สหรัฐฯ และอินโดนีเซียเปิดปฏิบัติการซ้อมรบร่วมภายใต้รหัส “ซูเปอร์ การูด้า ชิลด์” (Super Garuda Shield) ซึ่งจะมีทหารจากทั้ง 2 ฝ่ายและกองกำลังจากชาติพันธมิตรนับสิบประเทศเข้าร่วมในวันนี้ (1 ส.ค.)
สหรัฐฯ ประกาศว่าการซ้อมรบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ “เพิ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคในการที่จะสนับสนุนเสรีภาพและความเปิดกว้างในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”
อเมริกาและพันธมิตรเอเชียต่างแสดงความวิตกกังวลเรื่องที่จีนสยายอิทธิพลในแถบแปซิฟิกมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ย้ำว่าการซ้อมรบคราวนี้ไม่ได้มีเจตนาข่มขู่ชาติใด แม้จะ “จัดยิ่งใหญ่” กว่าทุกครั้งที่ผ่านมาก็ตาม
ปฏิบัติการซ้อมรบร่วมซึ่งครอบคลุมทั้งกองกำลังทางบก ทะเล และอากาศ จะกินระยะเวลาไปจนถึงวันที่ 14 ส.ค. โดยใช้พื้นที่บริเวณเกาะสุมาตรา และหมู่เกาะรีเยา (Riau Islands) ซึ่งอยู่ใกล้กับมาเลเซียและสิงคโปร์
ทหารอเมริกันและอินโดนีเซียอย่างน้อย 4,000 นายจะทำการฝึกยุทธวิธีร่วมกับทหารจากออสเตรเลีย สิงคโปร์ รวทถึง “ญี่ปุ่น” ซึ่งส่งกองกำลังป้องกันตนเองเข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรก ขณะที่แคนาดา, ฝรั่งเศส, อินเดีย, มาเลเซีย, เกาหลีใต้, ปาปัวนิวกินี, ติมอร์ตะวันออก และอังกฤษ ก็ส่งทหารมาเข้าร่วมด้วยในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์”
“นี่คือการซ้อมรบเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความเข้าใจร่วมกัน การเพิ่มศักยภาพ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง... ดังนั้นมันจึงเป็นการซ้อมรบทางทหารโดยแท้จริง และไม่ได้มีเจตนาที่จะคุกคามชาติใด” พล.ต. สตีเฟน สมิธ ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 29 ก.ค.
ความเคลื่อนไหวนี้ยังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ “แนนซี เพโลซี” นำคณะผู้แทนเดินสายเยือนประเทศต่างๆ ในเอเชีย ท่ามกลางความตึงเครียดกับ “จีน” ที่ขู่จะใช้มาตรการตอบโต้ หากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ผู้นี้ไปเยือน “ไต้หวัน”
ทั้งนี้ สำนักงานของ เพโลซี ยังไม่ประกาศยืนยันว่าเธอจะไปเยือนไทเปหรือไม่ ทว่าโฆษกกองทัพอากาศจีนบอกไว้แล้วว่าจะมีการส่งฝูงบินขับไล่บินวนรอบเกาะไต้หวัน เพื่อเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้อง "ปกป้องอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ"
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ก็ได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (28) โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะจัดประชุมซัมมิตแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรก และมีสัญญาณคำขู่จาก สี ที่เตือนสหรัฐฯ ว่า อย่าได้คิด “เล่นกับไฟ” โดยการแทรกแซงกิจการไต้หวัน
ที่มา: รอยเตอร์