รัสเซียเปิดท่อก๊าซธรรมชาติ “นอร์ดสตรีม 1” (Nord Stream 1) ที่ใช้ลำเลียงก๊าซเข้าสู่ยุโรปผ่านทางเยอรมนีอีกครั้งในวันนี้ (21 ก.ค.) หลังจากที่ปิดซ่อมบำรุงไป 10 วัน ในขณะที่ชาติยุโรปยังไม่คลายกังวลว่าอุปทานที่ไม่แน่นอนจากรัสเซียอาจนำไปสู่วิกฤตขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูหนาว
รัสเซียหยุดส่งก๊าซธรรมชาติผ่านนอร์ดสตรีม 1 ซึ่งเป็นสายท่อที่ลอดผ่านทะเลบอลติกเข้าไปยังเยอรมนีตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. เพื่อทำการซ่อมบำรุงประจำปี ทว่าตั้งแต่ก่อนที่จะมีการปิดท่อ ปริมาณก๊าซที่ส่งลดเหลือแค่ 40% ของขีดความสามารถทั้งหมด โดยเป็นผลมาจากข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับยุโรปเรื่องสงครามในยูเครน
ล่าสุด Nord Stream ยืนยันว่า ปริมาณก๊าซที่ลำเลียงเข้าเยอรมนีได้กลับสู่ระดับ 40% เท่ากับก่อนซ่อมบำรุงในวันนี้ (21) ซึ่งช่วยคลี่คลายความกังวลของยุโรปไปได้บางส่วน
ข้อมูลบนเว็บไซต์ Nord Stream 1 ระบุว่า ก๊าซที่ถูกส่งผ่านเข้าไปยังเยอรมนีมีปริมาณอยู่ที่ 29,289,682 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระหว่างช่วงเวลา 7.00-8.00 GMT
อย่างไรก็ดี เคลาส์ มุลเลอร์ ประธานสำนักงานเครือข่ายกลาง (Federal Network Agency) กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของเยอรมนี ออกมาเตือนว่า การที่รัสเซียกลับมาส่งก๊าซในระดับ 40% ให้ยุโรปไม่ได้แปลว่าสัญญาณความตึงเครียดหายไป
“ความไม่แน่นอนทางการเมือง และปริมาณก๊าซที่หายไป 60% ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ยังคงอยู่เหมือนเดิม” มุลเลอร์ ทวีตข้อความ
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตพลังงานขึ้นในฤดูหนาว คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เสนอให้บรรดาชาติอียูช่วยกันลดการใช้ก๊าซลง 15% ระหว่างเดือน ส.ค.นี้ไปจนถึง มี.ค.ปีหน้า เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ก๊าซในช่วงปี 2016-2021 โดยเบื้องต้นให้ถือเป็นมาตรการเชิงสมัครใจ แต่อาจกำหนดให้เป็น “เป้าหมายบังคับ” หากยุโรปเผชิญวิกฤตขาดแคลนก๊าซขั้นรุนแรง
ที่มา : รอยเตอร์