xs
xsm
sm
md
lg

คอยดูแล้วกัน! อียูเชื่อคว่ำบาตรรัสเซียได้ผลระยะยาว แต่ช่วงนี้ต้องทนไปก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ยอมรับอียูจะต้องเผชิญ "ความท้าทายใหญ่หลวงต่างๆ" สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่พวกเขากำหนดเล่นงานรัสเซียตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามาตรการคว่ำบาตรจะได้ผลในระยะยาว เพราะเศรษฐกิจของมอสโกจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของตะวันตก

ประเด็นนี้ถูกพูดถึงระหว่างที่ บอร์เรล ให้สัมภาษณ์กับ Kronen Zeitung สื่อมวลชนออสเตรีย หลังผู้สื่อข่าวชี้ให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากในออสเตรียเริ่มมีความเคลือบแคลงสงสัยในมาตรการคว่ำบาตรต่อต้านรัสเซีย

ทูตระดับสูงของอียูรายนี้อ้างว่า มาตรการคว่ำบาตรกำลังได้ผลและรัสเซียกำลังเจอปัญหา "นี่คือมาตรการกำหนดข้อจำกัด เราจำกัดความเป็นไปได้ต่างๆ ในเศรษฐกิจของรัสเซีย ตราบใดที่เศรษฐกิจของรัสเซียต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซ พวกเขาก็จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีของเรา" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม บอร์เรล ยอมรับว่า "แน่นอน เรากำลังเผชิญความท้าทายใหญ่หลวงในระยะสั้น สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตร และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาก๊าซกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ" เขากล่าว "พลเมืองยุโรปต้องเต็มใจจ่ายราคาที่แพงขึ้นเพื่อเสรีภาพ เพราะว่าสงครามในยูเครนไม่ใช่แค่สงครามของประชาชนชาวยูเครน แต่เป็นสงครามเพื่อเสรีภาพของเรา"

เมื่อถูกถามว่าเขามองว่าอียูจะก้าวมาเป็นมหาอำนาจโลกหรือไม่ บอร์เรล ตอบว่า "จากมุมมองทางเศรษฐกิจและศีลธรรมจรรยา ใช่ แต่ไม่ใช่ในมุมมองทางด้านการทหาร" เขาระบุ "โลกได้กลายเป็นสถานที่ที่อันตราย เหล่าสมาชิกอียูต้องตระหนักว่าเราต้องปกป้องตนเองถ้าจำเป็น และต้องการเครื่องไม้เครื่องมือที่จะทำเช่นนั้น"

ทูตรายนี้ชี้แจงต่อว่า คำพูดของเขาไม่ได้หมายความว่าจะมีการจัดตั้งกองทัพอียูขึ้นมา แต่ทหารของแต่ละชาติสมาชิกควรได้รับการจัดสรรงบประมาณที่มากกว่านี้ และควรปรับปรุงยกระดับความร่วมมือของกองทัพแต่ละชาติ

แม้ บอร์เรล เชื่อว่าข้อจำกัดที่อียูกำหนดเล่นงานรัสเซียกำลังได้ผล แต่สื่อมวลชนตะวันตกหลายสำนักเมื่อเร็วๆ นี้ให้ความคิดที่ต่างออกไป ในนั้นรวมถึงหนังสือพิมพ์ดิอีโคโนมิสต์ สื่อมวลชนอังกฤษ

ดิอีโคโนมิสต์ เขียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าสงครามคว่ำบาตรไม่ได้เป็นไปด้วยดีดังที่คาดหมายไว้

สื่อแห่งนี้ชี้ว่าจีดีพีของรัสเซียจะหดตัวเพียง 6% ในปี 2022 จากที่ประมาณการไว้ว่าจะหดตัวถึง 16% ในขณะที่มอสโกจะโกยเงินจากการขายพลังงานที่เบี่ยงเส้นทางสู่ตลาดต่างๆ ในเอเชียราว 265,000 ล้านดอลลาร์ และระบบการเงินของประเทศจะสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงเช่นกัน

แต่ขณะเดียวกัน วิกฤตทางพลังงานซึ่งมีต้นตอจากสงครามคว่ำบาตร "อาจโหมกระพือภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป" จากคำเตือนของหนังสือพิมพ์ดิอีโคโนมิสต์ ส่วนหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ยอมรับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข้อจำกัดอันหนักหน่วงล้มเหลวไม่ก่อภาวะล่มสลายแก่เศรษฐกิจรัสเซีย ดังที่พวกผู้นำตะวันตกหลายคนคาดหวังไว้

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/ดิอีโคโนมิสต์)


กำลังโหลดความคิดเห็น