แม้ได้รับความเสียหายจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่กำหนดเล่นงานตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน แต่เศรษฐกิจรัสเซียดูเหมือนกำลังยืนหยัดรับมือกับพายุได้ดีเกินคาดหมาย เนื่องจากได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่พุ่งสูง ผิดกับทางสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่กำลังเผชิญเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินเฟ้อรุนแรง
มาตรการคว่ำบาตรมีเจตนาตัดขาดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลกและบีบรัดแหล่งเงินทุนของมอสโกที่จะนำไปใช้ทำสงคราม อย่างไรก็ตาม รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับคาดการณ์จีดีพีของรัสเซียในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิมที่ประมาณการก่อนหน้านี้ 2.5% แม้ยังคงคาดหมายว่าเศรษฐกิจของรัสเซียจะหดตัวราวๆ 6% ก็ตาม
"มันยังคงเป็นการถดถอยขนานใหญ่ในรัสเซียในปี 2022" ปิแอร์ โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี พร้อมระบุว่า เหตุผลสำคัญที่การถดถอยไม่เลวร้ายเท่าที่คาดหมายก่อนหน้านี้ คือ "ธนาคารกลางรัสเซียและบรรดาผู้กำหนดนโยบายของรัสเซียสามารถป้องกันความตื่นตระหนกทางภาคธนาคารหรือการล่มสลายทางการเงิน ตั้งแต่ตอนแรกๆ ที่มีการกำหนดมาตรการคว่ำบาตร" เขากล่าว
ขณะเดียวกัน ราคาพลังงานที่พุ่งสูง "มอบรายได้จำนวนมหาศาลแก่เศรษฐกิจรัสเซีย"
หลังจากเริ่มต้นปีด้วยราคาต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันพุ่งทะยานแตะระดับเกือบๆ 129 ดอลลาร์ในเดือนมีนาคม ก่อนแกว่งตัวลงมาอยู่ต่ำกว่า 105 ดอลลาร์ในวันอังคาร (26 ก.ค.) สำหรับสัญญาเบรนท์ทะเลเหนือ ส่วนก๊าซธรรมชาติที่พุ่งขึ้นอีกครั้งและใกล้ทาบสถิติสูงสุดเมื่อเร็วๆ นี้อีกรอบ
ในขณะที่เศรษฐกิจหลักๆ ของโลก ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ และจีนกำลังชะลอตัว รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า "คาดหมายว่าเศรษฐกิจของรัสเซียในช่วงไตรมาส 2 จะหดตัวน้อยกว่าที่ประมาณการในเบื้องต้น ด้วยน้ำมันดิบและการส่งออกต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ทำได้ดีเกินคาดหมาย"
รายงานระบุว่า แม้เผชิญมาตรการคว่ำบาตร แต่อุปสงค์ภายในของรัสเซียได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นบางอย่าง สืบเนื่องจากมาตรการสนับสนุนของทางรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ทาง กูรินชาส์ เชื่อว่าสำหรับรัสเซียแล้ว ยังไม่มีหนทางการฟื้นตัวรออยู่เบื้องหน้า โดยในข้อเท็จจริงคือ ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจรัสเซียในปี 2023 ว่าจะหดตัวยิ่งขึ้นอีก 1.2% จากเดิมที่ประมาณการในเดือนเมษายนว่าจะหดตัว 3.5%
"มาตรการลงโทษที่บังคับใช้ไปแล้ว เช่นเดียวกับมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ที่แถลงโดยยุโรป นั่นหมายความว่าผลกระทบสะสมของมาตรการคว่ำบาตรจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป" เขากล่าว
ในรายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟ ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีโลกของปี 2022 เหลือ 3.2% คือลดลงจากตัวเลขประมาณการคราวก่อนในเดือนเมษายน 0.25% และคิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของอัตราการเติบโตเมื่อปีที่แล้ว
ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานและถดถอยรุนแรงในสหรัฐฯ และจีน คือปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงในปีนี้และปีหน้า พร้อมส่งเสียงประมาณแข็งกร้าวยิ่งขึ้นต่อสถานการณ์ที่รออยู่เบื้องหน้า
"แนวโน้มมืดมนลงอย่างมากตั้งแต่เดือนเมษายน" กูรินชาส์กล่าว "เร็วๆ นี้บางทีโลกอาจเดินโซเซบนขอบเหวของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย เพียง 2 ปีหลังจากเกิดขึ้นครั้งสุดท้าย" เขาระบุ "การหยุดชะงักของ 3 เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก สหรัฐฯ จีน และพื้นที่ยูโร ก่อผลกระทบสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก"
ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการการเติบโตของประเทศต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ และจีน ซึ่งมีการปรับแก้ครั้งใหญ่ โดยปรับลดประมาณการการเติบโตลงมากกว่า 1% จากตัวเลขประมาณการก่อนหน้านี้
เวลานี้กองทุนการเงินการเงินระหว่างประเทศคาดหมายว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวในปีนี้แค่ 2.3% ท่ามกลางการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ชะลอตัวและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และรายงานระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คำนิยามของการเติบโตติดลบ 2 ไตรมาสติด อาจเกิดขึ้นไปแล้ว
กองทุนแห่งนี้คาดหมายว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2022 ขยายตัวแค่ 3.3% ต่ำที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ ไม่นับรวมช่วงวิกฤตโรคระบาดใหญ่ปี 2020 สืบเนื่องจากยังคงกังวลเกี่ยวกับโควิดและวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน รายงานของไอเอ็มเอฟบ่งชี้ว่ายุโรปกำลังเผชิญผลกระทบรุนแรงจากมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานรัสเซีย เนื่องจากพวกเขาพึ่งพิงพลังงานจากมอสโกเป็นอย่างมาก โดยสถานการณ์อาจเลวร้ายลงฉับพลัน หากว่ารัสเซียตัดการส่งออกก๊าซ และถึงคราวที่มาตรการคว่ำบาตรของพวกเขาที่กำหนดเล่นงานน้ำมันรัสเซียที่ส่งมอบทางทะเล เริ่มมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2022 ลงเหลือ 2.6% จากระดับ 2.8% ที่ประมาณการไว้ในเดือนเมษายน สะท้อนถึงภาวะเงินเฟ้อที่ลุกลามบานปลายอันเนื่องจากสงครามในยูเครน
หากแยกเป็นรายประเทศ ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประเทศที่อ่อนแอต่อสงคราม ในนั้นรวมถึงเยอรมนี ซึ่งพึ่งพิงพลังงานรัสเซียเป็นอย่างมาก โดยไอเอ็มเอฟคาดหมายว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีในปี 2022 จะขยายตัวเพียง 1.2% จากเดิมที่ประมาณการในเดือนเมษายนว่าจะเติบโต 2.1%
(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)