใหญ่โตต่อเส้นทางเดินของประวัติศาสตร์โลก เขานำพาประเทศชาติของเราในระหว่างช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างน่าตื่นใจและสลับซับซ้อน รวมทั้งมีปัญหาท้าทายขนาดใหญ่ทั้งด้านนโยบายการต่างประเทศ, เศรษฐกิจ, และสังคม”

ปูตินบอกด้วยว่า กอร์บาชอฟ “มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง” ว่าระบบโซเวียตจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูป และ "พยายามอย่างหนกที่จะเสนอหนทางแก้ไขต่างๆ ของเขาต่อปัญหาเร่งด่วนทั้งหลาย”

สำหรับ เปสคอฟ ยังได้ไปพูดในเวทีประชุมแห่งหนึ่งในกรุงมอสโกเมื่อวันพุธ (31) ว่า ความคาดหวังของกอร์บาชอฟที่จะ “โรมานซ์” กับฝ่ายตะวันตกนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุผล และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขภายใต้ปูติน

“เขาจริงใจที่ต้องการจะเชื่อว่าสงครามเย็นจะยุติลง และที่ว่ามันจะนำทางไปสู่ยุคแห่งความโรมานซ์รักใคร่กันไปตลอดกาลระหว่างสหภาพโซเวียตใหม่กับโลก –โลกตะวันตก” เปสคอฟ กล่าว

“ความคิดโรแมนติกเช่นนี้ไม่สมเหตุสมผล มันไม่มียุคโรแมนติกใดๆ ทั้งนั้น ช่วงฮันนีมูนก็ไม่มีผลดีอะไรออกมา และแล้วความกระหายเลือดของพวกปรปักษ์ของเราก๋แสดงตัวออกมาให้เห็น ดีน่ะที่เราตระหนักถึงความจริงนี้ได้อย่างทันกาลและเข้าอกเข้าใจมัน” เขากล่าวต่อ

(ที่มา: รอยเตอร์, อาร์ที)


กำลังโหลดความคิดเห็น