xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’ ช่วยบริษัทแก๊สอเมริกันได้โอกาสทำกำไรงามในยุโรป ขณะที่เศรษฐกิจชาติอียูย่ำแย่เพราะแผนแซงก์ชันรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร ***


ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (ซ้าย) ขณะหารือกับรัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เก ชอยกู  ที่วังเครมลิน ในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2022 ซึ่งมีการเปิดเผยถึงข้อเสนอต่างๆ ของพวกผู้บังคับบัญชาทหารในยูเครน “สำหรับการพัฒนาการปฏิบัติการรุกโจมตี”
EU economies are down on their knees
BY M. K. BHADRAKUMAR
05/07/2022

สหรัฐฯ เพิ่งแซงหน้ารัสเซียได้เป็นหนแรกในการครองฐานะเป็นอันดับหนึ่งของผู้ส่งแก๊สให้แก่ยุโรป ถึงแม้แก๊สธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากสหรัฐฯ ขายกันในยุโรปด้วยราคาสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับแก๊สจากสายท่อส่งซึ่งซัปพลายให้โดยรัสเซีย แต่พวกประเทศอียูไม่มีทางเลือก

ในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เปิดเผยสิ่งที่ชวนให้ตะลึงงัน เมื่อเขาบอกว่า “ไอเดียที่ว่าพวกเรากำลังจะสามารถกดสวิตช์ แล้วทำให้ราคาของน้ำมันเบนซินลดต่ำลงมานั้น มันยังไม่น่าจะเป็นยังงั้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้หรอก”

พวกบริษัทผู้ส่งแก๊สอเมริกันนั้นต่างกำลังวางตำแหน่งของพวกเขาให้อยู่ในฐานะที่จะเข้าเติมเต็มช่องโหว่ที่เกิดขึ้นจากการที่ยุโรปปฏิเสธไม่นำเข้าแก๊สรัสเซีย สื่อไฟแนนเชียลไทมส์รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “พวกผู้ผลิตแก๊สธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) สหรัฐฯ เพิ่งประกาศการทำข้อตกลงจำนวนหนึ่งที่ทำให้การส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมนี้ฉวยใช้ประโยชน์จากภาวะขาดแคลนซึ่งทอดทิ้งให้ยุโรปต้องจมอยู่กับวิกฤตพลังงานที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ft.com/content/c1b8c308-b189-4a24-af67-6d18902e42c8)

ข้อตกลงดังที่ว่าเหล่านี้ให้ผลตอบแทนซึ่งงดงามมาก จนกระทั่ง เชเนียร์ (Cheniere) บริษัทผู้ส่งออกแก๊สชั้นนำของอเมริกาประกาศตัดสินใจด้านการลงทุนด้วยการเดินหน้าโครงการซึ่งจะเพิ่มศักยภาพของบริษัทขึ้นมากว่า 20% ภายในปลายปี 2025 เพื่อรองรับข้อตกลงจัดส่งระยะยาวที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหลั่งไหลเข้ามาและเป็นหลักประกันทำให้แก๊สสหรัฐฯ ขายออกไปได้อย่างแน่นอนในช่วงหลายๆ ทศวรรษต่อจากนี้ไป มีรายงานว่าพวกผู้ผลิตแก๊สสหรัฐฯ ต่างกำลังเดินเครื่องกันอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มซัปพลายที่จะส่งไปยังอียู

สหรัฐฯ เพิ่งแซงหน้าเอาชนะรัสเซียได้เป็นหนแรกในการครองฐานะเป็นอันดับหนึ่งของผู้ส่งแก๊สให้แก่ยุโรป ถึงแม้แก๊สธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากสหรัฐฯ ขายกันในยุโรปด้วยราคาสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับแก๊สจากสายท่อส่งซึ่งซัปพลายให้โดยรัสเซีย แต่พวกประเทศอียูไม่มีทางเลือก

ด้วยการที่ซัปพลายของรัสเซียผ่านสายท่อส่ง “นอร์ดสตรีม 1” (Nord Stream 1) ลดลงเหลือแค่สักราวๆ 40% ของศักยภาพตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และมีกำหนดหยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากต้องซ่อมบำรุงประจำปีในระหว่างวันที่ 11-21 กรกฎาคม ดังนั้น ทิศทางอนาคตของซัปพลายแก๊สรัสเซียไปสู่ยุโรปในระยะใกล้ๆ นี้จึงดูมืดมนมาก

เยอรมนีออกมาเตือนตั้งแต่ต้นเดือนนี้ว่า มีความเสี่ยงที่แก๊สนอร์ดสตรีมจะไม่หวนกลับมาอีกแล้วภายหลังการซ่อมบำรุงผ่านพ้นไป ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ซัปพลายจากรัสเซียไปยังยุโรปกำลังอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และ “ทำท่าจะยังคงตึงตัวเช่นนี้ไปจนตลอดไตรมาส 3” ตามรายงานของ เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global)

ในภาวะเช่นนี้ เยอรมนีจึงกำลังเดินหน้าเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รายงานข่าวระบุว่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ประธานของสหพันธ์แรงงานเยอรมนีพูดเอาไว้ว่า “อุตสาหกรรมทุกๆ อย่างกำลังตกอยู่ในอันตรายที่จะล้มครืนลงไปตลอดกาล เพราะปัญหาคอขวดเรื่องซัปพลายแก๊ส –โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคมีภัณฑ์ การผลิตแก้ว และพวกอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์สำคัญให้แก่ภาครถยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ” ภาวะการว่างงานอย่างมหาศาลน่าที่จะติดตามมา แน่นอนทีเดียว แล้วเมื่อเยอรมนีเกิดไอจามขึ้นมา ยุโรปก็ต้องเป็นหวัดแล้ว และไม่เฉพาะแต่ยูโรโซนเท่านั้น กระทั่งสหราชอาณาจักรในยุคหลังเบร็กซิตก็น่าจะไม่รอด
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/business/2022/jul/04/europe-recession-risk-russia-gas-supplies)

นี่แหละคือ “มาตรการแซงก์ชันจากนรก” (sanctions from hell) ของสหภาพยุโรป สหรัฐฯ นั้นเรียกได้ว่ารีบเร่งพยายามนำพาให้ชาวยุโรปถลำลงสู่วิกฤตการณ์ยูเครน รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ เดินทางไปยุโรปตั้งกี่ครั้งกี่หนในช่วงหลายเดือนแห่งความเป็นตายซึ่งนำไปสู่การที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความแน่ใจว่าประตูที่เปิดไปสู่การพูดจาอย่างมีความหมายใดๆ กับเครมลินจะยังคงถูกปิดตายต่อไป! และพวกบริษัทพลังงานอเมริกันในวันนี้กำลังฟันกำไรแบบบุญหล่นทับจากการขายแก๊สให้แก่ยุโรป หรือว่าพวกชาวยุโรปไม่ได้มีความเฉลียวฉลาดแบบปกติธรรมดากันเอาเสียเลยที่จะทำให้ตระหนักว่าพวกเขากำลังตกอยู่ในสภาพเช่นใด?

มาถึงตอนนี้ ไบเดนประกาศล้างมือตัวเองจนสะอาดสะอ้านไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับวิกฤตแก๊สที่กำลังเกิดขึ้นมา เขากล่าวเน้นแบบห้วนๆ ระหว่างการแถลงข่าวในช่วงประชุมซัมมิตนาโต้ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนว่า ราคาน้ำมันและแก๊สที่ต้องจ่ายแพงลิ่วเพิ่มขึ้นมาเช่นนี้ เป็นราคาพรีเมียมที่จะต้องดำเนินต่อไป “ตราบนานเท่านาน เพื่อที่ว่ารัสเซียจะได้ไม่สามารถ ... จริงๆ แล้ว ก็คือ ...ทำให้ยูเครนพ่ายแพ้ แล้วจากนั้นก็มุ่งหน้าต่อไปจากยูเครนอีก นี่แหละคือความเป็นความตาย เป็นจุดยืนระดับความเป็นความตายสำหรับโลกของเรา เราจะต้องยืนกันอยู่ตรงนี้ (นี่ไม่ใช่เหตุผลที่) ทำไมเราต้องมีนาโต้หรอกหรือ?”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2022/06/30/remarks-by-president-biden-in-press-conference-madrid-spain/)

เรื่องเล่าของไบเดน ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่ว่า การแซงก์ชันเล่นงานรัสเซียกำลังจะได้ผลแล้วในท้ายที่สุด และสงครามอันยาวนานในยูเครนจะทำให้รัสเซียประสบความหายนะ เรื่องเล่าที่สหรัฐฯ พยายามป่าวร้องก็คือว่า ถ้าคุณมองให้ทะลุไปถึงข้างใต้หมวกฮู้ดสดสวยที่ปกคลุมเศรษฐกิจรัสเซียอยู่ คุณก็จะเห็นว่ามันอาจจะไม่ได้มีความยืดหยุ่นเพียงพอและมีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะพัฒนาจิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการซึ่งต้องต่อสู้ดิ้นรนให้อยู่รอดเมื่อถูกบังคับให้ติดอยู่ในบังเกอร์ และเข้าประยุกต์ใช้โมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสลายฤทธิ์เดชของมาตรการแซงก์ชันทั้งหลาย ไบเดนนั้นเชื่ออย่างมั่นอกมั่นใจว่าเศรษฐกิจรัสเซียตกอยู่ในกำมือของพวกมาเฟียทางอุตสาหกรรมซึ่งไม่ได้มีนวัตกรรมอะไรมากมายเลย และด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่ได้มีทางเลือกอะไรนักหนาสำหรับรัสเซียเมื่อตกอยู่ใต้การแซงก์ชันของฝ่ายตะวันตก

ไบเดนไปพูดเอาไว้ที่ มาดริด ดังนี้ : “เมื่อพิจารณาผลกระทบที่สงครามในยูเครนมีต่อรัสเซียแล้ว ... พวกเขา (ฝ่ายรัสเซีย) สูญเสียดอกผลต่างๆ ที่พวกเขาได้รับมาในระยะเวลา 15 ปีจากเงื่อนไขต่างๆ ของเศรษฐกิจของพวกเขา ... พวกเขาไม่สามารถแม้กระทั่ง – พวกคุณทราบไหม พวกเขากำลังมี – พวกเขากำลังจะมีความลำบากยุ่งยากในการประคับประคองการผลิตน้ำมันเอาไว้ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีเทคโนโลยีที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาจำเป็นต้องได้เทคโนโลยีอเมริกัน และพวกเขาก็ยังอยู่ในสถานการณ์ทำ—ทำนองเดียวกันนี้อีก ในเรื่องเกี่ยวกับระบบอาวุธของพวกเขา และระบบการทหารบางอย่างของพวกเขา ดังนั้น พวกเขาจึงกำลังต้องจ่ายด้วยราคาหนักหนาสาหัสมากจริงๆ สำหรับเรื่องนี้”

เอาล่ะ แม้กระทั่งเรื่องเป็นอย่างที่ไบเดนพูดเอาไว้นี้ แต่ทั้งหมดเหล่านี้จะช่วยเหลือชาวยุโรปอย่างไรได้บ้างล่ะ? ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง การคาดคำนวณในทางยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีปูตินในเรื่องเกี่ยวกับสงครามคราวนี้นั้น กลับยังคงอยู่ในร่องในรอยอย่างมากๆ กองกำลังรัสเซียสร้างความก้าวหน้าอย่างไม่อาจโต้แย้งได้ในการสถาปนาอำนาจควบคุมอย่างสมบูรณ์เหนือแคว้นลูฮันสก์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ปูตินเปิดไฟเขียวให้แก่ข้อเสนอจากพวกผู้บังคับบัญชาของกองทัพบกที่จะเปิด “การปฏิบัติการรุกโจมตีต่างๆ” เมื่อสงครามคราวนี้ผ่านพ้นมาได้ 5 เดือน ฝ่ายยูเครนก็จับจ้องมองไปที่ความพ่ายแพ้ และพวกนายพลรัสเซียทราบสถานการณ์เป็นอย่างดี
(ดูเพิ่มเติมเรื่องปูตินเปิดไฟเขียว ได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/68815)

แล้วรัสเซียก็ไม่ได้ตุหรัดตุเหร่เข้าไปในยูเครนแบบไม่มีการเตรียมการ หลักฐานปรากฏชัด พวกเขาใช้ฝีก้าวที่ระมัดระวังอย่างสูงเพื่อพิทักษ์ปกป้องเศรษฐกิจของตนเอง ทั้งในช่วงก่อนหน้าและช่วงตั้งแต่ที่เกิดสงครามขึ้นมา และนี่ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียสามารถที่จะปักหลักลงรอยได้กับ “วิถีปกติอย่างใหม่” (new normal) ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ วอชิงตันจึงมีทางเลือกต่างๆ ค่อนข้างจำกัดทีเดียว โดยพื้นฐานแล้ว มาตรการแซงก์ชันทั้งหลายของฝ่ายตะวันตกไม่ได้ทำอะไรกับสาเหตุต้นตอแห่งพฤติกรรมของฝ่ายรัสเซีย และด้วยเหตุนี้มันจึงดูมืดมนไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรอย่างที่ต้องการได้
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับตัวเข้ากับวิถีปกติอย่างใหม่ของเศรษฐกิจรัสเซียได้ที่ https://intellinews.com/russia-s-manufacturing-pmi-in-the-black-in-june-as-the-sanction-shock-starts-to-wear-off-249265/)

แน่นอนอยู่แล้วว่า ปูตินต้องเตรียมเรื่องเซอร์ไพรส์ชวนให้ปั่นป่วนบางอย่างสำหรับใช้กับ ไบเดน เอาไว้แล้วล่ะ ขณะที่เวลาเคลื่อนเข้าไปใกล้การเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ไบเดนทึกทักเอาอย่างกระหยิ่มใจว่า เขาสามารถควบคุมตัวแปรต่างๆ ทั้งหมดของสถานการณ์เอาไว้ได้แล้ว แต่ความสุขจากการได้เห็นความเสียหายของคนอื่น (Schadenfreude) เป็นสิ่งที่ไม่เคยใช้เป็นพื้นฐานอันสมเหตุสมผลของศิลปะแห่งการบริหารรัฐกิจได้หรอก

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม แคว้นเคียร์ซอน (Kherson) ที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์โดยมีพรมแดนติดต่อกับแหลมไครเมีย ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา โดยที่มีรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของภูมิภาคคาลินินกราด (Kaliningrad) ของรัสเซีย เข้าทำหน้าที่เป็นผู้นำคณะรัฐมนตรี และมีบุคคลสัญชาติรัสเซียหลายรายอยู่ในหมู่ผู้ช่วยของเขา เวลานี้ขณะที่ระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ซึ่งสหรัฐฯ จัดส่งไปให้กำลังคำรามโจมตีใส่เมืองต่างๆ ของรัสเซีย อย่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่ ไบเดน เคยให้คำมั่นไว้ จึงคาดหมายได้ว่าฝ่ายรัสเซียจะตอบโต้อย่างแรงๆ อะไรกันบ้าง
(เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในเคียร์ซอน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/world/1475471)
(เรื่องฝ่ายยูเครนใช้ HIMARS โจมตีเมืองในรัสเซีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://theprint.in/world/ukraine-fires-at-russias-belgorod-kursk-with-missiles-drones-russian-defense-ministry/1023443/)

เส้นทางในการปฏิบัติการรุกโจมตีของรัสเซียกำลังถูกจัดวางกันใหม่ ให้ครอบคลุมถึงเมืองคาร์คอฟ (Kharkov เมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของยูเครน -ผู้แปล) และเมืองโอเดสซา (Odessa เมืองท่าสำคัญริมทะเลดำของยูเครน -ผู้แปล) ด้วย นอกเหนือจากภูมิภาคดอนบาสแล้ว วยาเชสลาฟ โวโลดิน (Vyacheslav Volodin) นักการเมืองทรงอิทธิพลของฝ่ายเครมลินที่เวลานี้เป็นประธานของสภาดูมา (Duma) หรือสภาล่างของรัสเซีย กล่าวเช่นนี้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1475831)

เขาบอกว่า “มีบางคนกำลังถามขึ้นมาว่าเรามีเป้าหมายอะไร และทั้งหมดนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด มันจะสิ้นสุดลงเมื่อเมืองใหญ่และเมืองน้อยอันสันติสุขของเราไม่ตกอยู่ใต้การโจมตีด้วยลูกจรวดลูกปืนใหญ่อีกต่อไปแล้ว สิ่งที่พวกเขากำลังกระทำอยู่คือการบีบบังคับกองทหารของเราไม่ให้หยุดยั้งอยู่แค่เส้นพรมแดนของสาธารณรัฐลูฮันสก์และสาธารณรัฐโดเนตส์ (สองส่วนนี้รวมกันคือภูมิภาคดอนบาส -ผู้แปล) เพราะการโจมตี (ใส่ภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย) กำลังมาจากแคว้นคาร์คอฟ และจากแคว้นอื่นๆ ของยูเครน”

ไบเดนคาดคิดเอาไว้ว่า ชาวยุโรปต้องการจะเข้าเกี่ยวข้องพัวพันในสงครามตัวแทนกับรัสเซียที่ยืดเยื้อไปเรื่อยๆ นี้อีกนานสักแค่ไหน? หนังสือพิมพ์บิลด์ (Bild) รายงานไว้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมว่า 75% ของชาวเยอรมันผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าราคาสินค้าต่างๆ ที่พุ่งสูงในช่วงหลังๆ นี้เป็นภาระหนักหน่วง ขณะที่ 50% กล่าวว่าพวกเขารู้สึกว่าเงื่อนไขต่างๆ ในทางเศรษฐกิจของพวกเขากำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ แล้วชาวเยอรมันราวครึ่งหนึ่งทีเดียวมีความหวาดกลัวว่าจะขาดแคลนเชื้อเพลิงสำหรับทำความร้อนในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้ สืบเนื่องจากซัปพลายแก๊สจากรัสเซียลดต่ำลง และภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกทีในสหภาพยุโรป

ครับ ไบเดนบอกว่า สงครามจะเดินหน้าต่อไป “นานเท่านานตราบเท่าที่มันมีความจำเป็น” และการขาดแคลนเชื้อเพลิงก็จะดำเนินต่อไป “นานเท่านานตราบเท่าที่มันมีความจำเป็น” เศรษฐกิจยุโรปนั้นเป็นที่คาดหมายกันว่าจะเริ่มอยู่ในอาการหดตัวตลอดช่วงครึ่งหลังของปี 2022 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งถึงช่วงฤดูร้อน (ประมาณกลางปี -ผู้แปล) ของปี 2023 เป็นอย่างน้อยที่สุด

พวกนักวิเคราะห์ที่เจพี มอร์แกน เชส (JP Morgan Chase) วาณิชธนกิจใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ พูดเอาไว้เมื่อช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนว่า รัสเซียยังสามารถที่ทำให้ราคาน้ำมันทะยานขึ้นลิบลิ่วได้ ถ้าหากพวกเขาใช้การตัดลดผลผลิตมาแก้เผ็ดฝ่ายตะวันตก ทีมนักวิเคราะห์นี้บอกว่า “ภาวะตึงตัวของตลาดน้ำมันโลกกำลังทำให้รัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบ” และระบุว่าราคาอาจพุ่งขึ้นไปอีกกว่า 3 เท่าตัวจนถึงระดับ 380 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทีเดียว ถ้ารัสเซียตัดลดการผลิตของตนลงไปราว 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

กฤษฎีกาที่ ปูติน ประกาศใช้เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นลางบอกเหตุอันเลวร้าย เนื้อหาของมันคือการที่เครมลินกำลังเข้าไปควบคุมอย่างเต็มที่เหนือโครงการน้ำมันและแก๊สซาฮาลิน-2 (Sakhalin-2) ในดินแดนภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย โดยจากนี้ไป รัฐวิสาหกิจก๊าซปรอม (Gazprom) ของรัสเซียจะถือหุ้นในโครงการนี้เป็นจำนวน 50% บวกกับอีก 1 หุ้น ส่วนทางหุ้นส่วนต่างประเทศที่ประกอบด้วย เชลล์ จะถือหุ้น 27.5% มิตซุย 12.5% และมิตซูบิชิ 10% กฤษฏาฉบับนี้ระบุว่า ก๊าซปรอมจะรักษาฐานะครองหุ้นส่วนข้างมากของตนเอาไว้เรื่อยไป แต่พวกนักลงทุนต่างชาติต้องยื่นคำร้องจากรัฐบาลรัสเซียก่อน เพื่อเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ภายในเวลา 1 เดือน ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้กรรมสิทธิ์อีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุมัติตามคำร้องของรายใดบ้าง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.shell.com/about-us/major-projects/sakhalin/sakhalin-one-of-the-worlds-largest-integrated-oil-and-gas-pro.html)

ความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้ตลาดพลังงานปั่นป่วนกันต่อไปอีก และเพิ่มความตึงตัวให้แก่ตลาดแอลเอ็นจี รวมทั้งสามารถที่จะมองได้ว่าคือการมุ่งเพิ่มแรงกดดันฝ่ายตะวันตก ด้วยการจำกัดแก๊สที่ซัปพลายไปให้แก่ยุโรป พร้อมๆ กับที่สร้างดีมานด์สำหรับแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นในเอเชีย ซึ่งจะถ่ายเทแบ่งเอาซัปพลายที่เคยมุ่งหน้าสู่ยุโรปไปด้วย ทั้งนี้ ซัปพลายจากซาฮาลิน-2 คิดเป็นประมาณ 4% ของแก๊สที่ซื้อขายกันในตลาดแอลพีจีทั่วโลก

วาระของสหรัฐฯ ที่ยังกำลังไปได้ดีตามแผน จึงมีเพียงส่วนซึ่งดูเหมือนไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน นั่นก็คือ สิ่งเดียวกันกับที่เป็นวัตถุประสงค์ของฝ่ายอังกฤษ-อเมริกันเสมอมา ซึ่ง ลอร์ด อิสเมย์ (Lord Ismay) ครั้งหนึ่งเคยทำนายเอาไว้ว่า มันคือพื้นฐานของเหตุผลเบื้องหลังการดำรงคงอยู่ของนาโต้ ได้แก่ “เพื่อกีดกันพวกรัสเซียออกไป นำเอาพวกอเมริกันเข้ามา และทำให้พวกเยอรมันตกต่ำ”
(ลอร์ดอิสเมย์ นักการทูตและนายพลชาวอังกฤษ เขาเป็นเลขาธิการองค์การนาโต้คนแรก ในช่วงปี 1952-1957 และเคยเป็นหัวหน้าผู้ช่วยด้านการทางการของนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ ของอังกฤษ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Hastings_Ismay,_1st_Baron_Ismay -หมายเหตุผู้แปล)

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/eu-economies-are-down-on-their-knees/
กำลังโหลดความคิดเห็น