(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Why Pelosi’s Taiwan visit is so dangerous
By DAVID P GOLDMAN
03/08/2022
การไปเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คือการละเมิดอย่างชัดเจนต่อจิตวิญญาณของแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ปี 1972 และเป็นการก้าวข้ามหนึ่งในเส้นสีแดงห้ามล่วงล้ำซึ่งปักกิ่งขีดเอาไว้อย่างชัดเจน
คำเตือนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน บอกกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของฝ่ายอเมริกัน ที่ว่า “ถ้าคุณเล่นกับไฟ คุณก็จะถูกไฟไหม้เอา” นั้น เป็นถ้อยคำอันก้าวร้าวท้าตีท้าต่อยที่สุดซึ่งฝ่ายจีนเคยใช้กับสหรัฐฯ ในรอบระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา บางทีอาจจะตั้งแต่ที่สหรัฐฯ และสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันเมื่อปี 1972 ทีเดียว
ทำไมจีนถึงเดือดดาลอย่างสาหัสขนาดนี้จากการเดินทางไปเยือนของไต้หวันของ แนนซี เพโลซี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงชาวอเมริกันผู้หนึ่ง โดยที่ทางคณะบริหารไบเดนไม่ได้มีการให้ความสนับสนุนเห็นชอบอย่างเปิดเผย? คำตอบอยู่ที่รายละเอียดต่างๆ ของสิ่งซึ่งถือเป็นเส้นสีแดงอันตรายในทางการทูต
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น เริ่มต้นขึ้นด้วยเอกสารที่เรียกว่า “แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ปี 1972” (Shanghai Communique of 1972) ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า :
ฝ่ายจีนยืนยันอีกครั้งถึงจุดยืนของตนดังนี้ : ปัญหาไต้หวันคือปัญหาสำคัญอย่างที่สุดซึ่งกำลังขัดขวางการสถาปนาความสัมพันธ์ที่เป็นปกติระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขึ้นมา รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น คือรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวของจีน ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีนซึ่งควรจะต้องกลับคืนสู่มาตุภูมิมานานแล้ว การปลดแอกไต้หวันคือกิจการภายในของจีนซึ่งไม่มีประเทศใดมีสิทธิที่จะเข้าแทรกแซง และกองกำลังของสหรัฐฯ ตลอดจนสถานที่การติดตั้งทางทหารต่างๆ ของสหรัฐฯ จักต้องถอนออกไปจากไต้หวัน รัฐบาลจีนคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อกิจกรรมใดๆ ก็ตามซึ่งมุ่งหมายที่จะก่อตั้ง “หนึ่งจีน หนึ่งไต้หวัน” “หนึ่งจีน สองรัฐบาล” “สองจีน” “ไต้หวันที่เป็นเอกราช” หรือการเรียกร้องสนับสนุนว่า “สถานะของไต้หวันยังคงต้องมีการวินิจฉัยตัดสินกันต่อไป”
ฝ่ายสหรัฐฯ ประกาศดังนี้ : สหรัฐฯ รับทราบว่า ชาวจีนทั้งหมดไม่ว่าอยู่ทางฟากฝั่งด้านใดของช่องแคบไต้หวันล้วนแล้วแต่คือจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ท้าทายจุดยืนนี้ สหรัฐฯ ยืนยันอีกครั้งถึงผลประโยชน์ของตนในการตกลงกันอย่างสันติในปัญหาไต้หวันโดยชาวจีนด้วยกันเอง
ในการถกเถียงอภิปรายแบบไม่มีการบันทึกอ้างอิงใดๆ ครั้งหนึ่งกับทางเอเชียไทมส์ หนึ่งในสมาชิกดั้งเดิมขนานแท้รายหนึ่งในคณะตัวแทนของ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น) เมื่อปี 1972 ระบุว่า การไปเยือนของ เพโลซี นั้น “ละเมิดจิตวิญญาณของแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้อย่างชัดเจน” เรื่องนี้มีต้นตอจากฐานะตามรัฐธรรมนูญของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
สมมติว่า ประธานาธิบดี หรือรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คือผู้ที่เดินทางไปเยือนไต้หวัน การไปเยือนของประธานาธิบดีย่อมเท่ากับเป็นการรับรองในทางพฤตินัยต่อฐานะความเป็นอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งย่อมขัดแย้งกับแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ เพราะประมุขแห่งรัฐนั้นไม่ไปเยี่ยมเยียนประมุขแห่งรัฐของประเทศทั้งหลายซึ่งพวกเขาไม่ได้รับรองหรือมีแผนการที่จะรับรอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น การรับรองกันในทางการทูต คือวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่ออกมาของการที่ นิกสัน ไปเยือนจีนครั้งนั้น สำหรับการไปเยือนของรองประธานาธิบดี ซึ่งเป็นผู้ช่วยของประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียวกันกับประธานาธิบดี ก็จะอยู่ในลักษณะอย่างเดียวกัน ทั้งนี้บทบาทอย่างหนึ่งของรองประธานาธิบดีคือการเข้าทำหน้าที่แทนตัวประธานาธิบดีในวาระพิธีการต่างๆ ของรัฐเมื่อตัวประธานาธิบดีไม่สามารถมากระทำได้
ภายใต้กฎหมาย รัฐบัญญัติสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีปี 1947 (Presidential Succession Act of 1947) ประธานของสภาผู้แทนราษฎร คือผู้อยู่ในลำดับถัดจากรองประธานาธิบดีในการเข้าสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากประธานสภาฯ มีฐานะเช่นนี้ตามรัฐธรรมนูญ เธอจึงเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดเป็นลำดับที่ 3 ของสหรัฐฯ การไปเยือนไต้หวันของประธานาธิบดี หรือของรองประธานาธิบดีนั้น หมายถึงการก้าวข้ามเส้นสีแดงไม่ยอมให้ล่วงละเมิดของฝ่ายจีน ขณะที่การไปเยือนของประธานสภาผู้แทนราษฎรคือการกระทุ้งเส้นสีแดงดังกล่าว
การออกมาแถลงซ้ำแล้วซ้ำอีกของคณะบริหารไบเดน ที่ว่า เพโลซี กำลังประพฤติปฏิบัติตามที่ตัวเธอเองเห็นสมควรนั้น มีแต่ทำให้เรื่องราวยิ่งเลวร้ายลง
ระหว่างการสัมภาษณ์ในวันที่ 2 สิงหาคม เว็บไซต์ “ผู้สังเกตการณ์” (www. www.guancha.cn) ขอให้ ศาสตราจารย์หวัง เหวิน (Wang Wen) แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University) แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่คณะบริหารไบเดน พยายามกันตัวเองออกห่างไม่เกี่ยวข้องกับการเยือนของ เพโลซี ทั้งนี้เว็บไซต์ข่าวแห่งนี้ถามว่า “(นโยบาย) เช่นนี้ โง่เขลาจริงๆ หรือว่าสหรัฐฯ กำลังแกล้งทำเป็นโง่เขลา?”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.guancha.cn/WangWen/2022_08_02_651929_s.shtml)
คำตอบของ หวัง คือ : “สหรัฐฯ กำลังแกล้งทำเป็นว่าโง่เขลา แต่สหรัฐฯ ก็โง่เขลาจริงๆ ด้วย กิจแห่งการแกล้งทำเป็นโง่เขลาเช่นนี้ หมายความว่าพวกเขาเข้าใจอย่างชัดเจนถึงผลประโยชน์พื้นฐานของจีนและเส้นสีแดงอันตรายว่าด้วยประเด็นปัญหาไต้หวัน แต่กระนั้น พวกเขาก็ก้าวข้ามเส้นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก"
ถ้าประธานาธิบดีไบเดน คัดค้านอย่างแข็งขันต่อการไปเยือนไต้หวันของ เพโลซี เขาก็ต้องพยายามโน้มน้าวไม่ให้เธอเดินทางไป อย่างน้อยที่สุดเลยเขาสามารถที่จะปฏิเสธไม่ให้เธอใช้เครื่องบินทหารอเมริกันได้
หลังจากการทำพลาดพลั้งและการต้องออกมาแก้ไขให้ถูกต้องอย่างเป็นทางการต่อเนื่องกันเป็นชุด รวมทั้งครั้งที่ถูกจับตามองกันมากก็คือ เอกสารสรุปข้อเท็จจริง (fact sheet) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าด้วยความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ มีกับไต้หวัน และการที่ ไบเดน ให้คำมั่นสัญญาแบบฉับพลันทันทีในญี่ปุ่นที่ว่าจะพิทักษ์ปกป้องไต้หวันต่อการล่วงล้ำทางทหารใดๆ จากแผ่นดินใหญ่ ดังนั้น การไปเยือนของ เพโลซี ในครั้งนี้จึงถูก ปักกิ่ง มองว่า เหมือนเป็นความพยายามของฝ่ายอเมริกันที่จะลบเลือนเส้นสีแดงอันตราย ซึ่งสำหรับปักกิ่งแล้ว คือเหตุผลสำคัญแห่งการดำรงอยู่ (raison d’etre) ประการหนึ่งของรัฐจีน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ได้ออกมาพูดถึง “การทรยศหักหลัง” ของฝ่ายอเมริกัน
(เรื่องเอกสารสรุปข้อเท็จจริงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/u-s-relations-with-taiwan/)
(เรื่องคำมั่นสัญญาของไบเดนที่ญี่ปุ่น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.axios.com/2022/05/23/biden-japan-kishida-vow-closer-ties-counter-china)
สิ่งที่คณะบริหารไบเดนมีอยู่ในใจนั้นไร้ความชัดเจน แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะอุบัติเหตุหรือเป็นไปตามที่วางแผนไว้ คณะบริหารนี้ก็เพิ่งถลำเข้าไปในวิกฤตการณ์ซึ่งมีน้ำหนักรุนแรงสุดขีด