xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าหญิงไดอานา ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย ปิดฉากไป 1 เสี้ยวศตวรรษ แต่ยังไร้เฉลย เธอถูกฆาตกรรมอำพราง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าหญิงไดอานางดงามน่ารักเกินกว่าที่จะอดใจไม่รักได้ไหว การจากโลกไปก่อนวัยอันควรเป็นความสูญเสียที่ปวดร้าวอยู่ในดวงหทัยของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ บุรุษสูงศักดิ์ผู้อ่อนไหวตามประสาชายชาวราศีพิจิก หนึ่งเสี้ยวศตวรรษผ่านไป แต่ความผูกพันและรำลึกถึงกันยังมีให้ได้ยิ้มเศร้าๆ แบบคิดถึงทุกปีในวันที่ 31 สิงหาคมนั่นเอง
ผู้คนจำนวนมหาศาลยังจำได้ว่า ช็อกมาก เมื่อทราบข่าวมรณกรรมน่าสลดใจของเจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงของประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากอุบัติเหตุรถเมอร์เซเดสพุ่งอัดก๊อปปี้กับเสาค้ำอุโมงค์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และการลาจากโลกของเธอได้เวียนมาครบรอบ 25 ปีในวันนี้ (31 สิงหาคม)

สตรีสูงศักดิ์ด้วยชาติกำเนิดแห่งบรรดาศักดิ์ คุณหญิง หรือก็คือ เลดี้ไดอานา ผู้เป็นคุณครูวัยทีนเอจที่น่ารักด้วยบุคลิกเขินอายภายในโรงเรียนเนอสเซอรี ได้เจริญวุฒิภาวะขึ้นเป็นเซเลบคนดังก้องโลกด้วยความเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระชายาของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ รัชทายาทลำดับที่หนึ่งแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ เธอเปี่ยมล้นด้วยความเชื่อมั่นในพลังสร้างสรรค์ และก้าวออกมารณรงค์ให้ชาวโลกตื่นตัวกับทุกข์ของผู้ป่วยโรคเอดส์ ตลอดจนปัญหากับระเบิด

แต่แล้ว ณ วัยเพียง 36 กะรัต อันเป็นห้วงเวลาหนึ่งปีกว่าๆ ที่ได้หย่าร้างอย่างเป็นทางการ แยกขาดจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และกำลังใช้ชีวิตอิสระกับรักใหม่โดยไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เฉกเช่นที่เคยเป็นมา เจ้าหญิงไดอานาผู้เป็นปรินเซสที่ปราศจากบรรดาศักดิ์ Her Royal Highness - พระองค์เจ้า จำต้องจากโลกไปอย่างปุบปับ ในชะตากรรมที่สุดแสนจะดราม่า ซึ่งเรียกน้ำตาจากแฟนคลับจำนวนมหาศาล

โดดี ฟาเยด เพื่อนชายคนสนิทที่คบหาดูใจอยู่กับเจ้าหญิงไดอานา ราว 7 สัปดาห์ก่อนเกิดอุบัติเหตุครั้งรายแรงนี้ โดยความสนิทชิดเชื้อระหว่างกันทวีตัวรวดเร็ว ดังเห็นได้จากจดหมายน้อยที่เจ้าหญิงไดอานาเขียนหาโดดี จะบอกรักกันอย่างออดอ้อนอ่อนหวาน  ในภาพนี้ที่บันทึกไว้เมื่อ 22 สิงหาคม 1997 ทั้งสองเดินเคียงกันที่รีสอร์ทในเฟรนช์ริเวียรา
“เมื่อนึกถึงบารมีอันมากมายที่เธอสร้างสมขึ้นมา การจากไปอย่างปุบปับด้วยอุบัติเหตุอันน่าสลดใจ ในวัยที่ยังเปี่ยมด้วยพละกำลังนี้ มันเป็นเรื่องน่าตกใจใหญ่หลวงสำหรับประชาชนครับ” เอ็ด โอเวนส์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของอังกฤษกล่าวถึงชะตากรรมของเจ้าหญิงไดอานาไว้อย่างนั้น

บารมีดังกล่าวของเจ้าหญิงแห่งดวงใจประชาชน ตั้งอยู่บนความรักท่วมท้นที่ชาวอังกฤษและชาวโลกมอบแก่เธอ ดังปรากฏว่าผู้คนหลั่งไหลไปแสดงความอาลัยแด่เธอ ณ วังเคนซิงตันอันเป็นนิวาสสถานซึ่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงประทานให้เธอพำนักอาศัยอย่างสมเกียรติแม้กระบวนการหย่าร้างเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ปลายปี 1996 (แล้วทรงพาพระโอรสทั้งสองพระองค์ย้ายไปพักอาศัยที่วังบังกิงแฮมกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง)

เจ้าหญิงไดอานาได้รับความรักเปี่ยมล้นจากดวงใจประชาชน ไม่ว่าเธอจะทำสิ่งใด ก็ล้วนแต่น่านิยมชมชื่น กระทั่งการที่เธอผิดประเวณี มีการลักลอบได้เสียกับชู้รักหลายรายขณะที่สถานภาพสมรสยังดำรงอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนเห็นใจว่าเธอต้องการความรักมาเยียวยาจากการที่ถูกเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทอดทิ้ง หรือแม้แต่ในช่วงที่เธอแยกทางกับพระสวามี เธอสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งนานหลายปีอยู่กับศัลยแพทย์ที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว แฟนคลับก็ยังเอาใจช่วยเธอด้วยความรักและสงสารเจ้าหญิงแสนดีของประชาชน นับเป็นบารมีที่พิเศษเฉพาะตัวของเจ้าหญิงไดอานาโดยแท้

เจ้าหญิงไดอานาเป็นความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษ ประชาชนชื่นชมความงามสง่าและน้ำใจอันเปี่ยมเมตตาของเจ้าหญิงไดอานา ในภาพนี้ เจ้าหญิงเข้าร่วมพิธีต้อนรับที่จัดโดยประธานาธิบดีริชาร์ด ฟอน ไวซซาเกอร์ แห่งเยอรมนี ที่กรุงบอนน์เมื่อ 2 พฤศจิกายน 1987
เลดี้ไดอานามีวาสนาสูง ได้ครองดวงใจเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ แล้วอัพเลเวลสู่ ว่าที่ราชินี - เจ้าหญิงที่ประชาชนรักยิ่ง

ในปี 1981 เมื่อมีการเปิดตัวให้ประชาชนได้ทราบว่าเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ ธิดาของเอิร์ลจอห์น สเปนเซอร์ เป็นพระคู่หมั้นของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์นั้น ไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าไดอานาจะเป็นเจ้าหญิงที่ท้าทายต่อพระราชประเพณีต่างๆ เพราะเธอมีบุคลิกที่อ่อนหวานและเขินอาย

เลดี้ไดอานาอยู่ในระบบการศึกษาถึงอายุแค่ 16 ปีและสอบไม่ผ่านโอเลเวลถึงสองครั้ง หลังจากนั้น จึงไปเข้าเรียนฟินนิชชิ่งคอร์ส ที่สวิตเซอร์แลนด์หนึ่งเทอม ซึ่งเป็นคอร์สฝึกอบรมการเป็นนายหญิงของครอบครัวผู้ร่ำรวยด้วยเงินทองและบรรดาศักดิ์ แล้วจึงกลับสู่กรุงลอนดอน และเริ่มชีวิตการทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กและคุณครูโรงเรียนเนอสเซอรี

เลดี้ไดอานาเข้าสู่สายพระเนตรของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในช่วงครึ่งหลังของปี 1980 และได้เป็นพระคู่หมั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1981 สาธารณชนให้การตอบรับอย่างอบอุ่นต่อข่าวที่เธอก้าวเข้าสู่พระราชวงศ์อังกฤษ เธอกลายเป็นเซเลบคนดังที่ผู้คนนิยมชมชื่นอย่างรวดเร็ว ในพระราชพิธีอภิเสกสมรส เมื่อ 29 กรกฎาคม 1981 ณ มหาวิหารเซนต์ปอล ผู้คนทั่วสหราชอาณาจักรและทั่วโลกแฮปปี้อย่างยิ่งกับการเฝ้าชมถ่ายทอดสดพระราชพิธี

ขณะที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีพระหทัยรักใคร่ผูกพันเหนียวแน่นกับนางคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ ผู้เชี่ยวชาญข้อมูลราชวงศ์เห็นพ้องกันว่าพระองค์ทรงมีพระทัยรักใคร่ในพระชายาไดอานาอย่างมากมาย ผู้เชี่ยวชาญบางรายฟันธงว่าทรงตัดใจจากเจ้าหญิงไดอานาเพราะทรงรับไม่ได้ในเรื่องชายชู้  ภาพหวานชื่นบานนี้บันทึกไว้ในวันประกาศข่าวการทรงหมั้นหมายกับเลดี้ไดอานา เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 1981

เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ในวัย 19 กะรัต เมื่อปี 1980 อันเป็นช่วงปลูกต้นรักระยะแรกๆ กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์  ภาพนี้บันทึกไว้ที่โรงเรียนอนุบาลในเซนต์จอร์จสแควร์ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของเจ้าหญิงไดอานาในฐานะคุณครู
ชีวิตใหม่ในฐานะเจ้าหญิงแห่งเวลส์เต็มไปด้วยการถูกผู้สื่อข่าวติดตามถ่ายภาพในทุกหนแห่งซึ่งเธอไป เอพีรายงานว่าขณะที่เจ้าหญิงไดอานาเกลียดการถูกกองทัพนักข่าวและช่างภาพล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวนั้น เจ้าหญิงก็ได้เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากนักข่าว ซึ่งเจ้าหญิงได้ใช้สื่อมวลชนในการโปรโมทให้ผู้คนใส่ใจกับปัญหาสังคม ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อเจ้าหญิงเป็นประธานพิธีเปิดหอผู้ป่วยสำหรับคนไข้โรคเอดส์โดยเฉพาะ เป็นแห่งแรกของอังกฤษในวันที่ 9 เมษายน 1987

เจ้าหญิงไดอานาสร้างความประทับใจใหญ่หลวงในหมู่ประชาชนเมื่อเธอนั่งใกล้ชิดและจับมือผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งเป็นการสาธิตให้เห็นว่าเชื้อไวรัสมิได้ติดต่อกันผ่านสัมผัส ภาพถ่ายกิจกรรมดังกล่าวปรากฏไปทั่วโลก และช่วยขจัดความกลัวและความรังเกียจที่สังคมมีต่อผู้ติดเชื้อเอดส์

หนึ่งทศวรรษต่อมา คือในต้นปี 1997 ซึ่งเจ้าหญิงไดอานาหย่าร้างจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แล้ว เธอไปเยือนประเทศแองโกลา เธอแต่งกายทะมัดทแมงและสวมแจ็กเกตต่อต้านการใช้กับระเบิด เธอลงเดินในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสนามรบและเคยเต็มไปด้วยกับระเบิด เพื่อส่งเสริมผลงานการเคลียร์กับระเบิดขององค์การฮาโลทรัสต์ที่ปฏิบัติงานเก็บกู้กับระเบิดออกจากอดีตพื้นที่สงคราม

เอพีเล่าว่าเมื่อเจ้าหญิงไดอานาลงเดินบนพื้นที่ซึ่งเคยมากมายด้วยกับระเบิด แต่ช่างภาพไม่เข้าใจสัญลักษณ์นี้ เธอเดินกลับลงไปบนพื้นที่ดังกล่าวอีกรอบหนึ่ง

ภาพถ่ายกิจกรรมดังกล่าวของเจ้าหญิงไดอานาช่วยดึงความสนใจของนานาชาติมายังการรณรงค์กำจัดระเบิดมากมายที่ฝังอยู่ใต้ดินแม้ว่าศึกสงครามจบสิ้นไปนานแสนนานแล้ว กับระเบิดเหล่านี้เป็นต้นเหตุให้ประชาชนรวมถึงเด็กๆ จำนวนมากมายต้องพิการเท้าขาดและขาด้วนโดยไม่ใช่ที่อย่างยิ่ง ปัจจุบันนี้ มีประเทศต่างๆ 164 ชาติร่วมลงนามในสนธิสัญญาห้ามการใช้กับระเบิด

หนึ่งในกิจกรรมเพื่อมนุษยชาติที่เจ้าหญิงไดอานามีส่วนร่วมคือการช่วยรณรงค์ให้มีการจัดการแก้ปัญหากับระเบิดซึ่งถูกฝังในพื้นที่การสู้รบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมในสนธิสัญญาไม่ใช้กับระเบิดเป็นอาวุธในการต่อสู้ระหว่างกัน ในภาพนี้ที่บันทึกไว้เมื่อ 14 มกราคม 1997 เจ้าหญิงไดอานาสนทนากับเด็กและเยาวชนผู้พิการขาด้วนเท้าขาด ในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่กรุงลูอันดา ประเทศแองโกลา  ความดีงามของเจ้าหญิงส่งผลให้เธอเป็นที่รักของประชาชนในสหราชอาณาจักร

เจ้าหญิงไดอานาสร้างความประทับใจใหญ่หลวงในหมู่ประชาชนเมื่อเธอสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเอดส์ ที่สถานพยาบาลฟาบัน เมืองเซาเปาลู ประเทศบราซิล ทั้งนี้ เจ้าหญิงสาธิตให้เห็นว่าเชื้อไวรัสมิได้ติดต่อกันผ่านสัมผัส ภาพถ่ายกิจกรรมนี้ ณ 24 เมษายน 1991 ปรากฏแพร่ไปทั่วโลก และช่วยขจัดความกลัวและความรังเกียจที่สังคมมีต่อผู้ติดเชื้อเอดส์

เจ้าหญิงไดอานาทุ่มเทมากมายกับกิจกรรมเพื่อมนุษยชน ในภาพนี้ซึ่งบันทึกเมื่อ 17 มิถุนายน 1997 เธอเยือนสภากาชาดในกรุงวอชิงตัน โดยมีกำหนดพบปะหารือกับเอลิซาเบธ โดล ประธานกาชาดอเมริกัน ในประเด็นการแก้ปัญหากับระเบิด
เลดี้ไดอานาได้เป็นเจ้าหญิงไม่ยากเย็น แต่ไม่อาจปรับตัวเข้ากับพระสวามี หมดโอกาสเป็นราชินี จากโลกไปในอาการบาดเจ็บสาหัส

“ตอนที่ดิฉันเริ่มได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ดิฉันเข้าใจดีว่าสื่อมวลชนสนใจในสิ่งที่ดิฉันทำ แต่ตอนนั้น ดิฉันยังไม่ตระหนักว่าความสนใจจากสื่อมวลชนสามารถสร้างผลกระทบได้อย่างท่วมท้นเพียงใด อีกทั้งยังไม่ตระหนักว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวของดิฉันอย่างเหลือเกิน ขนาดที่ว่ามันยากจะอดทนได้” เจ้าหญิงไดอานากล่าวไว้ในปี 1993

และแล้วผลกระทบดังกล่าวได้แผลงฤทธิ์ครั้งสำคัญต่อชีวิตส่วนตัวของเจ้าหญิงไดอานา

โดยในยามดึกดื่นของคืนที่ 30 สิงหาคม 1997 กลุ่มช่างภาพปาปารัสซีผู้กระหายจะมีผลงานรูปถ่ายเด็ดๆ ปักหลักกันที่ด้านนอกโรงแรมริทซ์โฮเทลในกรุงปารีส รอคอยโอกาสที่จะได้ถ่ายรูปเจ้าหญิงไดอานากับเพื่อนชายคนสนิท โดดี ฟาเยด ในช่วงที่ทั้งสองออกจากห้องอาหารของโรงแรมและเดินทางกลับ

ทั้งนี้ พนักงานขับรถเมอร์เซเดสเบนซ์ของโดดี ฟาเยด ใช้ความเร็วสูงมากเพื่อขับเคลื่อนรถให้พ้นจากการติดตามของบรรดาช่างภาพ และเมื่อรถลีมูซีนมรณะคันนี้ขับเข้าสู่ทางอุโมงค์ลอดใต้สะพานปองต์เดอลัลมา รถเสียหลักพุ่งเข้าชนเสาคอนกรีตอย่างจังกระทั่งว่าลีมูซีนอันแข็งแกร่งต้องยับเยินไปทั้งคัน ส่งผลให้โดดี ฟาเยด กับพนักงานขับรถซึ่งมีระดับของแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ในเกณฑ์สูง เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 0.26 นาฬิกาของวันที่ 31 สิงหาคม 1997

ภาพจากวิดีโอกล้องซีซีทีวีของโรงแรมริทซ์ กรุงปารีส แสดงให้เห็นว่าเจ้าหญิงไดอานา กับ โดดี ฟาเยด ยืนรอจะเดินทางออกจากโรงแรมผ่านทางออกด้านหลัง เพื่อหลบกองทัพนักข่าวปาปารัสซี เมื่อช่วง 14 นาทีแรกของวันที่ 31 สิงหาคม 1997  หลังจากนี้ ทั้งสองจะขึ้นรถเมอร์เซเดสเพื่อเดินทางกลับที่พัก แล้วจะประสบภัยพิบัติครั้งสุดท้ายของชีวิต

ในรถเมอร์เซเดสมรณะ เจ้าหญิงไดอานากับโดดี ฟาเยด นั่งที่เก้าอี้โดยสารด้านหลัง ส่วนองครักษ์ติดตามเจ้าหญิงนั่งคู่กับพนักงานขับรถ  เมื่อรถเคลื่อนตัว กองทัพช่างภาพปาปารัสซีก็ไหวตัว และรีบบึ่งรถไล่ตามไปบันทึกภาพ ดังนั้น เพียงครู่เดียวหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ช่างภาพก็ตามมาบันทึกภาพระทึกขวัญที่ไม่มีผู้ใดคาดว่าจะได้ภาพดุเดือดขนาดนี้ กระนั้นก็ตาม บรรดาช่างภาพที่ตามมาเกือบจะติดๆ ก็ไม่ทันที่จะได้เห็นเหตุการณ์ขณะเมอร์เซเดสเสียหลักและพุ่งชนเสาค้ำอุโมงค์ลอดใต้สะพาน
ขณะที่เจ้าหญิงไดอานามีอาการหนักน่าเป็นห่วง โดยนายแพทย์เฟรเดอริก มาเยเอส ซึ่งเป็นคุณหมอรายแรกที่เข้าถึงรถมรณะให้ข้อมูลว่าได้เห็นสุภาพสตรีในรถ หมดสติ ร่างกองอยู่บนพื้นรถโดยหัวเข่าแตะพื้น

“ผมเดินดิ่งไปยังซากรถ เปิดประตู และตรวจสภาพการณ์อย่างรวดเร็ว ผมเห็นคนในรถสี่คน มีสองคนที่เห็นได้ชัดว่าเสียชีวิตแล้ว ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใดๆ อีกสองคนยังไม่ตายและอาการสาหัส ชายที่นั่งข้างคนขับส่งเสียงร้องเจ็บปวด เขายังหายใจได้ เขายังรอได้ ส่วนคนที่สี่เป็นสตรี เธอคว่ำอยู่บริเวณที่นั่งแถวหลัง โดยเข่าของเธออยู่ที่พื้นรถ เธอหายใจติดขัด เธอต้องได้รับความช่วยเหลือโดยเร็ว” คุณหมอมาเยเอสชาวฝรั่งเศสเล่าทวนความหลังอย่างนั้นขณะให้สัมภาษณ์แก่เอพี โดยบอกว่าตนกำลังเดินทางกลับบ้าน และเป็นการขับรถเข้าไปประสบเหตุหลังจากที่วิบัติภัยดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นเพียงสักครู่ โดยซากรถยังส่งควันร้อนโชยออกมาตลอดเวลา

พร้อมนี้ นายแพทย์มาเยเอสเล่าด้วยว่า ตนรีบโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาล และนำอุปกรณ์ช่วยหายใจไปปฐมพยาบาลสตรีรายดังกล่าว ซึ่งคุณหมอบอกว่าในตอนนั้น ไม่ทราบเลยว่าเธอคือเจ้าหญิงไดอานา แต่ทราบอยู่ว่ามีแสงแฟลชของนักข่าวถ่ายภาพโดยไม่รบกวนการปฏิบัติงานของคุณหมอ

รถกู้ภัยฉุกเฉินมาถึงจุดเกิดเหตุและต้องใช้เวลามากในการเคลื่อนย้ายเจ้าหญิงไดอานาออกจากรถ ทั้งนี้ คุณหมอบอกว่าใบหน้างดงามเกลี้ยงเกลาของเธอไม่ได้รับบาดเจ็บ รถฉุกเฉินนำส่งเจ้าหญิงไปถึงโรงพยาบาลปีเต-แซลแปตริแยร์ ราวตี 2.06 นาฬิกา

หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง มีการประกาศว่าเจ้าหญิงไดอานาเสียชีวิต ณ วันที่ 31 สิงหาคม 1997 สิริอายุเพียง 36 ปี 1 เดือน

อนึ่ง สำหรับชายที่นั่งข้างคนขับ เป็นองครักษ์ติดตามเจ้าหญิงไดอานา เขามีนามว่า เทรเวอร์ รีส์–โจนส์ และเขาเป็นคนเดียวในเมอร์เซเดสมรณะที่รอดชีวิต และมีชีวิตที่เรียกได้ว่าร่ำรวย อยู่ในปัจจุบัน

สภาพอันยับเยินของเมอร์เซเดสหลังจากพุ่งชนเสาค้ำอุโมงค์ลอดใต้สะพานปองต์เดอลัลมา ในวันที่ 31 สิงหาคม 1997 อันเป็นอุบัติเหตุน่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง เพราะได้คร่าชีวิตของพนักงานขับรถ ชีวิตของโดดี ฟาเยด ตลอดจนชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา

เมื่อการลำเลียงผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตออกจากเมอร์เซเดสมรณะและนำส่งโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย ทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจตำรวจก็เข้าดำเนินการเคลื่อนย้ายซากรถภายในเช้าวันที่ 31 สิงหาคมนั้นเลย ทั้งนี้การดำเนินงานค่อนข้างยากลำบาก เพราะชิ้นส่วนต่างๆ ของซากรถคอยแต่จะหลุด ต้องใช้เทคนิคล็อกชิ้นส่วนไว้กับโครงหลักของรถ
ทฤษฎีสมคบคิดผุดรัวๆ เจ้าหญิงไดอานาถูกฆาตกรรมอำพราง หลังอุบัติเหตุโลกตกตะลึงคร่าชีวิตสามศพ

ขณะที่ชาวโลกทั้งมวลพากันตกตะลึงกับข่าวอุบัติเหตุอันน่าสะเทือนใจ ผู้คนหลั่งไหลกันออกมาแสดงความอาลัยด้วยช่อดอกไม้ โน้ตไว้อาลัย รูปภาพ และสิ่งอื่นๆ มากมายอันเป็นเครื่องระลึกถึงเจ้าหญิงแห่งดวงใจประชาชน จนกระทั่งว่าทุกตารางนิ้วของพื้นที่ด้านนอกวังเคนซิงตันอันเป็นที่พักอาศัยของเจ้าหญิงไดอานาถูกปกคลุมไปหมดสิ้นด้วยสิ่งอันเป็นที่ระลึก นั้น ได้มีบางฝ่ายที่อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเศร้าสลดแกมโล่งใจ

เพราะรักใหม่ในปีนั้นของเจ้าหญิงไดอานาเป็นหนุ่มใหญ่ฐานะร่ำรวยมหาศาล ผู้มีสถานภาพที่ปลอดอุปสรรคต่อการสมรสกับเจ้าหญิงคนสวย (หย่าร้างจากภรรยาเดิมเรียบร้อยกว่าสิบปีแล้ว) แต่เขาเป็นหนุ่มมุสลิม ซึ่งเรื่องนี้สร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่หลายฝ่ายที่มองว่า หากพระมารดาของเจ้าชายวิลเลียม ผู้ซึ่งจะทรงเป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรในอนาคต ลุกขึ้นแต่งงานกับโดดี ฟาเยด ปัญหาจะพัวพันขึ้นได้ (แม้ว่าเจ้าหญิงไดอานาอาจจะไม่ยอมแต่งงานใหม่ เพราะนั่นจะเป็นเหตุให้หมดสิทธิ์ใช้คำนำหน้าว่าเจ้าหญิง) โดยบางฝ่ายคิดมากมายไปไกลถึงด้านความมั่นคง โดยนำคุณสมบัติต่างๆ ของโดดี ฟาเยด ไปเทียบกับเศรษฐีนักรบอย่างโอซามะ บิน ลาเดน

ในเวลาเดียวกัน เสียงวิเคราะห์ถึงความผิดปกติของภัยพิบัตินี้ทยอยปรากฏออกมาในทางที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นและข้อสรุปของทางการฝรั่งเศสและอังกฤษ และพัฒนาเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่พุ่งเป้าไปในประเด็นว่า เจ้าหญิงไดอานาถูกทางการฝรั่งเศสและทางการอังกฤษทำฆาตกรรมอำพรางหรือไม่

ภาพถ่ายทางอากาศเพื่อให้เห็นปริมาณอันมหาศาลของช่อดอกไม้ที่ผู้คนหลั่งไหลกันนำไปมอบแก่ดวงวิญญาณของเจ้าหญิงไดอานา โดยวางต่อเนื่องกันบนพื้นสวนสาธารณะด้านหน้าวังเคนซิงตัน ในกรุงลอนดอน อันเป็นนิวาสสถานที่พักอาศัยของเจ้าหญิงไดอานา แลดูละลานตาน่าทึ่งอย่างยิ่งยวด เมื่อวันที่ 4 กันยายน 1997

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแฮร์รี เจ้าชายวิลเลียม และเอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 9 ผู้เป็นน้องชายของเจ้าหญิงไดอานา อยู่ในความโศกเศร้าอาดูรเนื่องจากสูญเสียเจ้าหญิงไดอานาผู้เป็นที่รัก ในภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีศพเมื่อวันที่ 6 กันยายน 1997 ทั้งนี้ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงเสด็จด้วยพระองค์เองในการไปรับร่างไร้วิญญาณของเจ้าหญิงไดอานากลับจากฝรั่งเศส สู่แผ่นดินมาตุภูมิ โดยมีพี่สาวทั้งสองของเจ้าหญิงไดอานาตามเสด็จไปด้วย
ผู้ที่จุดประเด็นข้อสงสัยอย่างเอาจริงเอาจัง คือ โมฮัมเมด อัล ฟาเยด บิดาของโดดี ฟาเยด ซึ่งโศกเศร้าเสียใจใหญ่หลวงที่ต้องสูญเสียบุตรชายที่รักยิ่งไปในอุบัติเหตุรถชนยับเยินครั้งนี้ โดยสื่อใหญ่ ดิ อินดีเพนเดนท์ ระบุว่าโมฮัมเมด อัล ฟาเยด มีข้อคลางใจที่พัฒนาเป็นทฤษฎีสมคบคิดในแง่มุมต่างๆ มากถึง 175 ประเด็น

ในการนี้ ในห้วงหลายปีหลังอุบัติเหตุนี้ นักวิเคราะห์หลากหลายสถาบันได้ตั้งคำถามนานาประการ เช่น ข้อกล่าวหาที่ว่าภายในช่องทางวิ่งรถในอุโมงค์ได้ปรากฏมีการสาดไฟจ้าเข้าตาของอ็องรี ปอล พนักงานขับรถ ซึ่งส่งผลร้ายต่อศักยภาพการขับรถที่แล่นด้วยความเร็วสูง ไปจนถึงการมีอดีตเจ้าหน้าที่ของหน่วยข่าวกรองลับของอังกฤษ (เอ็มไอ6) นามว่า ริชาร์ด ทอมลินสัน ให้ปากคำแก่ทางการฝรั่งเศสเมื่อปี 1999 ว่าเอ็มไอ6 มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ

โดยในหนึ่งปีก่อนหน้า บีบีซีออกรายงานข่าวเกี่ยวกับอดีตสปายทอมลินสัน ซึ่งระบุว่าหนึ่งในองครักษ์ติดตามเจ้าหญิงไดอานา ซึ่งก็คือ เทรเวอร์ รีส์–โจนส์ ทำหน้าที่สื่อกลางติดต่อกับหน่วยข่าวกรองอังกฤษ ทั้งนี้ กลวิธีสาดไฟจ้าเล่นงานเป้าหมาย เป็นหนึ่งในแท็กติกที่สายลับเอ็มไอ6 ใช้กัน

นอกจากนั้น คำถามหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงกันมาก ได้แก่ ประเด็นว่าอุบัติเหตุสะเทือนขวัญนี้เป็นการประจวบเหมาะเกินไปหรือไม่ กล่าวคือ แทนที่เจ้าเมอร์เซเดสมรณะซึ่งเสียหลักพุ่งแฉลบ จะพุ่งไปชนกำแพงของอุโมงค์ทางลอดซึ่งมีพื้นที่ให้พุ่งชนมากมายนั้น เมอร์เซเดสกลับพุ่งเข้าปะทะเปรี้ยงปังกับต้นเสาค้ำอุโมงค์ได้อย่างแม่นยำดั่งมีแรงดึงลึกลับเข้าไปแทรกแซง ทฤษฎีนี้ผุดขึ้นในท่ามกลางข้อกังขาว่าเทรเวอร์ รีส์–โจนส์ อดีตทหารพลร่ม สามารถรอดตายแบบเหลือเชื่อเกินไป และเนื่องจากเขาเฉียดตายจากอาการกะโหลกศีรษะแตกหักหนักหนา ดังนั้น เมื่อเขาได้รับการรักษาจนกระทั่งอยู่ตัวแล้ว เขายืนยันว่าเขาสูญเสียความทรงจำ จึงไม่สามารถบอกได้เลยว่ารถเมอร์เซเดสพุ่งเข้าอัดขยี้กับต้นเสาได้อย่างไร

บิดาของโดดี ฟาเยด จัดทำซุ้มที่ระลึกถึงบุตรชายผู้เป็นแก้วตาดวงใจ และสตรีสูงศักดิ์คนรักของลูก ไว้ภายในห้างแฮร์รอดส์ ภายใต้ชื่ออันไพเราะว่าน้ำพุแห่งความระลึกถึง  ปรากฏว่าซุ้มที่ระลึกนี้ป๊อบปูลาร์อย่างยิ่ง กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่รู้สึกรักและชื่นชมเจ้าหญิงไดอานา ให้มาเยี่ยมคารวะ พร้อมถ่ายภาพที่ระลึก อย่างไรก็ตาม มหาเศรษฐีโมฮัมเมด อัล ฟาเยด ได้ขายธุรกิจค้าปลีกให้แก่กลุ่มทุนการ์ตาร์ ซุ้มที่ระลึกจึงถูกส่งมอบคืนแก่คุณอัล ฟาเยดผู้พ่อ
องครักษ์ผู้รอดตาย เทรเวอร์ รีส-โจนส์ จำเลยสังคมรายใหญ่ มีเส้นทางชีวิตใหม่ดี๊ดี ซื้อคฤหาสน์หรู 21 ล.อยู่กับลูกเมีย

เทรเวอร์ รีส-โจนส์ ซึ่งบัดนี้ตัดชื่อสั้นลงเหลือเพียง เทรเวอร์ รีส อดีตทหารพลร่มผู้แข็งแกร่งและเป็นอดีตองครักษ์ติดตามพิทักษ์เจ้าหญิงไดอานา โดยรับเงินเดือนจากบริษัทของโมฮัมเมด อัล ฟาเยด เป็นคนเดียวในรถเมอร์เซเดสมรณะ ที่รอดตายโดยได้รับบาดเจ็บสาหัส กระโหลกแตกหัก เขาอยู่ในภาวะโคมานาน 10 วัน ในขณะเดียวกันก็ได้รับการผ่าตัดและดูแลรักษาเป็นอย่างดีมากในโรงพยาบาลที่ฝรั่งเศสนานเดือนเศษกว่าจะสามารถเดินทางกลับประเทศอังกฤษโดยมีอาการความจำเสื่อม ไม่สามารถจำสิ่งที่เกิดขึ้นในอุบัติเหตุได้ และครึ่งปีต่อมาก็ลาออกจากบริษัทของโมฮัมเมด อัล ฟาเยด เพื่อถอยออกจากแรงกดดันแห่งอดีต สื่อเจ้าดัง ดิ อินดีเพนเดนท์รายงาน

เขาใช้ชีวิตเรียบง่าย เก็บเนื้อเก็บตัว เพื่อที่จะใช้ชีวิตปลอดโปร่ง ห่างไกลจากแรงกดดันในฐานะ “จำเลยสังคม” และแข็งแรงพอที่จะเล่นรักบี้ฟุตบอลได้ภายในปี 1998 แต่ในปี 2000 เขาออกหนังสือชีวประวัติเรื่ององครักษ์ เจ้าหญิงไดอานา รถชน และผู้รอดตายเพียงรายเดียว (The Bodyguard’s Story: Diana, the Crash, and the Sole Survivor)

ในปี 2011-2017 เทรเวอร์ รีส ได้งานเงินเดือนแพงในตำแหน่งผู้อำนวยการด้านความมั่นคงของบริษัทน้ำมันยักษ์ระดับโลก คือ ฮัลลิเบอร์ตัน ในประเทศอิรักช่วงสงครามอิรัก สื่อขาใหญ่ด้านข่าวราชวงศ์ เดลิเมล์ยูเค รายงาน

หลังจากนั้น เดินทางกลับอังกฤษ และได้งานตำแหน่งผู้อำนวยการความมั่นคงระดับโลกของบริษัทยักษ์ด้านเวชภัณฑ์ คือ แอสตร้าเซเนก้า

พร้อมนี้ เดลิเมล์ ยูเค ยังรายงานด้วยว่า เทรเวอร์ รีส มีชีวิตที่สุขสบายทีเดียว เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เขาซื้อบ้านหลังใหญ่ ราคา 21.25 ล้านบาทในเขตชรอปไชร์ เพื่ออยู่อาศัยกับภรรยา ลูกสองคน และสุนัขหนึ่งตัว

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนวันครบรอบ 25 ปีอุบัติเหตุรถอัดก็อปปี้เสา คร่าชีวิตเจ้าหญิงไดอานา นั้น เทรเวอร์ รีส ณ วัย 54 ปี ได้ปรากฏตัวในที่สาธารณะ โดยนั่งรออยู่ในรถบีเอ็มดับเบิลยู่ ซึ่งนั่นเป็นการถูกพบเห็นเป็นครั้งแรกในรอบห้าปีที่เดินทางกลับมาใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษ โดยยังไม่มีนักวิเคราะห์ออกมาตั้งข้อสันนิษฐานถึงนัยยะของความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณอะไรไปถึงท่านใด

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของเจ้าหญิงไดอานากลายเป็นข่าวพาดหัวตัวโตของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศอังกฤษ ขณะที่ยอดขายก็พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์  บรรยากาศในประเทศอังกฤษถูกปกคลุมด้วยความโศกเศร้า และมีการไว้อาลัยแก่เจ้าหญิงไดอานา สตรีน้ำใจดีงามผู้เป็นไอดอลของชาวอังกฤษจำนวนนับไม่ถ้วน
ด้านเจ้าหญิงไดอานา ซึ่งครองหัวใจประชาชนหลายล้านรายทั่วโลก ยังถูกระลึกถึงเสมอ โดยเฉพาะในด้านคำกล่าวของเธอว่า เธอปรารถนาที่จะมีภาพลักษณ์อย่างไรภายในความทรงจำของผู้คน:-

“ดิฉันขอเป็นราชินีแห่งดวงใจชน แต่ดิฉันไม่ได้มองว่าตนเองจะเป็นราชินีของประเทศอังกฤษหรอกนะคะ ดิฉันไม่คิดว่าจะมีคนมากนักที่อยากให้ดิฉันเป็นราชินี”

เจ้าหญิงไดอานากล่าวไว้อย่างนั้นในตอนหนึ่งของเทปบันทึกสัมภาษณ์สุดฮือฮาที่เธอให้แก่ มาร์ติน แบเชียร์ ในรายการพาโนรามา ออกอากาศทางช่องบีบีซี เมื่อ 20 พฤศจิกายน 1995 อันเป็นการให้สัมภาษณ์ที่เธอยอมรับเรื่องความสัมพันธ์ผิดประเวณีกับชู้รัก นามว่าที่ร้อยเอกเจมส์ ฮิววิตต์ ในช่วงปี 1986-1991 ซึ่งเธอยังอยู่ในชีวิตสมรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์

หลังจากการให้สัมภาษณ์นั้น เธอและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์สามารถเสร็จสิ้นกระบวนการหย่าร้าวเป็นที่เรียบร้อยในเดือนสิงหาคม 1996 แล้วเกือบหนึ่งปีเต็มนับจากนั้นมา เจ้าหญิงของประชาชนก็จากโลกนี้อย่างครึกโครม

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา: เอพี ดิอินดีเพนเดนท์ เดลีเมล์ยูเค เดอะซันยูเค)

กำลังโหลดความคิดเห็น