รัฐบาลสเปน กรีซ และโปรตุเกส ต่างเน้นย้ำจุดยืนคัดค้านแผนการหนึ่งของสหภาพยุโรป (อียู) ที่อาจเห็นบรรดาชาติสมาชิกต้องปันส่วนและปรับลดการบริโภคก๊าซธรรมชาติลง 15% ตลอดช่วงฤดูหนาว
คณะกรรมาธิการยุโรปแถลงเมื่อวันพุธ (20 ก.ค.) เสนอแผนใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างประหยัดเพื่อให้มีก๊าซใช้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูหนาว (Save Gas for a Safe Winter) ซึ่งจะมอบหมายให้ชาติสมาชิกอียูเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานอื่นเพื่อลดการบริโภคก๊าซ และสั่งให้พลเรือนของตนเองปันส่วนการใช้ก๊าซ
หากข้อเสนอของทางคณะกรรมาธิการได้รับความเห็นชอบ บรรดารัฐสมาชิกจำเป็นต้องนำเสนอรายงานความคืบหน้าในทุกๆ 2 เดือนเกี่ยวกับการมุ่งหน้าสู่การลดบริโภคก๊าซธรรมชาติ 15% และบรรดาเจ้าหน้าที่อียูจะมีอำนาจสำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและกำหนดให้เป็น "เป้าหมายบังคับ" หากยุโรปเผชิญวิกฤตขาดแคลนก๊าซขั้นรุนแรง
"ฉันเสียใจอย่างสุดซึ้งที่จะบอกว่าสเปนไม่สนับสนุนข้อเสนอนี้" เทเรซา ริเบรา รัฐมนตรีพลังงานสเปนกล่าวไม่นานหลังอียูเผยแพร่ถ้อยแถลง พร้อมพาดพิงว่าแผนดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมาทั้งที่ไม่เคยมีการพูดคุยถกเถียงใดๆ ในคณะมนตรียุโรป ริบารา ประกาศว่าทางคณะกรรมาธิการ "ไม่สามารถเรียกร้องให้เสียสละ ในเมื่อพวกเขาไม่เคยแม้กระทั่งสอบถามความคิดเห็นของพวกเรา"
"ต่างจากประเทศอื่นๆ เราชาวสเปนไม่เคยใช้ฟุ่มเฟือยในแง่ของพลังงาน" ริเบรา ระบุ
อดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี เคยพูดไว้ในปี 2009 ว่าประเทศต่างๆ ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน "ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จนกระทั่งดิ่งเข้าสู่วิกฤตการเงิน" และดูเหมือนว่าคำพูดของ ริบารา จะเป็นการย้อนศรความเห็นของแมร์เคิล และมีเป้าหมายเหน็บแนม เบอร์ลิน โดยตรง
เยอรมนีต้องพึ่งพิงก๊าซรัสเซียเป็นอย่างมาก สำหรับผลิตพลังงานป้อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และปัจจุบันเยอรนีกำลังเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจล่มจม หลังสมัครใจยกเลิกโครงการท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 2 และสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรของอียูที่กำหนดเล่นงานภาคพลังงานรัสเซีย
กรีซ ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านแผนดังกล่าวเช่นกัน โดยโฆษกรัฐบาลเปิดเผยกับพวกผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดี (21 ก.ค.) ว่า "เอเธนส์ ไม่เห็นด้วยกับหลักในข้อเสนอของอียู สำหรับลดการใช้ก๊าซลง 15%" พร้อมระบุว่ารัฐบาลกรีซไปยื่นข้อเสนอของตัวเองไปยังอียูแทน ทั้งนี้ กรีซต้องพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติของรัสเซียถึง 40% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
โปรตุเกสก็เช่นกันที่ไม่ยอมรับข้อเสนอของอียู โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่นในวันพฤหัสบดี (21 ก.ค.) "มีหลายประเทศที่ไม่ยอมปกป้องตนเอง แล้วตอนนี้กำลังร้องขอความช่วยเหลือ" เขากล่าว ดูเหมือนเป็นการอ้างถึงเยอรมนี พร้อมระบุว่าแผนปันส่วนทั่วทั้งกลุ่มไม่ได้คิดคำนึงข้อเท็จจริงที่ว่าโปรตุเกสไม่ได้ท่อลำเลียงเชื่อมต่อกับประเทศที่เหลือของยุโรป ซึ่งนั่นหมายความว่าคลังสำรองก๊าซในโปรตุเกส ไม่สามารถถูกนำไปใช้ชดเชยปัญหาขาดแคลนในที่อื่นๆ
ความเคลื่อนไหวของสเปน กรีซและโปรตุเกส ที่ออกมาแสดงจุดยืนอย่างเปิดเผยคัดค้านแผนดังกล่าว มีขึ้นไม่นานหลังจากก่อนหน้านี้ อิตาลี โปแลนด์ และฮังการีได้ประกาศขอสงวนสิทธิในการคัดค้านเช่นกัน ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กในวันพฤหัสบดี (21 ก.ค.) ทั้งนี้ จุดยืนคัดค้านของฮังการี ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจเท่าไหร่ เพราะ บูดาเปสต์ ต่อต้านมาตลอดต่อมาตรการคว่ำบาตรของอียู ที่กำหนดเล่นงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ให้คำจำกัดความแผนดังกล่าวว่าเป็นความพยายามเตรียมพร้อมรับมือ "รัสเซียตัดก๊าซโดยสิ้นเชิง" และกล่าวหาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ว่ากำลังใช้พลังงานแบล็กเมล์อียู
ปูติน ระบุในวันอังคาร (19 ก.ค.) ว่า ก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังงานรัสเซีย "พร้อมสูบก๊าซมากที่สุดเท่าที่จำเป็น แต่เป็นอียูที่ปิดตัวเองทุกๆ ทาง"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)