xs
xsm
sm
md
lg

มรสุมโหมแรง! "แอปเปิล-กูเกิล-ไมโครซอฟท์" แห่เลิกรับคนเข้าทำงานชั่วคราว เชื่อวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่กำลังมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - กระแสความกลัวเศรษฐกิจถดถอยจากสงครามยูเครน และภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากวิกฤตโรคติดต่อระดับโลกที่ยังคงส่งผล ล่าสุด โรคฝีดาษลิงถูก WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทั่วโลกแล้ว สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยทำให้บริษัทไฮเทคชื่อดังสหรัฐฯ ล่าสุด รวม "กูเกิล" "ไมโครซอฟท์" และ "แอปเปิล" รวมกลุ่มบริษัทใหญ่อื่นๆ ประกาศยกเลิกจ้างงานใหม่ชั่วคราว และสั่งประกาศลดตำแหน่งงานที่มีอยู่เดิม

สื่อมินท์ของอินเดียรายงานวันศุกร์ (21 ก.ค.) ว่า ดูเหมือนพนักงานอินเดียบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ จากทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ และแอปเปิลจะรอดจากกระแสการประกาศลดตำแหน่งงานเดิม แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญของอุตสาหกรรมชี้ว่า มาตรการหยุดการจ้างงานใหม่ชั่วคราวและการสั่งปลดพนักงานที่ออกมาจากบรรดาบริษัทไฮเทคสหรัฐฯ เชื่อจะกระทบในระดับทั่วโลกอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กรายงานวันพุธ (20) ว่า ทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ และแอปเปิลเดินตามรอยบริษัทไฮเทคสหรัฐฯ ยักษ์ใหญ่ก่อนหน้าที่ชะลอการจ้างงานใหม่ ปลดพนักงานเดิมออกบางส่วน และให้ความสนใจไปที่การเพิ่มประสิทธิผลแทน

บลูมเบิร์กชี้ว่า แอปเปิล (Apple Inc.) มีนโยบายสั่งลดต้นทุนและการเติบโตตำแหน่งงานลงในบางแผนก ขณะที่สื่ออื่นรายงานว่า ไมโครซอฟท์อาจสั่งปลดพนักงานออกถึง 1% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 180,000 คน ด้านกูเกิล (Google Inc.) จะมีการเห็นการจ้างงานใหม่ช้าลงภายในปี 2022 อ้างอิงเมโมภายในบริษัทที่ออกมาจากผู้บริหารระดับสูง ซันดาร์ พิไช (Sundar Pichai)

บลูมเบิร์กชี้ว่า อีลอน มัสค์ ซึ่งก่อนหน้าเคยออกมาแสดงความวิตกและย้ำว่าเทสลา (Tesla) จำเป็นต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานลง โดยพนักงานแผนกขับขี่อัตโนมัติ (Auto pilot) ลง 200 คน จากการที่โรงงานเทสลาในเมืองซานเมเทโอ (San Meteo) รัฐแคลิฟอร์เนียปิดลง

ซึ่งในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก มัสค์ยืนยันว่าพนักงานกินเงินเดือนจำนวนราว 10% จะต้องตกงานภายใน 3 เดือน ซึ่งบริษัทเทสลามีพนักงานทั่วโลกสิ้นสุดปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 100,000 คน

ทวิเตอร์ อิงค์ (Twitter Inc.) ซึ่งกำลังมีปัญหาทางกฎหมายกับมัสค์ เรื่องดีลการซื้อขายบริษัทที่เดินหน้าสู่ชั้นศาลแล้วได้ประกาศเริ่มการหยุดการจ้างงานชั่วคราว และเริ่มต้นการสั่งปลดพนักงานในเดือนพฤษภาคม ซึ่งอ้างอิงจากเมโมภายในปี 2021 พบว่าบริษัทมีพนักงานทั้งหมด 7,500 คน

เมตา อิงค์ (Meta Inc.) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กของผู้ก่อตั้งมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ยกเลิกแผนการจ้างวิศวกรภายในไม่ต่ำกว่า 30% โดยซักเกอร์เบิร์ก ได้บอกกับพนักงานเมทา อิงค์ว่า เขาคาดการณ์ว่ากำลังจะเกิดวิฤตทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่จำเป็นทำให้บริษัทต้องสั่งถอยการจ้างงานลง

สื่อบารอนรายงานเมื่อวันที่ 3 ก.ค.โดยอ้างอิงรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า ซักเกอร์เบิร์ก กล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.) กับพนักงานเมตา อิงค์จำนวน 77,800 คน ประกาศคำเตือนวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งนี้ สื่อรีพับลิกเวิลด์ของอินเดียรายงานวันที่ 3 ก.ค.ว่า โพลสำรวจของไฟแนนเชียลไทมส์รายงานกว่า 70% ของนักเศรษฐศาสตร์โลกชั้นนำลงความเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในต้นปี 2024 และบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญหน้าเศรษฐกิจขาลงครั้งใหญ่ที่คาดว่ากำลังจะเริ่มภายในสิ้นปี 2022

นอกเหนือจากซักเกอร์เบิร์ก พบว่า ผู้บริหารเมธา อิงค์คนอื่นออกมาแสดงคำเตือนคล้ายกันว่า บริษัทกำลังเผชิญหน้าต่อช่วงเวลาที่ร้ายแรง และปัจจัยภายนอกกระทบทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรง

แอมะซอน อิงค์ (Amazon Inc.) แถลงก่อนหน้าเมื่อเมษายนว่า บริษัทมีจำนวนพนักงานมากเกินความต้องการหลังก่อนหน้าช่วงวิกฤตโควิด-19 ทางบริษัทได้เพิ่มกำลังในกระบวนการและปัจจุบันทางบริษัทของผู้ก่อตั้ง เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ต้องการลดกำลังพนักงานลง

บลูมเบิร์กชี้ว่า ในเวลานี้ แอมะซอนกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการเช่าพื้นที่โกดังชั่วคราวและยุติชั่วคราวสำหรับการพัฒนาพื้นที่สำนักงานสำหรับพนักงานออฟฟิศ โดยทางบริษัทชี้ต่อว่า กำลังอยู่ระหว่างการประเมินว่า ทางบริษัทจำเป็นต้องใช้พื้นที่มากเพียงใดสำหรับพนักงานแบบไฮบริดที่ทำงานจากทั้งที่บ้านและบริษัท

โดยตัวเลขเมื่อมีนาคม แอมะซอนมีพนักงานทั้งหมด 1.6 ล้านคน ส่งผลทำให้เป็นบริษัทไฮเทคที่มีพนักงานมากที่สุดในโลก

ทั้งนี้ ที่ปรึกษานโยบายทางเทคโนโลยีของอินเดีย ปราซานโต เค.รอย (Prasanto K.Roy) ให้สัมภาษณ์กับมินท์ของอินเดียโดยชี้ว่า แรงงานในอินเดียยังคงมีความหลากหลาย บริษัททั้งหลายต้องกระทำด้วยความระมัดระวังจากการที่ความได้เปรียบด้านต้นทุน (Cost Advantage) ยังคงอยู่ในทิศทางลง ซึ่งในเวลานี้อินเดียไม่ได้มีราคาถูกแต่ทว่ายังคงเป็นศูนย์รวมของคนที่มีความสามารถจำนวน และมีความหลากหลายมากกว่า อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคทั้งหลายยังไม่สามารถย้ายโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ มาที่อินเดียเพราะจะกลายเป็นเผือกร้อนทางการเมือง

CBS news รายงานเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ว่า การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคของสหรัฐฯ แห่กันเหยียบเบรกเลิกว่าจ้างพนักงานใหม่ชั่วคราวเป็นผลมาจากกลัวการเผชิญหน้าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงมากที่สุดในรอบ 20 ปีนี้ การประกาศเลิกจ้างจากจากบริษัทไฮเทคเกิดขึ้นมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม โดยการประกาศเลิกจ้างครั้งใหญ่ที่สุดเกิดในเดือนพฤษภาคม สูง 10 เท่าของตัวเลข 4 เดือนแรกของปีนี้ กลายเป็นกระแสความกลัวเศรษฐกิจถดถอยจากสงครามยูเครน วิกฤตราคาเชื้อเพลิงพุ่ง และภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากวิกฤตโรคติดต่อระดับโลกที่ยังคงส่งผล ล่าสุด โรคฝีดาษลิงถูก WHO ประกาศเป็นโรคติดต่อระดับโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น