นับเป็นอีกเหตุการณ์ช็อกโลก เมื่อนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถูกคนร้ายลอบยิงสังหารอย่างอุกอาจกลางวันแสกๆ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา สร้างความตกตะลึงในญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสถิติอาชญากรรมจากอาวุธปืนต่ำ และยังนำมาซึ่งคำถามหลายอย่าง ทั้งประเด็นเรื่องมาตรการอารักขาบุคคลสำคัญที่หละหลวมเกินไปหรือไม่ รวมไปถึงชนวนเหตุแท้จริงที่ทำให้อดีตนายกฯ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่นถูกชิงชังถึงขั้นมุ่งหมายเอาชีวิต
ร่างของอดีตผู้นำญี่ปุ่นวัย 67 ปี ถูกนำไปตั้งที่วัดโซโจจิ ในกรุงโตเกียวเมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ (11 มี.ค.) และในเช้าวันต่อมาได้มีประชาชนชาวญี่ปุ่นนับพันคนเดินทางไปแสดงคารวะครั้งสุดท้าย ก่อนที่ทางครอบครัวจะจัดพิธีศพเป็นการภายในเมื่อช่วงบ่ายของวันอังคาร (12) โดยมีเพียงญาติมิตร และเจ้าหน้าที่ผู้แทนจากต่างประเทศเข้าร่วม รวมแล้วประมาณ 1,000 คน ตามรายงานของ AP
สำหรับพิธีไว้อาลัยอย่างเป็นทางการนั้นคาดกันว่าจะจัดขึ้นในภายหลัง โดยหนังสือพิมพ์ไมนิจิชิมบุน รายงานว่า จะมีการจัดพิธีทั้งในเขตเลือกตั้งของ อาเบะ ที่จังหวัดยามากูชิ และที่กรุงโตเกียวด้วย
ชินโซ อาเบะ เกิดเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ปี 1954 ที่บ้านในเขตชินจูกุ กรุงโตเกียว เป็นหลานตาแท้ๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรี โนบุสึเกะ คิชิ และนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น โดยรั้งเก้าอี้อยู่ 2 สมัยคือ ในช่วงปี 2006-2007 และระหว่างช่วงปี 2012-2020 ก่อนจะตัดสินใจสละตำแหน่ง เนื่องจากป่วยเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
อาเบะ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากนโยบายเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” ซึ่งเน้นทั้งมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการใช้จ่ายงบประมาณ ขณะเดียวกัน เป็นนักการเมืองอนุรักษนิยมสายเหยี่ยวที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามมาตรา 9 เพื่อเปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถมีกองทัพเต็มรูปแบบเฉกเช่นนานาประเทศ จากปัจจุบันที่ถูกจำกัดให้มีเพียงกองกำลังป้องกันตนเองเท่านั้น
แม้จะพ้นตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว แต่ อาเบะ ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงภายในพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) และแวดวงการเมืองญี่ปุ่น จนกระทั่งมาจบชีวิตลงจากเหตุลอบสังหาร
เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ก.ค. อาเบะ ได้เดินทางไปที่จังหวัดนาระ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น เพื่อร่วมการปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครวุฒิสมาชิกอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟยามาโตะ-ไซไดจิ จนกระทั่งเวลา 11.30 น. ได้มีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด ก่อนที่ร่างของอดีตผู้นำญี่ปุ่นจะทรุดฮวบลงกับพื้น
จากการตรวจสอบพบว่ากระสุนเจาะเข้าที่ลำคอและด้านหลังจนทะลุอกซ้าย โดยอดีตนายกฯ ยังพอมีสติตอบสนองในช่วงแรกๆ ก่อนจะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นและปอดไม่ทำงาน (cardiopulmonary arrest) และแพทย์ตรวจไม่พบสัญญาณชีพ
อาเบะ ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์นาระ ก่อนรัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศยืนยันการเสียชีวิตของเขาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยวิ่งไปล็อกตัวมือปืนเอาไว้ได้ทัน ซึ่งต่อมามีการเปิดเผยว่าเป็นชายตกงานวัย 41 ปี ชื่อ “เท็ตสึยะ ยามากามิ” (Tetsuya Yamagami) เคยทำงานให้กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นเมื่อช่วงปี 2002-2005 แต่ที่น่าสนใจคือประวัติส่วนตัวของเขาซึ่งเรียนจบถึงขั้น “ปริญญาเอก” เป็นรองศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม จึงรู้จุดอ่อนทางกายวิภาคของมนุษย์เป็นอย่างดี
ตำรวจยังยึดอาวุธปืนที่ ยามากามิ ประดิษฐ์ขึ้นเอง โดยมีลักษณะเป็นท่อเหล็ก 2 อันติดบนกระดานไม้ ใช้เทคนิคการยิงจากไฟฟ้าโดยต่อขั้วสายไฟไปที่ด้ามจับ ออกแบบให้จุดระเบิดด้วยไฟฟ้าให้ผงสีดำแทนแรงกระแทกแบบปืนทั่วไป ส่วนประกอบปืนทำมาจากการพิมพ์ 3 มิติอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคที่ทันสมัยมากทีเดียว
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ ยามากามิ ต้องประดิษฐ์ปืนใช้เองเนื่องจากว่าญี่ปุ่นมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดมาก และการจะครอบครองปืนสักกระบอกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ชายคนนี้ให้การต่อตำรวจญี่ปุ่นว่าเขา “ไม่พอใจ” อาเบะ อยู่แล้วเป็นทุนเดิม และตั้งใจมา “เพื่อสังหาร” เนื่องจากเขาเชื่อว่าอดีตผู้นำรายนี้มีความเชื่อมโยงกับ “องค์กรความเชื่อแห่งหนึ่ง” ที่แม่ของเขาทุ่มเงินบริจาคไปอย่างมากมาย จนกระทั่งครอบครัวต้องประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง
ต่อมาในวันจันทร์ (11) โทมิฮิโระ ทานากะ ประธานโบสถ์แห่งความสามัคคี (Unification Church) ประจำประเทศญี่ปุ่น ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวด่วนที่กรุงโตเกียว โดยยอมรับว่าแม่ของมือปืนสังหาร อาเบะ เป็นสมาชิกของโบสถ์จริง แต่ไม่ขอให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเงินบริจาคซึ่งผู้ต้องหาอ้างว่าเป็นปมสังหาร
“แม่ของ ยามากามิ ผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกโบสถ์ของเรา และเธอมาเข้าร่วมกิจกรรมของโบสถ์ประมาณเดือนละครั้ง” โท ทานากะ ระบุ
ทานากะ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า หญิงรายนี้เข้าเป็นสมาชิกโบสถ์แห่งความสามัคคีตั้งแต่ปี 1998 ก่อนที่ทางโบสถ์จะทราบข่าวว่าเธอกลายเป็นบุคคล “ล้มละลาย” เมื่อราวๆ ปี 2002
เขาย้ำว่าทางโบสถ์ “ไม่ทราบว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวของเธอต้องสิ้นเนื้อประดาตัว”
“มีสมาชิกหลายรายที่บริจาคเงินสนับสนุนโบสถ์เป็นจำนวนมาก เรารู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาคงจะไม่บริจาคเงินมากขนาดนั้น หากไม่เต็มใจจริงๆ” เขากล่าว
ทานากะ ยืนยันว่าทางโบสถ์ไม่เคยกำหนด “โควตา” เงินบริจาคสำหรับสมาชิกแต่ละคน และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนอย่างเต็มที่
โบสถ์เพื่อความสามัคคีมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สหพันธ์ครอบครัวเพื่อความสงบสุขและความสามัคคีของโลก” (Family Federation for World Peace and Unification) ก่อตั้งขึ้นในเกาหลีใต้เมื่อปี 1954 โดยสาธุคุณซัน เมียง มุน (Sun Myung Moon) ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแข็งกร้าว
มุน ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2012 อ้างว่า ตอนอายุได้ 15 ปีเขาเกิด “นิมิต” ว่าพระเยซูได้มาบอกให้ช่วยสานต่อภารกิจที่พระองค์ทำไม่สำเร็จในการทำให้มนุษยชาติบริสุทธิ์ไร้มลทิน ซึ่งในช่วงแรกๆ โบสถ์แห่งนี้มีกลุ่มมิชชันนารีเข้าร่วมเพียงแค่ 100 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 10,000 คนในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี
คำสอนของโบสถ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพระคัมภีร์ไบเบิล แต่เนื่องจากมีการตีความแปลกๆ จึงถูกมองว่าเป็นเพียง “ลัทธิความเชื่อ” และไม่ได้รับการยอมรับจากชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์กระแสหลัก ขณะที่บรรดาสาวกของโบสถ์ก็ถูกให้ฉายาว่าพวก “มุนนีส์” (Moonies)
โบสถ์แห่งความสามัคคีถูกมองว่าเป็นลัทธิที่มีผลประโยชน์ทางการเงินเป็นแรงกระตุ้น และมีกิจกรรมที่ขึ้นชื่อเป็นพิเศษก็คือ “พิธีสมรสหมู่” ซึ่งจะจัดขึ้นในสนามกีฬาขนาดใหญ่ โดยมีสาวกบ่าวสาวนับพันคู่จากหลากหลายสัญชาติตกลงปลงใจร่วมชีวิตกัน ทั้งที่เพิ่งจะมารู้จักกันที่โบสถ์แค่ไม่กี่วัน
โบสถ์แห่งนี้เคยอวดอ้างว่ามีสมาชิกกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก แต่จากการคาดคะเนของผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสมาชิกของโบสถ์น่าจะลดลงเหลือเพียงไม่กี่แสนคนในปัจจุบัน
พนักงานสอบสวนญี่ปุ่นให้ข้อมูลกับสื่อท้องถิ่นว่า ยามากามิ ตั้งใจจะตามฆ่าผู้นำโบสถ์แห่งความสามัคคี แต่สุดท้ายกลับเบนเป้าหมายมาที่ อาเบะ เพราะเข้าใจว่าอดีตนายกฯ มีความเกี่ยวพันกับองค์กรศาสนาแห่งนี้ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะพอมี “เค้าความจริง” อยู่บ้างพอสมควร
ภาวะไร้เสถียรภาพของแดนอาทิตย์อุทัยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้พวกนักการเมืองสายอนุรักษนิยมพยายามสร้างกลุ่มพันธมิตรที่พวกเขาเชื่อว่าจะช่วยป้องกันประเทศจากอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ และหนึ่งในนักการเมืองเหล่านั้นก็คือ “โนบุสึเกะ คิชิ” อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้เป็นคุณตาแท้ๆ ของอาเบะ ที่มีข่าวว่าได้ตั้งองค์กรแห่งหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์กับโบสถ์แห่งความสามัคคี นอกจากนี้ คิชิ ยังเป็นผู้ตัดสินใจชักชวน มูน และสาวกให้เดินทางมาเผยแพร่ความเชื่อที่ญี่ปุ่นด้วย
อย่างไรก็ตาม ทานากะ ซึ่งเป็นประธานโบสถ์สาขาญี่ปุ่นยืนยันว่า คุณตาของ อาเบะ “ไม่เคยช่วยสนับสนุน ให้สิทธิพิเศษ หรือใช้อิทธิพล” ของตนเองในฐานะนายกฯ เพื่อช่วยเผยแผ่คำสอนของโบสถ์แห่งความสามัคคีตามที่เป็นข่าว และถึงแม้ว่าตัว อาเบะ เองจะเคยส่ง “สารสนับสนุน” มายังงานอีเวนต์ของโบสถ์อยู่ครั้งหนึ่ง แต่ตัวเขาเองก็ไม่ได้เป็นสมาชิก และไม่ได้มีชื่ออยู่ในคณะที่ปรึกษาของโบสถ์ด้วย
เป็นความจริงที่ว่า อาเบะ เคยปาฐกถาในกิจกรรมซึ่งจัดโดยองค์กรเครือข่ายของโบสถ์แห่งความสามัคคีหลายครั้ง ซึ่งทำให้ตัวเขาเองถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย โดยเมื่อปีที่แล้วมีกลุ่มทนายความญี่ปุ่นไปยื่นหนังสือประท้วงเรื่องที่ อาเบะ กล่าวสุนทรพจน์ผ่านคลิปวิดีโอในกิจกรรมของสหพันธ์สันติภาพสากล (Universal Peace Federation) ซึ่งเป็นองค์กรในเครือของโบสถ์แห่งความสามัคคี โดยพวกเขาอ้างว่าเป็นตัวแทนกฎหมายของประชาชนที่ต้องสูญเสียเงินจำนวนมากให้ “ลัทธิ” ดังกล่าว
อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในนักการเมืองสายอนุรักษนิยมที่ประกาศตัวว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับโบสถ์แห่งนี้อย่างเปิดเผย
การจากไปอย่างกะทันหันของ อาเบะ นำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจทั้งในหมู่ชาวญี่ปุ่นและนานาชาติ โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่ามีสาส์นแสดงความเสียใจเกือบ 2,000 ฉบับหลั่งไหลมาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ซึ่งได้เดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงปารีส และยังโพสต์ข้อความแสดงความเสียใจบนบัญชีทวิตเตอร์ โดยบอกว่ายังจำการพบและทำงานร่วมกับ อาเบะ ได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่เขาไปเยือนญี่ปุ่นเมื่อปี 2019 และรู้สึกเศร้าใจที่ต้องสูญเสียเพื่อนคนหนึ่งไป
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ปรับแผนการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแวะเคารพศพ อาเบะ ที่ญี่ปุ่นเมื่อเช้าวันจันทร์ (11) โดยเขาได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของอดีตผู้นำญี่ปุ่นที่เขาชื่นชมว่าเป็น "คนที่มีวิสัยทัศน์" และยังยกย่อง อาเบะ ว่า “ทำมากกว่าใครๆ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งขึ้น”
ในด้านความสัมพันธ์กับไทย อาเบะ ถือเป็นผู้นำญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้กระชับแน่นแฟ้น โดยเคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 17-18 ม.ค. ปี 2556 ในฐานะแขกของรัฐบาล และถือเป็นผู้นำญี่ปุ่นคนแรกที่เยือนไทยในรอบ 11 ปี ถัดจากการเยือนของอดีตนายกรัฐมนตรี ชุนอิจิโร โคอิซุมิ หลังจากนั้นยังได้มาเยือนประเทศไทยอีกครั้งเพื่อเข้าร่วมประชุมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เมื่อปี 2562 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
รัฐบาลญี่ปุ่นในยุคของ อาเบะ ยังสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวชาวไทย เมื่อมีการประกาศยกเว้นวีซ่าให้คนไทยสามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้เป็นระยะเวลา 15 วัน โดยไทยถือเป็นชาติที่ 4 ของอาเซียนที่ญี่ปุ่นประกาศยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยว ต่อจากสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ที่ได้รับสิทธิไปก่อนหน้า
มาตรการกระตุ้นการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “อาเบะโนมิกส์” ซึ่งมีประเทศไทยเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญอันดับหนึ่งในอาเซียน โดยหลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศมาตรการยกเว้นวีซ่าออกมาเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ปี 2556 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค. ในปีเดียวกัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2562 มีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นมากกว่า 1 ล้านคน ติดอันดับ 1 ใน 6 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวไปญี่ปุ่นมากที่สุด และยังมีเส้นทางบินระหว่างไทย-ญี่ปุ่น รวมกว่า 250 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
มาตรการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ถูกยกเลิกชั่วคราวในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทว่าเวลานี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มทยอยออกมาตรการเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวจากไทยอีกครั้งแบบมีข้อจำกัด