รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ พยายามปลดชนวนความร้อนแรงคำเตือนของจีน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่นางแนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาอเมริกาจะเดินทางเยือนไทเป อย่างไรก็ตาม ดูท่าจะไม่เป็นผลเมื่อปักกิ่งประกาศซ้อมรบกระสุนจริงบริเวณช่องแคบไต้หวัน และทางสื่อมวลชนแห่งรัฐของจีน เรียกร้องให้ทางการสกัดเครื่องบินของเพโลซี และฝูงบินอารักขา ทั้งนี้ถ้ายิงเตือนแล้วไม่ฟัง ก็จำเป็นต้องสอยให้ร่วงฝูงบินเหล่านั้น
แนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ เริ่มโปรแกรมเยือน 4 ประเทศเอเชียแล้วในวันอาทิตย์ (31 ก.ค.) อย่างไรก็ตาม สำนักงานของเธอไม่ได้พาดถิงถึงไต้หวัน ท่ามกลางข่าวลือหนักหน่วงว่าเธออาจเยือนเกาะปกครองตนเองแห่งนี้ ที่ทางจีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน ทั้งนี้ ในวันศุกร์ (29 ก.ค.) เพโลซี ปฏิเสธยืนยันว่าจะเยือนไต้หวันหรือไม่ โดยอ้างอิงประเด็นความปลอดภัยด้านการเดินทาง
จีนมองว่าการแวะเยือนไต้หวันของประธานรัฐสภาสหรัฐฯ เป็นการยั่วยุ บ่อนทำลายสถานภาพปัจจุบัน ซึ่งทางวอชิงตันให้การรับรองคำกล่าวอ้างของจีนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะแห่งนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยไต้หวัน
"เรามีความเห็นต่างกันมากมายในเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน แต่ตลอดช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา เราจัดการความเห็นต่างเหล่านั้น และทำมันในแนวทางที่สงวนไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพ และเปิดทางให้ประชาชนในไต้หวันเจริญรุ่งเรือง" แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
"มันมีความสำคัญในฐานะผู้รับผิดชอบร่วมที่เราจะเดินหน้าจัดการเรื่องนี้ในหนทางฉลาด ไม่ก่อแนวโน้มความขัดแย้งและรักษาช่องทางการสื่อสารให้เปิดอยู่ตลอดในประเด็นนี้" เขากล่าว
ความเห็นของ บลิงเคน เกิดขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิความขุ่นมัวของจีนที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ต่อความเป็นไปได้นางเพโลซีจะเดินทางเยือนไต้หวัน
หนึ่งวันหลังจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง บอกกับ ไบเดน ระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์กับสหรัฐฯ เป็นเวลานานว่าอย่า "เล่นกับไฟ" ในเรื่องไต้หวัน สื่อมวลชนแห่งรัฐของประเทศแถลงว่ากองทัพได้เปิดฉากการซ้อมรบในภูมิภาคในวันเสาร์ (30 ก.ค.)
"จะมีการใช้กระสุนจริง ตอนเวลา 8.00 น. ถึง 21.00 น. และการเข้าสู่น่านน้ำแห่งนี้จะถูกห้ามโดยเด็ดขาด" ถ้อยแถลงระบุ ทั้งนี้คำแถลงไม่ได้พาดถิงถึง เพโลซี และตำแหน่งการซ้อมรบอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ของจีน
โฆษกระทรวงการต่างประเทศของจีน บอกว่า "การเดินทางเยือนไต้หวันของเพโลซี จะเป็นการท้าทายเส้นตายของจีน และความท้าทายใดๆ ที่มีต่อเส้นตายของเรา ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องเจอกับมาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาด"
การซ้อมรบของจีนเมื่อวันเสาร์ (30 ก.ค.) เกิดขึ้นที่พื้นที่แถวๆ หมู่เกาะผิงถัน ในช่องแคบไต้หวัน แต่อยู่ห่างจากตัวชายฝั่งไต้หวันจริงๆ ราว 120 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีรายหนึ่งเขียนบทความลงบนหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์ส สื่อมวลชนแห่งรัฐของจีน เรียกร้องให้ดำเนินการสกัดเครื่องบินของเพโลซี
"ถ้าฝูงบินขับไล่ของสหรัฐฯ เข้าอารักขาพาเครื่องบินของเพโลซีเข้าสู่ไต้หวัน มันคือการรุกราน กองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีสิทธิบังคับขับไล่เครื่องบินของเพโลซี และฝูงบินขับไล่ของสหรัฐฯ ในนั้นรวมถึงยิงเตือนและเคลื่อนไหวทางเทคนิคเพื่อขัดขวาง แต่หากมันไม่ได้ผล จากนั้นก็ยิงพวกมันเสีย" หู สีจิน บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทมส์ ระบุ
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน พยายามกลบกระแสความเดือดดาลของสิ่งที่เรียกว่าถ้อยคำชวนทะเลาะ "เราไม่เห็นสิ่งบ่งชี้ที่เป็นรูปธรรมหรือชัดเจนของสิ่งต่างๆ ในแง่ร้ายเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน"
เคอร์บี เน้นย้ำว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการยอมรับอำนาจอธิปไตยตามกฎหมายของปักกิ่งเหนือไต้หวัน "ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จีนจะต้องแสดงปฏิกิริยาตอบสนองรุนแรงเช่นนี้"
(ที่มา : เอเอฟพี)