ศาลสูงสุดมาเลเซียมีคำพิพากษายืนโทษจำคุก 12 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย ในข้อหาทุจริตยักยอกเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปจากกองทุน วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) ทำให้อดีตนายกฯ ผู้อื้อฉาวถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่าคำตัดสินของศาลถือเป็นการปิดประตูตายสำหรับ นาจิบ ที่จะ “คัมแบ็ก” กลับสู่แวดวงการเมืองมาเลเซียอีกครั้ง
คำตัดสินของศาลแห่งสหพันธรัฐถือเป็นหมุดหมายแห่งความตกต่ำของ นาจิบ ซึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วยังครองเก้าอี้ผู้นำมาเลเซียด้วยฐานอำนาจที่แข็งแกร่ง และใช้อิทธิพลขัดขวางกระบวนการสอบสวนคดียักยอกเงินกองทุน 1MDB ซึ่งพัวพันไปถึงสถาบันการเงินและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายประเทศทั่วโลก
พนักงานสอบสวนพบว่า เงินกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกเคลื่อนย้ายออกไปจากกองทุน 1MDB และในจำนวนนี้มีกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ที่ถูกโอนเข้ากระเป๋า นาจิบ และบรรดาบุคคลใกล้ชิด
นาจิบ วัย 69 ปี ซึ่งสวมสูทสีเข้มนั่งฟังคำตัดสินของศาลอยู่ในคอกจำเลยเมื่อวันอังคาร (23 ส.ค.) ด้วยสีหน้าอมทุกข์ โดยมี รอสมะห์ มันซูร์ (Rosmah Mansoor) ภรรยาคู่ชีวิตซึ่งโดนคดีทุจริตเช่นกัน กับลูกๆ อีก 3 คน นั่งฟังอยู่เบื้องหลัง
ทันทีที่ศาลอ่านคำพิพากษาจบ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงมาเลเซียได้พาตัวอดีตนายกฯ ออกจากศาลไปขึ้นรถยนต์สีดำท่ามกลางการคุ้มกันของตำรวจ ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังเรือนจำกาจัง (Kajang) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ประมาณ 40 กิโลเมตร
อาดีบ ซัลกัปลี ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง BowerGroupAsia ระบุว่า “นี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน นาจิบจะถูกจดจำในฐานะเป็นผู้สร้างสถิติคนแรกๆ ในหลายด้าน เช่น เป็นนายกฯ คนแรกของมาเลเซียที่แพ้การเลือกตั้งทั่วไป และเป็นนายกฯ คนแรกที่ถูกศาลตัดสินจำคุก”
นาจิบ เป็นบุตรชายของ อับดุล ราซัก ฮุสเซน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของมาเลเซีย และเคยผ่านการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ก่อนจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2009 และครองตำแหน่งเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาโดนกระแสสังคมไล่บี้อย่างหนักเกี่ยวกับคดี 1MDB จนนำมาสู่การแพ้เลือกตั้งของรัฐบาลกลุ่มบาริซานเนชันแนล (บีเอ็น) ที่ครองอำนาจในมาเลเซียมายาวนานถึง 60 ปี
หลังจากพ้นเก้าอี้นายกฯ นาจิบ ถูกอัยการสั่งฟ้องข้อหาคอร์รัปชันนับสิบกระทงภายในเวลาแค่ไม่กี่เดือน และศาลชั้นต้นมีคำตัดสินเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2020 ให้ นาจิบ มีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน และละเมิดต่อหน้าที่ (criminal breach of trust) สืบเนื่องจากการที่เขารับเงินผิดกฎหมาย จำนวน 42 ล้านริงกิต (ราว 336 ล้านบาท) มาจาก SRC International ซึ่งเคยเป็นหน่วยงานในสังกัด 1MDB โดยศาลได้พิพากษาให้จำคุกอดีตนายกฯ ผู้นี้เป็นเวลา 12 ปี และปรับอีก 210 ล้านริงกิต (ราว 1,680 ล้านบาท)
นาจิบ ได้รับการประกันตัวระหว่างที่ยื่นอุทธรณ์ ทว่าศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้กระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายดำเนินมาจนถึงชั้นศาลสูงสุด ซึ่งคณะผู้พิพากษาศาลทั้ง 5 คนได้ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้ “ยกอุทธรณ์” ของ นาจิบ
ศาลสูงสุดมาเลเซียปฏิเสธคำร้องของ นาจิบ ที่ขอให้ “ชะลอ” การลงโทษเอาไว้ก่อน 2 เดือน โดย เติงกู ไมมูน ตวน มัต ประธานคณะผู้พิพากษา ระบุว่า “จำเลยให้การวกวนไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีข้อสงสัยใดๆ ในคดีนี้ อีกทั้งบทลงโทษที่ศาลสั่งก็ไม่ได้เกินเลยไปแต่อย่างใด”
ก่อนหน้านั้น อดีตนายกฯ ยังพยายามดิ้นรนขัดขวางคำตัดสิน โดยเรียกร้องให้ปลดหัวหน้าคณะผู้พิพากษาออก แต่ก็ไม่สำเร็จ
อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซีย ออกมายกย่องคำพิพากษาของศาลว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ถึง “อำนาจของประชาชน”
“ประชาชนชาวมาเลเซียได้ตัดสินใจแล้วเมื่อปี 2018 ที่จะรับรองความเป็นอิสระของตุลาการ และมาเลเซียจะต้องปลอดจากการทุจริตรับสินบนทั้งปวง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวทำให้กระบวนการไต่สวนเป็นไปอย่างมืออาชีพ” เขากล่าว
1MDB เป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวที่ นาจิบ ร่วมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 หลังเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นปีแรก โดยมุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจหลากหลายประเภท เช่น โรงไฟฟ้าและกิจการด้านพลังงานอื่นๆ ทั้งในมาเลเซียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์
1MDB เริ่มถูกเพ่งเล็งเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการบริหารจัดการเงิน โดยพบว่าในปี 2014 หรือหลังจากที่ก่อตั้งได้เพียง 5 ปี กองทุนแห่งนี้ก่อหนี้สินสูงถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.5 แสนล้านบาท
ต่อมา ในปี 2015 แคลร์ ริวแคสเซิล บราวน์ นักข่าวสายสอบสวนของ Sarawak Report ได้ออกมาขุดคุ้ยประเด็นการยักยอกเงิน 1MDB ก่อนที่เรื่องนี้จะกลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก เมื่อหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลตีแผ่ชุดเอกสารที่บ่งชี้ว่า มีเงินสดอย่างน้อย 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกโอนเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวของผู้นำมาเลเซีย
ในปีเดียวกัน สื่อนิวยอร์กไทม์สยังเผยแพร่รายงานสืบสวนที่พบว่า เงินหลายล้านดอลลาร์ถูกถลุงไปกับการซื้อเครื่องประดับเพชรพลอยราคาแพงให้นางรอสมะห์ ภริยาของ นาจิบ
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้เข้ามาร่วมสอบสวนขบวนการทุจริตขนานใหญ่นี้ หลังมีการร้องเรียนว่าเงินทุนสาธารณะของมาเลเซียถูกนำไป “ฟอก” ผ่านระบบการเงินของสหรัฐอเมริกาด้วย กระทั่งนำไปสู่การยื่นฟ้องศาลเพื่ออายัดทรัพย์สินราว 1,800 ล้านดอลลาร์ที่ถูกซื้อด้วยเงินจาก 1MDB
ในปี 2017 เจฟฟ์ เซสชันส์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในขณะนั้น ถึงกับออกมาพูดว่า คดียักยอกเงิน 1MDB ถือเป็นการทุจริตปล้นชาติปล้นแผ่นดิน (kleptocracy) อย่างร้ายแรงที่สุด เท่าที่สหรัฐฯ เคยสอบสวนมา
นอกจาก นาจิบ แล้ว ยังมีบุคคลใกล้ชิดอดีตนายกฯ อีกหลายคนซึ่งถูกครหาว่ารับเงินที่ยักยอกออกไปจาก 1MDB หนึ่งในนั้นคือนักการเงินที่ชื่อ “โจ โลว์” (Jho Low) ซึ่งได้นำเงินดังกล่าวไปซื้ออสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินราคาแพงมากมาย ทั้งภาพวาดฝีมือศิลปินดัง “ปิกัสโซ” เครื่องบินส่วนตัว เรือซูเปอร์ยอชต์ โรงแรม เครื่องเพชร
เงินบางส่วนยังถูก “ริซา อาซิซ” (Riza Aziz) ลูกชายบุญธรรมของ นาจิบ เอาไปเป็นทุนสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง ‘The Wolf of Wall Street’ หรือ “คนจะรวย ช่วยไม่ได้” ที่มีดาราชื่อดังอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ร่วมแสดงด้วย เมื่อปี 2013
ทีมทนายของ นาจิบ พยายามจะอ้างว่าอดีตนายกฯ “ไม่รู้เรื่อง” การยักยอกเงิน และอ้างว่า โลว์ เป็นตัวการที่อยู่เบื้องหลังแผนฉ้อโกงทั้งหมด แต่ผู้พิพากษา โมฮาหมัด นัซลัน โมฮาหมัด กอซาลี (Mohamad Nazlan Mohamad Ghazali) ได้วินิจฉัยว่า การอ้างว่า นาจิบ ถูก โลว์ หลอกลวงนั้น “ไม่น่าเชื่อถือ” และยังปฏิเสธข้อโต้แย้งของทีมทนายที่อ้างว่า นาจิบ คิดว่าเงินดังกล่าวเป็น “เงินบริจาค” จากราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย
นาจิบ ซึ่งยังถูกดำเนินคดีในความผิดอีกหลายข้อหา ยืนยันมาโดยตลอดว่าตัวเองเป็น “ผู้บริสุทธิ์” และได้กล่าวก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาว่า เขา “เป็นเหยื่อของความอยุติธรรม”
“ผมรู้สึกแย่ที่สุด เมื่อได้รู้ว่าอำนาจของคณะตุลาการศาลพุ่งเป้าเล่นงานผมในรูปแบบที่ไม่เป็นธรรมที่สุด” เขากล่าว
แม้ นาจิบ จะยังคงได้รับกำลังใจจากบรรดาฐานเสียงของเขา ทว่าคนมาเลเซียทั่วๆ ไปส่วนใหญ่บอกว่ารู้สึก “พอใจ” ที่เห็นอดีตนายกฯ ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในที่สุด
“เขาทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ผิดต่อประเทศ ทั้งที่ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองมากที่สุด เขาควรนำเงินเข้าประเทศ ไม่ใช่ปล้นชาติเสียเองแบบนี้” ฟาร์ฮาน ราช ครูสอนเทนนิส ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ พร้อมระบุว่าตัวเขาเอง “มีความสุขมาก” กับคำตัดสินของศาล
การถูกศาลพิพากษาจำคุกในครั้งนี้จะทำให้ นาจิบ ต้องหลุดจากการเป็น ส.ส. และหมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าแผนการกลับมาทวงอำนาจทางการเมืองของ นาจิบ น่าจะ “สิ้นสลาย” ลงในคราวนี้
“ภายใต้กฎหมายมาเลเซีย นาจิบ จะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ รวมถึงครั้งถัดไปด้วย (หากถูกตัดสินจำคุก)” เจมส์ ชิน อาจารย์ด้านเอเชียศึกษาจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี ก่อนที่ศาลมาเลเซียจะประกาศคำพิพากษาเมื่อวันอังคาร (23)
“ดูท่าว่าอนาคตทางการเมืองของเขาคงจะดับวูบลงแล้ว”
แม้มาเลเซียจะถึงกำหนดวาระเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในเดือน ก.ย. ปี 2023 ทว่าผู้สังเกตการณ์การเมืองหลายคนทำนายว่า รัฐบาลเสือเหลืองอาจประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนดภายในปีนี้
โอะห์ เอ ซุน (Oh Ei Sun) หัวหน้าที่ปรึกษาสถาบันคลังสมอง Pacafic Research Center of Malaysia ออกมาแนะว่าหนึ่งในทางรอดของ นาจิบ ก็คือต้อง “ขอพระราชทานอภัยโทษ” จากสมเด็จพระราชาธิบดี
“เขายังสามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้อยู่” โอะห์ บอกกับเอเอฟพี
“หากได้รับอภัยโทษอย่างที่หลายคนคาดกัน เขาก็มีสิทธิที่จะคัมแบ็กได้ไม่ยาก เพราะยังมีฐานเสียงที่พร้อมสนับสนุนอยู่มากพอสมควร”
อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ยังจะต้องพึ่งนายกรัฐมนตรี อิสมาอีล ซาบรี ยาคอบ ซึ่งเป็นคนของพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ของ นาจิบ ให้เป็นผู้ถวายคำแนะนำแด่สมเด็จพระราชาธิบดีในการอภัยโทษด้วย