xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ “นอกหน้าต่าง”: การที่ปักกิ่งซ้อมรบใหญ่รอบเกาะไต้หวันคราวนี้ ทำให้เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ ‘การทหารของจีน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หน่วยรบในสังกัดกองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออกแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน เผยแพร่ภาพการยิงขีปนาวุธ จากสถานที่ซึ่งไม่มีการระบุว่าเป็นที่ใดในประเทศจีน ระหว่างการซ้อมรบครั้งใหญ่เพื่อตอบโต้การไปเยือนไต้หวัน ของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี (ภาพจากสำนักข่าวซินหัว)
การที่จีนซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบๆ ไต้หวัน ซึ่งได้เห็นเรือรบแดนมังกรหลายลำเข้าโอบล้อมเกาะแห่งนี้ กลายเป็นการเสนอโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เกี่ยวกับวิธีการซึ่งปักกิ่งอาจจะนำมาใช้ในการเปิดยุทธการทางทหารเพื่อโจมตีบุกยึดดินแดนซึ่งพวกเขาถือเป็นมณฑลกบฏของตนแห่งนี้

ปักกิ่งยังได้ประกาศมาตรการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจและเพิ่มความพยายามในการโดดเดี่ยวไต้หวันในเวทีระหว่างประเทศ ในความเคลื่อนไหวซึ่งพวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมในช่องแคบไต้หวันไปอย่างถาวร

ต่อไปนี้คือคำถามคำตอบบางข้อเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเรียนรู้ได้จากการที่จีนนำกำลังทหารออกมาเอ็กเซอร์ไซส์รอบๆ เกาะไต้หวันครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาคราวนี้

จีนสามารถที่จะดำเนินการปิดล้อมไต้หวันได้หรือไม่?

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กองทัพจีนดำเนินการซ้อมรบที่บริเวณน่านน้ำฟากตะวันออกของเกาะไต้หวัน ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดในทางยุทธศาสตร์สำหรับการจัดส่งอาวุธยุทธสัมภาระต่างๆ ให้แก่กองทหารของเกาะ –รวมทั้งสำหรับการเดินทางเข้ามาของกำลังหนุนใดๆ จากฝ่ายอเมริกันที่อาจจะมีขึ้น

นี่ถือเป็นลางร้ายสำหรับฝ่ายไต้หวัน ในการที่ปักกิ่งกำลังส่งสัญญาณแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเวลานี้สามารถปิดล้อมเกาะแห่งนี้ทั้งเกาะ อีกทั้งสามารถที่จะป้องกันห้ามปรามการเข้าออกของเรือและเครื่องบินไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายพลเรือน หรือของฝ่ายทหาร

พวกนักวิเคราะห์คาดเดากันมานานแล้วว่า นี่น่าจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอย่างหนึ่งที่จีนจะหยิบมาใช้ในกรณีเกิดสงครามบุกยึดไต้หวันขึ้นมา

คริสโตเฟอร์ ทูมีย์ (Christopher Twomey) นักวิชาการด้านความมั่นคงแห่งสถาบันบัณฑิตนาวีสหรัฐฯ (US Naval Postgraduate School) ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้ความเห็นว่า จากวิกฤตครั้งนี้เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า ปักกิ่งนั้นมีความสามารถที่ดำเนินการตอบโต้ในลักษณะเช่นนี้ และกระทั่งสามารถกระทำด้วยความดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้นอีกด้วยซ้ำ ตามแต่ที่พวกเขาปรารถนา

กระนั้นก็ดี เขาชี้ว่า “การรักษา (การปิดล้อม) เอาไว้เป็นสิ่งที่จะต้องใช้ต้นทุนสูงมาก ทั้งต้นทุนในด้านชื่อเสียงเกียรติภูมิของจีน และต้นทุนโดยตรงสำหรับการดำเนินการการทหารของจีน”

ขณะที่จีนในปัจจุบันเผชิญกับภาวะย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ จึงหมายความว่าแดนมังกรไม่น่าต้องการเสี่ยงภัยทำให้เกิดการสะดุดติดขัดอย่างใหญ่โตมโหฬารขึ้นมาในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางสัญจรทางน้ำที่คึกคักวุ่นวายที่สุดของโลก อย่างน้อยก็สำหรับในตอนนี้

ฝ่ายทหารของจีนพร้อมรบขนาดไหน?

จีนมีการขยายและปรับปรุงยกระดับกำลังทหารทั้งทางอากาศ อวกาศ และทางทะเลของตนอย่างรวดเร็วมาก ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสำแดงอำนาจของตนออกไปทั่วโลก และลดช่วงห่างทางทหารที่ตามหลังสหรัฐฯ อยู่ให้หดแคบลงมา

ทว่าถึงแม้สมรรถนะทางทหารของปักกิ่งไล่ไม่ทันของวอชิงตัน แต่ข้อมูลของเพนตากอนระบุว่า จีนตั้งจุดมุ่งหมายเอาไว้ว่าภายในปี 2027 จะต้องมีความสามารถในการเอาชนะแรงคัดง้างทัดทานใดๆ ที่คอยยับยั้งไม่ให้ตนสามารถกลับเข้าครอบครองไต้หวันอีกคำรบหนึ่ง

คอลลิน โก๊ะ (Collin Koh) ผู้เชี่ยวชาญกิจการนาวี แห่งวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา เอส. ราชารัตนัม (S. Rajaratnam School of International Studies) ในสิงคโปร์ บอกว่า การซ้อมรบรอบๆ เกาะไต้หวันครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบกองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออก (Eastern Theater Command) ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ซึ่งเป็นหัวหอกของการเอ็กเซอร์ไซส์คราวนี้

และสิ่งที่จีนแสดงออกมาให้เห็น โก๊ะบอกว่า เป็นการชี้ถึงการปฏิรูปด้านการทหารของจีนว่าไปไกลถึงขนาดไหนแล้ว ภายหลังจากวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันคราวที่แล้วเมื่อปี 1995-1996 ถือเป็นการสาธิตให้เห็นว่า ฝ่ายทหารของจีนมีความสามารถในการดึงเอาสมรรถนะด้านต่างๆ อย่างหลากหลายกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมมาใช้งาน ตลอดจนในการเรียนรู้จนเชี่ยวชาญในสมรรถนะเหล่านี้

“อย่างน้อยที่สุด จากพวกทรัพย์สินที่จับต้องได้ ซึ่งพวกเขานำออกมาวางแบให้เห็นกัน และการที่พวกเขาสามารถดำเนินการซ้อมรบได้ในขนาดขอบเขตเช่นนี้ ก็เป็นการแสดงให้เห็นกันจริงๆ ว่าพวกเขามีศักยภาพมากมายยิ่งกว่าที่พวกเขาเคยมีในช่วงย้อนหลังกลับไปในทศวรรษ 1990”

ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

จีนเวลานี้ประกาศคว่ำบาตรห้ามนำเข้าผลไม้และปลาจากไต้หวัน เป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่เกาะแห่งนี้ ซึ่งพวกนักวิเคราะห์มองว่าวางแผนขึ้นมาเพื่อหวังลดทอนแรงสนับสนุนจากกลุ่มผู้ออกเสียงสำคัญๆ ที่มีต่อพรรครัฐบาลปัจจุบันที่เป็นฝ่ายหนุนหลังให้ไต้หวันประกาศเอกราช

ปักกิ่งยังประกาศแซงก์ชันพวกบริษัทที่บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิช่วยเหลือด้านการพัฒนาของรัฐบาลไต้หวัน นี่คือความพยายามที่จะยุติไม่ให้ไต้หวันสามารถดำเนินสิ่งที่เรียกกันว่า “การทูตแบบเซ็นเช็ค” ที่เป็นการให้ความช่วยเหลือเพื่อดึงให้ฝ่ายต่างๆ ยังคงตกลงเป็นพันธมิตรกับไทเป

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า เวลานี้จีนยังคงมุ่งรักษาให้การเดินหมากทางการทหารและทางเศรษฐกิจของตน ไม่บานปลาขยายตัวจนกลายเป็นสงครามขึ้นมา ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าโดยตรงกับสหรัฐฯ

“ดิฉันคิดว่าไม่น่าที่จะมีการประคับประคองให้ความตึงเครียดยืดเยื้อออกไป” เป็นความเห็นของ บอนนี เกลเซอร์ (Bonnie Glaser) ผู้อำนวยการของโครงการเอเชีย (Asia programme) อยู่ที่กองทุนมาร์แชลฝ่ายเยอรมัน (German Marshall Fund) องค์การคลังสมองซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ

“แต่แน่นอนอยู่แล้วว่า วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ๆ เช่นนี้ย่อมจะต้องกระทบกระเทือนทั้งด้านการเดินเรือ เบี้ยประกันภัย เส้นทางการค้า และห่วงโซ่อุปทาน (ของทั่วโลก)”

ไต้หวันจะต้องเผชิญกับ “นิว นอร์มอล”?

โก๊ะ บอกว่า ไต้หวันอาจจะต้องทำความคุ้นเคยกับการที่จีนจัดการซ้อมรบในทำนองนี้ขึ้นมาอีกในอนาคตข้างหน้า

“มันจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่จะจัดการซ้อมรบในบริเวณใกล้ชิดกับตัวเกาะหลักของไต้หวันเอง ... ครั้งนี้จะกลายเป็นการสร้างแบบอย่างใหม่ที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะจัดการฝึกประเภทนี้ขึ้นมา”

“เรากำลังมองเห็นกันว่ามีการยกไม้กั้นให้สูงขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่ง โดยที่การซ้อมรบในอนาคตจะต้องทำกันในขนาดขอบเขตและความดุเดือดเข้มข้นระดับนี้”

ที่ผ่านมาในระหว่างเวลาเกิดความตึงเครียด จีนเคยส่งเรือรบและเครื่องบินข้ามเส้นกึ่งกลาง (เส้นที่ลากแบ่งช่องแคบไต้หวันออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน และเคยถือเป็นเส้นแบ่งแดนอย่างไม่เป็นทางการ)

แต่ โก๊ะ ชี้ว่าจากการเยือนของ เพโลซี ทำให้จีนได้ข้ออ้างหรือได้เหตุผลความชอบธรรมที่จะบอกว่า ในอนาคตพวกเขาจะดำเนินการซ้อมรบล้ำเข้าไปทางฟากตะวันออกของเส้นกึ่งกลาง โดยไม่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้น

จากนี้ไปความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ จะดำเนินต่อไปอย่างไร?

จีนเพิ่งประกาศว่าจะยุติความร่วมมือกับสหรัฐฯในประเด็นปัญหาสำคัญๆ รวมทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และด้านกลาโหมด้วย

ปักกิ่งยังประกาศต่างหากออกไปว่าจะแซงก์ชันเป็นการส่วนตัวต่อ เพโลซี เพื่อเป็นการตอบโต้พฤติการณ์ “ชั่วร้าย” และ “ยั่วยุ” ของเธอ

เถียน สือเฉิน (Tian Shichen) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ปักกิ่ง บอกกับ โกลบอลไทมส์ สื่อของทางการจีนว่า การตัดการติดต่อสื่อสารทางการทหารคือการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการสู้รบขัดแย้งกัน แต่เขากล่าวโทษว่านี่เป็นความผิดของฝ่ายสหรัฐฯ

“ในปัจจุบัน ช่องทางแทบทั้งหมดของกลไกการติดต่อสื่อสารระหว่างฝ่ายทหารจีนและฝ่ายทหารสหรัฐฯ อยู่ในภาวะหยุดชะงัก ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเข้าใจผิดและเหตุการณ์ซึ่งอยู่นอกเหนือความคาดหมาย ทั้งหมดเหล่านี้ต้องเป็นความรับผิดชอบของสหรัฐฯ” โกลบอลไทมส์อ้างอิงคำพูดของ เถียน

ขณะที่ เกลเซอร์ พูดในระหว่างการอภิปรายที่เจ้าภาพคือ ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ว่า “นี่คือช่วงขณะในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนซึ่งอยู่ในจุดที่ตกต่ำมากจริงๆ”

“ดิฉันหวังว่ารัฐบาลทั้งสองจะค้นพบหนทางเพื่อพูดจากันเกี่ยวกับ ... เส้นสีแดงไม่ให้ใครล่วงล้ำของพวกเขา ความกังวลใจของพวกเขา และการป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์นี้เกิดอาการควงสว่านดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ”

(เก็บความจากเรื่อง Taiwan crisis: what we've learned so far ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น