นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เน้นย้ำว่าเธอไม่รู้สึกเสียใจต่อการเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเร็วๆ นี้ของเธอ ซึ่งเต็มไปด้วยข้อถกเถียง และให้คำนิยามมันว่า "คุ้มค่าอย่างที่สุด" ระหว่างให้สัมภาษณ์กับรายการทูเดย์โชว์เมื่อวันอังคาร (9 ส.ค.)
นักการเมืองหญิงวัย 82 ปีรายนี้ ยืนยันว่าเธอ "ได้รับแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากทั้งสองพรรค" สำหรับการเดินทางเยือนดังกล่าว และบอกว่าเธอกับคณะผู้แทน ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลไต้หวันและประชาชนชาวไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม เพโลซี เน้นย้ำว่าจุดยืนของจีนต่อการเดินทางเยือนของเธอเป็นเรื่องนอกประเด็น และบอกว่าจีนจะไม่ได้รับอนุญาตให้โดดเดี่ยวไต้หวัน หรือเป็นคนออกคำสั่งว่าใครควรหรือไม่ควรเยือนเกาะแห่งนี้
"สิ่งที่จีนกำลังทำเป็นสิ่งที่พวกเขาทำตามปกติ" ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวถึงแนวทางตอบโต้ของทางปักกิ่ง พร้อมระบุว่าประธานาธิบดี จิ้นผิง ทำตัวเหมือน "อันธพาล เพราะว่าเขาเอาแน่เอานอนไม่ได้"
เพโลซี เน้นย้ำว่าการเดินทางเยือนไม่ได้ก่อความวุ่นวายใดๆ พร้อมระบุโปรแกรมทัวร์ดังกล่าวเป็นไปตามกรอบนโยบายของสหรัฐฯ ที่ธำรงไว้ซึ่งสถานภาพปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเธอบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแสดงให้จีนรู้ว่า วอชิงตันจะสนับสนุนไทเป ภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) พร้อมๆ กับยึดมั่นนโยบายจีนเดียว
ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อ้างว่าเมื่อไม่กี่เดือนก่อน คณะผู้แทน 2 พรรคการเมืองของสหรัฐฯ เพิ่งเดินทางเยือนไต้หวัน แต่คราวนั้นไม่เห็นจะมีคนพูดอะไรเลย พร้อมชี้ว่า มีบางอย่างผิดพลาดกับภาพที่เกิดขึ้น และประเด็นโต้เถียงที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับการที่เธอเป็นผู้หญิงก็เป็นได้
เมื่อถามว่าการเดินทางเยือนเชิงสัญลักษณ์ในครั้งนี้ จะบ่อนทำลายความพยายามของทำเนียบขาวหรือไม่ ในขณะที่ทำเนียบขาวกำลังหาทางทำงานร่วมกับจีน ในการจัดการกับประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์และภาวะโลกร้อน ในเรื่องนี้ เพโลซี ตอบว่า "การเดินทางเยือนสำคัญมากสำหรับเรา สำหรับเราที่จะได้รับฟังเสียงประชาชนในภูมิภาค เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้ไต้หวันรู้ว่า สหรัฐฯ จะไม่ทอดทิ้งให้พวกเขาต้องอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว หวั่นกลัวว่าจีนจะลงมือ"
ทริปของเพโลซีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนไต้หวันในปี 1997 โหมกระพือปฏิกิริยาเดือดดาลมาจากปักกิ่ง ซึ่งเปิดการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และซ้อมรบกระสุนจริงในพื้นที่ทางทะเล 6 จุดรอบไต้หวัน นอกจากนี้ จีนยังคว่ำบาตร เพโลซี และครอบครัวของเธอ กำหนดข้อจำกัดทางการค้ากับไทเป และตัดการติดต่อทางการทูตกับสหรัฐฯ ทั้งในด้านการทหารและพลเรือนในหลายขอบเขต
จีน มองว่า ไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่มิอาจแบ่งแยกได้ และมองการเดินทางเยือนของเพโลซี ว่าเป็นการโจมตีอำนาจอธิปไตยของพวกเขาและละเมิดหลักการ "จีนเดียว" ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ระงับไว้ซึ่งการให้การรับรองทางการทูตไต้หวัน
แม้สหรัฐฯ ให้การรับรองปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ในฐานะอำนาจที่ชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวในจีน มาตั้งแต่ปี 1979 แต่อเมริกาก็คงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการที่แข็งกร้าวกับเกาะไต้หวันที่มีพลเรือน 23.5 ล้านคน และขายอาวุธให้ไทเปบ่อยครั้ง
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)