xs
xsm
sm
md
lg

มองลึกลงไปจาก ‘แนนซี เพโลซี’ ถึง ‘ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน-สหรัฐฯ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อเล็กซานเดอร์ คาเซลลา


ประธานเหมา เจ๋อตง ต้อนรับประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่บ้านพักในทำเนียบจงหนานไห่ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1972 (ภาพจากสำนักข่าวซินหัว)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Beyond Nancy Pelosi
By ALEXANDER CASELLA
12/08/2022

การไปเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ซึ่งก่อให้เกิดความอึกทึกครึมโครมยิ่ง เป็นฉากหนึ่งของวิวัฒนาการความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน-สหรัฐฯ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน ถ้ามองไม่เห็นสายโยงใยของกาลเวลา ก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าความขัดแย้งในปัจจุบันปะทุขึ้นมาได้อย่างไร

การไปเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี และความอึกทึกครึกโครมที่การเยี่ยมเยียนนี้ก่อขึ้นมา เป็นเพียงฉากล่าสุดของบทหนังเรื่องยาวซึ่งบทที่หนึ่งของมันถูกเขียนขึ้นมาเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน

ทั้งหลายทั้งปวงเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ตอนที่ เหมา เจ๋อตง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนข้นมา อีกไม่กี่เดือนให้หลังคือในเดือนมกราคม 1950 เฮนรี ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐฯในเวลานั้นประกาศว่า วอชิงตันไม่มีเจตนารมณ์ที่จะพิทักษ์ปกป้องไต้หวัน เป็นการแสดงท่าทีอย่างอ้อมๆ ว่าการสู้รบขัดแย้งกันระหว่างพวกคอมมิวนิสต์ กับพวกชาตินิยม (หรือก๊กมิ่นตั๋ง ผู้ซึ่งพ่ายแพ้บนแผ่นดินใหญ่และหลบหนีไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน) เป็นประเด็นปัญหาภายในจีนเอง

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1950 เหมา ลงนามในสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกันกับผู้นำสหภาพโซเวียต โจเซฟ สตาลิน มองจากสายตาของผู้นำสหรัฐฯแล้ว ด้วยการจรดปากกาเซ็นชื่อครั้งนั้น ปัญหาของจีนปัญหานี้ก็เปลี่ยนแปลงไป เรียกได้ว่าเพียงชั่วเวลาข้ามคืน ชัยชนะของพวกคอมมิวนิสต์ในจีนก็ถูกพิสูจน์ให้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นแค่ประเด็นปัญหาภายในของจีนเองอีกต่อไปแล้ว การที่จีนประกาศเข้าร่วมกับค่ายโซเวียต ขณะที่โลกกำลังอยู่กลางสงครามเย็น น่าที่จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อดุลอำนาจบนเวทีโลก

ในวันที่ 25 มิถุนายน 1950 เกาหลีเหนือโจมตีเกาหลีใต้ มองจากสายตาของวอชิงตัน บทหนังเรื่องนี้ทำความเข้าใจกันได้ง่ายๆ เหลือเกิน นั่นคือ เบื้องหลังของเกาหลีเหนือคือจีน และเบื้องหลังของจีนคือมอสโก ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องทัดทานปักกิ่งให้อยู่หมัด ถ้าหากต้องการตอบโต้พวกโซเวียต แล้วสถานที่ซึ่งถูกเลือกให้ทำหน้าที่เช่นนั้นก็ได้แก่ ไต้หวัน

ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 25 มิถุนายน ทรูแมนจึงออกคำสั่งให้กองเรือที่ 7 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ออกตรวจการณ์ในช่องแคบไต้หวันเพื่อป้องกันไม่ให้พวกคอมมิวนิสต์ยกพลขึ้นเกาะไต้หวัน

จีนเดียว (เรียกได้ว่าเป็นเช่นนั้น)

ขณะที่พรรคก๊กมิ่นตั๋งครองอำนาจอย่างมั่นคงอยู่ในไต้หวันนั้น พวกเขายืนยันหนักแน่นว่าพวกเขาคือรัฐบาลของ “สาธารณรัฐจีน” ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปักกิ่งก็ยืนยันหนักแน่นว่าพวกเขาเป็น รัฐบาลของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันในเรื่องที่ว่า จีนนั้นมีเพียงจีนเดียว สิ่งที่โต้แย้งหักล้างกันอยู่ที่ว่าในสองรัฐบาลนี้ รัฐบาลไหนกันแน่เป็นตัวแทนของจีนที่แท้จริง

ในทางปฏิบัติแล้ว นี่หมายความว่ามี 2 อำนาจอยู่ในดินแดนของจีน โดยสิ่งที่แตกต่างกันก็คือ อำนาจหนึ่งนั้นอยู่ใต้การพิทักษ์คุ้มครองของต่างชาติ และครอบครองเกาะแห่งหนึ่งซึ่งมีประชากรราว 20 ล้านคน ส่วนอีกอำนาจหนึ่งครอบครองส่วนที่เหลืออยู่ของจีน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน

ในช่วง 20 ปีถัดจากนั้น นโยบายการต่างประเทศอเมริกันมุ่งสร้างความถาวรเป็นอมตะให้แก่นิยายที่ว่า พรรคก๊กมิ่นตั๋ง ผู้ซึ่งหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ในไต้หวันนั้น คือตัวแทนของจีน และสหรัฐฯยังบีบคั้นให้พวกพันธมิตรของตนกระทำอย่างเดียวกัน ในเวลาระหว่างนั้นเอง การแตกแยกสะบั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโซเวียตได้บังเกิดขึ้นมา เช่นเดียวกับสงครามเวียดนาม และความสามารถหยุ่นตัวของระบอบปกครองปักกิ่งก็เอาชนะนิยายเพ้อฝันเรื่องนี้ได้สำเร็จ โดยในวันที่ 25 ตุลาคม 1971 ท่ามกลางความตื่นตะลึงของวอชิงตัน สมัชชาใหญ่สหประชาชนลงมติรับรองระบอบปกครองปักกิ่งว่า คือรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงรัฐบาลเดียวของจีน

มันทำให้ฝ่ายอเมริกันต้องตัดสินใจเดินตาม ในวันที่ 1 มกราคม 1979 สาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยประกาศยอมรับในหลักการที่ว่า มีจีนเพียงจีนเดียว และรัฐบาลจีนก็คือรัฐบาลที่อยู่ในปักกิ่ง สิ่งที่ติดตามมาด้วยก็คือ มีอำนาจท้องถิ่นในทางพฤตินัยอยู่ในไต้หวัน ซึ่งวอชิงตันจะะยังคงมีความสัมพันธ์ด้วยในแบบไม่เป็นทางการต่อไป นี่คือวิธีการของการนำปัญหานี้ไปวางไว้ในจุดซึ่งไม่ให้เป็นที่สนใจ ทว่ามันย่อมไม่อาจซ่อนเร้นปิดบังสภาพแวดล้อมของปัญหานี้ได้

เส้นสีแดงที่ห้ามล่วงล้ำ

ในเวลานั้น พรรคก๊กมิ่นตั๋ง ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยมากกว่าพรรคคอมมิวนิสต์เลย แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ไต้หวันก็เปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค

เดือนมกราคม 2016 พรรคก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งปกครองเกาะแห่งนี้มาโดยตลอดจนกระทั่งถึงตอนนั้น ประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป โดยที่ผู้ชนะคือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งเป็นฝ่ายค้านสำคัญที่สุดของพวกเขา พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้านั้นไม่เหมือนกับพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วยังคงมุ่งที่จะเป็นพรรคการเมืองของแผ่นดินจีนทั้งมวล โดยที่ในธรรมนูญของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ามีการจัดวางเพื่อที่จะประกาศให้เกาะแห่งนี้เป็นเอกราชแยกออกจากไปจากจีน

สำหรับปักกิ่ง และก็สำหรับพรรคก๊กมิ่นตั๋งด้วยเช่นกัน เรื่องนี้ถือเป็นเส้นสีแดงที่ห้ามล่วงละเมิด การที่มีรัฐบาลจีนซึ่งเป็นคู่แข่งรายหนึ่งเข้าครอบครองดินแดนส่วนหนึ่งของจีนเอาไว้ เป็นเรื่องที่ปักกิ่งไม่ได้ชมชอบอย่างแน่นอน ทว่ามันก็ยังพอจะยอมรับกันได้ แต่มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เลยสำหรับการที่อำนาจท้องถิ่นรายหนึ่ง ซึ่งความดำรงคงอยู่ของพวกเขาต้องขึ้นอยู่กับการแทรกแซงช่วยเหลือของฝ่ายตะวันตก จะมาแบ่งแยกและตัดเฉือนดินแดนส่วนหนึ่งของจีนไป

นี่คือความเป็นจริงซึ่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าก็เข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดี และจึงนำไปสู่การที่พรรคระงับแผนการเพื่อเป็นเอกราช โดยที่ยังไม่เอ่ยถึงข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐธรรมนูญของไต้หวัน ซึ่งรับรองประกาศใช้โดยพรรคก๊กมิ่นตั๋งนั้น มีบทบัญญัติที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงแนวพรมแดนใดๆ ของจีนกลายเป็นปัญหายุ่งยากมากๆ กระนั้นข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศของการไม่ไว้ใจกันและกันซึ่งปรากฏให้เห็นในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ปักกิ่งก็กำลังแน่ใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าวอชิงตันกำลังหาทางเติมเชื้อเพลิงให้เกิดการแบ่งแยกแผ่นดินจีนขึ้นมา

ความผูกพันกันอย่างแน่นหนา

แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ชาวไต้หวันทั่วไปโดยเฉลี่ยต้องการหรอก จริงๆ แล้ว ถ้าเปอร์เซ็นต์ของคนไต้หวันที่ชื่นชอบการกลับไปรวมเป็นชาติหนึ่งเดียวกันกับจีนแผ่นดินใหญ่ มีจำนวนที่ไม่ได้เยอะแยะอะไรแล้ว สิ่งซึ่งประชากรเกินครึ่งไปมากมายของเกาะแห่งนี้ต้องการนั้น มีเพียงสิ่งเดียว ได้แก่การดำรงสถานะเดิมซึ่งสามารถพูดจาเป็นปากเสียงให้ตัวเองได้เอาไว้

ประมาณการกันเอาไว้ว่า ประชากรไต้หวันระหว่าง 2-3% หรือเท่ากับราวๆ 500,000 คน ทำงานอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างถูกกฎหมาย ไต้หวันคือนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนนำหน้าใครเพื่อนในจีน ด้วยยอดเม็ดเงิน 190,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งจีนยังเป็นจุดหมายปลายทางของสินค้าส่งออก 43% ของเกาะแห่งนี้ และเป็นที่มาของสินค้านำเข้า 22% ของไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดกันจนถึงที่สุด และยกเว้นแต่เหตุการณ์อะไรเล็กๆ น้อยๆ แล้ว ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่ายนี้ดูไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนอะไรมากมาย จากการสำแดงอำนาจซึ่งปรากฏให้เห็นในอาณาบริเวณนี้

อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อตอนที่ ทรูแมน ส่งกองเรือที่ 7 เข้าไปในช่องแคบไต้หวันนั้น เขากระทำเช่นนั้นเนื่องจากเขามีเครื่องมือต่างๆ สำหรับให้กระทำการดังกล่าว และไม่มีใครอื่นเลยซึ่งมีเครื่องมือที่จะหยุดยั้งเขา

ยังเป็นเรื่องที่ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า ในเวลาหลายๆ ทศวรรษข้างหน้านี้ วอชิงตันจะยังคงมีทั้งเครื่องมือและเจตนารมณ์หรือไม่ ที่จะเข้าแทรกแซงในดินแดนซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งของตนเอง 12,000 กิโลเมตร เพื่อแสดงการอยู่ข้างเดียวกันกับเกาะแห่งหนึ่งที่มีประชากรราว 22 ล้านคน โดยที่มีความเสี่ยงภัยว่าจะต้องทำสงครามกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งเป็นอันดับสองของโลก

อเล็กซานเดอร์ คาเซลลา PhD สอนและทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ให้แก่สื่อมวลชนหลายแห่ง อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ Le Monde, The Times, The New York Times, Die Zeit, The Guardian, และสถานีวิทยุและโทรทัศน์สวิส โดยที่สำคัญคือเขียนเรื่องว่าด้วยจีนและเวียดนาม ในปี 1973 เขาเข้าทำงานกับ UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) ในตำแหน่งต่างๆ รวมทั้ง หัวหน้าส่วนเอเชียตะวันออก, และผู้อำนวยการสำหรับเอเชียและโอเชียเนีย จากนั้นเขาทำงานอยู่ 18 ปีในตำแหน่งเป็นผู้แทนประจำเจนีวาของ ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนานโยบายการอพยพ (International Center for Migration Policy Development)


กำลังโหลดความคิดเห็น