ปากีสถานเร่งช่วยผู้ประสบภัยกว่า 33 ล้านคนจากฝนที่กระหน่ำตกลงมาอย่างหนักจนทำให้พื้นที่ 1 ใน 3 ทั่วประเทศจมน้ำ มีผู้สังเวยชีวิตแล้วกว่า 1,100 คน อีกทั้งยังคาดว่า ต้องใช้งบประมาณกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย
ฝนที่ตกลงมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ สร้างความเสียหายทั้งพืชพันธุ์ บ้านเรือน และโครงสร้างพื้นฐานมากมายในปากีสถาน
หน่วยงานรัฐบาลและองค์กรการกุศลกำลังพยายามเร่งจัดส่งความช่วยเหลือแก่ประชาชนกว่า 33 ล้านคน หรือกว่า 15% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 220 ล้านคน ขณะที่หลายพื้นที่ถูกตัดขาดเนื่องจากถนนและสะพานถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำ
พื้นที่ภาคใต้และตะวันตกเหลือบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึงเพียงจำกัด ประชาชนจำนวนมากต้องหนีน้ำท่วมไปอยู่บนทางหลวงยกระดับและทางรถไฟ
ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มที่แม่น้ำสินธุ (Indus) ที่ทอดยาวจากเหนือจรดใต้ของปากีสถานจะล้นตลิ่ง ขณะที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวทะลักจากคุ้งแควต่างๆ ทางด้านเหนือ
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาปากีสถานรายงานว่า ทั่วประเทศมีฝนตกลงมามากกว่าปกติถึง 2 เท่า ตัว และนับเฉพาะแคว้นบาลูจิสถานและกับแคว้นสินธุ์ มีฝนกว่า 4 เท่าตัวของปริมาณเฉลี่ยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ปากีสถานระบุว่า ภัยพิบัติคราวนี้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดอากาศสุดขั้วถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นทั่วโลก
เชอร์รี เรห์มาน รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปากีสถาน ระบุว่า ขณะนี้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศจมน้ำ
ด้านอาห์ซัน อิกบัล รัฐมนตรีกระทรวงวางแผน กล่าวว่า ปากีสถานต้องการเงินมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโทรคมนาคม ถนน เกษตรกรรม และการดำเนินชีวิต
อิกบัลเสริมว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,000 คน และบ้านเรือนเสียหายเกือบ 1 ล้านหลัง
รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนของปากีสถานยังระบุว่า อุทกภัยครั้งนี้รุนแรงกว่าเมื่อปี 2010 ที่สหประชาชาติประกาศระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุด และสำทับว่า โลกเป็นหนี้ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศมีรอยเท้าคาร์บอนต่ำที่สุดในโลก แต่ตกเป็นเหยื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการพัฒนาอย่างไร้ความรับผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น นานาชาติ+จึงมีความรับผิดชอบในการช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของปากีสถานให้รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ดีขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียรุนแรงทุก 3-5 ปี
ภัยพิบัติครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในเวลาที่เศรษฐกิจปากีสถานตกต่ำหนัก รัฐบาลได้ร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ความช่วยเหลือจากต่างแดนหลั่งไหลจากตุรกีและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน นอกจากนั้นยังมีอีกหลายประเทศ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ประกาศให้ความช่วยเหลือปากีสถาน
วันจันทร์รัฐบาลจีนแถลงว่า จะจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติมให้แก่ปากีสถาน ซึ่งรวมถึงเงินสด 300,000 ดอลลาร์, เต็นท์ 25,000 หลัง เพิ่มเติมจากที่จัดส่งเต็นท์ให้แล้ว 4,000 หลัง, ผ้าห่ม 50,000 ผืน และผ้าใบกันน้ำ 50,000 ผืน
ทางด้านยูเอ็นประกาศจะเริ่มขอรับบริจาคอย่างเป็นทางการมูลค่า 160 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ปาถีสกาน
อุทกภัยร้ายแรงยิ่งทำให้ราคาอาหารพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหอมใหญ่ มะเขือเทศ และถั่วลูกไก่ แพงขึ้นมาก โดยผู้ขายให้เหตุผลว่า อุปทานขาดแคลนจากการที่แคว้นเกษตรกรรมอย่างสินธุ์และปัญจาบถูกน้ำท่วม
อย่างไรก็ดี ยังพอมีข่าวดีสำหรับปากีสถานอยู่บ้าง หลังจากเมื่อวันจันทร์ (29) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อนุมัติฟื้นโครงการเงินกู้ให้ประเทศนี้ โดยเบื้องต้นจะอัดฉีดให้ 1,100 ล้านดอลลาร์
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)