เจ้าหน้าที่ทหารพม่าทำการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย 4 ราย กล่าวหาช่วยเหลือดำเนินการก่อการร้าย สื่อมวลชนแห่งรัฐรายงานในวันจันทร์ (25 ก.ค.) ถือเป็นการประหารชีวิตนักโทษในพม่าชุดแรกในรอบหลายทศวรรษ
คำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตเกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาคดีลับเมื่อเดือนมีนาคม โดยชายทั้ง 4 คน ถูกกล่าวหาช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธสู้รบกับกองทัพ ที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปีที่แล้ว และลงมือปราบปรามนองเลือดฝ่ายต่อต้านนับตั้งแต่นั้น
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government : NUG) หรือรัฐบาลเงาพม่า ที่คณะรัฐประหารประกาศให้เป็นกลุ่มนอกกฎหมาย ประณามข่าวการประหารชีวิตดังกล่าว "ด้วยความเศร้าใจอย่างที่สุด เราขอประณามความป่าเถื่อนของคณะรัฐประหารด้วยถ้อยคำหนักหน่วงที่สุด ถ้าเป็นจริงตามนั้น" โฆษกของทำเนียบประธานาธิบดี NUG บอกกับรอยเตอร์ "ประชาคมนานาชาติต้องลงโทษความโหดเหี้ยมของพวกเขา"
ในบรรดาผู้ถูกประหาร ประกอบด้วย จ่อ มิน ยู (Kyaw Min Yu) หรือจิมมี บุคคลชื่อดังของฝ่ายประชาธิปไตย และเปียว เซยา ตอ (Phyo Zeya Thaw) ศิลปินฮิปฮอป ตามรายงานของโกลบอล นิว ไลท์ หนังสือพิมพ์พม่า
จ่อ มิน ยู วัย 53 ปี และเปียว เซยา ตอ วัย 41 ปี พันธมิตรของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพม่าที่ถูกขับไล่ แพ้อุทธรณ์ในการยื่นคัดค้านบทลงโทษในเดือนมิถุนายน ส่วนอีก 2 คนที่ถูกประหารชีวิตได้แก่ Hla Myo Aung และ Aung Thura Zaw
ภรรยาของเปียว เซยา ตอ บอกว่าเธอไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการประหารชีวิตสามีของเธอ ส่วนญาติคนอื่นๆ สำนักข่าวรอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อขอความคิดเห็นได้
ทั้ง 4 คนถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายและประมวลกฎหมายอาญา และการลงโทษดำเนินการตามขั้นตอนของเรือนจำ หนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ระบุ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ในขณะที่การประหารชีวิตที่ผ่านมาในพม่า มักเป็นการลงทัณฑ์ด้วยการแขวนคอ
กลุ่มเคลื่อนไหว สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners - AAPP) ให้ข้อมูลว่าการประหารชีวิตตามกระบวนการยุติธรรมของพม่า ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980
กองทัพยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าว แต่เมื่อเดือนที่แล้ว ทางโฆษกของกองทัพเคยออกมาปกป้องโทษประหาร โดยระบุว่า มันมีความชอบธรรมและใช้ในหลายประเทศ
"มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างน้อยๆ 50 คน ยังไม่รวมกองกำลังความมั่นคงที่เสียชีวิตเพราะพวกเขา" โฆษกระบุ "แล้วทำไมคุณถึงบอกว่ามันไม่ยุติธรรม? มาตรการที่จำเป็น จำเป็นต้องดำเนินการในช่วงเวลาที่จำเป็น"
โทษประหารเรียกเสียงประณามจากนานาชาติ ด้วยผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ 2 ราย เรียกมันว่าเป็น "ความพยายามอย่างชั่วร้ายที่จะติดตั้งความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน"
ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน วิงวอนในหนังสือฉบับหนึ่งในเดือนมิถุนายน ร้องขอ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะรัฐประหาร อย่าลงโทษประหารชีวิต พร้อมกับถ่ายทอดความกังวลจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของพม่า
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐประหารพม่าประณามถ้อยแถลงของต่างชาติเกี่ยวกับคำสั่งประหารชีวิตว่า "ขาดการไตร่ตรองและกำลังแทรกแซงกิจการภายใน"
พม่า ตกอยู่ท่ามกลางความยุ่งเหยิงมาตั้งแต่เหตุรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ด้วยความขัดแย้งลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศ หลังทหารบดขยี้การชุมนุมต่างๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นไปอย่างสันติตามเมืองต่างๆ
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองอ้างว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากฝีมือของกองกำลังด้านความมั่นคงมากกว่า 2,100 ราย นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร แต่คณะรัฐประหารบอกว่าตัวเลขดังกล่าวนั้นสูงเกินจริง
ภาพที่แท้จริงของความรุนแรงเป็นเรื่องยากที่จะประเมิน เนื่องจากเหตุปะทะลุกลามสู่พื้นที่ชนบทห่างไกลมากขึ้น ดินแดนที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทั้งหลายกำลังสู้รบกับกองทัพเช่นกัน
(ที่มา : รอยเตอร์)