(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Taking the measure of China’s ‘diplomacy of anger’
By TODD HALL
05/082022
การไปเยือนไต้หวันของ เพโลซี อาจจะกลายเป็นการสร้าง “สถานะเดิม” แบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีเนื้อหาผิดแผกไปจากเมื่อก่อน โดยที่กำลังทหารและกำลังกึ่งทหารของจีนล่วงล้ำข้ามแนวเส้นกึ่งกลางของช่องแคบไต้หวัน จะกลายเป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำขึ้นมา
มีรายงานว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ยิงขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) แบบตงเฟิง 15 บี (DF 15-B) จำนวนมากลงไปตกในทะเลรอบๆ เกาะไต้หวัน [1] โดยเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมรบขนาดใหญ่ซึ่งประกาศออกมาว่า เป็นการตอบโต้การไปเยือนเกาะแห่งนั้นในสัปดาห์นี้ของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี
บริเวณซึ่งถูกเลือกให้เป็นสถานที่ซ้อมรบเหล่านี้อยู่ใกล้กับไต้หวันอย่างชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขยับชิดเข้ามามาก [2] จากพวกพื้นที่ซึ่งจีนเคยใช้เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันครั้งก่อนในช่วงปี 1995-1996 [3] และทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคแถบนี้พุ่งพรวดขึ้นอย่างน่าตื่นใจ กระทรวงกลาโหมไต้หวันออกมาประณามว่า การฝึกซ้อมของจีนคราวนี้ไม่ต่างอะไรกับการใช้กำลังทหารเข้าปิดล้อมเกาะแห่งนี้เอาไว้นั่นเอง [4]
พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีเป้าหมายมาโดยตลอดที่จะนำเอาไต้หวันรวมเข้ากับแผ่นดินใหญ่ ตั้งแต่ที่พวกเขาเป็นฝ่ายชนะในสงครามกลางเมืองซึ่งสู้รบกับ เจียง ไคเช็ก (Chiang Kai-shek) ผู้นำฝ่ายชาตินิยม (ก๊กมิ่นตั๋ง) ระหว่างช่วงปี 1946-49 บนแผ่นดินใหญ่ แล้ว เจียง พร้อมพวกผู้สนับสนุนของเขา หลบหนีข้ามช่องแคบไปปักหลังจัดตั้งรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจีน ขึ้นที่เกาะไต้หวัน
ในปี 2021 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน แถลงย้ำเอาไว้ว่า : “การแก้ไขปัญหาไต้หวัน และการดำเนินการให้การรวมชาติอย่างสมบูรณ์ของจีนกลายเป็นความจริงขึ้นมา คือภารกิจทางประวัติศาสตร์ และคือคำมั่นสัญญาที่ไม่มีวันคลอนแคลนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน” [5]
จากทัศนะมุมมองของปักกิ่ง การที่สหรัฐฯ สนับสนุนไต้หวัน ยังคงถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญประการต่างๆ (ถ้าหากไม่ใช่เป็นอุปสรรคสำคัญประการเดียว) ที่จะทำให้จีนบรรลุการรวมชาติ หลังจากสงครามเกาหลี (Korean War) ระเบิดขึ้นมา สหรัฐฯ หยุดยั้งแผนการความเป็นไปได้ใดๆ ในการบุกไต้หวันของทางปักกิ่ง ด้วยการจัดส่งกองเรือที่ 7 ของตนไปยังช่องแคบไต้หวัน ต่อมาในปี 1954 สหรัฐฯ ยังได้ทำสนธิสัญญาร่วมป้องกันฉบับหนึ่งกับไต้หวันอีกด้วย
สหรัฐฯ ได้ยกเลิกสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวในท้ายที่สุดภายหลังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่งในปี 1979 ทว่ารัฐสภาสหรัฐฯ ก็ตอบโต้ด้วยการออกรัฐบัญญัติความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) [6] ซึ่งให้อำนาจแก่สหรัฐฯ ในการจัดหาจัดส่งอาวุธเพื่อการป้องกันให้แก่ไต้หวัน และ “ธำรงรักษาศักยภาพของสหรัฐฯ” ในการป้องกันไต้หวันในขั้นพื้นฐาน
ถึงแม้สหรัฐฯ ยังได้เพิกถอนการรับรองทางการทูตที่ให้แก่ไต้หวัน แต่ปักกิ่งยังคงมีความอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่งต่อการกระทำใดๆ ก็ตามที่จะบ่งบอกให้เห็นว่า วอชิงตันกำลังหาทางอัดฉีด “ความเป็นทางการ” ใดๆ ก็ตามเข้าไปในความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ มีอยู่กับไต้หวัน เนื่องจากปักกิ่งเชื่อว่านี่จะเป็นการบั่นทอนคำมั่นสัญญาต่างๆ ซึ่งสหรัฐฯ ให้แก่จีนในเรื่องเกี่ยวกับสถานะของไต้หวัน
นี่เองคือประเด็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมา ในวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันปี 1995-1996 ตอนที่สหรัฐฯ อนุญาตให้ หลี่ เติ้งฮุย (Lee Teng-hui) ประธานาธิบดีไต้หวันในขณะนั้น เดินทางไปเยี่ยมเยียนสำนักศึกษาเก่าของเขา ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) [7] ที่ตั้งอยู่ในเมืองอิธาคา รัฐนิวยอร์ก การเยือนไต้หวันของ เพโลซี ในคราวนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีสำหรับนักการเมืองสหรัฐฯ อาวุโสสูงถึงระดับนี้ ก็เป็นการแตะต้องความอ่อนไหวนี้ด้วยเช่นกัน
สิ่งที่เป็นปัญหา
สำหรับปักกิ่งแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เป็นเรื่องการไปเยือนไต้หวันของ เพโลซี เท่านั้น
ประการแรก ปักกิ่งมีความรับรู้ความเข้าใจว่า กำลังเกิดแนวโน้มที่อาจเป็นอันตรายอันใหญ่โตกว่านั้นอีกในความสัมพันธ์ซึ่งวอชิงตันมีอยู่กับไต้หวัน เป็นต้นว่า มีการเร่งฝีก้าวอย่างสำคัญในเรื่องที่สหรัฐฯ อนุมัติการขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน [8] คำแถลงหลายๆ ครั้งอย่างต่อเนื่องเป็นชุดจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับที่วอชิงตันจะเข้าป้องกันไต้หวัน [9] (ซึ่งเป็นสิ่งที่ในอดีตที่ผ่านมา วอชิงตันใช้วิธีปล่อยให้มันอยู่ในสภาพที่กำกวมไม่ชัดเจน) และการที่พวกเจ้าหน้าที่และนักการเมืองอเมริกันหลายหลากพากันไปเยือนเกาะแห่งนี้ในช่วงหลังๆ นี้
รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า จุดยืนขั้นพื้นฐานของตนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทว่าสำหรับปักกิ่งแล้ว ทั้งหมดนี้ [10] คือการบ่งบอกให้เห็นว่า (ถ้าหากเราจะใช้ถ้อยคำของรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน) วอชิงตันกำลังหาหนทางอย่างลับๆ ล่อๆ เพื่อทำให้นโยบายเรื่องไต้หวันของสหรัฐฯ กลายเป็นความ “กลวงโบ๋” ไร้สาระสำคัญ [11] การที่ เพโลซี ไปเยือนไต้หวันตอนนี้ ดูเหมือนจะมาถึงจุดที่ปักกิ่งมองเห็นว่า จำเป็นต้องส่งสัญญาณอย่างหนักแน่นทรงพลังเพื่อหมุนกลับแนวโน้มดังกล่าวนี้แล้ว
ประการที่สอง ปักกิ่งยังกำลังนำเอาชื่อเสียงเกียรติภูมิของตนเข้ามาวางเป็นเดิมพันในคราวนี้ ด้วยการส่งเสียงเตือนอย่างเปิดเผยคัดค้านการเยือนของ เพโลซี โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีนผู้หนี่งออกมาข่มขู่ว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีน “จะไม่นั่งเป็นเบื้อมองดูอยู่เฉยๆ” [12] และ สี ก็เตือน ไบเดน ว่า “ใครก็ตามที่เล่นกับไฟ ในที่สุดแล้วจะถูกไฟไหม้เอา” [13] ดังนั้น ชื่อเสียงเกียรติภูมิในระดับกว้างของจีนจึงถูกคุกคามไปด้วย และเรื่องนี้ทำให้เดิมพันของปัญหาที่ต่อสู้กันอยู่นี้ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นไปอีกมาก [14]
สำหรับประการสุดท้าย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นประการสำคัญน้อยที่สุด ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จีนจะเปิดการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศ ครั้งที่ 20 สมัชชาพรรคเช่นนี้ถือเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญซึ่ง 5 ปีจึงจะจัดขึ้นครั้งหนึ่ง โดยที่จะมีการอนุมัติรับรองการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในเรื่องตำแหน่งทางการเมืองและตัวบุคคลสำคัญๆ สำหรับสมัชชาพรรคครั้งที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ ยิ่งดูจะมีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากตามรายงานหลายๆ กระแส [15] สี น่าที่จะกระทำสิ่งซึ่งขัดแย้งกับธรรมเนียมที่ได้ยึดถือกันมา โดยจะหาทางให้ตนเองได้ดำรงตำแหน่งผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสมัยที่สาม
ทั้งนี้ แม้กระทั่งว่าถ้าหากเป็นที่แน่ใจได้แล้วในเรื่องตำแหน่งของ สี เรื่องนี้จะยังต้องเกี่ยวข้องกับการเดินหมากทางการเมืองกันอย่างมากมาย รวมทั้งยังอาจเกิดการต่อสู้ภายในขึ้นมาได้อีกด้วย ดังนั้น สี ย่อมไม่ต้องการที่จะปล่อยให้ตนเองต้องตกเป็นฝ่ายรับในประเด็นปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างหนึ่งในประเด็นปัญหาซึ่งอ่อนไหวและถือเป็นปัญหาแกนกลางอย่างเช่นเรื่องไต้หวัน หนทางการดำเนินการเพื่อให้มีความปลอดภัยสำหรับภายในประเทศแล้ว จึงต้องเป็นการใช้แนวทางที่แข็งกร้าวในเรื่องไต้หวัน
เรื่องนี้มีตัวอย่างในอดีตที่อาจนำมาเปรียบเทียบได้ กล่าวคือ ในปี 2012 [16] ญี่ปุ่นได้ท้าทายจีนด้วยการซื้อกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ (Senkaku/Diaoyu islands) ซึ่งโตเกียวกับปักกิ่งพิพาทช่วงชิงกันอยู่ จากภาคเอกชนของญี่ปุ่น เรื่องนี้เกิดขึ้นมาไม่นานก่อน สมัชชาพรรคครั้งที่ 18 เมื่อ สี กำลังจะเข้าสืบทอดตำแหน่งต่อจาก หู จิ่นเทา ผู้นำจีนคนก่อนหน้า ปรากฏว่าปักกิ่งได้ตอบโต้ด้วยความดุเดือดมาก มีรายงานว่าตัว สี ได้เข้าบัญชาการเป็นผู้นำการตอบโต้ด้วยตนเอง และใช้จุดยืนส่งสัญญาณทางการเมืองแบบสายเหยี่ยวแข็งกร้าว ทั้งนี้ ในตอนนั้นต้องใช้เวลา 2 ปีทีเดียวกว่าที่ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นจะสามารถกลับคืนเข้าร่องเข้ารอยได้
ในเวลานี้เมื่อการไปเยือนไต้หวันของ เพโลซี กำลังถูกนำเสนออกมาอย่างครึกโครมเกรียวกราว [17] สี จึงน่าจะไม่ต้องการให้เรื่องนี้กลายเป็นจุดอ่อนเปราะจุดหนึ่งขึ้นมา
สิ่งที่คาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไป
พิจารณาจากแผนการเดิมเกมทางการทูตของปักกิ่งเท่าที่ผ่านๆ มา นี่น่าจะหมายถึงการแสดงออกอย่างทรงพลังถึงความเดือดดาล (ผมได้เคยเรียกสิ่งนี้เอาไว้ในที่อื่นๆ ว่า “การทูตแห่งความโกรธเกรี้ยว” diplomacy of anger) เพื่อทำให้ทั้งสหรัฐฯ ไต้หวัน และผู้ดูผู้ชมอื่นๆ ตระหนักรับรู้ความเป็นจริงขึ้นมาว่า สำหรับปักกิ่งแล้ว ประเด็นปัญหานี้มีความอ่อนไหวขนาดไหน
ที่ผ่านมา การแสดงความเดือดดาลนี้จะต้องมีทั้งคำพูดถ้อยคำอันเกรี้ยวกราด การระงับการประชุมพบปะกันและการติดต่อทางการทูตด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย การลงโทษคว่ำบาตรตัวบุคคล การลงโทษทางเศรษฐกิจแบบมีเป้าหมายเจาะจงแน่นอน และการจับกุมคุมขังชาวต่างชาติที่คัดสรรเอาไว้จำนวนมากด้วยข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ
นอกจากนั้น มันก็รวมถึงการซ้อมรบอย่างที่ปรากฏให้เห็นกันแล้ว ทั้งนี้ในวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันคราวที่แล้วในปี 1995-1996 [18] ปักกิ่งได้ยิงขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) หลายลูกเข้าไปตกในบริเวณน่านน้ำต่างๆ รอบๆ เกาะไต้หวัน ทำให้เกิดความวิตกกันมากในไทเปและวอชิงตัน
เท่าที่ที่ปรากฏออกมาแล้ว เรากำลังมองเห็นบางส่วนของมาตรการเหล่านี้กันอยู่ แต่เวลานี้ปักกิ่งมีกล่องเครื่องไม้เครื่องมือขนาดใหญ่โตยิ่งกว่าเมื่อก่อน ดังนั้น เราจึงอาจจะได้เห็นการลงโทษในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปริมณฑลด้านไซเบอร์ ยิ่งกว่านั้น ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงค่าเงินตรา ตลาดหุ้น การบินและการเดินเรือของไต้หวัน และอื่นๆ
ฉากทัศน์สมมติสถานการณ์แบบมองโลกในแง่ดี ก็คือ ในทันทีที่ปักกิ่งรู้สึกว่าได้ส่งข้อความที่ต้องการออกมาจนเพียงพอแล้ว และสมัชชาพรรคครั้งที่ 20 ก็ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะบรรเทาเบาบางลง แต่ทั้งนี้เราอาจจะได้เห็นการรักษาสถานะเดิมซึ่งมีเนื้อหาที่ผิดแผกไปจากเมื่อก่อนเกิดขึ้นมาด้วย เป็นต้นว่า มีกำลังทหารและกำลังกึ่งทหารของจีนล่วงล้ำข้ามแนวเส้นกึ่งกลางของช่องแคบไต้หวัน (ซึ่งถือเป็นเส้นแบ่งแดนอย่างไม่เป็นทางการ) กันอย่างเป็นประจำ (จากที่เมื่อก่อนแทบไม่มีการล่วงล้ำเลย)
สำหรับฉากทัศน์แบบมองโลกในแง่ร้ายนั้น ได้แก่การที่ปักกิ่งจะมีปฏิบัติการซึ่งวอชิงตันมองเห็นว่าเป็นการกระทำที่เลยขอบเขตเกินกว่าที่จะปล่อยเอาไว้โดยไม่ตอบโต้คัดค้านได้ และจุดชนวนให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ ในครั้งสุดท้ายนั้น (ปี 1995-1996) สหรัฐฯได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำเข้าไปที่ช่องแคบไต้หวัน [19] ถ้าหากในครั้งนี้แต่ละฝ่ายมองว่าตนเองจะต้องมีปฏิกิริยาตอบโต้สิ่งที่เข้าใจว่าเป็นการยั่วยุอย่างเกินเลยของอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว สิ่งต่างๆ ก็อาจจะเข้าสู่เกลียวหมุนวนที่มีการเผชิญหน้ากันรุนแรงขึ้นและอันตรายมากยิ่งขึ้นทุกทีๆ
ท็อดด์ ฮอลล์ เป็นศาสตราจารย์ และผู้อำนวยการศูนย์จีน (China Centre) ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
(ข้อเขียนนี้ในภาษาอังกฤษ นำมาจากเว็บไซต์ The Conversation (https://theconversation.com/) อ่านต้นฉบับข้อเขียนดั้งเดิมได้ที่ (https://theconversation.com/taiwan-beijing-reacts-to-pelosis-visit-with-live-fire-exercises-prompting-fears-of-escalation-188192)
เชิงอรรถ
[1]https://www.theguardian.com/world/live/2022/aug/04/china-expected-to-begin-live-fire-military-exercises-near-taiwan-coast-in-wake-of-pelosi-visit-live
[2] https://twitter.com/CIGeography/status/1554507123106750464/photo/1
[3] https://www.jstor.org/stable/2626754
[4] https://focustaiwan.tw/cross-strait/202208030018
[5] https://www.cfr.org/blog/what-xi-jinpings-major-speech-means-taiwan
[6] https://www.congress.gov/bill/96th-congress/house-bill/2479
[7] https://cornellsun.com/2001/08/28/lee-visit-stirs-controversy/
[8] https://www.csis.org/blogs/new-perspectives-asia/how-biden-building-trumps-legacy-taiwan
[9] https://www.bbc.co.uk/news/world-asia-china-61548531
[10]https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202208/t20220803_10732397.html
[11]https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202208/t20220803_10732397.html
[12] https://english.news.cn/20220801/c18aff840cbe4bc48de967148d95ab3c/c.html
[13] https://www.politico.com/news/2022/08/01/pelosi-taiwan-xi-biden-china-00048940
[14] https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/13540661211045112
[15] https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-01-12/why-china-s-2022-party-congress-will-be-a-landmark-quicktake#xj4y7vzkg
[16] https://tnsr.org/2019/09/more-significance-than-value-explaining-developments-in-the-sino-japanese-contest-over-the-senkaku-diaoyu-islands/
[17] https://www.whatsonweibo.com/from-starting-a-war-to-just-for-show-chinese-social-media-views-on-pelosis-potential-taiwan-visit/
[18] https://www.jstor.org/stable/2657901#metadata_info_tab_contents
[19] https://www.jstor.org/stable/2626754#metadata_info_tab_contents