เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านให้สัมภาษณ์กับสื่ออัลจาซีราของกาตาร์เมื่อวันอาทิตย์ (17 ก.ค.) ว่า อิหร่านมีศักยภาพเพียงพอ “ในทางเทคนิค” ที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่
คำพูดของ คามาล คาร์ราซี (Kamal Kharrazi) ที่ปรึกษาอาวุโสของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน มีขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ รูดม่านปิดฉากภารกิจเยือนอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย พร้อมทั้งขู่ว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งไม่ให้อิหร่าน “ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์”
ทั้งนี้ การที่อิหร่านพูดเปรยๆ ว่าพวกเขาอาจสนใจอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นสัญญาณที่น่าจับตามอง เนื่องจากรัฐบาลเตหะรานยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่เคยคิดจะครอบครองอย่างที่ตะวันตกกล่าวหา
“เราสามารถเสริมสมรรถนะยูเรเนียมถึงระดับ 60% ได้ภายในไม่กี่วัน และการผลิตยูเรเนียมที่มีความบริสุทธิ์ 90% ก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับเรา... อิหร่านมีวิธีการทางเทคนิคที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ แต่เรายังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องนี้” คาร์ราซี กล่าว
ปัจจุบันอิหร่านผลิตยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นสูงถึง 60% เกินกว่าขีดจำกัด 3.67% ที่ระบุไว้ในข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 ที่ทำร่วมกับมหาอำนาจ 6 ชาติ ขณะที่ยูเรเนียม “เกรดอาวุธ” นั้นจะต้องมีความบริสุทธิ์ถึง 90%
แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) หรือข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย บวกเยอรมนี กำหนดให้เตหะรานต้องจำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการผ่อนคลายคว่ำบาตร ทว่าอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2018 พร้อมกับนำมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งทำให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการละเมิดเงื่อนไขข้อตกลงมากขึ้นเรื่อยๆ
คอเมเนอี เคยมีคำตัดสินทางศาสนา (ฟัตวา) เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2000 ว่าการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ทว่าเมื่อปีที่แล้วรัฐมนตรีข่าวกรองของอิหร่านได้ออกมาเตือนว่า สิ่งที่ชาติตะวันตกทำอยู่เป็นการบีบให้อิหร่านต้องแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์
อิหร่านอ้างว่ากิจกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมดมีวัตถุประสงค์ในด้านพลเรือนเท่านั้น และพร้อมที่จะกลับไปปฏิบัติตามเงื่อนไข JCPOA อีกครั้ง หากสหรัฐฯ หวนกลับสู่ข้อตกลงและเพิกถอนมาตรการคว่ำบาตร
อิหร่านและชาติมหาอำนาจได้บรรลุกรอบข้อตกลงกว้างๆ เพื่อฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเดือน มี.ค. หลังจากเตหะรานและรัฐบาลไบเดนเปิดการเจรจาทางอ้อมที่กรุงเวียนนามานานถึง 11 เดือน
อย่างไรก็ตาม การเจรจามาเริ่มสะดุดลงอีกครั้งหลังจากที่อิหร่านเรียกร้องให้วอชิงตัน “รับรอง” ว่าจะไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนไหนถอนตัวในแบบที่ ทรัมป์ ทำอีก ซึ่ง ไบเดน ไม่สามารถให้สัญญาได้ เนื่องจาก JCPOA เป็นเพียงความตกลงทางการเมือง ไม่ใช่สนธิสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย
“สหรัฐฯ ไม่รับรองว่าจะธำรงไว้ซึ่งข้อตกลงนิวเคลียร์ และนี่คือสิ่งที่ทำลายโอกาสในการบรรลุข้อตกลง” คาร์ราซี กล่าว
เจ้าหน้าอิหร่านผู้นี้ยังย้ำด้วยว่า ประเทศของเขาจะไม่เจรจารอมชอมเรื่องโครงการขีปนาวุธหรือนโยบายในระดับภูมิภาค ตามที่ตะวันตกและพันธมิตรในตะวันออกกลางเรียกร้อง
รัฐบาลอิสราเอลขู่จะยิงถล่มโรงงานนิวเคลียร์ในอิหร่าน หากแนวทางการทูตของชาติมหาอำนาจไม่สามารถจำกัดความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของเตหะรานได้
ที่มา : รอยเตอร์