แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จุดชนวนความตึงเครียดครั้งใหม่ด้วยการเดินทางไปเยือน “ไต้หวัน” ในสัปดาห์นี้ พร้อมเอ่ยย้ำเจตนารมณ์ของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนเกาะประชาธิปไตยซึ่งจีนถือเป็น “มณฑลกบฏ” ในความเคลื่อนไหวที่ทำให้สายสัมพันธ์วอชิงตัน-ปักกิ่งดำดิ่งลงสู่จุดวิกฤต ขณะที่นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ เองเริ่มตั้งคำถามว่า การกระทำของ เพโลซี ที่ถือว่ายั่วยุและท้าทายจีนอย่างหนักในคราวนี้จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คุ้มค่าจริงหรือไม่?
เครื่องบินของ เพโลซี และคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานซงซาน ในบริเวณใจกลางนครไทเปเมื่อเวลาประมาณ 22.24 น. ของวันอังคารที่ 2 ส.ค. โดยมี โจเซฟ อู๋ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน และซานดรา อุดเคิร์ค ผู้แทนสูงสุดของสหรัฐฯ ในไต้หวัน คอยให้การต้อนรับ
ประธานสภาสหรัฐฯ ได้ออกคำแถลงหลังก้าวลงจากเครื่องบินไม่นานนักว่า “คณะผู้แทนจากรัฐสภาสหรัฐฯ มาเยือนไต้หวัน เพื่อเชิดชูความมุ่งมั่นผูกพันอย่างไม่มีคลอนแคลนของอเมริกาในการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยที่มีชีวิตชีวาของไต้หวัน... ความสมานฉันท์ของอเมริกาที่มีต่อประชากร 23 ล้านคนของไต้หวันมีความสำคัญในวันนี้ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะที่โลกถึงเวลาต้องเลือกระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย”
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้เผยแพร่ข้อเขียนของ เพโลซี ซึ่งเธอได้กล่าวยกย่องไต้หวันที่มุ่งมั่นผูกพันกับรัฐบาลประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็วิจารณ์จีนที่แสดงท่าทีคุกคามไต้หวันมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เพโลซี ย้ำว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถยืนเฉยปล่อยให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนคุกคามไต้หวันและระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งหยิบยกข้อครหาของสหรัฐฯ ที่บอกว่าจีนใช้ยุทธวิธีอันป่าเถื่อนปราบปรามผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองในฮ่องกง ตลอดจนปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในลักษณะที่สหรัฐฯ เรียกว่าเป็นการ “ล้างเผ่าพันธุ์”
กระทรวงการต่างประเทศจีนออกคำแถลงประณามการเยือนไต้หวันของ เพโลซี ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของอเมริกาที่ไปเยือนไต้หวันในรอบ 25 ปี โดยเตือนว่าพฤติกรรมของเธอ “เป็นการทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างรุนแรง มีผลกระทบอย่างสาหัสต่อรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และยังละเมิดอย่างร้ายแรงต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน” ขณะที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า การที่สหรัฐฯ ทรยศต่อคำมั่นสัญญาในประเด็นไต้หวัน “จะทำให้เครดิตความน่าเชื่อถือระดับชาติของตนเองต้องล้มละลาย”
ปักกิ่งส่งเครื่องบินทหารถึง 21 ลำรุกเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวันก่อนที่ เพโลซี จะเดินทางไปถึง และต่อมากระทรวงกลาโหมจีนก็ประกาศในค่ำวันอังคาร (2) ว่า กองทัพเตรียมจะเปิด “การปฏิบัติการทางทหารแบบมีเป้าหมาย” (targeted military operations) เพื่อตอบโต้การกระทำของประธานสภาสหรัฐฯ
กองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออก (Eastern Theatre Command) ของจีนประกาศพื้นที่ซ้อมรบร่วมทางทะเลและอากาศ ในบริเวณน่านน้ำและน่านฟ้าตอนเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน และจะมีการใช้กระสุนจริงพิสัยไกล (long-range live ammunition) ในบริเวณช่องแคบที่กั้นแบ่งไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย โดยปฏิบัติการซ้อมรบบางส่วนจะอยู่ห่างจากชายฝั่งไต้หวันไม่ถึง 20 กิโลเมตร
จีนยังได้ออกมาตรการแก้เผ็ดไต้หวันในทางเศรษฐกิจ โดยกรมศุลกากรจีนประกาศแบนการนำเข้าผลไม้และอาหารทะเลจากไต้หวันในวันพุธ (3) โดยอ้างว่าตรวจพบยาฆ่าแมลงตกค้าง และปนเปื้อนไวรัสโคโรนา ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์จีนได้ระงับส่งออก “ทราย” ไปยังไต้หวัน โดยทรายนั้นถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต “เซมิคอนดักเตอร์” หนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของไทเป
หลายประเทศได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการไปเยือนไต้หวันของประธานสภาสหรัฐฯ โดย “รัสเซีย” และ “เกาหลีเหนือ” ซึ่งความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ระบุว่า สิ่งที่ เพโลซี ทำนั้นถือเป็นการยั่วยุและแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างโจ่งแจ้ง และจีนมีสิทธิที่จะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องอำนาจอธิปไตยของตนเอง ขณะที่ “ลาว” ออกแถลงการณ์สนับสนุนนโยบายจีนเดียว และย้ำว่าไต้หวันไม่มีสิทธิที่จะแยกตัวเป็นเอกราชจากจีนได้ รวมถึงประกาศการสนับสนุนนโยบายของจีนในการรวมชาติด้วยสันติวิธี
ญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความกังวลเรื่องที่จีนประกาศซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันในวันพุธ (3) ขณะที่เกาหลีใต้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจาเพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพในภูมิภาค
ระหว่างที่เข้าพบประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวันเมื่อวันพุธ (3) เพโลซี กล่าวว่า “วันนี้คณะของเราเดินทางมายังไต้หวัน เพื่อให้เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจนว่า เราจะไม่ละทิ้งพันธกรณีที่มีต่อไต้หวัน” ขณะเดียวกันย้ำว่าเธอเดินทางมา “ด้วยมิตรภาพต่อไต้หวัน” และ “เพื่อสันติภาพในภูมิภาค”
ตัวผู้นำไต้หวันเองได้กล่าวขอบคุณประธานสภาสหรัฐฯ วัย 82 ปี ที่ “ใช้มาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการแสดงออกซึ่งการสนับสนุนไต้หวัน ในห้วงเวลาวิกฤตเช่นนี้” พร้อมกับยืนยันว่าชาวไต้หวัน “จะไม่ยอมอ่อนข้อ และจะยืนหยัดในแนวทางปกป้องระบอบประชาธิปไตยต่อไป”
เพโลซี ยังได้พบกับบรรดานักเคลื่อนไหวต่อต้านจีนอีกหลายคน รวมถึง “วูเออร์ไคซือ” (Wu’er Kaixi) อดีตแกนนำนักศึกษาที่จัดการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ก่อนจะขึ้นเครื่องบินเดินทางออกจากไต้หวันในช่วงเย็นวันพุธ (3) เพื่อเดินทางต่อไปยังเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมระยะเวลาที่ปฏิบัติภารกิจในไต้หวันไม่ถึง 24 ชั่วโมง
ในมุมของ เพโลซี เอง ทริปการเยือนเอเชียครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย เธอกลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลกในช่วงเวลาแค่ไม่กี่วัน และในฐานะนักการเมืองหญิงคนหนึ่ง เธอได้ท้าทายและปฏิเสธที่จะถูกข่มขู่โดยเหล่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสามารถก้าวไปยืนเคียงคู่กับผู้นำหญิงไต้หวันอย่างสง่าผ่าเผย เพื่อย้ำถึงการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันเป็นค่านิยมพื้นฐานของชาวอเมริกัน
การเยือนไต้หวันคราวนี้ยังถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงล่าสุดของ เพโลซี ซึ่งเคยไปยืนถือป้ายเชิดชู “นักเคลื่อนไหวที่สละชีพเพื่อประชาธิปไตยในจีน” บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1991 และยังเคยนำคณะ ส.ส.เดโมแครตเดินทางไปเยือน “ทิเบต” เมื่อปี 2015 รวมถึงเคยเข้าพบ “องค์ทะไลลามะ” ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต ซึ่งถูกรัฐบาลปักกิ่งตราหน้าว่าเป็นผู้นำกลุ่มแบกแยกดินแดน
กระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำของ เพโลซี นั้นออกจะสวนทางกับนโยบายพื้นฐานของสหรัฐฯ ที่มุ่งหลีกเลี่ยง “หายนะ” จากการทำสงครามเต็มรูปแบบกับจีน และอาจกลายเป็นความผิดพลาดร้ายแรง หากมันทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ย่ำแย่ลงอย่างถาวร หรือกระตุ้นให้ปักกิ่งใช้มาตรการขั้นรุนแรงที่สั่นคลอนสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไต้หวัน
แม้ทริปของ เพโลซี จะก่อความกังวลให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของวอชิงตัน แต่กลับได้รับเสียงสนับสนุนล้นหลามจาก “สภาคองเกรส” ซึ่งมีจุดยืนโปรไต้หวัน สมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนออกปากชื่นชมความกล้าหาญของประธานสภาสายเดโมแครตผู้นี้ และบางคนก็อดไม่ได้ที่จะมองว่าเธอแข็งแกร่งกว่าประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่ากองทัพสหรัฐฯ “ไม่ค่อยแฮปปี้” เท่าไหร่กับแผนการไปเยือนไต้หวันของ เพโลซี
สหรัฐฯ มีกฎหมายที่เรียกว่า Taiwan Relations Act ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องปรามไม่ให้จีนคิดบุกเกาะแห่งนี้ และยังรับประกันว่าสหรัฐฯ จะขายอาวุธเพื่อการป้องกันตนเองให้แก่รัฐบาลไทเป ทว่าในระยะหลังๆ เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากพวก ส.ส.สายเหยี่ยวในคองเกรสให้มีการแก้กฎหมายเพิ่มการสนับสนุนไต้หวันให้มากยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงขอให้สหรัฐฯ เลิกใช้นโยบาย “ความกำกวมทางยุทธศาสตร์” (strategic ambiguity) ต่อไต้หวัน ซึ่งไม่ได้ระบุชัดเจนว่าอเมริกาจะตอบโต้อย่างไรหากไต้หวันถูกจีนรุกราน
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ภารกิจของ เพโลซี ในไต้หวันให้ผลในแค่ “ในเชิงสัญลักษณ์” และเป็นความสำเร็จใน “ระยะสั้น” เท่านั้น และการที่เธอลงทุนนั่งเครื่องบินฝ่าวงล้อมจีนเข้าไปยังไต้หวันเพื่อประกาศความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะเป็นความเสี่ยงที่ “คุ้มค่า” หรือเป็นการยั่วยุที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ให้แก่อเมริกาเลยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าจีนจะลงมือตอบโต้อย่างหนักหน่วงและยืดเยื้อแค่ไหน
แม้สิ่งที่ เพโลซี พูดและทำในไต้หวันจะไม่ถึงขั้นละเมิดนโยบายจีนเดียวที่สหรัฐฯ ยึดถือ แต่ในการแถลงข่าวช่วงหนึ่ง เธอได้ยกย่องชาวไต้หวันว่า “มีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ (country) ของตัวเองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสหรัฐฯ ไม่เคยรับรองไต้หวันเป็นประเทศ
ไม่ว่า เพโลซี จะเพียงแค่ “พลั้งปาก” หรือตั้งใจส่งสัญญาณอะไรก็ตามที แต่แน่นอนว่าคำพูดนี้ย่อมสร้างความเดือดดาลต่อเจ้าหน้าที่ในปักกิ่ง และอาจทำให้คณะผู้นำจีนเข้าใจไปเองว่าสภาคองเกรสคิดที่จะผลักดันให้สหรัฐฯ ใช้นโยบายหนุนหลังไต้หวันอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่อันตราย และอาจทำให้สายป่านการทูตระหว่างสหรัฐฯ และจีนเกี่ยวกับสถานะของไต้หวันที่เปราะบางมากอยู่แล้ว เดินไปถึงจุดแตกหัก
ยิ่งไปกว่านั้น หากการเยือนของ เพโลซี ทำให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง รู้สึกว่าการรวบรวมชาติกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน และตัดสินใจใช้กำลังทหารบุกยึดไต้หวันขึ้นมา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคงจะพูดไม่ได้ว่าเป็น “ผลดี” สำหรับสหรัฐฯ หรือฝ่ายใดๆ
“ผมเห็นด้วยว่าเธอมีสิทธิที่จะไป แต่คำถามก็คือมันได้ประโยชน์อะไรบ้าง” ฟิล มัดด์ อดีตเจ้าหน้าที่เอฟบีไอและซีไอเอ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์ด้านการต่อต้านก่อการร้ายให้ CNN ตั้งคำถาม
ด้าน แม็กซ์ โบคัส อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า การตัดสินใจของ เพโลซี ถือว่า “ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่” หากมองถึงบริบทความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่ย่ำแย่มากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
“ในความเห็นผมนะ พูดตรงๆ ว่าเธอไม่ควรไปเลย เป้าหมายหลักของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ คือการลดความตึงเครียดกับจีน ไม่ใช่กระพือความตึงเครียด” โบคัส ซึ่งเป็นอดีต ส.ว.เดโมแครตจากรัฐมอนทานา ระบุ
“การไปเยือนครั้งนี้ทำให้ความสัมพันธ์กับจีนตึงเครียดขึ้น เธอไม่มีเหตุผลในเชิงนโยบายเลยที่จะไป ยังไงชาวไต้หวันก็รู้อยู่แล้วว่าเราสนับสนุนพวกเขา”
จอห์น เคอร์บี โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ยืนยันว่า สหรัฐฯ “ไม่รู้สึกกลัวเกรง” กับการข่มขู่หรือถ้อยคำชวนทะเลาะจากจีน พร้อมทั้งยืนยันว่าการเยือนของ เพโลซี ไม่ได้ละเมิดทั้งประเด็นอธิปไตย หรือแม้แรกทั่งจุดยืนของสหรัฐฯ เกี่ยวกับนโยบายจีนเดียว
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า “จีนอาจจะใช้มาตรการตอบโต้บางอย่างในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า หรือไม่ก็ในระยะยาว” ซึ่งอาจรวมถึงการยิงขีปนาวุธในช่องแคบไต้หวัน ส่งฝูงบินรบเข้าไปในเขต ADIZ ของไต้หวันมากและถี่ขึ้น หรือแม้กระทั่งประกาศว่าช่องแคบไต้หวันไม่ใช่น่านน้ำสากลอีกต่อไป
ในห้วงเวลาที่ห่วงโซ่อุปทานโลกยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากช่องแคบไต้หวันซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่สำคัญถูกจีนปิดกั้นเพื่อเพิ่มแรงบีบต่อไทเป ก็อาจจะส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และมีผลในเชิงการเมืองต่อสหรัฐฯ เองด้วย เพราะหากนักลงทุนเกิดความกังวลก็อาจจะทำให้เกิดแรงเทขายหุ้น เพิ่มความเดือดร้อนแก่ชาวอเมริกันที่กำลังเผชิญปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นและเงินเฟ้อ และแน่นอนว่าย่อมเป็นสัญญาณร้ายสำหรับพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมาถึงในเดือน พ.ย.นี้