xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ สุดวิตก ชี้ชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ชจีนจะกระแทกตกพื้นโลก “พิกัดไม่ทราบ” หลังปักกิ่งส่งโมดูลแล็บเวิ่นเทียนเชื่อมสถานีอวกาศเทียนกงสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - หลังปักกิ่งปล่อยจรวดลองมาร์ช 5B (Long March 5B) ขึ้นฟ้าวันอาทิตย์ (24 ก.ค.) เชื่อมโมดูลแล็บวิทยาศาสตร์เวิ่นเทียน เข้ากับสถานีอวกาศเทียนกงของตัวเองสำเร็จ แต่ทว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างพากันไม่แน่ใจว่าเศษชิ้นส่วนจากจรวดจีนจะตกลงสู่พื้นโลกในจุดใดกันแน่

ฟ็อกซ์นิวส์ สื่อสหรัฐฯ รายงานวันจันทร์ (25 ก.ค.) ว่า จีนใช้จรวดลองมาร์ช 5B (Long March 5B) ที่บรรทุกหนักเพื่อส่ง "โมดูลห้องแล็บวิทยาศาสตร์เวิ่นเทียน" (Wentian module) ขึ้นสู่วงโคจรวันอาทิตย์ (24) และสามารถเชื่อมกับกับสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong space station) สำเร็จ แต่ทว่าจรวดขนาดมหึมาที่มีน้ำหนักมากกว่า 1.8 ล้านปอนด์ หมายความว่ามันจะไม่เผาไหม้ทั้งหมดระหว่างขากลับสู่พื้นโลก

โจนาธาน แม็คโดเวลล์ (Jonathan McDowell) นักดาราศาสตร์ประจำสถาบันฟิสิกส์อวกาศ (Center of Astrophysics) ซึ่งเป็นสถาบันความร่วมมือระหว่างหอดูดาวฟิสิกส์สมิธโซเนียน (Smithsonian Astrophysical Observatory) และคณะดูดาวอวกาศมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard College Observatory) ออกมาวิตกและกล่าวผ่านทวิตเตอร์วันอาทิตย์ (24) ว่า

“ช่างโชคร้ายที่ส่วนหลัก (core stage) หนัก 21 ตันจะถูกทิ้งในวงโคจรระดับต่ำ ทำให้การกลับลงมานั้นไม่สามารถควบคุมได้ในพื้นที่ไม่สามารถคาดคะเน”

อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์พบว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้สูงที่ชิ้นส่วนจรวดจีนจะตกลงสู่พื้นที่รกร้าง แต่ความไม่แน่นอนสร้างความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ซึ่งการศึกษาเมื่อต้นปีนี้ชี้ให้เห็นว่าในปี 2020 และปี 2021 ชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช B5 ตกลงสู่พื้นที่โลกซึ่งมีชิ้นหนึ่งตกลงในมหาสมุทรอินเดีย และอีกชิ้นตกลงเหนือหมู่บ้านประเทศไอวอรีโคสต์ในแอฟริกาสร้างความเสียหายให้หมู่บ้าน

และถึงแม้ว่าชิ้นส่วนจรวดที่ถูกปล่อยในปีที่ผ่านมาจะตกลงในมหาสมุทร แต่ทว่า บิล เนลสัน (Bill Nelson) ผู้อำนวยการองค์การบริหารอวกาศ NASA ของสหรัฐฯ ออกมาวิจารณ์จีนว่า ปักกิ่งล้มเหลวที่จะทำตามมาตรฐานความรับผิดชอบในเรื่องปัญหาชิ้นส่วนขยะอวกาศของตัวเอง อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์

CNN รายงานในรายละเอียดของโมดูลแล็บวิทยาศาสตร์เวิ่นเทียนว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของจีน โดยมีน้ำหนักถึง 23 เมตริกตัน และประกอบไปด้วยตู้ทดลองวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 ตู้ ที่ทดลองทางนิเวศวิทยาและไบโอเทคโนโลยีภายใต้เงื่อนไขแรงโน้มถ่วงที่ต่างออกไป นอกจากนี้ โมดูลเวิ่นเทียนยังมีหุ่นยนต์แขนจักรกลสำหรับการทดลองด้านนอก และใช้ในกรณีสเปซ วอล์ก (Space Walk) สำหรับมนุษย์อวกาศออกไปเดินด้านนอกยาน

การส่งเวิ่นเทียนขึ้นสู่วงโคจรถือเป็นการปล่อยครั้งที่ 3 นับตั้งแต่สถานีอวกาศจีนเริ่มก่อสร้าง สำนักงานอวกาศจีน CMSA (China Manned Space Agency) เปิดเผยว่า โมดูลห้องแล็บวิทยาศาสตร์เวิ่นเทียนประสบความสำเร็จเชื่อมกับสถานีอวกาศเทียนกงราว 13 ชั่วโมงต่อมาหลังการปล่อยจากมณฑลไห่หนาน (Hainan) ที่รู้จักในชื่อ เกาะไหหลำ เมื่อเวลา 14.22 น. ตามเวลาท้องถิ่นวันอาทิตย์ (24)

ฟ็อกซ์นิวส์ชี้ว่า “จีน” ไม่เพียงที่จะขึ้นชื่อในเรื่องการขาดความระมัดระวังในปัญหาชิ้นส่วนจากอวกาศตกลงสู่พื้นโลก แต่ยังมีปัญหาในอวกาศอีกด้วย เพราะเมื่อวานนี้ (26) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการอวกาศสำหรับกองกำลังอวกาศสหรัฐฯ พล.อ.จอห์น ‘เจย’ เรย์มอนด์ (John ‘Jay’ Raymond) กล่าวหา จีนอยู่ในกลุ่มผู้กระทำผิดในปฏิบัติการมุ่งร้าย ทำการทดสอบมิสไซล์โจมตีดาวเทียมที่มีชื่อย่อว่า ASAT (direct-ascent anti-satellite)

อ้างอิงจากเว็บไซต์เชี่ยวชาญทางการทหาร airforce technology รายงานเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ว่า รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กมลา แฮร์ริส ได้ออกมาประกาศจากฐานกองกำลังอวกาศสหรัฐฯ ในรัฐแคลิฟอร์เนียว่า สหรัฐฯ ขอยุติปฏิบัติการ ASAT ซึ่งทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นชาติแรกที่ยอมเลิกปฏิบัติการทดสอบมิสไซล์โจมตีดาวเทียม

นอกจากนี้ แฮร์ริสยังออกมาเรียกร้องให้ชาติอื่นๆ ทำตามอย่างสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดมาตรฐานธรรมเนียมปฏิบัติ

ในรายงานพบว่าการทดสอบ ASAT ที่เป็นการยิงดาวเทียมที่โคจรอยู่เหนือโลกนั้นจะทำให้เกิดชิ้นส่วนขยะอวกาศที่อาจส่งผลกระทบต่อดาวเทียมที่กำลังโคจร หรือสถานีอวกาศนานาชาติได้

หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการอวกาศสำหรับกองกำลังอวกาศสหรัฐฯ เรย์มอนด์ได้ชี้ย้อนไปในปี 2007 ที่จีนได้ทำการทดสอบและทำให้เกิดชิ้นส่วนขยะอวกาศมากถึง 3,000 ชิ้น ที่สามารถทำอันตรายทั้งดาวเทียมและนักบินอวกาศได้

โดยในเดือนเมษายน แฮร์ริสกล่าวถึงการทดสอบ ASAT ว่า “การทดสอบเหล่านี้นั้นเป็นการกระทำที่ขาดความรอบคอบอย่างแน่นอน และยังเป็นการไร้ความรับผิดชอบ”


กำลังโหลดความคิดเห็น