xs
xsm
sm
md
lg

ของจริงล้ำลึกกว่านั้น!! การซ้อมรบของปักกิ่งหลัง ‘เพโลซี’ เยือนไทเป ชี้ว่าฝ่ายทหารสหรัฐฯ ตั้งสมมติฐานผิดพลาดในเรื่องการบุกเกาะไต้หวันของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เฉิน เฟิง ***


(ภาพจากแฟ้ม) รถถังสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเปิดการโจมตีขณะบุกขึ้นหัวหาดแห่งหนึ่ง ระหว่างการซ้อมรบซึ่งกระทำบนเกาะบริเวณด้านนอกของมณฑลฝู่เจี้ยน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวัน ทั้งนี้ผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ระบุว่า ถ้าสหรัฐฯ และไต้หวันวางแผนทำสงครามในช่องแคบไต้หวัน โดยที่คิดว่าจีนจะเปิดฉากด้วยวิธีเช่นนี้แล้ว พวกเขาก็ต้องเซอร์ไพรส์กับสิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s drills to change US military assumptions
By CHEN FENG
18/08/2022

จีนจะใช้วิธีส่งกำลังทหารหน่วยเล็กๆ แทรกซึมเข้าไปในไต้หวัน ขณะเดียวกับที่ใช้ความเหนือกว่าในด้านกองเรือในทะเลและกำลังทางอากาศมาสกัดกั้นไม่ให้กองทัพสหรัฐฯ เข้าช่วยเหลือเกาะแห่งนี้

สื่อมวลชนจีนและต่างประเทศต่างรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) หน่วยงานคลังสมองทรงอิทธิพลระดับเฮฟวีเวตในสหรัฐฯ ได้ดำเนินการฝึกวางแผนสร้างฉากทัศน์สมมติสถานการณ์แบบต่างๆ ขึ้นมา เพื่อใช้ในการศึกษาสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นในช่องแคบไต้หวันในวันข้างหน้า

ผู้ที่เข้าร่วมการฝึกวางแผนสร้างฉากทัศน์คราวนี้ มีทั้งพวกอดีตนายทหารอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและทางการเมืองของภาครัฐระดับอาวุโส และพวกนักวิจัยจากหน่วยงานคลังสมองต่างๆ เป็นต้นว่า บรรษัทแรนด์ (RAND Corporation) และศูนย์เพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกัน (Center for New American Security หรือ CNAS)

การฝึกวางแผนจัดทำฉากทัศน์เช่นนี้มีการกำหนดที่จะจัดทำกันมาเป็นเวลานานแล้ว และครั้งนี้ได้รับความสนใจกันเป็นอย่างมากเนื่องจากจัดขึ้นภายหลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี เดินทางไปเยือนไต้หวัน

CSIS มีสมมติฐานว่าสงครามจะระเบิดขึ้นในช่องแคบไต้หวันในปี 2026 การประมาณการในลักษณะนี้อาจจะยึดโยงอยู่กับคำทำนายของ พล.ร.อ.ฟิลิป เดวิดสัน (Admiral Philip Davidson) อดีตผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งกล่าวในขณะให้ปากคำต่อรัฐสภาอเมริกันว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะพร้อมเข้าโจมตีไต้หวันในปี 2027

หน่วยงานคลังสมองแห่งนี้ยังมีสมมติฐานว่า การโจมตีจะประกอบไปด้วยการสู้รบ 6 ถึง 8 ยก แต่ละยกกินเวลา 3 ถึง 4 วัน รวมทั้งหมดแล้วจะกินเวลาราว 3 ถึง 4 สัปดาห์

จากการฝึกวางแผนสร้างฉากทัศน์คราวนี้ บ่งบอกให้ทราบว่าในเกือบทุกฉากทัศน์ทีเดียว (แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดทุกๆ ฉากทัศน์) กองทัพไต้หวันจะไม่ถึงกับล่มสลายไปอย่างสิ้นเชิง ทว่าเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของไต้หวันจะถูกทำลายย่อยยับจนถึงขั้นรากฐาน

ผลการฝึกวางแผนสร้างฉากทัศน์ครั้งนี้ยังออกมาว่า กองทัพสหรัฐฯ ในภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกจะต้องจ่ายค่าตอบแทนในราคาแพงลิ่ว ขณะที่กองทัพปลดแอกประชาชนจะควบคุมเกาะไต้หวันเอาไว้ได้ตั้งแต่หนึ่งในสามไปจนถึงครึ่งเกาะ จากนั้นกองทัพปลดแอกก็จะไม่สามารถรักษาสายการส่งกำลังบำรุงเอาไว้ได้ แต่การส่งกำลังบำรุงของกองทัพสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

การฝึกวางแผนสร้างฉากทัศน์นี้จะดำนินต่อไปจนกระทั่งถึงเดือนกันยายน โดยที่รายงานสุดท้ายมีกำหนดจัดทำนำออกเผยแพร่ในเดือนธันวาคม จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ มีการฝึกวางแผนสร้างฉากทัศน์การโจมตีไปแล้ว 18 รอบจากฉากทัศน์ต่างๆ ที่คิดกันว่าน่าจะเป็นไปได้รวมทั้งสิ้น 22 รอบ

ขณะเดียวกัน หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนแล้ว CSIS ยังอาจจะเปลี่ยนแปลงฉากสมมติสถานการณ์ของฉากทัศน์ต่างๆ ของตน และกระทั่งอาจมีการเพิ่มฉากทัศน์ความเป็นไปได้ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับสงครามที่อาจจะระเบิดขึ้นในช่องแคบไต้หวัน

ในฉากทัศน์เหล่านี้ สหรัฐฯ สูญเสียเครื่องบินไประหว่าง 500 ถึง 900 ลำ และเรือรบมากกว่า 20 ลำ รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำด้วย อย่างไรก็ดี กองทัพปลดแอกต้องสูญเสียเรือสะเทินน้ำสะเทินบกและเรือผิวน้ำรวม 150 ลำ ส่วนกองทัพเรือและกำลังทางอากาศราวครึ่งหนึ่งของไต้หวันจะถูกกำจัดไปตั้งแต่ในการสู้รบยกแรก

รายงานข่าวที่ปรากฏออกมาส่วนใหญ่กล่าวอย่างคลุมเครือเกี่ยวข้อกำหนดต่างๆ ในการฝึกวางแผนสร้างฉากทัศน์ แต่มีบทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่โดยเว็บไซต์ US Breaking Defense เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ซึ่งให้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้น

สมมติฐานต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกวางแผนสร้างฉากทัศน์ :
1.การโจมตีหลักของกองทัพปลดแอกมาจากการยกพลขึ้นบกโดยใช้พวกยานสะเทินน้ำสะเทินบก
2.เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับกองทหารของกองทัพปลดแอก กว่าที่จะยกพลขึ้นบกสำเร็จ
3.กองทัพสหรัฐฯ สามารถใช้ฐานทัพต่างๆ ในญี่ปุ่น
4.ไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯ ต่างจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์
5.จำนวนอาวุธและจำนวนกองกำลังในปี 2026 ประมาณการขึ้นมาโดยยึดโยงอยู่กับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งหาได้จากที่มีการเผยแพร่ทางสาธารณะ

ข้อสรุปโดยพื้นฐาน :
1.ไม่ว่าสงครามเริ่มต้นขึ้นอย่างไร มันก็จบลงด้วยการกลายเป็นสงครามยืดเยื้อระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
2.กองทัพปลดแอกต้องระดมกำลังทหารทั้งหมดของตน ถ้าเพียงแค่ใช้กำลังทหารเท่าที่มีอยู่ในการบังคับบัญชาของกองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออก (Eastern Theater Command) แล้ว ก็จะประสบความพ่ายแพ้ตั้งแต่ในการสู้รบยกแรก
3.ทั้งสองฝ่ายมีความวิตกกังวลน้อยลง เมื่อจะไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์
4.เมื่อใดที่มีการนำเอากรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่ง (Marine Littoral Regiment หรือ MLR) เข้าร่วมการสู้รบด้วย จะส่งผลกระทบใหญ่โตมากต่อผลของสงคราม กองทหารนี้ไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้กองทัพปลดแอกยกพลขึ้นเกาะไต้หวันได้ แต่สามารถป้องกันกองทหารจีนไม่ให้สามารถเข้ายึดครองเกาะไต้หวันทั้งเกาะ

ข้อสรุปหลักๆ :
1.กองทัพปลดแอกจะไม่พรักพร้อมสำหรับการทำสงครามภายในปี 2027 แต่อาจจะพร้อมในช่วงปี 2030-2035
2.อเมริกาสามารถหวังได้เพียงแค่จะได้รับชัยชนะในแบบที่ตนเองจะประสบความเสียหายหนัก แต่จะไม่สามารถเอาชนะวิกฤตการณ์อื่นๆ บางอันภายหลังสงครามผ่านไปแล้ว

ไม่ใช่เป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นได้ว่า วิธีคิดของสหรัฐฯ เกี่ยวกับสงครามในช่องแคบไต้หวัน ยังคงอยู่ในระดับของศึกเกาะจินเหมิน (Battle of Kinmen) ในปี 1949 หรือศึกนอร์มังดี (Battle of Normandy) ในปี 1944

พวกเขาเชื่อว่าภัยคุกคามใหญ่โตที่สุดของกองทัพปลดแอกที่มีต่อเกาะไต้หวัน ยังคงมาจากการยกพลขึ้นบกโดยตรง และการยกพลขึ้นบกนี้ต้องกระทำกันอย่างรวดเร็วเพื่อทำให้ทันก่อนหน้าที่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซง

ดังนั้น พวกเขาจึงคิดว่าภารกิจสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ และไต้หวันคือการต่อต้านการยกพลขึ้นบก ซึ่งหมายถึงการขัดขวางขณะยังอยู่ในทะเล และการปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ที่มีการยกพลขึ้นบก

การยกพลขึ้นเกาะไต้หวันของกองทัพปลดแอก

เกาะไต้หวันไม่ได้อยู่ห่างไกลมากจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ใกล้ๆ กัน

กระทั่งสมมติว่ากองทัพไต้หวันอ่อนแอมาก กองทัพปลดแอกก็จำเป็นต้องระดมกำลังทหารระดับกลุ่มกองทัพขนาดใหญ่ (large army group) จำนวน 1 ถึง 2 กลุ่มกองทัพ ในทางเทคนิคแล้วมีวิธีการเพียงไม่กี่วิธีสำหรับการยกกำลังทหารระดับกลุ่มกองทัพขนาดใหญ่เข้าไปในไต้หวันโดยตรง

1.การยกพลเข้าชายหาดโดยใช้ยานโฮเวอร์คราฟต์
วิธีนี้ต้องอาศัยพื้นที่ซึ่งเป็นชายหาดแบนๆ ราบๆ ขนาดใหญ่ โดยที่ในไต้หวันมีพื้นที่เช่นนี้อยู่เพียงแค่สองสามแห่ง และเรื่องนี้ไม่ใช่ความลับอะไร หาดเหล่านี้เป็นจุดโฟกัสเน้นหนักสำหรับการป้องกันของฝ่ายไต้หวันมานานแล้ว

2.การยกพลโดยอาศัยเฮลิคอปเตอร์
ระยะทางที่จะต้องเดินทางข้ามช่องแคบนั้นถือว่าไกลทีเดียว ขณะที่กองทัพปลดแอกก็ไม่มีเฮลิคอปเตอร์เพียงพอ มันจึงเป็นทางเลือกที่พึงพิจารณาสำหรับการยกพลที่เป็นกำลังทหารขนาดเล็กๆ แต่ไม่ใช่กลุ่มกองทัพขนาดใหญ่

3.การยกพลขึ้นบกโดยใช้พลร่ม
ทหารพลร่มไม่สามารถลำเลียงพวกอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดหนัก รวมทั้งเป็นเรื่องลำบากของพวกเขาที่จะรวมตัวกันภายหลังโดดร่มลงมาแล้ว จึงไม่มีความเหมาะสมสำหรับกลุ่มกองทัพขนาดใหญ่

นครไทเปเป็นจุดโฟกัสของการป้องกันของไต้หวัน โดยที่มีเมืองเล็กเมืองน้อยรายล้อมหนาแน่น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบุกเข้าโจมตีไทเปโดยตรง

ในเวลาฝึกวางแผนจัดทำฉากทัศน์ พวกที่เลือกบุกตรงไปยังไทเป จะถูกขับไล่ออกมาอย่างง่ายดาย

ดังนั้น ทีมสีแดง (ที่เป็นตัวแทนกองทัพปลดแอก) ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะยกพลขึ้นบกที่บริเวณพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน แถวๆ ไถหนาน (Tainan) หรือเกาสง (Kaohsiung) แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญปัญหาการส่งกำลังบำรุง เนื่องจากระยะห่างจากแผ่นดินใหญ่จะยืดยาวขึ้นไปอีก พวกเขายังต้องเผชิญการโจมตีจากหมู่เกาะเผิงหู่ (Penghu) ในระหว่างการเดินทางของพวกเขา

การยกพลขึ้นที่ไถหนาน ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของสงครามไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกองทัพปลดแอก

กองทัพปลดแอกประชาชนจีนแสดงปฏิกิริยาตอบโต้การไปเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ด้วยการจัดเอ็กเซอร์ไซส์ทางการทหาร ซึ่งมีการระดมยิงขีปนาวุธ ที่หลายๆ ลูกเหินฟ้าบินข้ามเกาะไต้หวัน ชนิดที่ปักกิ่งไม่เคยกระทำท้าทายในรูปแบบนี้มาก่อน
จีนมีแนวความคิดที่แตกต่างออกไป

ในการฝึกซ้อมของกองทัพปลดแอกในช่องแคบไต้หวัน พวกเขาสาธิตให้เห็นถึงแนวความคิดทางยุทธการที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง กองทัพปลดแอกใช้วิธีส่งกองกำลังทางนาวี กองกำลังทางอากาศ และกองกำลังจรวดขนาดใหญ่ๆ เข้ามา ทว่าไม่ได้โฟกัสมากนักในเรื่องการเข้าโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบก

นี่ไม่ใช่เป็นเพราะว่าการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบกไม่มีความสำคัญ แต่เพราะว่ามันไม่ใช่ทางเลือกเพียงทางเดียว ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพปลดแอกได้ฝึกซ้อมการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบกหลายครั้งทีเดียว

กองทัพปลดแอกไม่ได้มีการยึดมั่นติดแน่นอยู่กับพวกยุทธวิธีพิเศษอะไร แต่สามารถสับเปลี่ยนได้อย่างยืดหยุ่นในเรื่องการใช้กองกำลังของตน ณ บริเวณปลายด้านเหนือและปลายด้านใต้ของเกาะไต้หวัน

สหรัฐฯ กระตุ้นส่งเสริมครั้งแล้วครั้งเล่าให้กองทัพไต้หวันหลีกเลี่ยงการเข้าสู้รบกับกองทัพปลดแอกในสงครามทางนาวีและสงครามทางอากาศ แต่ให้ประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์ “การป้องกันแบบตัวเม่น” (hedgehog defense) อย่างอสมมาตร (asymmetric) ทั้งนี้ สหรัฐฯ ดูเหมือนเห็นพ้องด้วยที่ว่า กำลังนาวีและกำลังทางอากาศของกองทัพปลดแอกนั้นสามารถครองฐานะเหนือกว่า

การฝึกวางแผนจัดทำฉากทัศน์ได้แสดงให้เห็นว่า เครื่องบินสู้รบและเรือผิวน้ำของสหรัฐฯ และไต้หวันแทบไม่ก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นมาเลย แต่พวกขีปนาวุธยิงจากชายฝั่งสู่เรือ กลับมีบทบาทสำคัญกว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการไม่ฉลาดเลยที่กองทัพปลดแอกจะยกพลขึ้นสู่ไต้หวันโดยตรง โดยปราศจากการใช้ฐานะความเหนือกว่าในทางทะเลและทางอากาศของตนให้เป็นประโยชน์

เหตุผลเพียงประการเดียวสำหรับการรีบยกพลขึ้นบกอย่างรวดเร็ว ก็คือ กองทัพปลดแอกต้องการหลีกเลี่ยงไม่เผชิญกับการเข้าแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ แต่เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่เหตุผลที่พึงพิจารณาอีกต่อไปแล้ว

การที่สหรัฐฯ เข้าแทรกแซงทางการทหารแน่นอนทีเดียวว่าจะสร้างความยุ่งยากซับซ้อนให้แก่เรื่องที่จีนแผ่นดินใหญ่จะใช้กำลังเพื่อนำเอาไต้หวันกลับมารวมชาติ

ในการฝึกซ้อมล่าสุด การเตรียมการทุกๆ อย่างของกองทัพปลดแอกมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสกัดขัดขวางการเข้าแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ กองทัพปลดแอกนั้นได้ปรับปรุงยกระดับสมรรถนะทางด้านการปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (area-denial capability) ของตน และมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นมากๆ ในความสามารถของตนที่จะยืนหยัดเผชิญหน้ากับการเข้าแทรกแซงของสหรัฐฯ

ในการฝึกวางแผนจัดทำฉากทัศน์ ปรากฏว่าฉากทัศน์แทบทั้งหมดยุติลงในสภาพเกิดการชะงักงัน

ถ้าหากกองทัพปลดแอกสามารถที่จะหยุดยั้งการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐฯ มันก็ไม่มีความเร่งด่วนใดๆ ที่พวกเขาจะต้องรีบยกพลขึ้นไต้หวัน

การยกพลขึ้นบกอย่างว่องไวนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ใช่การยกพลของกลุ่มกองทัพขนาดใหญ่ ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ และจำเป็นต้องมีการส่งกำลังบำรุงที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเมืองใหญ่

สหรัฐฯ ต้องการขัดขวางไม่ให้กลุ่มกองทัพขนาดใหญ่ของจีนสามารกยกพลขึ้นบกได้สำเร็จ ดังนั้นจึงมุ่งเน้นหนักเป็นอย่างมากในเรื่องวิธีการสู้รบกับพวกเรือสะเทินน้ำสะเทินบก และเรือส่งกำลังบำรุง

ในความเป็นจริงแล้ว ด้วยการใช้หน่วยทหารขนาดเล็กๆ จำนวนมากๆ บุกแทรกซึมเข้าสู่ไต้หวัน กองทัพปลดแอกไม่เพียงสามารถเพิ่มเครื่องมือสำหรับการยกพลขึ้นบกและการส่งกำลังบำรุงเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความยืดหยุ่นของฝ่ายตนขึ้นมาอย่างมากมาย

นอกจากนั้น กองทัพปลดแอกยังสามารถสร้างความตื่นตระหนกในทางจิตวิทยาขึ้นในจิตใจของฝ่ายทหารของไต้หวันและประชาชนไต้หวัน โดยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า “กองทัพคอมมิวนิสต์อยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง”

กำลังทหารราบของกองทัพปลดแอกที่มีปืนเป็นอาวุธนั้น มีประโยชน์มากกว่าพวกขีปนาวุธ ลูกระเบิดติดระบบนำวิถี และการระดมยิงด้วยจรวดจากระยะไกลๆ

การโจมตีด้วยกำลังนาวี กำลังทางอากาศ ตลอดจนด้วยขีปนาวุธ อย่างทรงพลังอำนาจของกองทัพปลดแอก เมื่อบวกกับการใช้กองทหารหน่วยเล็กๆ บุกขึ้นเกาะไต้หวัน จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของฝ่ายทหารและประชาชนของไต้หวันอย่างใหญ่หลวง และการปฏิบัติการของกองทหารไต้หวันซึ่งเกิดการชะลอตัวในทางยุทธศาสตร์ ก็สามารถสร้างภัยคุกคามอย่างมหึมาต่อระบบขีปนาวุธต่อสู้เรือตลอดจนระบบเรดาร์ของไต้หวัน

ยุทธศาสตร์เช่นนี้สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างทรงประสิทธิภาพมาก แน่นอนทีเดียวว่า ยังควรต้องมีการใช้พวกเครื่องบินสอดแนมและเครื่องบินโจมตี เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ตลอดจนดาวเทียมอีกด้วย

หน่วยทหารขนาดเล็กๆ เป็นเพียงกำลังเสริมสำหรับช่วยให้กลุ่มกองทัพขนาดใหญ่ของฝ่ายแผ่นดินใหญ่สามารถที่จะยกพลขึ้นบกได้ ถ้าหากกองทัพไต้หวันยังไม่ยอมแพ้ กองทัพปลดแอกจะเปิดฉากการโจมตีเพิ่มขึ้นอีก

ฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น

เป็นประเด็นปัญหาน่าสนใจทีเดียวเรื่องที่ว่ากองทัพสหรัฐฯ สามารถใช้ฐานทัพของญี่ปุ่นได้หรือไม่ ถ้าเครื่องบินสหรัฐฯ ทะยานขึ้นจากญี่ปุ่นและโจมตีใส่กองทัพปลดแอกในทะเลและบนภาคพื้นดิน มันก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่กองทัพปลดแอกจะไม่เข้าโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นบ้าง

ในการฝีกวางแผนจัดทำฉากทัศน์ของ CSIS มีอยู่ฉากทัศน์หนึ่งซึ่งกองทัพปลดแอกเปิดการโจมตีใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ทั้งในญี่ปุ่นและที่เกาะกวม ก่อนการยกพลขึ้นเกาะไต้หวันอีกด้วย จากนั้นญี่ปุ่นก็เข้าร่วมสงคราม และสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะสงคราม

นี่เป็นการตั้งสมมติฐานอย่างแปลกประหลาด ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า กระทั่งถ้าหากกองทัพปลดแอกเข้าโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น มันก็ยังไม่ชัดเจนว่าญี่ปุ่นจะเข้าร่วมสงครามหรือไม่ หรือตั้งแต่แรกเลย มันไม่แน่หรอกว่าญี่ปุ่นจะยินยอมให้เครื่องบินอเมริกันทะยานขึ้นจากพวกฐานทัพซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนของตน

ด้วย (ขีปนาวุธทิ้งตัว) ตงเฟิง 16 (ขีปนาวุธร่อน) ตงไห่-10 และ (เครื่องบินทิ้งระเบิด) ซีอาน เอช-6 จีนก็เตรียมพร้อมแล้วในกรณีที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามด้วย แต่มันไม่มีเหตุผลใดๆ สำหรับจีนที่จะเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าโจมตีญี่ปุ่นก่อน

ในหลายๆ ฉากทัศน์ทีเดียว สหรัฐฯ สูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินไป 2 ลำ เรือเหล่านี้คือกองกำลังทรงอำนาจที่สุดซึ่งสามารถมาถึงช่องแคบไต้หวันได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ ทว่ามันก็ไม่สามารถหยุดยั้งกองทัพปลดแอกจากการยกพลขึ้นสู่ไต้หวันได้ เรือเหล่านี้กระทั่งไม่สามารถป้องกันตัวมันเองได้ด้วยซ้ำ

ไม่ว่าเครื่องบินสู้รบหรือกองเรือผิวน้ำ ต่างไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเองมีประโยชน์ ฉากทัศน์ต่างๆ แสดงให้เห็นว่าการส่งบำรุงแก่กองกำลังทางนาวีและทางอากาศของสหรัฐฯ มีไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เรื่องสถานที่ตั้งฐานทัพ จำนวนเที่ยวบิน และพิสัยทำการบินของเครื่องบิน คือปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อจำกัดขึ้นมา

เป็นการตั้งข้อสมมติฐานที่แปลกประหลาดเช่นเดียวกัน ในการกะเกณฑ์ว่ากองทัพปลดแอกจะใช้กำลังทหารที่มีอยู่ในกองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออกเท่านั้น กองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออกนั้นแข็งแกร่งก็จริง แต่กองทัพปลดแอกไม่เคยเข้าสู้รบในสมรภูมิที่ไม่ได้มีการตระเตรียม

นอกจากนั้น ก็เป็นความคิดแบบฝันเฟื่องอีกนั่นแหละ ที่เห็นไปว่าพวกเพื่อนบ้านทั้งหมดของจีนจะยืนอยู่กับสหรัฐฯ และรอคอยโอกาสที่จะเข้ารุกรานจีน สถานการณ์เช่นนี้จะไม่ปรากฏให้เห็นหรอกในอนาคตอันใกล้

สงครามนิวเคลียร์

ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างเป็นรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ จีนนั้นประกาศนโยบายชัดเจนว่าจะไม่เป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่สหรัฐฯ มีทั้งนโยบาย ประเพณีปฏิบัติ และแรงกระตุ้นที่จะเป็นฝ่ายแรกซึ่งใช้อาวุธนิวเคลียร์

CNAS (ศูนย์เพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกัน) เพิ่งดำเนินการฝึกวางแผนจัดทำฉากทัศน์เสร็จไปก่อนหน้านี้ โดยที่ทีมสีแดง (ตัวแทนรัสเซีย) ข่มขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ทีมสีฟ้า (สหรัฐฯ) เหนี่ยวรั้งการปฏิบัติการของตนเพื่อหลีกเหลี่ยงไม่ให้เกิดฉากทัศน์เช่นนั้นขึ้นมา ในตอนท้าย ทีมสีแดงเปิดฉากทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกหนึ่งใส่ฮาวาย

ในช่องแคบไต้หวัน ไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯ ต่างไม่ควรที่จะบอกปัดความเป็นไปได้ของการบานปลายขยายตัวไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์

กรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่ง

กรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งเป็นหัวข้อวิจัยหลักหัวข้อหนึ่ง ในการฝึกวางแผนจัดทำฉากทัศน์ของ CSIS ครั้งนี้ ในช่องแคบไต้หวัน อาวุธหลักๆ ของกรมทหารแบบนี้ประกอบด้วยพวกขีปนาวุธโจมตีเรือ และระบบจรวดหลายลำกล้องเคลื่อนที่เร็ว HIMARS แทนที่จะเป็นเครื่องบินขับไล่ F-35B รถถัง หรือปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์

กรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งสามารถที่จะเข้าสู่ไต้หวันล่วงหน้าได้หรือไม่ จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อผลของสงคราม อย่างไรก็ดี มันยังมีปัญหาอีกหลายๆ ประการ ดังนี้
1.เมื่อพิจารณาจากการที่จีนแสดงปฏิกิริยาอย่างแข็งแกร่งต่อการเยือนไต้หวันของ เพโลซี การที่กรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งของสหรัฐฯ เคลื่อนเข้าไปในไต้หวัน จะต้องกลายเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามขึ้นมาอย่างแน่นอน
2.ในทันทีที่กรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งกระสุนหมด ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมให้ ทั้งนี้เครื่องบินขนส่งทหารแบบ C-17 ลำหนึ่งถูกกองทัพปลดแอกยิงตกในฉากทัศน์หนึ่ง
3.กรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งสามารถยับยั้งไม่ให้กองทัพปลดแอกเข้ายึดครองทั่วทั้งเกาะไต้หวัน แต่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้กองทัพปลดแอกยกพลขึ้นกาะแห่งนี้ได้

กระทั่งถ้ามีการนำเอาทหารจำนวน 6,000-7,000 นาย ของกรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งเต็มๆ เข้าไปประจำการในไต้หวันภายในปี 2026 ในแง่ของความเข้มแข็งมันก็ยังคงไม่เพียงพอ ทั้งนี้ยังไม่ต้องไปพูดในแง่มุมที่ว่ามันไม่มีเวลาสำหรับการนำกำลังทหารเหลานี้เข้าประจำการในไต้หวันหรอก

เมื่อไม่มีการส่งกำลังบำรุงในเรื่องเครื่องกระสุน กรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งก็จะกลายสภาพเป็นเหมือนกรมทหารราบเบากรมหนึ่งซึ่งมาสนับสนุนกองทัพไต้หวัน มันจะไม่สามารถต้านทานกลุ่มกองทัพขนาดใหญ่ของกองทัพปลดแอกได้ โดยที่ในระยะท้ายๆ ของสงคราม กองทัพปลดแอกอาจมองเห็นว่าเป็นช่วงเวลาอันสุกงอมสำหรับการยกพลขึ้นบกที่ไถหนาน

ในฉากทัศน์แทบทั้งหมด กรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งพยายามที่จะขึ้นบกในไต้หวันภายหลังสงครามระเบิดขึ้น ทว่าประสบความล้มเหลว หากปราศจากกรมทหารนี้แล้ว การป้องกันของสหรัฐฯ และไต้หวันก็ประสบความยากลำบากมากๆ

สหรัฐฯ ควรที่จะกังวลสนใจเกี่ยวกับข้อสรุปที่ว่า สงครามช่องแคบไต้หวันจะยาวนานออกไป ถึงแม้สหรัฐฯ มีความได้เปรียบหลายประการเหนือจีนก็ตามที

ในกรณีเช่นนี้ “เครื่องกระสุนซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบ” ของสหรัฐฯ (ส่วนใหญ่คือพวกขีปนาวุธพิสัยทำการไกลรุ่นก้าวหน้าแบบต่างๆ หลายหลาก) จะหมดสิ้นไปในเวลาไม่ช้าไม่นาน ศักยภาพการผลิตภายในประเทศจะไม่เพียงพอ และการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมจะดำเนินไปด้วยความลำบาก

ถ้าหากรัสเซีย อิหร่าน หรือกำลังฝ่ายอื่นๆ ท้าทายสหรัฐฯ ในตอนนั้น สหรัฐฯ ก็จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนเครื่องกระสุนและอาหาร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สหรัฐฯ จะประสบความเสียหายอย่างสาหัสจากการเข้าสนับสนุนไต้หวัน นี่อาจจะเป็นการสิ้นสุดของฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครๆ ของสหรัฐฯ และนี่อาจทำให้ทัศนะของพวกนักการเมืองสหรัฐฯ และประชาชนสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไป

การฝึกซ้อมของ CSIS ครั้งนี้ยังไม่ได้นำเอาผลกระทบทางเศรษฐกิจและจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายของสงครามมาคำนวณด้วย

เรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ จะต้องมีนายทหารและพลทหารจำนวนอย่างน้อยที่สุด 10,000 คน เวลาเดียวกันก็ยังมีอีก 10,000 คนบนเรือลำอื่น ทหารราบและนักบินรวมแล้วหลายพันคนจะต้องสิ้นชีวิต นี่จะเป็นจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายซึ่งพุ่งพรวดขึ้นอย่างฉับพลันชนิดที่ไม่ได้พบเห็นกันเลยหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามต่อสู้การก่อการร้ายนั้นมีจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายมากกว่านี้ ทว่าในสงครามเหล่านี้มันต้องใช้เวลาสะสมกันอยู่หลายปี ขณะที่สงครามในฉากทัศน์ต่างๆ ของ CSIS ใช้เวลาเพียงแค่ 3-4 สัปดาห์เท่านั้น

ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า การฝึกซ้อมของกองทัพปลดแอกจะเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดต่างๆ ของการฝีกวางแผนสร้างฉากทัศน์ซึ่งกระทำโดย CSIS หรือสถาบันอื่นๆ หรือไม่

เฉิน เฟิง เป็นคอลัมนิสต์คนหนึ่งของเว็บไซต์ข่าวภาษาจีน Guancha.cn และเผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้ซึ่งเขียนเป็นภาษาจีนทางเว็บไซต์แห่งดังกล่าวเป็นที่แรกในฐานะเป็นต้นฉบับรายงานพิเศษ เอเชียไทมส์นำเอามาแปลเป็นภาษาอังกฤษตามที่ได้รับอนุญาตโดยมีการลดทอนความยาวลงมาบ้าง ทั้งนี้ข้อเขียนชื้นนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน โดยไม่ได้เป็นตัวแทนความเห็นของ Guancha.cn หรือเอเชียไทมส์ แต่อย่างใด

(อ่านต้นฉบับที่เป็นภาษาจีนของข้อเขียนชิ้นนี้ได้ที่ https://www.guancha.cn/ChenFeng3/2022_08_18_654142_s.shtml)


กำลังโหลดความคิดเห็น