(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Taiwan’s reunification countdown has begun
By UWE PARPART AND DAVID P. GOLDMAN
08/08/2022
การเอ็กเซอร์ไซส์ทางทหารด้วยกระสุนจริงที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นแค่การฝึกซ้อม แต่ว่าเป็นของจริง นั่นก็คือการปิดล้อมไต้หวัน ซึ่งจีนสามารถที่จะลากยาวให้ยืดเยื้อออกไปได้ตามแต่ที่พวกเขาปรารถนา
กองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออก (Eastern Theater Command) ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (8 ส.ค.) ว่า การซ้อมรบร่วมในทะเลและน่านฟ้ารอบๆ ไต้หวันกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
การแถลงนี้ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงถึงสถานที่แน่นอนของการเอ็กเซอร์ไซส์คราวนี้ หรือวันเวลาที่มันจะสิ้นสุดลง พื้นที่อันตราย 6 พื้นที่สำหรับการซ้อมรบในช่วงระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังคงมีผลบังคับอยู่หรือไม่ก็ไม่มีความชัดเจน กองทัพปลดแอกประชาชนจีนยังไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการเลยว่าการซ้อมรบดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว
ประกาศนี้น่าที่จะทำให้ทางการสหรัฐฯ ตกอยู่ในอาการไม่รู้เรื่องรู้ราว –หรือไม่ว่ายังไงก็ต้องแกล้งทำเป็นไม่รู้เรื่องอะไรเลย— อย่างที่ได้แพล็มออกมาให้เห็นกันจากคำแถลงต่างๆ ของพวกเขา เมื่อตอนที่ทางเจ้าหน้าที่ไต้หวันระบุว่า เครื่องบินและเรือรบจีนได้ดำเนินการฝึกซ้อมการเข้าโจมตีเกาะแห่งนี้ในวันเสาร์ (6 ส.ค.) ที่ผ่านมา
จอห์น เคอร์บี (John Kirby) โฆษกฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว โอดครวญว่า ฝ่ายจีน “สามารถที่จะช่วยเหลือได้อย่างมากมายเลยในการทำให้ความตึงเครียดลดระดับลง เพียงแค่ด้วยการหยุดยั้งการซ้อมรบอย่างมุ่งยั่วยุของพวกเขา และการยุติถ้อยคำ (มุ่งยั่วยุ)” ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโธนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ กล่าวว่า พฤติกรรมของจีนในเรื่องไต้หวัน แสดงให้เห็นว่า ปักกิ่งกำลังเคลื่อนตัวจากการให้ความสำคัญที่สุดแก่การแก้ไขปัญหาไต้หวันด้วยวิธีสันติ ไปสู่การใช้กำลัง
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว คำแถลงของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นที่ระบุว่า มีขีปนาวุธที่จีนยิงออกมาอย่างน้อยที่สุด 4 ลูก บินข้ามไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย และ 5 ลูกจากขีปนาวุธทั้งหมด 9 ลูก ซึ่งจีนยิงมาในทิศทางดินแดนของญี่ปุ่นนั้น ได้ตกลงในบริเวณน่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone หรือ EEZ) ของแดนอาทิตย์อุทัย นี่ต้องถือว่าพูดอะไรที่เป็นข้อเท็จจริงและที่ถูกต้องแม่นยำกว่ากันมาก
จนกระทั่งถึงเวลานี้ ไม่ว่าทำเนียบขาว หรือ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ต่างดูเหมือนยังไม่เข้าใจว่า สืบเนื่องจากการไปเยือนไต้หวันอย่าง “ไม่ยั้งคิด” (คำที่ใช้โดย โธมัส ฟรีดแมน Thomas Friedman ในคอลัมน์ของเขาในนิวยอร์กไทมส์) ของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี รัฐบาล สี ก็ได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดไม่มีการหวนกลับคืนที่จะ “ข้ามแม่น้ำรูบิคอน” และใช้กำลังบังคับอย่างเป็นระบบเพื่อให้ไต้หวันกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับแผ่นดินใหญ่
(“ข้ามแม่น้ำรูบิคอน” (cross the Rubicon) ซึ่งกลายเป็นสำนวนในภาษาอังกฤษแปลว่าตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแน่นอนนั้น มาจากชื่อแม่น้ำ ซึ่งจูเลียส ซีซาร์ นำกองทัพของเขาข้ามกลับมายังกรุงโรม อันเป็นการเริ่มต้นสงครามกลางเมืองซึ่งทำให้เขาขึ้นเป็นจักรพรรดิครองจักรวรรดิโรมันในที่สุด ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Crossing_the_Rubicon#:~:text=The%20phrase%20%22crossing%20the%20Rubicon,in%20early%20January%2049%20BC -ผู้แปล)
การกระทำของ เพโลซี นั้นเป็นการเจตนายั่วยุจนเกินไปแล้ว ขณะที่ความพยายามของทำเนียบขาวและสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ที่จะหยุดยั้งเธอเอาไว้ก็อ่อนปวกเปียกเกินไปเช่นกัน ทั้งสองอย่างรวมกันโน้มน้าวชักชวนให้ปักกิ่งมองว่า ไม่ว่าคณะบริหารในวอชิงตันเวลานี้ หรือคณะบริหารสหรัฐฯ ชุดต่อไปภายใต้ประธานาธิบดีคนถัดไปจาก ไบเดน ต่างจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเสียหายให้แก่นโยบาย “จีนเดียว” และด้วยจุดมุ่งหมายที่จะละทิ้งนโยบายนี้ในท้ายที่สุด
การเอ็กเซอร์ไซส์ด้วยกระสุนจริงซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม จึงไม่ใช่แค่การฝึกซ้อม แต่เป็นของจริง ที่มีชื่อว่า การปิดล้อมเกาะไต้หวัน ซึ่งจีนสามารถยืดเวลาออกไปยาวนานแค่ไหนตามที่ตนเองปรารถนา
เรื่องที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีน ยกกำลังทหารสะเทินน้ำสะเทินบกบุกเข้ารุกรานไต้หวันนั้น ไม่ใช่เป็นฉากทัศน์ที่ปักกิ่งปรารถนาที่จะเห็น ในทางตรงกันข้าม การปิดล้อมด้วยกำลังนาวีจะปิดเศรษฐกิจของเกาะแห่งนี้ให้ดับวูบลงได้ภายในระยะเวลาแรมสัปดาห์ และบังคับให้ต้องยอมจำนน ทั้งนี้ ไชน่าไทมส์ (China Times) สื่อโปรปักกิ่งในไต้หวัน ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม ก็ได้ชี้เอาไว้ว่า การเอ็กเซอร์ไซส์ของกองทัพปลดแอกประชาชนคราวนี้ (ซึ่งตอนนั้นบอกว่าจะทำในช่วงวันที่ 4-7 ส.ค.) มีความหมายเท่ากับเป็นการปิดล้อมเกาะแห่งนี้เอาไว้เป็นเวลา 3 วัน
กระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวันรายงานว่า เกาะแห่งนี้มีซัปพลายก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ไปได้ 11 วัน และน้ำมันใช้ไปได้ 146 วัน การปิดล้อมนั้นมุ่งหมายที่จะทำให้ไต้หวันอ่อนข้อลงมา ขณะเดียวกัน ที่เปิดทางเลือกให้ปักกิ่งว่าจะตามมาด้วยการรุกรานหรือไม่ ทั้งนี้หากแผ่นดินใหญ่ต้องการที่จะรุกรานไต้หวันแล้ว ก็คงจะทำประมาณๆ กับสิ่งที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนกำลังกระทำอยู่ในการเอ็กเซอร์ไซส์เวลานี้
ยกเว้นแต่สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงอย่างทันการณ์และอย่างหนักแน่นแข็งขัน ไม่เช่นนั้นจีนก็อาจจะเข้าใช้กำลังเรียบร้อยไปแล้ว
ในเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) ซึ่งเวลานี้มีอาลีบาบา (Alibaba) เป็นเจ้าของ มินนี่ ชาง (Minnie Chang) เขียนสรุปเอาไว้ ดังนี้ :
“สำหรับครั้งนี้มันแตกต่างออกไปจากเดิม ด้วยการที่ปักกิ่งกำลังโยนทิ้งความเข้าใจกันอย่างอ้อมๆ ในเรื่อง (เส้นแบ่งครึ่ง) ช่องแคบ (ไต้หวัน) (โดยส่งเครื่องบินและเรือรบล้ำเส้นแบ่งแดนในทางพฤตินัยนี้) รวมทั้งยังกำลังแสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนเตรียมเอาไว้อย่างดีขึ้นกว่าเดิม ในการจัดการเอ็กเซอร์ไซส์ขนาดมหึมาเพื่อเป็นการเตือนไต้หวัน ทั้งนี้ตามความเห็นของพวกนักวิเคราะห์ด้านกลาโหม
จากการส่งเสียงเตือนล่วงหน้าซ้ำแล้วซ้ำอีก ไปสู่การประกาศอย่างเป็นทางการและเปิดการปฏิบัติการในการฝึกซ้อมเกมทำสงครามอย่างเฉพาะเจาะจง กองทัพปลดแอกประชาชนจีนกำลังต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า พวกเขาไม่ใช่เพียงแค่มีความพรักพร้อมสู้รบสำหรับเหตุการณ์เกี่ยวกับไต้หวันที่อาจเกิดขึ้นมาได้อย่างไม่คาดหมายเท่านั้น แต่ยังกำลังควบคุมความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวงเอาไว้ได้อีกด้วย” เป็นความเห็นของ อันเดร ชาง (Andrei Chang) บรรณาธิการใหญ่ของ คันวา เอเชียน ดีเฟนซ์ (Kanwa Asian Defence) (วารสารรายเดือนด้านการทหารตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน -ผู้แปล) ที่ตั้งฐานอยู่ในแคนาดา ...
ครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้ที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจัดการทดสอบยิงขีปนาวุธโดยเล็งเป้าไปที่ไต้หวันนั้น เรือรบทั้งหมดของแผ่นดินใหญ่อยู่กันภายในเส้นแบ่งครึ่ง และขณะที่หัวรบของขีปนาวุธสองสามหัวตกลงในน่านน้ำใกล้ๆ นครไทเป และนครเกาสง แต่ไม่มีขีปนาวุธลูกไหนเลยที่บินข้ามเกาะไต้หวัน
ฉือ เล่ออี้ (Chi Le-yi) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารที่ตั้งฐานอยู่ในไทเป กล่าวว่า การทดสอบขีปนาวุธของจีนเมื่อปี 1995-1996 ครั้งนั้นครอบคลุมบริเวณด้านเหนือและด้านใต้ของไต้หวัน เพื่อมุ่งสกัดกั้นเส้นทางทางอากาศและทางทะเลของไต้หวัน และเป็นการพิสูจน์ตรวจสอบ “ยุทธวิธีการปิดล้อมด้วยขีปนาวุธ” ของกองทัพจีน
แต่สำหรับครั้งนี้ กองทัพปลดแอกประชาชนจีนกำลังไปไกลกว่านั้น ด้วยการนำเอาบริเวณด้านตะวันออกของไต้หวัน และด้านตะวันตกเฉียงใต้ของช่องแคบบาชิ (Bashi Channel) เข้าอยู่ภายในการครอบคลุมของพิสัยขีปนาวุธของตนด้วย” ฉือกล่าว “นี่เป็นความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนประการหนึ่งซึ่งมุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาจะทำยังไงในการปิดกั้นทางเข้ามายังไต้หวันของบรรดาเรือและเครื่องบินจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ซึ่งไม่คาดหมายขึ้นมา”
เพโลซี เดินทางออกจากไต้หวันไป โดยทิ้งสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในระดับรากฐานเสียแล้วเอาไว้เบื้องหลัง ในเส้นทางเดินทางกลับสหรัฐฯ ของเธอ เธอได้พบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นในวันที่ 4 สิงหาคม เรื่องนี้ไม่ใช่อะไรที่ผิดปกติ แต่ตรงกันข้าม เพโลซี “ได้รับการต้อนรับในเกาหลีใต้ชนิดซึ่งอาจจะบรรยายได้ดีที่สุดด้วยคำว่า เย็นชา” แอนดรูว์ แซลมอน (Andrew Salmon) เขียนเอาไว้เช่นนี้ในเอเชียไทมส์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/08/pelosi-gets-lukewarm-welcome-in-south-korea/)
“ประธานาธิบดียุน ซุกยอล ผู้ซึ่งอยู่ระหว่างการหยุดพักผ่อนในช่วงสัปดาห์นี้ (ถึงแม้ว่า เป็นการหยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้านของเขาในกรุงโซล) ไม่ได้พบปะกับนักการเมืองอาวุโสของสหรัฐฯ ผู้นี้ ถึงแม้เขาได้มีการสนทนาทางโทรศัพท์กับเธอเป็นเวลา 40 นาที รัฐมนตรีต่างประเทศ พัค จิน (Park Jin) ก็ไม่ได้พบปะหารือกับเธอ เขากำลังอยู่ในทริปเดินทางไปประชุมกับอาเซียน” ทั้งนี้ เกาหลีใต้นั้นมีพรมแดนติดต่อกับจีน จึงสามารถที่จะเข้าใจความกังวลห่วงใยของพวกเขาได้
ทำไมการไปเยือนไต้หวันของ เพโลซี จึงเป็นการข้ามเส้นแดงห้ามล่วงล้ำของจีน
มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป และทำไมจึงถือว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม? คำตอบอยู่ในรายละเอียดของเส้นแดงห้ามล่วงล้ำทางการทูต
ความสัมพันธ์ทางการทูตที่สหรัฐฯ มีอยู่กับจีน เริ่มต้นขึ้นด้วยแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ปี 1972 (Shanghai Communique of 1972) ซึ่งระบุเอาไว้ดังนี้ :
ฝ่ายจีนยืนยันอีกครั้งถึงจุดยืนของตนดังนี้ : ปัญหาไต้หวันคือปัญหาสำคัญอย่างที่สุดซึ่งกำลังขัดขวางการสถาปนาความสัมพันธ์ที่เป็นปกติระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขึ้นมา … ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน … การปลดแอกไต้หวันคือกิจการภายในของจีนซึ่งไม่มีประเทศใดมีสิทธิที่จะเข้าแทรกแซง และกองกำลังของสหรัฐฯ ตลอดจนสถานที่การติดตั้งทางทหารต่างๆ ของสหรัฐฯ จักต้องถอนออกไปจากไต้หวัน
ฝ่ายสหรัฐฯ ประกาศดังนี้ : สหรัฐฯ รับทราบว่า ชาวจีนทั้งหมดไม่ว่าอยู่ทางฟากฝั่งด้านใดของช่องแคบไต้หวันล้วนแล้วแต่คือจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ท้าทายจุดยืนนี้ สหรัฐฯ ยืนยันอีกครั้งถึงผลประโยชน์ของตนในการตกลงกันอย่างสันติในปัญหาไต้หวันโดยชาวจีนด้วยกันเอง
ในการถกเถียงอภิปรายแบบไม่มีการบันทึกอ้างอิงใดๆ ครั้งหนึ่งกับทางเอเชียไทมส์ หนึ่งในสมาชิกดั้งเดิมขนานแท้รายหนึ่งในคณะตัวแทนของ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น) เมื่อปี 1972 ระบุว่า การไปเยือนของ เพโลซี นั้น “ละเมิดจิตวิญญาณของแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้อย่างชัดเจน” เรื่องนี้มีต้นตอจากฐานะตามรัฐธรรมนูญของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
สมมติว่า ประธานาธิบดี หรือรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คือผู้ที่เดินทางไปเยือนไต้หวัน การไปเยือนของประธานาธิบดีย่อมเท่ากับเป็นการรับรองในทางพฤตินัยต่อฐานะความเป็นอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งย่อมขัดแย้งกับแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ เพราะประมุขแห่งรัฐนั้นไม่ไปเยี่ยมเยียนประมุขแห่งรัฐของประเทศทั้งหลายซึ่งพวกเขาไม่ได้รับรองหรือมีแผนการที่จะรับรอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น การรับรองกันในทางการทูต คือวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่ออกมาของการที่ นิกสัน ไปเยือนจีนครั้งนั้น
ภายใต้กฎหมาย รัฐบัญญัติสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีปี 1947 (Presidential Succession Act of 1947) ประธานของสภาผู้แทนราษฎร คือผู้อยู่ในลำดับถัดจากรองประธานาธิบดีในการเข้าสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากประธานสภาฯ มีฐานะเช่นนี้ตามรัฐธรรมนูญ เธอจึงเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดเป็นลำดับที่ 3 ของสหรัฐฯ การไปเยือนไต้หวันของประธานาธิบดีหรือของรองประธานาธิบดีนั้น หมายถึงการก้าวข้ามเส้นสีแดงไม่ยอมให้ล่วงละเมิดของฝ่ายจีน ขณะที่การไปเยือนของประธานสภาผู้แทนราษฎรคือการกระทุ้งเส้นสีแดงดังกล่าว
จริงๆ แล้ว นี่แหละคือสิ่งที่ปักกิ่งมีความเข้าใจต่อประเด็นปัญหานี้
เซี่ย เหมาสง (Xie Maosong) นักวิจัยอาวุโสของสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ (National Institute of Strategic Studies) มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) เขียนเอาไว้ในเว็บไซต์ข่าวภาษาจีน “ผู้สังเกตการณ์” (guancha.cn) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ดังนี้ :
“สหรัฐฯ และรัฐบาลไต้หวันของ ไช่ อิงเหวิน เป็นฝ่ายริเริ่มในการล่วงละเมิดและเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมของไต้หวันไปแล้วในทางสาระสำคัญ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงถูกบังคับให้ต้องเคลื่อนไหวใช้อำนาจตามกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน (anti-secession law) ปี 2005 และดำเนินกระบวนการเพื่อการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง ณ เวลาใดก็ตามแล้วแต่ที่ตนเองเลือก ไม่ว่านี่หมายถึงการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งโดยใช้กำลัง หรือการเดินหน้าการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งด้วย (การข่มขู่ที่จะใช้) กำลัง ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับจีนเอง ทั้งนี้ มีเหตุผลที่เพียบพร้อมสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมายสำหรับเรื่องนี้”
ทั้งนี้ มาตรา 8 ของกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน ที่ เซี่ย เหมาสง อ้างอิงถึงนั้น ระบุเอาไว้ดังนี้ :
“ในกรณีที่กลุ่มพลังเพื่อการแบ่งแยกดินแดน “ไต้หวันที่เป็นเอกราช” กระทำการใดๆ ไม่ว่าในชื่อใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม เพื่อก่อให้เกิดข้อเท็จจริงขึ้นมาว่าไต้หวันแยกตัวออกจากจีน หรือมีเหตุการณ์สำคัญซึ่งส่งผลทำให้จะต้องเกิดการแบ่งแยกไต้หวันออกจากจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือว่าความเป็นไปได้ต่างๆ ของการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งอย่างสันติ น่าจะถูกใช้ไปจนหมดสิ้นหมดกำลังแล้ว รัฐพึงนำเอาวิธีการที่ไม่สันติและมาตรการอันจำเป็นอย่างอื่นๆ มาใช้ เพื่อพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน”
พวกสื่อทางการของจีนได้มีการอ้างอิงถึงกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนฉบับนี้เอาไว้หลายครั้งทีเดียวระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งในคำแถลงฉบับหนึ่งจากคณะกรรมการประจำ (Standing Committee) ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress หรือ NPC ซึ่งก็คือรัฐสภาของจีน) ตามที่หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ (China Daily) รายงานไว้เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม
เหมาสง อธิบายว่า :
หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ในเวลานั้น เปิดฉากทำสงครามการค้ากับจีนในปี 2018 (เฮนรี) คิสซิงเจอร์ เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ จะไม่มีวันกลับคืนไปสู่หนทางอย่างที่มันเคยเป็นอีกแล้ว ขณะที่ปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของการที่ นิกสัน ไปเยือนจีน ทั้งนี้เมื่อตอนที่เขาเป็นผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ เมื่อปี 1971 นั้น คิสซิงเจอร์คือคนที่มีความคิดก้าวหน้าและเป็นผู้ที่มุ่งลดความตึงเครียด แต่ ณ เวลา 22.43 น.ของวันที่ 2 สิงหาคม ในขณะเวลาที่เครื่องบินของ เพโลซี –บุคคลทางการเมืองคนสำคัญที่สุดเป็นอันดับ 3 ของสหรัฐฯ—ลงจอดที่สนามบินซงซาน ไทเป (Taipei Songshan Airport) สถานะเดิมในไต้หวันก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามอำเภอใจฝ่ายเดียว โดยสหรัฐฯ และทางการผู้รับผิดชอบของไต้หวันแล้ว และมันจะไม่มีวันหวนกลับไปสู่สิ่งที่มันเคยเป็นมาในอดีตอีกแล้ว
คิสซิงเจอร์ ในฐานะที่เป็นผู้ลดความตึงเครียดสำหรับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เมื่อ 50 ปีก่อน ได้รับเชิญจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกๆ คนนับตั้งแต่ นิกสัน เป็นต้นมา ให้ไปพบปะที่ทำเนียบขาว และหารือเกี่ยวกับความคิดเห็นของเขาว่าด้วยความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ... มียกเว้นอยู่คนเดียวเท่านั้น ก็คือประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ คนปัจจุบัน
เมื่อ 50 ปีก่อน เช่นเดียวกับอีก 50 ปีต่อมา ความริเริ่มล้วนแต่ออกมาจากฝ่ายสหรัฐฯ คราวนี้สหรัฐฯ เลือกสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกเขาเคยเลือกในปี 1972 ในทั้ง 2 กรณี การเลือกของอเมริกาขึ้นกับสิ่งที่สหรัฐฯ เชื่อว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติของพวกเขาเอง นี่คือความเป็นจริงทางการเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
มีผู้นำจีนบางคนเสนอให้ขัดขวางไม่ให้เครื่องบินของ เพโลซี ไปถึงไต้หวัน ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวหลายรายซึ่งคุ้นเคยกับการหารือถกเถียงกันในปักกิ่ง ขณะที่มีหลักฐานว่าฝ่ายทหารของสหรัฐฯ ก็พิจารณาเรื่องนี้ว่าคือความเป็นไปได้ประการหนึ่งซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้น ขณะที่เครื่องบินของ เพโลซี หันหัวขึ้นเหนือขณะบินอยู่เหนือฟิลิปปินส์ในทริปเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์ไปยังไทเปนั้น ก็มีเครื่องบินลำที่สองทะยานขึ้นจากฐานทัพอากาศคลาร์ก (Clark Air Force Base) ในฟิลิปปินส์ และบินตามหลังเครื่องบินของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
ถ้า เพโลซี ถูกบังคับให้ลงจอดในที่อื่นๆ นอกเหนือจากไทเปแล้ว ก็น่าจะเป็นสถานที่ห่างไกลสักแห่งหนึ่งซึ่งปราศจากช่องทางเติมน้ำมัน และเครื่องบินของเธออาจประสบกับการมีน้ำมันเชื้อเพลิงไม่พอหลังเดินทางออกจากมาเลเซียมาแล้ว 5 ชั่วโมง ตรงนี้เครื่องบินลำที่ตามหลังมานั่นแหละจะสามารถขนส่ง เพโลซี และคณะของเธอไปยังจุดแวะลงถัดไปของเธอในกรุงโซล ถ้าเกิดความจำเป็นขึ้นมา
พวกสมาชิกของสภาความมั่นคงแห่งชาติของ ไบเดน มีการติดต่อทางโทรศัพท์อย่างต่อเนื่องกับพวกเจ้าหน้าที่ระดับเดียวกันของพวกเขาในประเทศจีน ข้อความที่พวกเขาส่งไปถึงฝ่ายจีนก็คือ คณะบริหารไบเดนไม่ได้ต้องการให้ เพโลซี เดินทางไปยังไต้หวัน อย่างที่ โธมัส ฟรีดแมน เขียนเอาไว้ในคอลัมน์ของเขาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมว่า “ทีมงานความมั่นคงแห่งชาติของ ไบเดน แจ้งอย่างชัดเจนกับ เพโลซี ซึ่งเป็นนักเรียกร้องให้มีสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนมาอย่างยาวนานแล้ว ว่าทำไมเธอจึงไม่ควรเดินทางไปไต้หวันในตอนนี้
กระนั้นก็ตาม ฟรีดแมน กล่าวต่อไปว่า “ท่านประธานาธิบดีไม่ได้โทรศัพท์ไปถึงเธอโดยตรง และไม่ได้ขอร้องเธอไม่ให้เดินทางไป โดยดูเหมือนเนื่องจากวิตกว่าเขาจะถูกมองว่าอ่อนปวกเกินไปในเรื่องจีน ซึ่งจะเปิดช่องให้พวกพรรครีพับลิกันโจมตีเขาได้ก่อนจะถึงการเลือกตั้งกลางเทอมปลายปีนี้ มันจึงเป็นเครื่องวัดอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นการหมดสมรรถภาพทางการเมืองของเรา ในเมื่อประธานาธิบดีสังกัดพรรคเดโมแครต ไม่สามารถที่จะป้องปรามประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสังกัดพรรคเดโมแครตเช่นเดียวกัน ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเล่นเกมเดินหมากทางการทูต ซึ่งทีมงานความมั่นคงแห่งชาติทั้งทีมของเขา –ไล่ตั้งแต่ผู้อำนวยการซีไอเอ ไปถึงจนประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม –ต่างมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเลย”
ก้าวเดินต่อๆ ไป
จากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อผลกระทบต่างๆ ที่พัวพันกับ “ช่วงขณะแห่งการข้ามแม่น้ำรูบิคอน” ของรัฐบาล สี จิ้นผิง กำลังปรากฏคลี่คลายออกมาให้เห็น?
ตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกนักจินตนาการเพ้อฝันบางคนภายในชนชั้นนำของวอชิงตันวาดภาพกันเอาไว้ ปักกิ่งไม่ได้แสดงอาการรีบเร่งร้อนรนใดๆ เอลบริดจ์ โคลบี (Elbridge Colby) เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยคนหนึ่งในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยุคคณะบริหารทรัมป์ เป็นผู้หนึ่งที่ถูกอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับความคิดเห็นของเขาที่ว่า การรุกรานไต้หวันของจีนกำลังจะเกิดขึ้นอยู่รอมร่อแล้ว
เขาทวีตเอาไว้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมว่า ปักกิ่ง “ไม่ได้กำลังจะตบตาหลอกลวงประชาชนชาวไต้หวันให้ยอมจำนนโดยผ่าน “สงครามทางการเมือง” หรืออะไรอย่างนั้น ไต้หวันสามารถมองเห็นอยู่แล้วถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกง และพวกคนรุ่นหนุ่มสาวก็มีความคิดเห็นต่อต้านแผ่นดินใหญ่มากยิ่งกว่าพวกคนรุ่นอายุมากกว่า : ไต้หวันจึงกำลังเคลื่อนตัวออกไปจากการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้น กำลังทหารจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับปักกิ่ง และอย่างที่ ยูเครน กำลังแสดงให้เห็น ถ้าคุณกำลังจะใช้กำลังทหาร ก็ต้องใช้มันอย่างเด็ดเดี่ยว”
นี่คือการจมอยู่ในความคิดเห็นอันผิดพลาดอย่างดื้อรั้นชนิดสมบูรณ์แบบทีเดียว จีนไม่จำเป็นต้องยื่นมือออกไปจนสุดเหยียดไม่ว่าในทางภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ การทหาร หรือทางการเงิน เพื่อทำให้การรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกันบังเกิดผลขึ้นมาหรอก เส้นทางเดินตามธรรมชาติของการพัฒนาทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเอง (และในทั่วโลก) คืออาวุธทรงพลังที่สุดของจีน เวลาเป็นสิ่งที่อยู่ข้างจีน กำลังทหารนั้นไม่ได้เป็นอัตราส่วนประการท้ายสุด และก็ไม่ได้เป็นอัตราส่วนประการแรกสุด การทำให้ศัตรูยอมจำนนโดยไม่ต้องสู้รบต่างหากคือยุทธศาสตร์ระดับสูงสุดยอด
หลังจากคำพูดอันแข็งกร้าวของ สี ในการพบปะหารือผ่านวิดีโอคอลของเขากับ ไบเดน ก็มีความคาดหวังกันในหมู่พวกนักแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อของจีนที่เป็นพวกแนวทางชาตินิยม และมีการโหมกระพือชาวเน็ตในจีนให้เกิดความกระตือรือร้นอย่างสูงที่จะได้เห็นการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ทางทหารอย่างฉับไว แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเลย ตรงกันข้าม เฟสแรกของยุทธศาสตร์ระยะยาวไกลกว่านั้นและมีความยืดหยุ่นสูงกลับถูกนำออกมาใช้ เป็นยุทธศาสตร์ที่ประกอบด้วยการเอ็กเซอร์ไซส์ทางการทหารซึ่งมีความหมายเท่ากับการปิดล้อม รวมทั้งการขยับเงื่อนของเชือกรัดรอบคอให้แน่นขึ้นอีกซึ่งเป็นการเพิ่มขยายระดับของการข่มขู่คุกคาม
เรื่องนี้ทำให้พวกบริษัทต่างประเทศจำนวนมากกำลังขบคิดทบทวนกันเรียบร้อยแล้ว เกี่ยวกับความมุ่งมั่นผูกพันของพวกเขาที่มีอยู่กับไต้หวัน เรื่องนี้ยังจะติดตามมาด้วยการผ่อนคลายลงในบางระดับ การหยุดพักสำหรับให้ขบคิดพิจารณา และข้อเสนอให้มีการเจรจาหารือกัน บีบรัดให้แน่นขึ้นและผ่อนคลายลงมา พร้อมกับการส่งข้อความว่า ณ เวลาใดก็ตามที การเอ็กเซอร์ไซส์ทางการทหารขนาดใหญ่อาจกลายเป็นของจริงขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ โดยที่ในความเป็นจริง การปิดล้อมที่ปรากฏออกมาให้เห็นกันจะจะอยู่ในตอนนี้ก็คือ ของจริงอยู่แล้ว
วอชิงตันอาจจะยังมองไม่เห็น หรืออาจจะไม่ปรารถนาที่จะเรียกชื่อมันตรงๆ ทว่าการเข้ายึดครองนั้นกำลังเกิดขึ้นมาแล้ว มันปรากฏให้เห็นในท่ามกลางแสงสว่างเจิดจ้ากลางวันแสกๆ ทีเดียว