xs
xsm
sm
md
lg

สื่อแดนสิงหลสนใจข่าว “นายกฯ ไทย” เปิดประตูอ้าแขนรับ "ราชปักษา" บินเข้า “รมว.คลังบังกลาเทศ” เตือนผ่านไฟแนนเชียลไทม์สให้ระวังโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของปักกิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - รัฐมนตรีคลังบังกลาเทศออกมาเตือนเสียงดังชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายให้ดูวิกฤตศรีลังกาเป็นตัวอย่าง ระวังเงินกู้จากโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน เพราะปักกิ่งไม่ระมัดระวังพอในการตัดสินว่าโครงการใดสมควรสนับสนุน ท่ามกลางสื่อและหนังสือพิมพ์แดนสิงหลรายงานเสนอข่าวอย่างครึกโครมเรื่องนายกรัฐมนตรีไทยอนุญาตให้อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา โกตาบายา ราชปักษา เดินเข้าประเทศ ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีศรีลังกา มหินทรา ราชปักษา และอดีตรัฐมนตรีคลังศรีลังกา บาซิล ราชปักษา ถูกศาลสูงสุดโคลัมโบวันพุธ (10 ส.ค.) ขยายเวลาคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศต่อ

ซีลอนทูเดย์ (Ceylon Today) สื่อศรีลังการายงานวันนี้ (11 ส.ค.) ว่า ท่ามกลางการรายงานข่าวอดีตประธานาธิบดีศรีลังกา โกตาบายา ราชปักษา ซึ่งปัจจุบันกำลังอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ และมีรายงานว่าราชปักษากำลังจะเดินทางเข้าสู่ไทยวันพฤหัสบดี (11) โดยใช้หนังสือเดินทางการทูตของตัวเอง ศาลสูงสุดโคลัมโบเมื่อวานนี้ (10) ได้อนุมัติคำขอขยายคำสั่งการห้ามเดินทางต่างแดนของอดีตนายกรัฐมนตรีศรีลังกา มหินทรา ราชปักษา และอดีตรัฐมนตรีคลังศรีลังกา บาซิล ราชปักษา (Basil Rajapaksa) ออกไปจนถึงวันที่ 5 ก.ย.นี้ตามคำขอขององค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศศรีลังกา TISL (Transparency International Sri Lanka) และอีก 3 ฝ่าย

เป็นการยื่นเรื่องทางกฎหมายต่อศาลสูงสุดศรีลังกาเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดก่อนของศรีลังกา รวมไปถึงอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกาโดยรวมทั้งหมด 6 คน

ทั้งนี้ ในคดีนี้ผู้ยื่นเรื่องขอต้องการให้พี่น้องตระกูลราชปักษา 2 คน ได้แก่ อดีตนายกรัฐมนตรีศรีลังกา มหินทรา ราชปักษา และอดีตรัฐมนตรีคลังศรีลังกา บาซิล ราชปักษา และคนอื่นๆ ห้ามเดินทางออกนอกศรีลังกา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลไปจนกว่าการสอบสวนคดีเศรษฐกิจศรีลังกาล้มละลายจะเสร็จสิ้น โดยได้ชี้ให้เห็นถึงว่ารายชื่อผู้มีอำนาจทั้งหมดที่ยื่นนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อความไม่ยั่งยืนของหนี้ต่างประเทศจนทำให้โคลัมโบต้องประกาศผิดนัดชำระหนี้ระหว่างประเทศ และรวมไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจของศรีลังกาเหมือนเช่นในปัจจุบัน

สื่อและหนังสือพิมพ์ของศรีลังกาเป็นจำนวนมากยังแสดงความสนใจต่อรายงานที่ว่า โกตาบายา ราชปักษา ซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศไปโดยเครื่องบินทหารเมื่อวันที่ 13 ก.ค.เข้ามัลดีฟส์ ก่อนที่จะบินเข้าสิงคโปร์ ซึ่งพบว่าทั้งซีลอนทูเดย์ รวมหนังสือพิมพ์อื่นๆ ในประเทศเป็นต้นว่า เดอะซันเดย์ไทม์สของศรีลังกา เดลีมิเรอร์ของศรีลังกา สื่อเดลีนิวส์ และ FTnews รวม NewsWire ต่างเสนอข่าวความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีต่อการเดินทางเข้ามาของราชปักษาในราชอาณาจักรไทยที่มีการคาดหมายว่า จะบินเข้ามาในวันนี้ (11)

FTnews รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแสดงเหตุผลว่า ไทยอนุญาตบนพื้นฐานด้านมนุษยธรรม และอดีตผู้นำศรีลังกาได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างอยู่ในประเทศระหว่างที่ค้นหาจุดหมายปลายทางประเทศที่ 3 ต่อไปที่จะอนุญาตให้เขาลี้ภัยถาวรที่นั่น

กระทรวงต่างประเทศไทยเปิดเผยว่า ได้รับคำขอจากราชปักษาในการเดินทางเข้ามาและชี้ว่า เขาไม่มีความตั้งใจที่จะยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองในไทย นอกจากนี้ ยังเสริมว่าฝ่ายไทยไม่มีปัญหาในการที่ราชปักษาจะใช้หนังสือเดินทางการทูตบินเข้าประเทศและนั่นจะทำให้เขาสามารถอาศัยอยู่ในไทยได้นานสูงสุด 90 วัน ผ่านข้อตกลงระดับทวิภาคีปี 2013 ในเรื่องการยกเว้นวีซ่าระหว่างกัน

ขณะที่เดลีมิเรอร์ได้แสดงการ์ตูนล้อการเมืองรูปราชปักษาที่สีหน้ามีความสุขกำลังลากกระเป๋าเดินทางและมีหนังสือเดินทางในมือตราสีเขียวประทับเขียนไทยแลนด์เป็นภาษาอังกฤษ ระหว่างที่รูปหนังสือเดินทางประทับสีแดงข้อความ “ปฏิเสธ” ในภาษาอังกฤษตกเกลื่อนรายทางระหว่างเดิน

ซึ่งมีชาวเน็ตศรีลังกาส่วนหนึ่งออกมาแสดงความเห็นในข่าวราชปักษา เป็นต้นว่า เหตุใดราชปักษาจึงสามารถใช้หนังสือเดินทางการทูตได้ และเหตุใดจึงมีประเทศในโลกใบนี้ที่ยอมให้ราชปักษาใช้เป็นที่หลบภัยทางการเมือง เพราะเขาสมควรถูกนำตัวขึ้นศาลระหว่างประเทศในข้อหาความผิดต่อมนุษยชาติ ส่วนอีกความเห็นชี้ว่า ได้โปรดอนุญาตให้เข้าสามารถลี้ภัยได้และเก็บเขาไว้ที่นั่น แต่งตั้งเขาให้เป็นที่ปรึกษาเพราะนั่นเป็นงานถนัด และมีบางความเห็นกล่าวล้อว่า 3 เดือนในไทยและบินไปจีน

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงของศรีลังกายังทำให้เพื่อนบ้าน เช่น บังกลาเทศออกมาแสดงคำเตือน โดยสื่ออินเดียฮินดูสถาน รายงานวันอังคาร (9) ว่า รัฐมนตรีคลังบังกลาเทศ มุสตาฟา คามาล (Mustafa Kamal) ได้แสดงความวิตกต่อการกู้ยืมผ่านโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง BRI (Belt and Road Initiative) ของปักกิ่งในการให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียลไทม์ส

ซึ่งในเดือนกรกฎาคมพบว่าบังกลาเทศกลายเป็นชาติล่าสุดที่ได้ติดต่อ IMF เพื่อติดต่อขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจท่ามกลางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องมาจากสงครามยูเครนกระทบต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของบังกลาเทศ

ฮินดูสถานชี้ว่า ธากาเข้าร่วมโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของปักกิ่ง และมีหนี้สินอยู่ราว 4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นราว 6% สำหรับเฉพาะหนี้จีนของธากาจากจำนวนหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของตัวเอง

รัฐมนตรีคลังบังกลาเทศเปิดเผยว่า เวลานี้ธากากำลังเสาะแสวงหาการได้เงินกู้เพิ่มอีกกว่า 4 พันล้านดอลลาร์จากหลายแหล่งการเงินรวมเวิลด์แบงก์ ธนาคารการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ไจก้าของญี่ปุ่น และธนาคารธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) ซึ่งเขามองในแง่ดีว่าเชื่อมั่นว่าจะสามารถได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศเหล่านี้ทั้งหมด

ในการให้สัมภาษณ์เขากล่าวเตือนผ่านไฟแนนเชียลไทม์สไปยังประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายว่า ต้องคิดให้ดีเป็น 2 เท่าก่อนที่จะขอเงินกู้ผ่านโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังเกิดขึ้นท่ามกลางอัตราการเติบโตที่ลดลงและแรงตรึงเครียดต่อตลาดประเทศเกิดใหม่ที่มีภาระหนี้สิน

เขาชี้ว่า จีนจำเป็นต้องมีความเข้มงวดมากขึ้นในการประเมินเงินปล่อยกู้ของตัวเองท่ามกลางความวิตกไปถึงการตัดสินใจการปล่อยกู้ที่แย่ส่งผลผลักดันให้หลายชาติตกอยู่ในความตึงเครียดด้านหนี้สิน

พร้อมกันนี้ คามาลยังได้ชี้ไปถึง “ศรีลังกา” ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะรัฐบาลปักกิ่งปล่อยกู้ก้อนมโหฬารด้านโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาทำให้วิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกาเลวร้ายหนักขึ้น

“ไม่ว่าสถานการณ์อะไรก็ตามที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทุกคนต้องพากันคิดซ้ำสองที่จะเห็นด้วยในในโปรเจกต์นี้ (โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI)” รัฐมนตรีคลังบังกลาเทศกล่าว

และเสริมต่อว่า “ทุกคนกำลังตำหนิจีน จีนไม่สามารถแก้ตัวได้ มันเป็นความรับผิดชอบของพวกเขา”

เขายังเสริมต่อว่า ผลจากวิกฤตศรีลังกาได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จีนไม่มีความเข้มงวดมากพอในการตัดสินใจว่าโปรเจกต์ใดสมควรที่จะสนับสนุน มันจำเป็นต้องทำผ่านการศึกษาก่อนที่จะปล่อยเงินกู้ให้โปรเจกต์นั้น คามาลกล่าวว่า “หลังจากเหตุศรีลังกาไปแล้ว...พวกเรารู้สึกว่าเจ้าหน้าที่จีนไม่ได้ระมัดระวังในแง่นี้ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

อย่างไรก็ตาม คามาลกล่าวในตอนท้ายของการให้สัมภาษณ์ว่า เขาเชื่อมั่นว่าบังกลาเทศจะไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงการต้องผิดนัดชำระหนี้เหมือนเช่นโคลอมโบ โดยชี้ไปว่าบรรดานักวิเคราะห์ต่างกล่าวว่าบังกลาเทศมีภาคการส่งออกที่แข็งแกร่ง เป็นต้นว่าอุตสาหกรรมส่งออกสิ่งทอที่คาดหวังว่าจะเป็นโล่ช่วยป้องกันภาวะการช็อกต่างๆ ในระดับโลกได้และอีกทั้งประเทศยังคงมีเงินทุนสำรองเพียงพอสำหรับการนำเข้าเป็นเวลา 5 เดือน

“ที่หมายความว่าถึงแม้ทุกคนกำลังระทมทุกข์และพวกเราตกอยู่ภายใต้ความกดดันเช่นกัน แต่บังกลาเทศไม่ได้อยู่ในความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้เหมือนเช่นศรีลังกา” คามาลกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น