ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียออกมาคุยโวในสัปดาห์นี้ว่า มอสโกพร้อมที่จะส่งออกอาวุธซึ่งก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดของรัสเซียให้แก่ชาติพันธมิตรทั่วโลก รวมถึงช่วยยกระดับเทคโนโลยีด้านการทหารในประเทศเหล่านั้น ท่ามกลางเสียงค่อนแคะจากบรรดานักวิเคราะห์ตะวันตกที่มองว่ารัสเซียเองยังทำผลงานได้ย่ำแย่เกินความคาดหมายในสงครามยูเครนซึ่งยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 6 แล้ว
การที่ทหารรัสเซียถูกกองกำลังของยูเครนตีโต้กลับใน 2 เมืองใหญ่ แถมยังประสบความสูญเสียอย่างหนักระหว่างที่รุกคืบได้อย่างช้าๆ ใน 2 แคว้นทางตะวันออกของยูเครน ทำให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอาวุธรัสเซียดูแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด
กระนั้นก็ตาม ปูติน ก็ยังคงอ้างว่าอาวุธของแดนหมีขาวมีศักยภาพก้าวล้ำไปไกลกว่าคู่แข่ง “หลายสิบปี”
ปูติน เอ่ยย้ำถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างรัสเซียกับละตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา และบอกว่าประเทศของเขาพร้อมที่จะส่งออกอาวุธให้แก่ชาติพันธมิตรเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธเบา ยานเกราะ ปืนใหญ่ เครื่องบินโจมตี รวมไปถึงอากาศยานไร้คนขับ
“อาวุธเกือบทั้งหมดนี้เคยผ่านการใช้งานจริงในปฏิบัติการสู้รบมาแล้วมากกว่า 1 ครั้ง” ผู้นำรัสเซียกล่าว
ข้อเสนอของ ปูติน ยังรวมไปถึงอาวุธที่มีความแม่นยำสูง (high-precision weapons) และวิทยาการด้านหุ่นยนต์ ซึ่งเขาอ้างว่า “ส่วนใหญ่นำหน้าอาวุธของประเทศคู่แข่งหลายปี หรืออาจจะหลายทศวรรษ และในแง่ยุทธวิธีและคุณสมบัติทางเทคนิค พวกมันเหนือกว่าคู่แข่งมากมาย”
รัสเซียเป็นชาติผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเกือบ 1 ใน 5 ของตลาดอาวุธทั่วโลก
ระหว่างช่วง 2017-2021 รัสเซียส่งออกอาวุธราวๆ 73% ให้ 4 ประเทศลูกค้ารายใหญ่ ได้แก่ อินเดีย จีน อียิปต์ และแอลจีเรีย ตามข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI)
ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของตะวันตกของกล่าวว่า การที่รัสเซียยังต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการเผด็จศึกเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าอย่างยูเครน ทำให้คำโฆษณาของ ปูติน ขาดความน่าเชื่อถือ
“เมื่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกตะวันตกพังทลายลง รัสเซียจึงจำเป็นต้องพึ่งรายได้จากการส่งออกอาวุธมากกว่าที่เคย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ประธานาธิบดี ปูติน พยายามโปรโมตอุตสาหกรรมอาวุธของรัสเซียเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่ตะวันตกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” รูธ เดเยอร์มอนด์ อาจารย์ประจำภาควิชาสงครามศึกษาจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ระบุ
“แต่ปัญหาใหญ่สำหรับ ปูติน ก็คือ สงครามที่รัสเซียรุกรานยูเครนได้กลายเป็นหายนะต่อความน่าเชื่อถือของกองทัพรัสเซียเอง ประสิทธิภาพในการรบของพวกเขาเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือโฆษณาขายอาวุธที่ห่วยมาก”
พล.อ.เบน ฮ็อดจส์ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคยุโรป อ้างถึงการประเมินของเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ที่พบว่า ขีปนาวุธนำวิถีความแม่นยำสูง (precision-guided missiles) ของรัสเซียมีอัตราการพลาดเป้าสูงถึง 60% ซึ่งอาจถือว่าเป็นระบบอาวุธรัสเซียที่ทำผลงาน “ยอดแย่” ในสงครามยูเครนเลยก็ว่าได้
มาตรการคว่ำบาตรที่ครอบคลุมรอบด้านของตะวันตกยังก่อให้เกิดคำถามด้วยว่า มอสโกจะสามารถจัดหาชิ้นส่วนและให้บริการด้านการบำรุงรักษาแก่ลูกค้าที่สั่งซื้ออาวุธได้หรือไม่
“ถ้าผมเป็นลูกค้าที่จะซื้ออาวุธจากรัสเซีย ผมคงกังวลว่าอาวุธที่ได้มาจะมีคุณภาพดีแค่ไหน และรัสเซียมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ที่จะซ่อมบำรุงอุปกรณ์เหล่านี้ให้สามารถใช้งานได้ในระยะยาว” พล.อ. ฮ็อดจส์ กล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ยูเครนนำอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับจากสหรัฐฯ ไปใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบจรวดหลายลำกล้องเคลื่อนที่เร็ว (the High Mobility Artillery Rocket System : HIMARS) ซึ่งทำให้รัสเซียตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ และโดนโจมตีกลับอย่างหนักหลายครั้ง รวมถึงเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นภายในฐานทัพอากาศของรัสเซียบนแหลมไครเมียเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งทำลายเครื่องบินไปอย่างน้อย 8 ลำ อ้างอิงจากภาพถ่ายดาวเทียม
อย่างไรก็ดี ผู้นำหมีขาวยังคงโอ้อวดว่าทหารรัสเซียและกลุ่มติดอาวุธพันธมิตรในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครนทำผลงานได้ “ตรงตามเป้าหมาย” ที่วางไว้ และกำลัง “ค่อยๆ ปลดปล่อยดินแดนดอนบาสไปทีละสเต็ป”
ปูติน ยังมีถ้อยแถลงเพิ่มเติมในวันอังคาร (16) โดยกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าจงใจทำให้สงครามในยูเครนยืดเยื้อยาวนานออกไป เพื่อที่จะรักษาความเป็นเจ้าโลกของอเมริกาไว้ นอกจากนี้ ยังกล่าวพาดพิงถึงการเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าเป็นอีกหนึ่งความพยายามของอเมริกาที่จะยุยงให้สถานการณ์ตึงเครียด เพื่อบั่นทอนเสถียรภาพโลก
สหรัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ในแพกเกจช่วยเหลือยูเครนนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ในจำนวนนี้รวมถึงปืนใหญ่พิสัยไกลที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งช่วยเปิดทางให้ยูเครนสามารถโจมตีแหล่งที่ตั้งเสบียงต่างๆ ของรัสเซียที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมอสโกได้
อย่างไรก็ตาม สงครามที่ยืดเยื้อมานานถึง 6 เดือนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างเริ่มจะทำให้ตะวันตกมีพลังในการล็อบบี้ชาติอื่นๆ ให้ช่วยกันโดดเดี่ยวรัสเซียน้อยลงเรื่อยๆ และแม้แต่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ดูเหมือนจะยังไม่พบหนทางปิดฉากสงครามครั้งนี้
“ยิ่งสงครามลากยาวต่อไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งยากที่จะหาวิธีลงโทษรัสเซียอย่างมีความหมาย” ริชาร์ด โกแวน ผู้อำนวยการของ UN จากกลุ่ม International Crisis Group ให้ความเห็น
นักการทูตและผู้สังเกตการณ์หลายคนบอกตรงกันว่า บางครั้งฝ่ายตะวันตกเองก็ลังเลที่จะเสนอมาตรการลงโทษออกไป เพราะกลัวจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอ อีกทั้งจำนวนผู้แทนที่ “งดออกเสียง” มากขึ้นเรื่อยๆ ก็สะท้อนให้เห็นว่าหลายประเทศเริ่มไม่เอาด้วยกับแผนปิดล้อมรัสเซีย