xs
xsm
sm
md
lg

G7 วอนคืนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ยูเครน รัสเซียขู่ตัดสัมพันธ์ถ้าถูกมะกันยึดทรัพย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ยูเครนขู่หมายหัวทหารรัสเซียที่ยิงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย หรือใช้เป็นที่มั่นในการโจมตี ด้านกลุ่มประเทศ G7 ที่หวั่นเกิดหายนะนิวเคลียร์ เรียกร้องมอสโกถอนทหารออกจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว ขณะเดียวกัน รัสเซียเตือนวอชิงตันสัมพันธ์อาจขาดสะบั้น ถ้าอเมริกายึดทรัพย์สินรัสเซีย

ยูเครนและรัสเซียต่างกล่าวหากันว่า เป็นฝ่ายโจมตีโรงไฟฟ้าซาโปริซเซียทางใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรปและกองกำลังรัสเซียเข้ายึดได้ตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม

ระหว่างปราศรัยเมื่อค่ำวันเสาร์ (13 ส.ค.) ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เตือนว่า ทหารรัสเซียทุกคนที่ยิงออกจากโรงไฟฟ้าซาโปริซเซีย หรือใช้เป็นที่มั่นในการโจมตี จะเป็นเป้าหมายพิเศษของหน่วยข่าวกรอง กองกำลังพิเศษ และกองทัพยูเครน

ผู้นำยูเครนยังย้ำว่า รัสเซียใช้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นเครื่องมือขู่กรรโชกด้านนิวเคลียร์ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวครอบครองพื้นที่ฝั่งใต้ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณแม่น้ำดนิโปร โดยกองกำลังยูเครนควบคุมเมืองและฝั่งตรงข้ามที่ถูกฝ่ายรัสเซียโจมตีอย่างหนัก

มิกไคโล โปลโดยัค ที่ปรึกษาของเซเลนสกี ทวีตกล่าวหารัสเซียโจมตีโรงไฟฟ้าส่วนที่จ่ายไฟฟ้าให้พื้นที่ทางใต้ของยูเครน เพื่อตัดขาดยูเครนจากโรงไฟฟ้าและโยนความผิดให้กองทัพยูเครน

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ที่เรียกร้องขอเข้าตรวจสอบโรงไฟฟ้าซาโปริซเซีย เตือนเกิดหายนะนิวเคลียร์ถ้าทั้งสองฝ่ายยังไม่หยุดสู้รบในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากอาจสร้างความเสียหายต่อบ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว หรือเตาปฏิกรณ์

แอนโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้กำหนดบริเวณโดยรอบโรงไฟฟ้าดังกล่าวที่ยังมีช่างเทคนิคของยูเครนปฏิบัติงานอยู่ เป็นเขตปลอดทหาร

เคียฟประกาศเจตนารมณ์มาตลอดหลายสัปดาห์ว่า กำลังวางแผนตอบโต้เพื่อชิงเขตซาโปริซเซีย และเคียร์ซอนที่อยู่ติดกันคืน และถือเป็นดินแดนขนาดใหญ่ที่สุดที่รัสเซียยึดครองได้และยังคงควบคุมอยู่นับจากบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ก่อนหน้านี้ รัสเซียและยูเครนต่อสู้กันเพื่อชิงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่ยังคงมีสารกัมมันตรังสีและเป็นสถานที่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงที่สุดของโลก ซึ่งทำให้เกิดความหวาดหวั่นว่า จะเกิดหายนะนิวเคลียร์เช่นเดียวกัน

การรุกรานยูเครนที่รัสเซียเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” เพื่อทำให้ยูเครนเป็นเขตปลอดทหารและปลอดลัทธินาซี ยังทำให้ความสัมพันธ์วอชิงตัน-มอสโกตกต่ำ โดยสหรัฐฯ เป็นแกนนำพันธมิตรตะวันตกจัดหาอาวุธให้ยูเครนป้องกันตัวเอง และออกมาตรการคว่ำบาตรลงโทษมอสโก

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 ส.ค.) เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัสเซีย ระบุ มอสโกได้เตือนวอชิงตันว่า หากวุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายตีตรารัสเซียเป็น “ประเทศที่สนับสนุนลัทธิก่อการร้าย” อาจสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ทางการทูตหรือแม้แต่ทำให้สัมพันธ์ขาดสะบั้น

ต่อมาในวันเสาร์ สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานว่า อเล็กซานเดอร์ ดาร์ชีฟ หัวหน้าฝ่ายกิจการอเมริกาเหนือของกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย เตือนว่า หากอเมริกายึดทรัพย์สินของรัสเซียจะทำลายความสัมพันธ์ที่มีต่อกันอย่างถาวร

ดาร์ชีฟไม่ได้ระบุว่า ทรัพย์สินที่ว่าคืออะไร แต่สำทับว่า อิทธิพลของอเมริกาต่อยูเครนเพิ่มขึ้นถึงระดับที่อเมริกากลายเป็นคู่กรณีโดยตรงในความขัดแย้งมากขึ้น

ที่ผ่านมา อเมริกาและยุโรปที่เกรงว่าจะถูกดึงเข้าสู่สงครามโดยตรง ปฏิเสธคำขอของยูเครนให้จัดตั้งเขตห้ามบินเพื่อช่วยปกป้องน่านฟ้ายูเครนจากขีปนาวุธและเครื่องบินรบของรัสเซีย

ในอีกด้านหนึ่งนั้น กระทรวงกลาโหมตุรกีเผยว่า เรือบรรทุกธัญพืชของยูเครนอีก 2 ลำเดินทางออกจากท่าเรือในทะเลดำแล้วเมื่อวันเสาร์ รวมเป็นทั้งสิ้น 16 ลำที่กลับมาส่งออกธัญพืชยูเครนนับจากมีการบรรลุข้อตกลงผ่อนคลายวิกฤตอาหารโลกระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยมียูเอ็นและตุรกีเป็นตัวกลาง และส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรของยูเครนรวม 450,000 ตันนับจากต้นเดือนนี้

ข้อตกลงดังกล่าวที่รับประกันการเดินทางอย่างปลอดภัยของเรือเหล่านั้น ทำให้ท่าเรือในทะเลดำกลับมาส่งออกได้อีกครั้งหลังจากหยุดไปนาน 5 เดือนเนื่องจากสงคราม และเคียฟหวังว่า จะเพิ่มการส่งออกธัญพืชและสินค้าเกษตรอื่นๆ ทางทะเลได้เพิ่มเป็นเดือนละกว่า 3 ล้านตันในอนาคตอันใกล้
กำลังโหลดความคิดเห็น