xs
xsm
sm
md
lg

ปัญญาชนรุ่นใหญ่ ‘โนม ชอมสกี้’ พูดถึง ‘สงครามยูเครน’ ที่อเมริกายั่วยุให้เกิดขึ้นมา แต่การรุกรานของรัสเซียก็ยังคงเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด บาร์ซาเมียน และ โนม ชอมสกี้ ***


สภาพอาคารที่เสียหายยับเยินหลังหนึ่งในเมืองมาริอูโปล เมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ของยูเครน ซึ่งเกิดการสู้รบอย่างหนักหน่วงระหว่างกองกำลังยูเครนและกองกำลังรัสเซีย ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2022 หลังจากที่ฝ่ายรัสเซียยึดเมืองนี้ได้แล้ว
Welcome to a Science-Fiction Planet, How George Orwell's Doublethink Became the Way of the World
BY DAVID BARSAMIAN AND NOAM CHOMSKY
16/06/2022

โนม ชอมสกี้ ปัญญาชนชื่อก้องที่เวลานี้อายุ 93 ปีแล้ว ให้สัมภาษณ์ไล่เรียงภูมิหลังการที่อเมริกายั่วยุบีบคั้นให้รัสเซียโจมตียูเครน แต่เวลาเดียวกัน เขายืนยันว่าการรุกรานของแดนหมีขาวคือการก่ออาชญากรรมสงครามอย่างเลวร้ายและโง่เขลา

เดวิด บาร์ซาเมียน : ขอให้เรามาคุยกันในเรื่องฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนเราอย่างชัดเจนที่สุดในขณะนี้กัน นั่นคือ สงครามในยูเครนและผลของมันที่จะเกิดกับทั่วโลก แต่ก่อนอื่นขอปูพื้นด้านภูมิหลังกันสักเล็กน้อย ขอให้เราเริ่มต้นด้วยการที่ประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (George H.W. Bush บุชผู้พ่อ-ผู้แปล) ไปให้คำรับประกันกับ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ผู้นำของโซเวียตในตอนนั้น ว่า นาโต้ (NATO ย่อมาจาก North Atlantic Treaty Organization องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนกติกเหนือ -ผู้แปล) จะไม่ขยับ “ไปทางตะวันออกแม้แต่นิ้วเดียว” – และมีการตรวจสอบยืนยันแล้วว่ามีการให้คำมั่นสัญญานี้จริงๆ คำถามที่ผมจะขอถามคุณก็คือ ทำไม กอร์บาชอฟ จึงไม่เรียกร้องให้เขียนคำมั่นนี้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร?

ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีมิฮาอิล กอร์บาชอฟ ของรัสเซีย ขณะร่วมกันแถลงข่าว ระหว่างการประชุมซัมมิตที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.1990 นักวิชาการรุ่นหลังๆ พบหลักฐานยืนยันว่า บุช ให้สัญญาไว้กับ กอร์บาชอฟ ว่านาโต้จะไม่ขยายตัวไปทางตะวันออก “แม้แต่นิ้วเดียว”
โนม ชอมสกี้ : เขายอมรับในแบบที่มันเป็นสัญญาสุภาพบุรุษ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องผิดธรรมดาในทางการทูตหรอก คุยกันแล้วก็จับมือกันและถือว่าทำสัญญากันแล้ว ยิ่งกว่านั้น การทำให้มันเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาจะไม่ทำให้มันแตกต่างออกไปอะไรหรอก พวกสนธิสัญญาบนแผ่นกระดาษน่ะถูกฉีกทิ้งกันอยู่เสมอแหละ เรื่องสำคัญอยู่ที่ความสุจริตใจ และในความเป็นจริงแล้ว เอช.ดับเบิลยู. บุช – (ประธานาธิบดี) บุช คนแรกนะ ก็เคารพปฏิบัติตามสิ่งที่ตกลงกันนี้อย่างชัดเจน เขากระทั่งเคลื่อนไหวไปในทางที่จะทำให้การจับมือเป็นหุ้นส่วนกันกลายเป็นสถาบันขึ้นมาซึ่งจะเอื้อเฟื้อพวกประเทศต่างๆ ของยูเรเชีย นาโต้จะไม่ถูกยุบเลิก แต่จะถูกลดความสำคัญลงไปเยอะ ประเทศต่างๆ ตัวอย่างเช่น ทาจิกิสถาน สามารถที่จะเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของนาโต้ อย่างเป็นทางการ และกอร์บาชอฟ ก็อนุมัติเห็นชอบเรื่องนี้ด้วย มันจะเป็นก้าวเดินก้าวหนึ่งเพื่อมุ่งไปสู่การก่อตั้งสิ่งที่เขาเรียกว่า บ้านพำนักอาศัยร่วมกันของชาวยุโรป (common European home) ขึ้นมา โดยที่ไม่มีการจับกลุ่มเป็นพันธมิตรทางทหาร

(บิลล์) คลินตัน (ซึ่งขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อจาก เอช. ดับเบิลยู บุช) ในช่วงสองสามปีแรก (ที่เขาดำรงตำแหน่ง) ก็เคารพปฏิบัติตามในเรื่องนี้ต่อมา สิ่งที่พวกผู้ชำนาญการพิเศษทั้งหลายพูดกันก็คือว่า เมื่อถึงราวๆ ปี 1994 คลินตันเริ่มต้น ... อย่างที่พวกเขาว่ากันนะ ...เริ่มต้นที่จะพูดจากทั้งสองข้างของปากของเขา กับฝ่ายรัสเซียเขาพูดว่า ครับ เรากำลังยึดมั่นปฏิบัติตามข้อตกลง แต่กับประชาคมชาวโปแลนด์ในสหรัฐฯ และชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ เขาจะพูดว่า ไม่ต้องกังวลไป เราจะนำเอาพวกคุณเข้าไปไว้ในนาโต้ด้วย พอถึงราวๆ ปี 1996-97 คลินตันพูดแบบนี้อย่างเปิดเผยโล่งโจ้งกับเพื่อนชาวรัสเซียของเขา --ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ผู้ซึ่งเขาช่วยเหลือจนชนะการเลือกตั้งในรัสเซียเมื่อปี 1996 เขาบอกกับ เยลต์ซิน ว่า อย่ากดดันให้มากเกินไปนักเลย เรื่องเกี่ยวกับ นาโต้ นี่ เรากำลังจะขยาย (นาโต้) แล้วล่ะ แต่ผมจำเป็นต้องให้เป็นแบบนี้นะ เนื่องจากคะแนนเสียงของคนชาติพันธุ์ในสหรัฐฯ

ในปี 1997 คลินตันเชื้อเชิญพวกประเทศที่เรียกกันว่า กลุ่มวิซีกราด (Visegrad) ได้แก่ ฮังการี เชโกสโลวะเกีย โรมาเนีย ให้เข้าร่วมนาโต้ ฝ่ายรัสเซียไม่ชอบเรื่องนี้หรอก แต่ก็ไม่ได้เอะอะโวยวายอะไรมาก จากนั้นพวกชาติบอลติก (ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย -ผู้แปล) ก็เข้าร่วมบ้าง มันก็เป็นอย่างเดียวกันอีก ในปี 2008 บุชคนที่สอง (ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือ บุชผู้ลูก -ผู้แปล) ซึ่งแตกต่างจากบุชคนแรกมากเหลือเกิน ได้เชื้อเชิญ จอร์เจีย และยูเครน ให้เข้าร่วมนาโต้ นักการทูตสหรัฐฯ ทุกคนย่อมเข้าใจเป็นอย่างดีมากๆ อยู่แล้วว่า จอร์เจีย และยูเครน นั้น สำหรับรัสเซียแล้วคือเส้นสีแดงอันตรายที่ห้ามล่วงล้ำเข้าไป พวกเขาจะอดทนอดกลั้นสำหรับการขยายตัวไปยังที่อื่นๆ แต่ตรงนี้อยู่ในดินแดนหัวใจทางภูมิยุทธศาสตร์ของพวกเขา และพวกเขาจะไม่มีทางยินยอมอดกลั้นให้ขยายเข้าไปตรงนั้นหรอก แล้วเรื่องนี้ก็ยังต่อเนื่องมาอีก นั่นคือ การลุกฮือที่จัตุรัสไมดาน (Maidan uprising ในกรุงเคียฟ) เกิดขึ้นมาเมื่อปี 2014 ขับไล่ประธานาธิบดียูเครนที่โปรรัสเซียให้ออกจากตำแหน่ง และยูเครนก็เคลื่อนตัวมุ่งหน้ามาหาฝ่ายตะวันตก

นับจากปี 2014 สหรัฐฯ และนาโต้เริ่มต้นนำอาวุธต่างๆ เข้าไปในยูเครน— ทั้งพวกอาวุธก้าวหน้าทันสมัย การเข้าไปช่วยฝึกทหาร การจัดซ้อมรบร่วม ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่มุ่งนำเอายูเครน บูรณาการเข้าไปในกองบัญชาการทหารของนาโต้ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ถูกเก็บเป็นความลับอะไรเลย มันออกจะเปิดเผยเอามากๆ เมื่อเร็วๆ นี้ เลขาธิการของนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) ยังออกมาคุยอวดเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เขากล่าวว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราทำกันอยู่ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา แน่นอนล่ะ นี่คือการยั่วยุอย่างแรงๆ โดยที่กระทำกันอย่างมีการตระหนักรับรู้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว พวกเขารู้ดีว่าพวกเขากำลังล่วงล้ำเข้าไปในสิ่งที่ผู้นำรัสเซียทุกๆ คนถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่จะต้องไม่ยอมอดทนอดกลั้นกัน อันที่จริง ในปี 2008 ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ออกเสียงวีโต้ แต่ด้วยแรงกดดันของสหรัฐฯ เรื่องนี้จึงถูกเก็บเอาไว้ในวาระต่อไป และนาโต้ ซึ่งก็หมายถึงสหรัฐฯ นั่นแหละ ก็เคลื่อนไหวไปในทิศทางเร่งรัดนำเอายูเครน บูรณาการเข้าไว้ในกองบัญชาการทหารนาโต้ในทางพฤตินัย

ในปี 2019 โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดียูเครน ด้วยคะแนนเสียงเลยครึ่งหนึ่งไปมากมายท่วมท้น –ผมคิดว่าคงราวๆ 70% ของคะแนนโหวตมั้ง— โดยเขาเสนอหลักนโยบายเพื่อสันติภาพ เสนอแผนการที่จะดำเนินการสร้างสันติภาพกับยูเครนตะวันออกและรัสเซีย เพื่อแก้ไขคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น ตอนต้นๆ เขาก็เคลื่อนไหวไปในทิศทางเช่นนี้นะ ในความเป็นจริงแล้ว กระทั่งพยายามเดินทางเข้าไปในดอนบาส (Donbas) ซึ่งเป็นภูมิภาคทางภาคตะวันออกของยูเครนที่โน้มเอียงไปทางรัสเซีย เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามสิ่งที่เรียกกันว่า “ข้อตกลงกรุงมินสก์ 2” (Minsk II agreement) ข้อตกลงนี้มุ่งหมายที่จะให้ยูเครนเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปแบบทำนองสหพันธรัฐ โดยให้ ดอนบาส มีอำนาจการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ทางดอนบาส เรียกร้องต้องการ เป็นอะไรคล้ายๆ กับสิ่งที่ทำกันอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ หรือเบลเยียม แต่ เซเลนกสี ถูกขัดขวางโดยพวกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นฝ่ายขวา ซึ่งข่มขู่ที่จะฆ่าเขาเสียถ้ายังขืนเดินหน้าความพยายามเช่นนี้ของเขา

ครับ เขาเป็นคนที่กล้าหาญนะ เขาคงจะเดินหน้าต่อไปอีกถ้าหากเขาได้รับการหนุนหลังอะไรบ้างจากสหรัฐฯ ทว่าสหรัฐฯ ปฏิเสธ ไม่มีการหนุนหลัง ไม่มีอะไรทั้งนั้น ซึ่งหมายความวาเขาถูกปล่อยให้โดดเดี่ยวเหี่ยวแห้ง และจำเป็นต้องถอยหลังกลับ สหรัฐฯ นั้นมีเจตนาเดินหน้านโยบายเช่นนี้ นโยบายของการนำเอายูเครน ค่อยๆ บูรณาการเข้าไปในกองบัญชาการทหารนาโต้ ทีละก้าวๆ เรื่องนี้ยิ่งเร่งตัวเพิ่มขึ้นอีกเมื่อตอนที่ประธานาธิบดีไบเดน ได้รับเลือกตั้ง ในเดือนกันยายน 2021 เรื่องนี้คุณหาอ่านได้จากเว็บไซต์ทำเนียบขาว มันไม่ได้มีการรายงานเป็นข่าวอะไรออกมาหรอก แต่แน่นอนล่ะ ฝ่ายรัสเซียรู้เรื่องนี้ ในวันเวลาดังกล่าว ไบเดนได้ประกาศโปรแกรมๆ หนึ่งออกมาในรูปของคำแถลงร่วมที่บอกว่าจะเร่งรัดกระบวนการในการฝึกทหาร การซ้อมรบ การส่งอาวุธต่างๆ ไปให้เพิ่มมากขึ้น โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่คณะบริหารไบเดนเรียกว่า เป็น “โปรแกรมเพื่อยกระดับ” การเตรียมพร้อมเพื่อให้ยูเครน เข้าเป็นสมาชิกนาโต้

เรื่องนี้มีการเร่งตัวมากขึ้นอีกในเดือนพฤศจิกายน ทั้งหมดนี่เกิดขึ้นมาก่อนการรุกราน (ของรัสเซีย) นะ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ได้ลงนามในสิ่งที่เรียกกันว่า สัญญาอนุญาต (charter) ซึ่งโดยเนื้อหาสาระแล้วคือการทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการรวมทั้งขยายเพิ่มเติมอีกด้วย ขณะที่โฆษกคนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯยอมรับว่า ก่อนหน้าการรุกราน (ยูเครนของรัสเซีย) สหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ยอมเจรจาหารือเรื่องความวิตกกังวลด้านความมั่นคงของฝ่ายรัสเซียใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งหมดเหล่านี้แหละคือส่วนที่เป็นภูมิหลัง

แล้วในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปูตินก็เปิดการรุกราน เป็นการรุกรานที่ต้องถือว่าเป็นอาชญากรรมนะ การยั่วยุอย่างร้ายแรงต่างๆ ที่พูดมาเหล่านั้นไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลชอบธรรมสำหรับการรุกรานนี้ได้หรอก ถ้าหาก ปูติน เป็นรัฐบุรุษคนหนึ่งแล้ว สิ่งที่เขาควรกระทำก็เป็นอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไปมากจากสิ่งที่เกิดขึ้นมา เขาควรที่จะหันกลับไปหาประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ฉวยคว้าข้อเสนอเบื้องต้นต่างๆ ที่ มาครง เสนอออกมา และเดินหน้าไปในหนทางพยายามทำให้มีการปรองดองกับยุโรป ก้าวเดินไปในทิศทางมุ่งสู่การมีบ้านพำนักอาศัยร่วมกันของชาวยุโรปขึ้นมา

แน่นอนล่ะ สหรัฐฯ นั้นคัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด เรื่องนี้สามารถสาวย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สงครามเย็น ไปถึงตอนที่ประธานาธิบดี (ชาร์ลส์) เดอโกล (Charles de Gaulle) ของฝรั่งเศส มีความริเริ่มที่จะจัดตั้งยุโรปซึ่งเป็นอิสระขึ้นมา วลีซึ่งเขาเสนอที่บอกว่า “จาก (มหาสมุทร) แอตแลนติกไปจนถึง (เทือกเขา) อูราล” (from the Atlantic to the Urals) นี่คือการบูรณาการรัสเซียเข้ากับฝ่ายตะวันตก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องเหมาะสมอย่างเป็นธรรมชาติมากสำหรับเหตุผลต่างๆ ในทางการค้า และก็ชัดเจนเลย สำหรับเหตุผลต่างๆ ในทางความมั่นคงด้วย ดังนั้น ถ้าหากจะมีรัฐบุรุษใดๆ อยู่ภายในแวดวงแคบๆ ของ ปูติน กันบ้างแล้ว พวกเขาก็จะต้องหยิบคว้าความริเริ่มของ มาครง เอาไว้ให้มั่นคง และทดลองเพื่อที่จะดูว่า ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาสามารถที่จะบูรณาการเข้ากับยุโรป และหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้หรือไม่ ตรงกันข้าม สิ่งที่ ปูติน เลือกนำมาใช้เป็นนโยบาย ซึ่งพิจารณาจากจุดยืนและทัศนะของฝ่ายรัสเซียแล้ว มันคือความโง่เขลาเบาปัญญาอย่างสิ้นเชิง นอกเหนือจากการประกอบอาชญากรรมจากการรุกรานแล้ว เขายังเลือกนโยบายซึ่งเป็นการผลักดันยุโรปให้จมลึกเข้าไปในกระเป๋าของสหรัฐฯ อีกด้วย ในทางเป็นจริง มันกระทั่งกำลังผลักดันให้ สวีเดน และฟินแลนด์ ตกลงเข้าร่วมนาโต้ ซึ่งต้องถือเป็นผลลัพธ์ชนิดเลวร้ายที่สุดเลยที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ทีเดียวเมื่อมองจากจุดยืนและทัศนะของฝ่ายรัสเซีย นอกเหนือจากการประกอบอาชญากรรมจากการรุกราน และความสูญเสียอย่างร้ายแรงมากๆ ที่รัสเซียกำลังต้องแบกรับเนื่องจากการกระทำดังกล่าว

ดังนั้น การประกอบอาชญากรรมและความโง่เขลาของฝ่ายเครมลิน และการยั่วยุอย่างสาหัสร้ายแรงของทางฝ่ายสหรัฐฯ นี่แหละคือภูมิหลังซึ่งทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น เราสามารถที่จะพยายามหาทางทำให้เรื่องโหดเหี้ยมสยดสยองนี้สิ้นสุดลงได้หรือไม่? หรือว่าเราควรพยายามทำให้มันยืดเยื้อกันอย่างถาวรไปเลย? นี่คือทางเลือกต่างๆ ที่จะต้องตัดสินใจกัน

หนทางที่ทำให้มันมาถึงจุดจบได้นั้นมีอยู่เพียงทางเดียวเท่านั้นแหละ นั่นคือต้องใช้การทูต ทีนี้ การทูตนะ โดยคำจำกัดความเลย หมายความว่าทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับ หมายความว่า พวกเขาไม่ชอบสิ่งที่ตกลงกันได้หรอก แต่พวกเขาก็ยอมรับมันอย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะที่มันเป็นทางเลือกซึ่งเลวร้ายน้อยที่สุด มันอาจจะต้องมีการเสนอประตูบานเล็กๆ สำหรับการหลีกหนีจากสถานการณ์อะไรแบบนั้นให้แก่ ปูติน นี่คือสิ่งที่อาจเป็นไปได้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือปล่อยให้มันดึงลากกันต่อไปเรื่อยๆ คอยดูว่าทุกๆ ฝ่ายบาดเจ็บเสียหายไปมากน้อยเท่าไหร่แล้ว ชาวยูเครนจำนวนเท่าไหร่ที่จะต้องตาย ชาวรัสเซียจำนวนเท่าไหร่ที่จะต้องทุกข์ยากลำบาก ผู้คนจำนวนกี่ล้านกี่แสนในเอเชียและแอฟริกาที่จะต้องอดตาย เราจะเดินหน้าไปสู่การเพิ่มอุณหภูมิให้แก่สิ่งแวดล้อมกันอีกสักเท่าใด จึงจะถึงจุดที่ว่ามันเป็นไปไม่ได้แล้วสำหรับให้มนุษย์ดำรงคงอยู่กันต่อไปได้ ในสภาพที่ยังพอสามารถใช้ชีวิตกันต่อไปได้ ที่พูดมานี้คือทางเลือกต่างๆ ที่จะต้องเลือกกัน ครับ เวลานี้สหรัฐฯ และยุโรปส่วนใหญ่ นี่เกือบเป็นเอกฉันท์ 100% ต้องการเลือกใช้ทางเลือกที่ไม่เอาการทูต มันชัดเจนมาก เราต้องเดินหน้ากันต่อไปเพื่อทำให้รัสเซียเจ็บปวด

คุณสามารถอ่านได้จากพวกคอลัมน์ความเห็นต่างๆ ในนิวยอร์กไทมส์ ลอนดอน ไฟแนนเชียลไทมส์ ตลอดทั่วทั้งยุโรปเลย เนื้อหาซ้ำๆ ร่วมกันของคอลัมน์เหล่านี้ก็คือ เราต้องทำให้แน่ใจว่ารัสเซียเจอกับความเจ็บปวด มันไม่สำคัญเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ ยูเครน หรือกับใครคนอื่นๆ แน่นอนทีเดียว เกมพนันเกมนี้ทึกทักเอาว่า ถ้า ปูติน ถูกกดดันกันจนถึงขีดจำกัดแล้ว ไม่มีทางหนีทีไล่อะไรอีกแล้ว ถูกบีบคั้นให้ต้องรับความพ่ายแพ้แล้ว เขาก็จะยอมรับมันและจะไม่ใช้พวกอาวุธซึ่งเมื่อใช้แล้วเขาจะต้องทำลายล้างผลาญยูเครน

ที่จริงแล้วมีอะไรเยอะแยะทีเดียวที่ รัสเซีย ไม่ได้ทำ พวกนักวิเคราะห์ตะวันตกค่อนข้างแปลกใจกับเรื่องเช่นนี้ อย่างเช่น รัสเซียไม่ได้โจมตีเส้นทางลำเลียงที่มาจากโปแลนด์ ซึ่งกำลังนำเอาอาวุธไหลทะลักเข้ามายังยูเครน พวกเขาสามารถโจมตีเส้นทางนี้ได้อย่างแน่นอน และจากนั้นอีกไม่นานก็จะนำเอาพวกเขาเข้าไปประจันหน้าโดยตรงกับ นาโต้ ซึ่งหมายถึงสหรัฐฯ จากตรงนั้นมันจะเดินหน้าไปถึงไหนอีก คุณย่อมสามารถคาดเดากันได้ ใครก็ตามที่เคยเฝ้ามองดูเกมสงครามกันมาแล้วย่อมรู้ว่ามันจะไปที่ไหนต่อไป –ก็คือไต่บันไดความรุนแรงขึ้นไปจนกระทั่งถึงปลายทางที่สงครามนิวเคลียร์

ดังนั้น นี่แหละคือเกมที่เรากำลังเล่นอยู่กับชีวิตของชาวยูเครน ชาวเอเชีย และชาวแอฟริกา อนาคตของอารยธรรม ทั้งหมดนี้ก็ด้วยความมุ่งหมายทำให้รัสเซียอ่อนแอลง ทำให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะประสบความเจ็บปวดอย่างเพียงพอ ครับ ถ้าคุณต้องการที่จะเล่นเกมนี้ ก็ขอให้ซื่อสัตย์กันหน่อย มันไม่มีพื้นฐานทางศีลธรรมอะไรเลยสำหรับเรื่องนี้ ที่จริงแล้ว มันเป็นความสยดสยองในเชิงศีลธรรมต่างหาก แล้วคนที่กำลังทำตัวสูงส่งบอกว่าเรากำลังยึดมั่นอยู่กับหลักการกันยังไงบ้างนั้น ที่จริงแล้วก็คือพวกปัญญาอ่อนในทางศีลธรรม เมื่อคุณลองขบคิดดูว่ามันเกี่ยวข้องอยู่กับอะไรบ้าง

เดวิด บาร์ซาเมียน : ในสื่อมวลชน และในหมู่ชนชั้นทางการเมืองในสหรัฐฯ และบางทีอาจจะในยุโรปด้วย มีการแสดงความโกรธเกรี้ยวทางศีลธรรมกันอย่างมากมาย เกี่ยวกับความป่าเถื่อนของรัสเซีย อาชญากรรมสงคราม และการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อน ไม่ต้องสงสัยเลยสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นมาเหมือนกับที่มันเกิดขึ้นในสงครามทุกๆ สงคราม กระนั้นก็ตาม คุณคงพบว่าความโกรธเกรี้ยวทางศีลธรรมเหล่านี้มันค่อนข้างจะมีการเลือกสรรอยู่สักหน่อยหรือเปล่า?

โนม ชอมสกี้ : ความโกรธเกรี้ยวทางศีลธรรมที่เกิดขึ้นมาก็ค่อนข้างอยู่ในที่ๆ เหมาะสมนะ มันควรที่จะต้องมีความโกรธเกรี้ยวทางศีลธรรมอยู่แล้วล่ะ แต่ถ้าคุณไปยังซีกโลกใต้ (Global South) พวกเขาจะอยู่ในอาการเหมือนกับไม่สามารถเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขากำลังเห็นอยู่คือสิ่งซึ่งเกิดขึ้นมาจริงๆ แน่นอนเลย พวกเขาประณามสงครามครั้งนี้ มันเป็นอาชญากรรมของการก้าวร้าวรุกรานที่ต้องตำหนิคัดค้านกัน จากนั้นพวกเขาก็มองไปที่ (ความโกรธเกรี้ยวทางศีลธรรมที่แสดงออกกันอยู่ในโลกตะวันตก) และพูดว่า เฮ้ย พวกคุณกำลังพูดอะไรกันอยู่? นี่แหละก็เป็นสิ่งที่พวกคุณทำกับเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนะ
(คำว่า ซีกโลกใต้ Global South มักใช้กันเพื่อหมายถึงภูมิภาคต่างๆ ภายในละตินอเมริกา เอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Global_North_and_Global_South -ผู้แปล)

มันเป็นความรู้สึกแบบพิศวง เพราะคิดเห็นผิดแผกแตกต่างออกไปจากที่พวกคอลัมน์ความเห็นที่แสดงออกอยู่ในสื่อมวลชนตะวันตก อย่างเช่นถ้าคุณอ่านนิวยอร์กไทมส์ โธมัส ฟรีดแมน (Thomas Friedman) นักคิดระดับบิ๊กของพวกเขา เขาเขียนเอาไว้ในคอลัมน์เมื่อสัก 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา โดยบอกว่าเขาเพิ่งยกมือยอมแพ้ด้วยความสิ้นหวัง เขากล่าวว่า เราจะทำอะไรกันได้บ้าง? เราจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยังไงกันในโลกที่มีอาชญากรสงครามอยู่รายหนึ่ง? เราไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้เลยนะนับตั้งแต่ฮิตเลอร์เป็นต้นมา มีอาชญากรสงครามรายหนึ่งอยู่ในรัสเซีย เรากำลังอยู่ในอาการหมดหวังไม่รู้ว่าจะจัดการยังไงกันต่อไป เรานั้นไม่เคยขบคิดจินตนาการกันเลยว่ามันอาจจะมีอาชญากรสงครามเกิดขึ้นมาได้ที่ตรงไหนสักแห่งในโลก

เมื่อผู้คนในซีกโลกใต้ได้ยินเรื่องนี้แล้ว พวกเขาไม่รู้เลยว่าจะระเบิดเสียงหัวเราะดังสนั่นออกมา หรือว่าจะเย้ยหยันให้หนำใจดี ความจริงแล้ว เรานั้นมีอาชญากรสงครามเดินเพ่นพ่านอยู่ทั่ววอชิงตันทีเดียว เรารู้ดีอยู่แล้วว่าจะจัดการกับอาชญากรสงครามของเรากันอย่างไร ในความเป็นจริง มันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนตอนรอบรอบปีที่ 20 ของการรุกรานอัฟกานิสถาน ยังจำกันได้ไหม นั่นคือการรุกรานอย่างชนิดที่ไม่มีการถูกกระตุ้นยั่วยุอะไรโดยสิ้นเชิง รวมทั้งยังถูกคัดค้านอย่างแข็งแรงจากประชามติโลกอีกด้วย ในวาระครบรอบ 20 ปีดังกล่าว มีการไปสัมภาษณ์ตัวการใหญ่ ซึ่งคือ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้ที่ต่อมายังเดินหน้าเข้าไปรุกรานอิรักอีก นี่แหละเป็นอาชญากรสงครามคนสำคัญ บทสัมภาษณ์ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช นี้อยู่ในเซกชัน “สไตล์” ของวอชิงตันโพสต์ และอย่างที่พวกเขาบรรยายเอาไว้แหละ มันเป็นบทสัมภาษณ์คุณปู่โง่ๆ ผู้น่ารักที่กำลังเล่นกับหลานๆ ของพวกเขา กำลังพูดตลก กำลังอวดภาพเหมือนที่เขาวาดเอาไว้ เป็นภาพบุคคลผู้มีชื่อเสียงซึ่งเขาเคยพบปะมา มันมีแต่บรรยากาศสภาพแวดล้อมที่สวยงามและเป็นมิตร

ดังนั้น เรานั้นทราบดีอยู่แล้วถึงวิธีการในการรับมือกับพวกอาชญากรสงคราม โธมัส ฟรีดแมน ผิดแล้ว เราจัดการกับพวกเขาได้อย่างดีมากทีเดียว

อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ภาพนี้ถ่ายที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2020  ทั้งนี้ โนม ชอมสกี้ ประณามอดีตนักการทูตชื่อดังผู้นี้ว่าเป็นอาชญากรสงคราม จากการแจ้งให้กองทัพอากาศอเมริกันถล่มทิ้งระเบิดในกัมพูชา ในช่วงสงครามอินโดจีน
หรือเราอาจจะยกตัวอย่างของอาชญากรคนสำคัญแห่งยุคสมัยใหม่ก็ได้ เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) เราจัดการกับเขาไม่เพียงด้วยความสุภาพเท่านั้น แต่ด้วยการยกย่องสรรเสริญกันอย่างยิ่งใหญ่อีกด้วย นี่คือคนซึ่งนอกเหนือจากทำอะไรอย่างอื่นๆ แล้ว เป็นคนที่ผ่านคำสั่งไปยังกองทัพอากาศ บอกว่าควรจะต้องถล่มทิ้งระเบิดกันอย่างหนักใส่กัมพูชา –เขาใช้วลีว่า ให้บอมบ์ “อะไรก็ตามที่บินได้ อะไรก็ตามที่เคลื่อนไหวได้” (“anything that flies on anything that moves”) เราไม่ค่อยรู้อะไรมากนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเราไม่เคยสอบสวนอาชญากรรมของเราเอง แต่ เทย์เลอร์ โอเวน (Taylor Owen) และเบน เคียร์แนน (Ben Kiernan) ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ผู้เอาจริงเอาจังที่ศึกษาเรื่องกัมพูชา ได้บรรยายเรื่องนี้เอาไว้ นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องบทบาทของเราในการโค่นล้มรัฐบาลซัลวาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) ในชิลี และการสร้างสถาบันระบบเผด็จการอันเหี้ยมโหดขึ้นที่ประเทศนั้น และอะไรต่อมิอะไรอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น เรานะรู้ดีมากๆ เลยในเรื่องวิธีการที่จะจัดการกับพวกอาชญกรสงครามของเรา

กระนั้น โธมัส ฟรีดแมน กลับไม่สามารถจินตนาการได้ว่า เคยมีอะไรเหมือนกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน เช่นเดียวกันมันไม่มีบทวิจารณ์ชิ้นไหนที่เขาเขียนออกมาเลย ซึ่งมีความหมายสมควรที่จะให้การยกย่องว่ามีเหตุมีผล คุณคงไม่สามารถใช้คำว่า “เลือกสรร” หรอก นอกจากนั้นแล้วมันก็ยังเกินเลยไปกว่าที่จะใช้คำว่าทำให้รู้สึกพิศวง ดังนั้นแล้ว ครับ ใช่เลย การแสดงความโกรธเกรี้ยวทางศีลธรรมเกิดขึ้นมาในที่อันเหมาะสมอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว มันเป็นเรื่องดีที่ในท้ายที่สุดคนอเมริกันก็กำลังเริ่มแสดงให้เห็นความโกรธเกรี้ยวอะไรออกมาบ้าง เกี่ยวกับอาชญกรรมสงครามฉกรรจ์ๆ ที่กระทำโดยใครสักคนหนึ่ง

เดวิด บาร์ซาเมียน :
ผมมีเรื่องปริศนาแปลกๆ อะไรนิดหน่อยจะมาอวดคุณ เรื่องนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งพูดกันว่า เรื่องการทหารของรัสเซียนั้นมันแย่มากและขาดไร้ความรู้ความสามารถ พวกทหารรัสเซียมีขวัญกำลังใจต่ำมาก ขณะที่การนำก็เลวร้ายเต็มที เรื่องเศรษฐกิจของพวกเขาอยู่ในระดับเดียวกับอิตาลี และสเปน เท่านั้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลับมีการพูดกันว่า รัสเซียคือยักษ์ใหญ่ด้านการทหารซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามที่จะเอาชนะเรา ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีอาวุธเพิ่มมากขึ้น แล้วก็ต้องขยายนาโต้ออกไปอีก ความเห็นที่ขัดแย้งกัน 2 อย่างเหล่านี้ คุณจะสามารถนำเอามารอมชอมกันได้ยังไง?

โนม ชอมสกี้ : ความเห็น 2 ด้านที่ว่านี้ คือความเห็นมาตรฐานในตลอดทั่วทั้งโลกตะวันตกเลยนะ ผมเพิ่งให้สัมภาษณ์แบบยาวเหยียดแก่สื่อสวีเดน เกี่ยวกับแผนการของพวกเขาที่จะเข้าร่วมนาโต้ ผมชี้ให้เห็นว่าพวกผู้นำสวีเดนมีความคิด 2 อย่างที่ขัดแย้งกันเอง ก็ 2 อย่างที่คุณพูดถึงนั่นแหละ อย่างหนึ่ง กำลังเฝ้ามองด้วยความพึงพอใจในข้อเท็จจริงที่ว่า รัสเซียได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่าเป็นแค่เสือกระดาษซึ่งไม่สามารถแม้แต่จะพิชิตเมืองใหญ่ๆ ที่ตั้งอยู่ห่างพรมแดนของตนเพียงแค่สองสามไมล์ และส่วนใหญ่แล้ว (เมืองพวกนั้น) มีแต่กองกำลังอาวุธของพลเมืองคอยปกป้องรักษา ดังนั้น พวกเขาจึงขาดไร้ความรู้ความสามารถทางการทหารอย่างชนิดสิ้นเชิงทีเดียว แต่ความคิดเห็นอีกอย่างหนึ่งกลับออกมาว่า พวกเขาตั้งท่าที่จะพิชิตโลกตะวันตก และทำลายเราให้พินาศ

จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) มีคำเรียกสำหรับปรากฏการณ์เช่นนี้ เขาเรียกมันว่า “ความคิด 2 ชุดที่ขัดแย้งกัน” (doublethink) ความสามารถที่จะมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันเอง 2 อย่างอยู่ในหัวของเรา และเราก็เชื่อถือมันทั้งคู่ แต่ ออร์เวลล์ คิดผิดที่เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่คุณสามารถมีได้เฉพาะในรัฐเผด็จการเบ็ดสร็จสุดขั้ว ซึ่งเขานำเอามาเขียนเสียดสีเยาะเย้ยไว้ในนวนิยายเรื่อง 1984 เขาผิดพลาดแล้วครับ คุณสามารถมีความคิดแบบนี้ได้ในสังคมประชาธิปไตยเสรี เรากำลังเห็นตัวอย่างอันน่าตื่นใจในขณะนี้แล้ว อันที่จริง ปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกเสียด้วยซ้ำ
(จอร์จ ออร์เวลล์ 25 มิ.ย.1903-21 ม.ค.1950 นักเขียนชาวอังกฤษ ผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดของเขา คือ นวนิยาย เรื่อง Animal Farm และเรื่อง 1984 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/George_Orwell -ผู้แปล)

ตัวอย่างเช่น ความคิด 2 ชุดที่ขัดแย้งกันดังกล่าวนี้ เป็นลักษณะของความคิดเห็นในยุคสงครามเย็นด้วย คุณลองย้อนกลับไปอ่านเอกสารฉบับสำคัญเกี่ยวกับสงครามเย็นในช่วงปีเหล่านั้นดูสิ นั่นคือ NSC-68 ในปี 1950 ดูกันให้ถี่ถ้วนหน่อย จะเห็นว่าเอกสารนี้แสดงให้เห็นว่าเฉพาะยุโรปอย่างเดียว ยังไม่ต้องพูดถึงสหรัฐฯ ก็มีด้านการทหารที่อยู่ในระดับเสมอกับรัสเซียแล้ว แต่แน่นอนล่ะ เรายังคงต้องมีโครงการเสริมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่โตอยู่ดี ด้วยเหตุผลว่าเพื่อตอบโต้แผนการของเครมลินที่หวังจะพิชิตโลก
(เอกสาร NSC-68 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เอกสารว่าด้วยวัตถุประสงค์และโครงการของสหรัฐฯ เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ United States Objectives and Programs for National Security เป็นเอกสารนโยบายลับสุดยอดของสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ความยาว 66 หน้า ร่างขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม และเสนอประธานาธิบดี เฮนรี เอส. ทรูแมน ในวันที่ 7 เมษายน 1950 เอกสารนี้ถือเป็นหนึ่งในคำแถลงนโยบายอเมริกันที่ทรงความสำคัญที่สุดของยุคสงครามเย็น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/NSC_68 -ผู้แปล)

นี่เป็นเอกสารแค่ชิ้นเดียวนะ และเป็นการใช้แบบแผนวิธีการเข้าถึงปัญหาอย่างมีความตระหนักสำนึกด้วย ดีน แอชิสัน (Dean Acheson) หนึ่งในผู้เขียนเอกสารฉบับนี้ พูดเอาไว้ในเวลาต่อมาว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ “ชัดเจนยิ่งกว่าความจริง” (“clearer than truth”) นี่คือวลีที่เขาใช้นะ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไม้กระบองฟาดใส่ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนมากของรัฐบาล เขาบอกว่า เราต้องการที่จะผลักดันงบประมาณทางทหารจำนวนมหึมานี้ให้ผ่านสภา ดังนั้น เราจึงต้องทำให้ “ชัดเจนยิ่งกว่าความจริง” ด้วยการแต่งเรื่องว่า รัฐที่มีระบบทาสรัฐหนึ่งกำลังจะพิชิตโลกแล้ว ความคิดเห็นทำนองนี้เกิดขึ้นตลอดทั่วทั้งสงครามเย็นทีเดียว ผมยังสามารถยกตัวอย่างอื่นๆ อีกจำนวนมาก แต่เราก็กำลังเห็นมันอีกครั้งอยู่แล้วในขณะนี้ เป็นการปรากฏออกมาให้เห็นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ และวิธีที่คุณนำเสนอก็ถูกต้องตรงเผงทีเดียว ความคิดทั้งสองอย่างนี้กำลังกลืนกินโลกตะวันตกอยู่
(ดีน แอชิสัน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯช่วงปี 1949-1953 ในยุคประธานาธิบดีเฮนรี เอส ทรูแมน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Dean_Acheson -ผู้แปล)

เดวิด บาร์ซาเมียน.: ยังมีความน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่นักการทูต จอร์จ เคนนัน (George Kennan) มองเห็นล่วงหน้าถึงอันตรายของการที่ นาโต้ กำลังเคลื่อนพรมแดนของตนให้ขยับไปทางตะวันออก โดยปรากฏอยู่ในบทความซึ่งบอกเหตุล่วงหน้าได้อย่างมากๆ ที่เขาเขียนขึ้นและปรากฏอยู่ในนิวยอร์กไทมส์เมื่อปี 1997
(จอร์จ เคนนัน 16 ก.พ.1904-17 มี.ค.2005 นักการทูตและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เขาเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในฐานะผู้นำเสนอนโยบายให้ปิดล้อมจำกัดการแผ่ขยายอำนาจของโซเวียตในช่วงสงครามเย็น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/George_F._Kennan -ผู้แปล)

โนม ชอมสกี้ : เคนนันยังเป็นผู้ที่คัดค้านเอกสาร NSC-68 อีกด้วย ในความเป็นจริงแล้ว เขานั่งตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของคณะเจ้าหน้าที่วางแผนนโยบายของกระทรวงต่างประเทศ (director of the State Department Policy Planning Staff) อยู่นะ แต่แล้วเขาก็ถูกเขี่ยออกและให้ พอล นิตซี (Paul Nitze) มาเป็นแทน เคนนันถูกมองว่าอ่อนเกินไปสำหรับโลกที่หนักหน่วงสาหัสอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นพวกสายเหยี่ยว เป็นนักต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแรงกล้า ทำให้ตัวเองโหดเหี้ยมได้มากทีเดียวเมื่อคำนึงถึงจุดยืนของสหรัฐฯ แต่เขาก็ตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า การเผชิญหน้าทางทหารกับรัสเซียนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลเลย

เขาคิดว่า รัสเซียจะต้องล่มสลายไปในท้ายที่สุดจากความขัดแย้งต่างๆ ที่อยู่ภายใน ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นความคิดเห็นที่ถูกต้อง แต่เขาถูกมองว่าเป็นพวกสายพิราบมาโดยตลอดเลยนะ เมื่อปี 1952 เขาแสดงความเห็นด้วยกับความคิดที่จะให้เยอรมนีที่รวมกันเป็นเอกภาพ (ระหว่างเยอรมันตะวันตก กับเยอรมันตะวันออก -ผู้แปล) แล้วอยู่นอกกลุ่มพันธมิตรทางทหารนาโต้ จริงๆ แล้วนี่ก็เป็นข้อเสนอของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้ปกครองโซเวียตเช่นกัน เคนนันเคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหภาพโซเวียต และเป็นผู้ชำนาญการเรื่องรัสเซียคนหนึ่ง

ความริเริ่มของ สตาลิน ข้อเสนอของ เคนนัน ชาวยุโรปบางคนก็สนับสนุนนะ มันควรจะทำให้สงครามเย็นสิ้นสุดลงได้ มันจะหมายถึงมีเยอรมนีที่มีจุดยืนแบบประเทศเป็นกลาง ไม่เป็นรัฐทหารและไม่ได้เข้าร่วมในกลุ่มทางทหารใดๆ แต่เรื่องนี้แทบจะถูกมองเมินเพิกเฉยกันอย่างสิ้นเชิงเลยในวอชิงตัน

มีผู้ชำนาญการพิเศษด้านนโยบายการต่างประเทศอยู่คนหนึ่ง เป็นคนที่น่านับถือมากด้วย เจมส์ วอร์เบิร์ก (James Warburg) ซึ่งได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา มันมีคุณค่าแก่การอ่านนะ หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อว่า Germany : Key to Peace (เยอรมนี : กุญแจสู่สันติภาพ) ในนั้นเขารบเร้าให้พิจารณาแนวความคิดนี้อย่างจริงจัง แต่เขาไม่ได้รับการยอมรับ ถูกมองเมินเพิกเฉย ถูกหัวเราะเยาะ ผมเคยอ้างอิงถึงเรื่องนี้มาแล้วสักสองสามครั้ง และถูกหัวเราะเยาะว่าเป็นคนวิกลจริต เหมือนกัน (พวกเขาตั้งคำถามว่า) คุณจะไปเชื่อถือ สตาลิน ได้ยังไง? ครับ ตอนนี้พวกเอกสารจดหมายเหตุเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว มันปรากฏออกมาว่าสตาลินดูเหมือนจริงจังกับเรื่องนี้นะ เวลานี้คุณสามารถอ่านงานของพวกนักประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็นชั้นนำ นักประวัติศาสตร์อย่าง เมลวิน เลฟเฟลอร์ (Melvin Leffler) และพวกเขายอมรับว่ามีโอกาสอยู่จริงๆ ที่จะสามารถปรองดองกันอย่างสันติได้ในตอนนั้น ซึ่งได้ถูกบอกปัดไป โดยหันไปเห็นชอบกับการสร้างสมกำลังทหาร กับการขยายงบประมาณการทหารกันอย่างมหึมา

นิกิตา ครุชชอฟ (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีสหภาพโซเวียต เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เป็นเวลา 11 วัน ในฐานะแขกของประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ (ที่ 4 จากซ้าย) เมื่อเดือนกันยายน 1959 ทั้งนี้จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังๆ มีโอกาสเป็นไปได้ทีเดียวที่ผู้นำทั้งสองจะทำความตกลงกันเพื่อยุติสงครามเย็น ทว่าโอกาสดังกล่าวก็ผ่านพ้นไป
ทีนี้ มาดูกันต่อถึงสมัยคณะบริหารเคนเนดี เมื่อตอนที่ จอห์น เคนเนดี (John Kennedy) ขึ้นนั่งตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น นิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ซึ่งเป็นผู้นำของรัสเซียในตอนนั้น ได้ยื่นข้อเสนอที่สำคัญมากๆ อย่างหนึ่ง นั่นคือให้ดำเนินการลดอาวุธทางทหารที่ใช้ในการรุกลงมาเป็นจำนวนมากๆ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการผ่อนคลายความตึงเครียดลงอย่างฉับพลัน ในตอนนั้นสหรัฐฯ นำหน้าไปไกลทีเดียวในด้านการทหาร ครุชชอฟต้องการที่จะหันไปสู่เรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจในรัสเซีย และเข้าใจดีว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้เมื่อยังอยู่ในบริบทของการเผชิญหน้าทางทหารกับศัตรูที่ร่ำรวยกว่าตนเองเยอะแยะ ดังนั้น เขาเสนอเรื่องนี้ทีแรกสุดต่อประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight Eisenhower) ผู้ซึ่งไม่ให้ความสนใจไยดีใดๆ จากนั้นเขาก็เสนอต่อ เคนเนดี และคณะบริหารเคนเนดีก็ตอบรับด้วยการสร้างสมกำลังทหารอย่างใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์สำหรับยามสันติ –ถึงแม้ว่าพวกเขารู้กันอยู่แล้วว่าสหรัฐฯ น่ะนำหน้ารัสเซียไปไกลมากเรียบร้อยแล้ว

สหรัฐฯ แต่งเรื่อง “ช่วงห่างด้านขีปนาวุธ” ขึ้นมา โดยบอกว่ารัสเซียกำลังจะเอาชนะเราได้ด้วยความได้เปรียบของพวกเขาในเรื่องขีปนาวุธ ครับ ในตอนที่เรื่องช่วงห่างด้านขีปนาวุธถูกเปิดโปงออกมานั้น มันกลับกลายเป็นว่าฝ่ายสหรัฐฯ ต่างหากที่อยู่ในฐานะได้เปรียบ รัสเซียนั้นอาจจะมีขีปนาวุธสัก 4 ลูกมั้ง ที่จ่อใส่ฐานทัพอากาศที่ไหนสักแห่งหนึ่ง

คุณสามารถที่จะสืบสาวเรื่องทำนองนี้ออกมาได้เรื่องแล้วเรื่องเล่า ความมั่นคงปลอดภัยของประชากรคือสิ่งที่พวกผู้กำหนดนโยบายไม่ได้กังวลสนใจอะไรเลย ถ้าเป็นความมั่นคงปลอดภัยสำหรับพวกอภิสิทธิ์ชน คนรวย ภาคบริษัทธุรกิจ พวกกิจการผลิตอาวุธ น่ะใช่เลย แต่ไม่ใช่สำหรับคนอื่นๆ อย่างพวกเราหรอก ความคิด 2 ชุดที่ขัดแย้งกันอย่างนี้ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งก็เป็นไปอย่างมีความตระหนักสำนึก บางครั้งก็ไม่ มันก็เป็นอย่างที่ ออร์เวลล์ บรรยายเอาไว้นั่นแหละ ลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างสุดขั้วในสังคมเสรี (hyper-totalitarianism in a free society)

เดวิด บาร์ซาเมียน :
ในบทความชิ้นหนึ่งของคุณที่เผยแพร่ทาง (สำนักข่าว) ทรูตเอาต์ (Truthout) คุณอ้างอิงถึงคำปราศรัย “กางเขนเหล็ก” (“Cross of Iron” speech) เมื่อปี 1953 ของ ไอเซนฮาวร์ คุณพบว่าคำปราศรัยนี้มีความน่าสนใจอะไรหรือ?

โนม ชอมสกี้ : คุณควรจะอ่านคำปราศรัยชิ้นนี้นะ แล้วคุณจะมองเห็นว่าทำไมมันจึงน่าสนใจ มันเป็นคำปราศรัยดีที่สุดเท่าที่ ไอเซนฮาวร์ เคยพูดทีเดียว ตอนนั้นคือปี 1953 โดยตัวเขาเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีมาได้ไม่นาน โดยพื้นฐานแล้ว สิ่งที่เขาชี้เอาไว้ในคำปราศรัยนี้ก็คือว่า การสร้างสมกำลงทหารคือการโจมตีอย่างร้ายแรงยิ่งต่อสังคมของเราเอง เขา—หรือใครก็ตามที่เป็นร่างคำปราศรัยนี้— เขียนออกมาได้อย่างคมคายงดงามมาก เครื่องบินไอพ่นทางทหารลำหนึ่งหมายความว่าโรงเรียนและโรงพยาบาลจะมีจำนวนน้อยลงไปเป็นอย่างมาก ทุกๆ ครั้งที่เราเพิ่มงบประมาณทางทหารของเรา ก็คือเรากำลังโจมตีเล่นงานตัวเราเอง

เขาแจกแจงออกมาโดยมีรายละเอียดบางอย่างด้วย เขาเรียกร้องให้งบประมาณทางทหารลดต่ำลงมา ตัวเขาเองก็มีประวัติผลงานที่เลวร้ายมากๆ ทีเดียวแหละ แต่สำหรับในแง่นี้ของคำปราศรัยนี้แล้ว เขายิงได้ตรงเป้า และถ้อยคำเหล่านี้สมควรที่จะได้รับการจารึกเอาไว้ในความทรงจำของทุกๆ คน ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ ไบเดนได้ยื่นเสนองบประมาณทางทหารก้อนใหญ่มหึมา แล้วรัฐสภายังขยายเพิ่มเติมให้ไปเกินกว่าที่เขาปรารถนาเสียอีก ซึ่งนี่ต้องถือเป็นตัวแทนของการโจมตีใส่สังคมของเราครั้งใหญ่ ตรงเป๊ะกับสิ่งที่ ไอเซนฮาวร์ เคยอธิบายเอาไว้เมื่อหลายๆ ปีก่อน

ข้อกล่าวหาของผมก็คือ ข้ออ้างที่ใช้อ้างๆ กันนั้น เท่ากับเป็นการระบุว่าเราจำเป็นต้องป้องกันตัวเราเองจากเสือกระดาษตัวนี้ ซึ่งอยู่ในภาวะไร้ความรู้ความสามารถทางการทหารจนกระทั่งไม่สามารถเคลื่อนพลเพียงแค่สองสามไมล์ออกจากเส้นพรมแดนของตนโดยที่ไม่พังครืนลงมาเสียก่อน ดังนั้น ด้วยงบประมาณการทหารขนาดมหึมา เรากำลังทำร้ายตัวเราเองอย่างสาหัส และก่อให้เกิดอันตรายแก่โลก พร่าผลาญทรัพยากรต่างๆ จำนวนมหาศาลให้สิ้นเปลืองไป ถึงแม้ทรัพยากรเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ถ้าหากเรากำลังจะจัดการกับพวกวิกฤตคุกคามความดำรงคงอยู่อย่างร้ายแรงที่เราเผชิญอยู่ เวลาเดียวกัน เราก็เทเงินทองของผู้เสียภาษีเข้าสู่กระเป๋าของพวกผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อให้พวกเขาสามารถทำลายโลกต่อไปได้อย่างต่อเนื่องด้วยความรวดเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ นี่คือสิ่งที่เรากำลังเป็นประจักษ์พยาน ท่ามกลางการขยายตัวอย่างกว้างใหญ่ไพศาลทั้งทางด้านการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล และทางด้านการใช้จ่ายทางการทหาร มีผู้คนจำนวนหนึ่งแหละที่รู้สึกแฮปปี้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ลองเข้าไปที่สำนักงานฝ่ายบริหารของพวกบริษัทอย่างล็อกฮีมาร์ติน (Lockheed Martin) เอกซอนโมบิล (ExxonMobil) ดูเถอะ พวกเขาต่างอยู่ในอาการปลาบปลื้มยินดีอย่างเหลือล้นกันทั้งนั้น มันเป็นขุมทรัพย์สำหรับพวกเขา พวกเขากระทั่งกำลังเรียกร้องขอเครดิตจากเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เวลานี้ พวกเขากำลังป่าวร้องให้ช่วยกันรักษาอารยธรรม ด้วยการทำลายโอกาสความเป็นไปได้สำหรับชีวิตบนโลก ลืมไปได้เลยพวกซีกโลกใต้นะ ถ้าหากคุณลองจินตนาการถึงพวกมนุษย์ต่างด้าวบางอย่าง ถ้าหากพวกเขามีอยู่จริงๆ นะ พวกเขาจะต้องคิดว่าเราทั้งหมดนี่ล้วนแต่เป็นบ้าไปแล้ว และพวกเขาก็คิดถูกเสียด้วย

เดวิด บาร์ซาเมียน : เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นพิธีกรของรายการวิทยุ “Alternative Radio” และเป็นผู้เขียนหนังสือที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้วหลายเล่ม หนังสือเหล่านี้มีทั้งที่เขาเขียนร่วมกับโนม ชอมสกี้, อรุณธาตี รอย (Arundhati Roy), เอดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) และโฮเวิร์ด ซินน์ (Howard Zinn) รวมทั้งคนอื่นๆ อีก หนังสือเล่มล่าสุดที่เขาเขียนร่วมกับ โนม ชอมสกี้ คือเรื่อง Chronicles of Dissent (Haymarket Books, 2021) สำหรับรายการวิทยุ Alternative Radio เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1986 ในลักษณะที่เป็นรายการเกี่ยวกับกิจการสาธารณะรายสัปดาห์ความยาว 1 ชั่วโมง รายการเหล่านี้อนุญาตให้นำไปออกอากาศได้แบบฟรีๆ สำหรับพวกสถานีวิทยุสาธารณะทั้งหมดในสหรัฐฯ แคนาดา และยุโรป

โนม ชอมสกี้ เป็นศาสตราจารย์สถาบัน (ศาสตราจารย์กิตติคุณ) ในภาควิชาภาษาศาสตร์และปรัชญา ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และเป็นศาสตราจารย์ผู้ทรงเกียรติ ( laureate professor ) ทางด้านภาษาศาสตร์ และเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง Agnese Nelms Haury chair ในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรมทางสังคม ณ มหาวิทยาลัยแอริโซนา เขาเป๊นผู้เขียนหนังสือทางการเมืองขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์มาแล้วหลายเล่ม ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายสิบภาษา โดยเล่มล่าสุดคือเรื่อง Optimism Over Despair, The Precipice และเรื่อง Consequences of Capitalism ซึ่งเขียนร่วมกับมาร์ฟ วอเตอร์สโตน (Marv Waterstone)

(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่เว็บไซต์ tomdispatch.com ที่หน้า HTTPS://TOMDISPATCH.COM/WELCOME-TO-A-SCIENCE-FICTION-PLANET/)

โนม ชอมสกี้  ถ่ายที่เมืองโทรอนโต ประเทศแคนดา เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2011 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
กำลังโหลดความคิดเห็น