xs
xsm
sm
md
lg

‘เจาะลึก’ ทำไม ‘ฝ่ายทหารจีน’ สามารถดึงดูด ‘คนเก่งระดับท็อปด้านคอมพิวเตอร์’ มาทำงานด้วย แต่ ‘อุตสาหกรรมกลาโหมสหรัฐฯ’ ทำไม่ได้?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แฮนเดิล โจนส์ และ เดวิด พี. โกลด์แมน ***



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US-China AI rivalry a tale of two talents
By HANDEL JONES AND DAVID P. GOLDMAN
02/07/2022

คนเก่งระดับท็อปด้านคอมพิวเตอร์ของจีนเต็มอกเต็มใจที่จะทำงานกับพวกสถาบันของฝ่ายทหาร ขณะที่ผู้จบการศึกษาเลิศๆ สาขาเดียวกันของสหรัฐฯ กลับมองเมินไม่คิดที่จะทำงานกับอุตสาหกรรมกลาโหม

ชื่อของนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ทั้ง 2 คนในรายงานชิ้นนี้ไม่ใช่ชื่อจริงของพวกเขา แต่เรื่องราวของพวกเขานั้นเป็นเรื่องจริง

มีผู้เขียนเอาไว้เยอะแยะแล้ว เกี่ยวกับที่จีนมีความได้เปรียบเรื่องจำนวนในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้นว่า ในปี 2020 สถาบันอุดมศึกษาแห่งต่างๆ ของจีนให้ปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 1.38 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ของทางอเมริกันคือ 197,000 คน (ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ 144,000 คน และด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ 54,000) หรือเพียงแค่ 1 ใน 7 ของจำนวนรวมของจีน
(ตัวเลขของจีนดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.statista.com/statistics/610751/china-engineering-undergraduate-graduates/)

นี่เป็นความห่างไกลกันชนิดที่ทำให้รู้สึกหวาดหวั่น แต่เรื่องราวที่เราจะเล่าต่อไปนี้มุ่งไปที่เรื่องคุณภาพไม่ใช่เรื่องปริมาณ โดยพูดเกี่ยวกับผู้สำเร็จการศึกษาระดับท็อปที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์สูงจำนวนหยิบมือหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

เมื่อ 2 ปีก่อน อีริค ชมิดต์ (Eric Schmidt) อดีตซีอีโอของกูเกิล และเกรแฮม แอลลิสัน (Graham Allison) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยพูดเตือนเอาไว้ดังนี้ : “ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ทึกทักว่า ฐานะความเป็นผู้นำในเรื่องเทคโนโลยีก้าวหน้าล้ำยุคต่างๆ ของประเทศของพวกเขานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถสงสัยข้องใจได้ เวลาเดียวกัน ผู้คนจำนวนมากในประชาคมความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ก็ยืนกรานว่า จีนไม่มีทางเลยที่จะสามารถเป็นได้มากกว่าแค่ “คู่แข่งขันที่เกือบทัดเทียม” ของสหรัฐฯ ในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนกลายป็นคู่แข่งขันที่ทัดเทียมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยของสหรัฐฯ แล้วในเรื่องแอปพลิเคชัน เอไอ ทั้งในเชิงพาณิชย์และในแง่ความมั่นคงแห่งชาติ จีนไม่ได้เพียงแค่กำลังพยายามที่จะเป็นผู้ควบคุมเหนือเอไอ พวกเขากำลังเป็นผู้ควบคุมเหนือเอไออยู่แล้ว”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.project-syndicate.org/commentary/china-versus-america-ai-race-pandemic-by-eric-schmidt-and-graham-allison-2020-08)

จีนกำลังแซงหน้าสหรัฐฯ ในด้านเอไอ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นตัวกำหนดนิยามการปฏิวัติทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ เนื่องจากจีนชี้นำให้มีความรู้ความสามารถระดับท็อปของตนมุ่งหน้าไปยังพรมแดนแห่งวิทยาศาสตร์ –ขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาซึ่งเฉลียวฉลาดที่สุดของอเมริกา สนใจแค่จะไล่ล่าสอยผลไม้แห่งแอปพลิเคชันทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งงอกเงยออกผลอยู่ในระดับต่ำๆ เตี้ยๆ ทั้งนี้ ภาพเล็กๆ 2 ภาพ ดังที่จะเสนอต่อไปนี้ มุ่งหมายเพื่อช่วยอธิบายว่าทำไมจึงกำลังเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นมา

1: ทางเลือกสำหรับ ดร.ชาวจีน

หนุ่มจีนผู้คว้าปริญญาเอก PhD ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์มาได้ใหม่ๆ หมาดๆ ขบคิดพิจารณาเอกสาร 2 ชิ้นบนจอคอมพิวเตอร์ของเขา ชิ้นหนึ่งเป็นข้อเสนอเพื่อจ้างงานจาก องค์การอวกาศและการสำรวจแห่งประเทศจีน (China’s Space and Exploration Agency) อีกชิ้นหนึ่งเป็นข้อเสนอจ้างงานจากบริษัทนวัตกรรมเอไอเซินเจิ้น (Shenzhen AI Innovation Corporation) วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของชายหนุ่มผู้นี้ที่เพิ่งได้รับอนุมัติเรียบร้อยจากมหาวิทยาลัยทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศจีน อยู่ในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยเน้นความชำนาญพิเศษในเรื่องการจดจำภาพที่อิงอยู่กับเอไอ (AI-based imagine recognition)

หนุ่มจีนผู้นี้ ซึ่งเราจะเรียกเขาว่า ดร.หว่อง (Dr.Wong) สูงประมาณ 5 ฟุต 5 นิ้ว แว่นตาหนาเตอะที่มีกรอบสีดำของเขาทำให้เขาแลดูเหมือนเป็นนกฮูก ซึ่งยิ่งเพิ่มสีสันมากขึ้นอีกจากท่าทางอิดโรยอ่อนล้าจากการที่เขาต้องทำงานสัปดาห์ละ 7 วันๆ ละ 16 ชั่วโมงเพื่อทำวิทยานิพนธ์ให้สำเร็จ เขาเป็นหนึ่งในนักศึกษาระดับท็อปทั้งในชั้นเรียนระดับปริญญาตรีและระดับหลังปริญญาตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคณิตศาสตร์

เหมือนๆ กับเพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขาจำนวนมาก ครอบครัวของหว่อง มีฐานะความเป็นอยู่ที่สมถะมาก และพ่อแม่ของเขายอมเสียสละเพื่อให้เขาได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุด ครอบครัวชาวจีนโดยเฉลี่ยใช้จ่ายเงินทองเท่ากับรายได้ซึ่งทำได้ในเวลา 1 ปีเพื่อให้ลูกได้เรียนพิเศษ แต่พ่อแม่ของ หว่อง ทำยิ่งกว่านั้นอีก พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จของเขา และเขาก็ขบคิดอยู่ว่าจะแสดงความกตัญญูของเขาด้วยวิธีไหน

ในทันทีที่เขาสามารถหาเงินได้บ้างแล้ว เขาจะซื้ออพาร์ตเมนต์ให้แก่พ่อแม่ ในระดับใกล้เคียงกับที่เขาวาดหวังจะซื้อให้แก่ตัวเอง เขาฝันที่จะมีภรรยาและลูก และนั่นก็จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินทองมากขึ้นอีก ที่พักอาศัยของคนจีนเวลานี้มีราคาแพง แต่ชนชั้นนำด้านไฮเทคก็มีศักยภาพในการหารายได้อย่างงดงามชนิดไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน หว่อง ถือว่ามีบุญรักษายิ่งกว่าคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ในคนรุ่นอายุเดียวกันกับเขา ทั้งนี้ ชาวจีนอายุวัยเดียวกับเขา ราว 1 ใน 5 ทีเดียวที่เรียนไม่ถึงระดับปริญญาตรีและไม่มีงานทำ

งานทั้ง 2 งานที่เขาได้รับข้อเสนอ ถือว่าสามารถทำให้อนาคตอันแสนสุขแสนสดใสสำหรับครอบครัวของ หว่อง กลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ในข้อเสนอขององค์การอวกาศ มีจดหมายที่เขียนข้อความว่า : ดร.หว่อง สามารถที่จะมีส่วนร่วมสร้างคุณูปการให้แก่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกของจีนในด้านการสำรวจอวกาศ และความรู้ความเชี่ยวชาญของเขาในวิทยาการด้านการจดจำภาพ สามารถที่จะนำมาใช้ทั้งแอปพลิเคชันด้านการทหารและการพาณิชย์

เขาจะได้พำนักอาศัยและทำงานในเมืองซีอาน 1 ใน 4 นครหลวงโบราณอันยิ่งใหญ่ของจีน เมืองนี้ถือเป็นต้นทางของเส้นทางสายไหมในยุคเก่าก่อน และมีชื่อเสียงในเรื่องพิพิธภัณฑ์นักรบรูปปั้นดินเผาสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ และปัจจุบันก็เป็นมหานครทันสมัยที่มีประชากร 12 ล้านคน แต่เรื่องประวัติศาสตร์มีความสำคัญต่อ ดร.หว่อง น้อยกว่าความผูกพันที่ครอบครัวของเขามีอยู่กับเมืองนี้ องค์การอวกาศเสนอจะให้ที่พักอาศัยแก่เขาซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ขนาด 90 ตารางเมตร กว้างขวางเพียงพอสำหรับที่เขาจะมีภรรยามาพำนักอยู่ด้วย บ้านแห่งนี้จะตกเป็นของเขาหลังจากที่เขาทำงานให้องค์การครบ 5 ปี

เงินเดือนขั้นต้นของเขาจะอยู่ที่เดือนละ 55,000 หยวน (ราวๆ 8,200 ดอลลาร์ หรือ 297,000 บาท เมื่อคำนวณโดยเทียบ 1 หยวนแลกได้ 5.4 บาท) เกือบๆ 10 เท่าตัวของเงินเดือนระดับเฉลี่ยในซีอาน และเขายังจะได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารในกองทัพปลดแอกประชาชนจีนอีกด้วย ในฐานะที่เป็นลูกจ้างรัฐบาล เขายังจะได้เข้าสู่แผนการเกษียณอายุที่มีเงื่อนไขดึงดูดใจเมื่อเขามีอายุครบ 50 ปีปลายๆ

นอกจากนั้นแล้ว พ่อแม่ของเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจที่มีลูกชายทำงานอยู่กับสถาบันทางวิทยาศาสตร์ระดับท็อปของกองทัพจีน โครงการด้านอวกาศของจีนเรียกได้ว่าเพิ่งเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาเมื่อสัก 1 ทศวรรษมานี้เอง แต่ว่าพอถึงปี 2019 จีนสามารถส่งยานหุ่นยนต์ “ฉางเอ๋อร์ 4” ไปลงสำรวจพื้นที่ด้านมืดของดวงจันทร์ กลายเป็นประเทศแรกที่ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ความทะเยอทะยานของจีนในเรื่องอวกาศถือได้ว่ากว้างขวางไร้พรมแดนไร้ขอบเขต และดังนั้นจึงมีมนตร์ดึงดูดชายหนุ่มผู้มุ่งหวังที่จะทำงานไต่เต้าเลื่อนระดับขึ้นไปในขบวนแถวแห่งชนชั้นนำทางวิทยาศาสตร์

 “ฉางเอ๋อร์ 4” บนด้านมืดของดวงจันทร์ (ภาพจากวิกิพีเดีย)
สำหรับข้อเสนอว่าจ้างทำงานอีกรายหนึ่งจะนำเขาไปยังเมืองเซินเจิ้น ซึ่งเมื่อสัก 1 ชั่วอายุคนที่แล้วยังเป็นแค่หมู่บ้านชาวประมง แต่เวลานี้กลายเป็น “ซิลิคอน แวลลีย์” ในเวอร์ชันจีน เขาจะได้เข้าร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัปที่มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ ซึ่งกำลังมุ่งนำเอา เอไอ มาประยุกต์ใช้กับหูฟังสวมศีรษะสร้างภาพเสมือนจริง เทคโนโลยีนี้ซึ่งประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่พวกบริษัทจีนวาดหวังที่จะเข้ายึดครองตลาดในระยะไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ตำแหน่งงานที่เซินเจิ้น เสนอให้เงินเดือนๆ ละ 50,000 หยวน บวกกับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับซื้ออพาร์ตเมนต์ในตลาดที่อยู่อาศัยซึ่งถือว่าราคาแพงลิบลิ่วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หรือเขาจะเลือกอาศัยอยู่ฟรีๆ ในหอพักของบริษัทก็ได้ มันเป็นงานที่จะต้องทำกันวันละ 14 ชั่วโมง – ซึ่งอันที่จริง หว่อง ก็คุ้นชินกับงานเช่นนี้ยิ่งกว่างานแบบอื่นๆ และเขาจะได้รับหุ้นจำนวนหนึ่งของกิจการสตาร์ทอัปแห่งนี้ ที่จะต้องลุ้นเอาว่าอาจจะทำให้เขาร่ำรวยกลายเป็นเศรษฐี หรือกลายเป็นเศษกระดาษที่ไม่มีค่าอะไรเลยก็ได้ในอนาคต ทั้งนี้เขาก็ไม่ใช่คนที่รังเกียจมุ่งแต่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

ตำแหน่งการงานด้านการทหาร รวมทั้งด้านการบินและอวกาศของจีน ถือว่าเป็นเส้นทางอาชีพซึ่งเป็นที่นิยมกันมากเส้นทางหนึ่งสำหรับพวกบัณฑิตผู้เฉลียวฉลาดที่สุดของแดนมังกร งานเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วรวมศูนย์อยู่ตามนครแถวๆ ภาคกลางอย่างเช่น ซีอาน หรือนครทางภาคตะวันตก อย่างเช่น เฉิงตู และฉงชิ่ง มหานครคู่แฝดที่รวมกันแล้วมีประชากร 60 ล้านคน ซึ่งอุดมไปด้วยอาคารมหึมาสร้างเสร็จใหม่ๆ โดยมีถนนสายใหญ่โตขนาด 6 เลนตัดผ่านไปทั่ว สลับด้วยอาคารระฟ้าเอี่ยมอ่อง ขณะที่อพาร์เมนต์ชุดหนึ่งขายกันในราคาเพียงแค่ 1 ใน 6 ของราคาอาคารระดับเดียวกันซึ่งขายอยู่ในเซินเจิ้น หรือ เซี่ยงไฮ้

เหมือนกับชาวจีนส่วนใหญ่ ดร.หว่อง มีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเขา –หรือเราควรพูดให้ชัดกว่านี้ว่า ประวัติศาสตร์ของการที่ประเทศจีนต้องทนทุกข์สาหัสอย่างยาวนานภายใต้อุ้งมือของพวกจักรวรรดินิยมยุโรปและผู้รุกรานชาวญี่ปุ่น เขาเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการได้ชมภาพยนตร์ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยเหล่าวีรชนของจีนที่องอาจกล้าหาญและชีวิตแสนเศร้า ผู้ปกป้องมาตุภูมิของพวกเขาจากญี่ปุ่นผู้รุกราน หรือเข้าสู้รบกับพวกทหารอเมริกันในเกาหลี

มาตรการจำกัดควบคุมทางการค้าทุกๆ อย่าง และการแถลงต่อสาธารณชนทุกๆ ครั้งของนักการเมืองอเมริกันสักคนหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาแสดงความไม่พอใจที่จีนท้าทายอเมริกา จะได้รับการขยายให้ทราบทั่วถึงกันโดยสื่อมวลชนจีน ในฐานะเป็นสิ่งกระตุ้นประการหนึ่งสำหรับให้ชาวจีนรุ่นเยาว์วัยเพิ่มความพยายามของพวกเขาขึ้นไปอีกเพื่อเอาชนะสหรัฐฯ ในเรื่องเทคโนโลยี เมื่อรัฐบาลจีนประณามความพยายามของอเมริกันในการหยุดยั้งขัดขวางการพัฒนาของประเทศจีน ดร.หว่อง ก็รู้สึกโกรธแค้น เช่นเดียวกับชาวจีนส่วนใหญ่

พ่อแม่ของเขาเติบโตขึ้นมาในสภาพที่ยากจนอย่างยิ่ง ขณะที่ปู่ย่าตายายของเขามีชีวิตผ่านพ้นช่วง “การก้าวกระโดดใหญ่” (Great Leap Forward) ในทศวรรษ 1950 ซึ่งมีชาวจีนอดอยากถึงขั้นล้มตายจำนวนมากมายอย่างน่าสยดสยอง แล้วชาวอเมริกันที่ร่ำรวยกล้าดียังไง จึงจะมาอิจฉาริษยาชาวจีนผู้ซึ่งทำงานอย่างหนักเหลือเกินเพื่อให้ได้ความมั่งคั่งรุ่งเรืองขึ้นมาสักแค่พอประมาณเท่านั้น ดร.หว่อง คิด เขารู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จต่างๆ ของจีน และมีความตระหนักใส่ใจกับการเสียสละต่างๆ ของคนรุ่นพ่อแม่ของเขา ซึ่งมุ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจีนจะก้าวขึ้นสู่ความเจริญรุ่งเรือง เขาไม่สามารถขบคิดจินตนาการได้ว่าจีนจะไปคุกคามอเมริกาได้ยังไง แต่กลับมีความหวาดกลัวการคุกคามต่างๆ ที่อเมริกากำลังกระทำต่อจีน

ดร.หว่อง ทำรายการข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบของงานที่ได้รับเสนอมาทั้ง 2 งานนี้จนกระทั่งเวลาเข้าสู่ช่วงดึกดื่น หลังจากขบคิดพิจารณาอย่างยาวนาน เขาก็ตัดสินใจที่จะทำงานกับภาครัฐบาล ซี่งให้เงินเดือนค่าตอบแทนอย่างใจกว้าง อพาร์ตเมนต์ซึ่งมีที่ทางกว้างขวาง และวิถีชีวิตที่สามารถยอมรับได้ –แล้วยังเป็นการตอบแทนบางสิ่งบางอย่างกลับคืนให้แก่ประเทศชาติอีกด้วย เขาคิดว่า พ่อแม่ของเขาก็จะต้องรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเขาที่ตัดสินใจเลือกเช่นนี้

ดร.หว่อง ไม่ถือเป็นกรณียกเว้น ภาคการทหารและภาคการบินและอวกาศของจีนคือทางเลือกของบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ชั้นเยี่ยมที่สุดของประเทศ –เวลาเดียวกันก็มีบุคลากรเช่นนี้จำนวนมากมายให้หน่วยงานชั้นนำในภาคเหล่านี้สามารถคัดสรรได้ จีนมีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ระดับมหาวิทยาลัยในแต่ละปี มากเป็น 6 เท่าตัวของสหรัฐฯ ขณะที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีของจีนประมาณ 1 ใน 3 ก็เป็นผู้ที่เรียนวิชาเอกในสาขาเช่นนี้

การทำงานกับภาครัฐบาลถือเป็นเรื่องมีเกียรติมีหน้ามีตาในสังคม ขณะที่พวกวิศวกรด้านการทหารและด้านการบินและอวกาศของจีนก็สามารถเข้าถึงพวกซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถทำงานได้อย่างดีเยี่ยม และได้ทำงานเกี่ยวกับพวกเทคโนโลยีรุ่นล่าสุด โดยที่สามารถเข้าถึงพวกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ระดับล้ำยุค และหลังจากทำงานอยู่กับพวกเทคโนโลยีนำหน้าล้ำสมัยเช่นนี้ให้กับรัฐบาลจีนมาแล้วระยะหนึ่งแล้ว พวกเขาก็จะสามารถเลือกงานดีๆ ในภาคเอกชนได้

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมืองสแตนฟอร์ด,รัฐแคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา  (ภาพจากวิกิพีเดีย
2: อุตสาหกรรมการทหารสหรัฐฯ ไม่สามารถว่าจ้างผู้มีความรู้ความสามารถระดับท็อปด้านคอมพิวเตอร์

แอนดรูว์ เพิ่งเสร็จสิ้นการทำปริญญาเอก PhD ของเขาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงอยู่กับเอไอเช่นเดียวกัน

พวกนักลงทุนในกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล (venture capital) และบริษัทซอฟต์แวร์หลายต่อหลายแห่ง ได้ติดตามทาบทาม แอนดรูว์ ด้วยข้อเสนอที่งดงามมาก –ตัวอย่างเช่น จะจัดสรรออปชันหุ้นให้แก่เขาซึ่งจะทำให้เขาร่ำรวยเงินทองขึ้นมาเป็น 10 ล้านดอลลาร์ทีเดียวถ้าหากกิจการสตาร์ทอัปของนายจ้างของเขาประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นเขายังจะได้เงินเดือน 150,000 ดอลลาร์ต่อปี (เท่ากับเดือนละ 12,500 ดอลลาร์ หรือ 456,250 บาท เมื่อคำนวณโดยเทียบ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 36.50 บาท)

พวกเจ้าหน้าที่รับสมัครงานจากอุตสาหกรรมกลาโหมและอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของสหรัฐฯ ก็ไปเยือนมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเช่นกัน พวกเขาเสนอให้เงินเดือนขั้นเริ่มต้นที่สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ได้ทีเดียว ทว่าศักยภาพในการทำรายได้ในอนาคตของผู้ทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ย่อมจะต้องด้อยกว่าพวกที่อยู่ในซิลลิคอน แวลลีย์อยู่แล้ว

แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ แอนดรูว์ มากที่สุด กลับเป็นเรื่องของการงานที่จะได้ทำถ้าหากเขาตกลงปลงใจอยู่กับอุตสาหกรรมเหล่านี้ พวกโครงการด้านกลาโหมที่เขาจะได้รับจัดสรรให้ทำนั้น เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีซึ่งเก่ากว่าสิ่งที่เขาได้ศึกษาเรียนรู้จากชั้นเรียนระดับปริญญาตรีของเขาด้วยซ้ำ อีกทั้งเทคโนโลยีด้านโปรแกรมมิ่งซึ่งใช้กันอยู่ภายในโครงการด้านเอไอ ของอุตสาหกรรมการทหารและการบินและอวกาศเหล่านี้ก็ล้าหลังอยู่หลายรุ่นอายุเมื่อเทียบกับมาตรฐานของซิลลิคอน แวลลีย์ และแอนดรูว์ ไม่มีความสนใจเลยที่จะทำงานกับเทคโนโลยีล้าสมัย

ในกรณีจำนวนมากทีเดียว เทคโนโลยีซอฟต์แวร์สำหรับพวกฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ อยู่ในระดับล้าหลังมากอาจจะถึง 20 ปี เมื่อเทียบกับพวกกิจการระดับผู้นำในสหรัฐฯ เนื่องจากบรรดาวิศวกรที่ได้รับว่าจ้างให้เข้าไปอยู่ในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการทหารและอุตสาหกรรมการบินและอวกาศอยู่ก่อนแล้วนั้น ไม่ได้มีทักษะในพวกเทคโนโลยีเอไอรุ่นอายุล่าสุด ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ จึงต้องพึ่งพาอาศัยอิสราเอลสำหรับเรื่องนวัตกรรมในสาขาเหล่านี้ในขนาดขอบเขตที่เห็นกันได้เด่นชัด

เพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งของ แอนดรูว์ เป็นชาวอิสราเอล ซึ่งวางแผนกลับไปทำงานที่นั่น สมรรถนะด้านเอไอที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในอิสราเอลนั้นอยู่ในระดับนำหน้าสิ่งซึ่งพวกบริษัทด้านการทหารและด้านการบินและอวกาศของสหรัฐฯ ทำกันอยู่เป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป รายละเอียดต่างๆ ของโครงการเหล่านี้ถือเป็นความลับ ทว่าพวกเครื่องมือที่ประยุกต์ใช้กับโครงการเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งมองเห็นและเข้าใจกันได้อยู่แล้ว

ไม่ว่า แอนดรูว์ หรือเพื่อนในสาขาเดียวกันกับเขา ไม่มีใครเลยที่พิจารณาขบคิดอย่างจริงจังในเรื่องการงานอาชีพในอุตสาหกรรมกลาโหมและอุตสาหกรรมการบินและอวกาศสหรัฐฯ แอนดรูว์ ตัดสินใจไปทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีระดับบิ๊กรายหนึ่ง โดยที่ไม่เคยแม้กระทั่งขบคิดถึงข้อเสนอจากพวกบริษัทการบินและอวกาศ-กลาโหม

กูเกิล และพวกบริษัทบิ๊กเทครายอื่นๆ คือพวกที่มีสิทธิได้คัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถระดับท็อป พวกเขาจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เหล่าอาจารย์สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คอยแนะนำนักศึกษาชั้นเยี่ยมที่สุดของพวกเขา และบริษัทเหล่านี้ก็จะรีบเสนอให้ทุนสำหรับการฝึกงาน แต่พวกบิ๊กเทคนั้นจะไม่ทำงานร่วมกับฝ่ายทหารสหรัฐฯ เหตุผลสำคัญเลยเนื่องจากวัฒนธรรมตระหนักตื่นรู้ความไม่เท่าเทียมในสังคม (woke culture) ซึ่งแพร่หลายอยู่ในบริษัทยักษ์ใหญ่เทคเหล่านี้ ทำให้พวกเขาคิดว่าเรื่องกลาโหมเป็นอะไรที่ชั่วร้าย เมื่อปี 2018 พนักงานลูกจ้างของกูเกิล หลายพันคนลงนามในจดหมายส่งถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซึ่งมีเนื้อหาประกาศว่า “เราเชื่อว่า กูเกิล ไม่ควรที่จะอยู่ในธุรกิจแห่งสงคราม”

พวกบริษัทเทคปฏิเสธไม่ยอมทำงานชนิดปิดลับให้แก่รัฐบาล ในกิจการหลายๆ ด้าน อย่างเช่น การเรียนรู้จดจำใบหน้าแบบสามมิติ (three-dimensional facial recognition) โดยให้เหตุผลว่าเพราะหวั่นเกรงว่าเทคโนโลยีนี้อาจถูกนำไปใช้เพื่อการคัดกรองบุคคลด้วยวัตถุประสงค์ในทางเหยียดเชื้อชาติ ในเวลาเดียวกันนั้น ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะรายที่โดดเด่นมาก คือ อิสราเอล และจีน ต่างกำลังสร้างความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในเทคโนโลยีการเรียนรู้จดจำใบหน้าแบบสามมิติดังกล่าวนี้ และมีแอปพลิเคชันใช้งานยามสันติ ทั้งทางด้านโลจิสติกส์ และการสร้างภาพเพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ (medical imaging)

เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ผู้มีความรู้ความสามารถระดับท็อปชาวอเมริกันไม่ปรารถนาที่จะไปยุ่งเกี่ยวด้วย ได้แก่วัฒนธรรมบริษัทของพวกอุตสาหกรรมกลาโหมและอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ที่มีลักษณะเย็นชา บริษัทเหล่านี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดลำดับชั้น และให้รางวัลแก่ความอาวุโสและการทำตามกรอบระเบียบมากกว่าที่จะให้รางวัลแก่นวัตกรรม พวกบริษัทอเมริกันด้านรับเหมารับจ้างทำงานด้านกลาโหมนั้นแทบไม่มีแรงจูงใจให้สร้างนวัตกรรมอะไรเลยในรอบระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาอยู่กันได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว จากการจำหน่ายพวกระบบอาวุธซึ่งพัฒนากันไว้ตั้งแต่เมื่อหลายทศวรรษก่อน –ตัวอย่างเช่น เครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 ระบบต่อสู้ขีปนาวุธแพทริออต (Patriot) และเอจิส (Aegis) ขีปนาวุธประทับบ่ายิงจากพื้นดินสู่อากาศ “สติงเจอร์” (Stinger) – และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงยกระดับด้วยการค่อยๆ ขยับให้ดีขึ้นไปทีละน้อย ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนในระดับรากฐาน

ปัจจัยเรื่องฐานะความเป็นพลเมืองก็เป็นอุปสรรคสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ชาวต่างประเทศนั้นไม่สามารถที่จะทำงานซึ่งมีการชั้นความลับได้ ขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีระดับท็อปในด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จำนวนมาก (ยิ่งในระดับผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในสาขาวิชานี้ด้วยแล้ว จำนวนราวๆ 4 ใน 5 ทีเดียว) เป็นผู้ที่เกิดในต่างประเทศ และมันอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้เป็นพลเมืองอเมริกัน

จีนนั้นไม่มีปัญหาเรื่องระบบเก่าที่เคยใช้งานกันมาแต่ก่อนกลายเป็นมรดกตกทอดที่ล้าสมัยและยากแก่การปรับเปลี่ยน อันที่จริงแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวจีนไม่เคยมีซอฟต์แวร์รุ่นเก่าอยู่แล้ว และได้ประโยชน์เต็มที่จากการเป็นผู้เข้ามาทีหลังจึงสามารถเริ่มต้นด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ระดับยอดเยี่ยมล้ำสมัยกันเลย คาดหมายกันว่าในช่วงใดช่วงหนึ่งของระยะเวลาระหว่างปี 2025 ถึง 2030 ซอฟต์แวร์ของจีนจะแซงหน้าของสหรัฐฯ ไปไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเอไอ

ความทะเยอทะยานของจีน

ในปีนี้จีนทำพิธีปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของตนลงน้ำ เรือชื่อ “ฝู่เจี้ยน” ลำนี้มีระวางขับน้ำ 80,000 ตัน ขยับเข้ามาใกล้เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นฟอร์ด (Ford) และนิมิตซ์ (Nimitz) ของอเมริกันซึ่งมีระวางขับน้ำ 100,000 ตัน ถึงแม้สหรัฐฯ ยังคงสามารถอวดได้ว่านำหน้าจีนไปไกล 1 ทศวรรษในเรื่องเรือบรรทุกเครื่องบินนี้ แต่จีนใช้เวลาเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้นในการมาถึงจุดนี้ จากที่ไม่เคยต่อเรือประเภทนี้เลยแม้สักลำเดียว คาดหมายกันว่าแดนมังกรอาจวิ่งไล่จนเสมอกับสหรัฐฯ ได้ทีเดียวในช่วง 10 ปีข้างหน้า
(เรื่องเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของจีน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/06/why-chinas-fujian-carrier-is-a-game-changer/)

จีนไม่ได้ต่อเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อใช้ต่อสู้ทำศึกกับนาวีอเมริกัน เวลานี้ปักกิ่งนำเอาขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นสู่เรือจำนวนมากกว่า 1,200 ลูกออกประจำการ ขีปนาวุธเหล่านี้สามารถยิงถล่มใส่เรือต่างๆ ขณะกำลังเคลื่อนที่ ระบบต่อสู้ขีปนาวุธที่มีอยู่อย่างจำกัดของพวกเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกัน สามารถที่จะเอาชนะได้อย่างง่ายดายโดยการระดมยิงถล่มด้วยขีปนาวุธจำนวนมาก

จีนยังมีเครื่องบินสกัดกั้นแบบทันสมัยจำนวนกว่า 1,000 ลำ และเรือดำน้ำใช้เครื่องยนต์ดีเซล-ไฟฟ้าอันทันสมัยจำนวน 60 ลำ นอกจากนั้น แดนมังกรกำลังพัฒนาอาวุธเลเซอร์ทรงพลังที่สามารถทำลายพวกดาวเทียมสื่อสารของอเมริกันและสร้างความเสียหายให้เรือต่างๆ รวมทั้งมียานร่อนที่สามารถทำความเร็วในระดับซูเปอร์โซนิก (ความเร็วเหนือเสียง 5 เท่าตัวขึ้นไป) ซึ่งสหรัฐฯ ยังไม่มีทางที่จะป้องกันได้ ตลอดจนยังกำลังพัฒนาสมรรถนะด้านต่อสู้ขีปนาวุธของตนเองขึ้นมา

จีนคือผู้นำของโลกในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร 5 จี ตลอดจนเทคโนโลยีการสื่อสารควอนตัม แล้วจีนยังกำลังสร้างสถานีอวกาศของตนเอง และกำลังยิงดาวเทียมสื่อสารระบบ 5 จีขึ้นสู่วงโคจร

ระหว่างปี 2025 ถึง 2030 จีนคาดหมายว่าจะได้เห็นการนำเอาแอปพลิเคชันด้านปัญญาประดิษฐ์ไปใช้กับเทคโนโลยีต่างๆ อย่างกว้างขวาง และสิ่งที่กำลังขับดันความพยายามในเรื่องนี้ ก็คือกระแสคลื่นของผู้มีความรู้ความสามารถซึ่งมีจำนวนมากมายอย่างชนิดไม่เคยพบเคยเห็นกันมาก่อน

ในคนจีนรุ่นอายุที่อพยพออกจากท้องไร่ท้องนามาทำงานตามโรงงานต่างๆ ภายหลังปี 1979 ภายใต้การปฏิรูปด้านต่างๆ ของ เติ้ง เสี่ยวผิง นั้น มีเพียง 3% เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เวลานี้มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายของจีนจำนวน 60% ทีเดียวที่เข้าศึกษาในระดับสูงขึ้นไปอีก

ทว่าองค์ประกอบที่เป็นตัวตัดสินชี้ขาดไม่ใช่อยู่ที่ปริมาณ แต่เป็นเรื่องคุณภาพ ภาคการบินและอวกาศ และภาคการทหารของจีนว่าจ้างวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถระดับสูงสุด แต่พวกคู่แข่งสัญชาติอเมริกันกลับไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

แฮนเดิล โจนส์ เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มที่เพิ่งออกใหม่ใช้ชื่อว่า When AI Rules the World: China, the U.S., and the Race to Control a Smart Planet เดวิด พี. โกลด์แมน เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของเอเชียไทมส์


กำลังโหลดความคิดเห็น