ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และอียิปต์ มีแผนเข้าร่วมกลุ่ม BRICS และหากพวกเขายื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็อาจมีหารือและให้คำตอบในที่ประชุมซัมมิตปีหน้าในแอฟริกาใต้ จากการเปิดเผยเปอร์นิมา อานันท์ ประธานฟอรัมขององค์กรแห่งนี้ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนรัสเซียเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ค.)
"ประเทศต่างๆ ทั้งหมดนี้แสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS และกำลังเตรียมการสมัครเป็นสมาชิก ดิฉัน เชื่อว่านี่คือก้าวย่างที่ดี เพราะว่าการขยับขยายดูเป็นเรื่องดีเสมอ แน่นอนว่ามันจะช่วยส่งเสริมอิทธิพลโลกของ BRICS" เธอให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อิซเวสเตีย สื่อมวลชนรัสเซีย
ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ มีประชากรรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 40% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของจีดีพีโลก จุดประสงค์ต่างๆ ของทางกลุ่ม รวมไปถึงส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนาและความร่วมมือระหว่างประเทศ และสนับสนุนพัฒนาการของมนุษยชาติ
อานันท์ กล่าวว่า ประเด็นการขยับขยายนั้นได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือระหว่างการประชุมซัมมิต BRICS ในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน
ประธานฟอรัมของ BRICS แสดงความหวังว่าการเข้าร่วมของซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และอียิปต์ จะไม่ใช้เวลานานนัก เนื่องจากประเทศเหล่านี้ "มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ไปแล้ว" แม้มีข้อสงสัยว่าทั้ง 3 ชาติจะเข้าร่วมกลุ่มในเวลาเดียวกันหรือไม่
"ฉันหวังว่าประเทศต่างๆ เหล่านี้จะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในเวลาอันสั้น เนื่องด้วยบรรดาผู้แทนของสมาชิกหลักทั้งหมดสนใจขยับขยาย ดังนั้นมันน่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด" อานันท์ กล่าว
ข่าวคราวเกี่ยวกับแผนเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของ 3 ชาติ มีขึ้นหลังจากอิหร่านและอาร์เจนตินา เพิ่งยื่นสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มในช่วงปลายเดือนมิถุนายน โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านยกย่องกลุ่ม BRICS "เป็นกลไกที่สร้างสรรค์อย่างมาก พร้อมด้วยมีมุมมองต่างๆ ที่กว้างขวาง"
แม้กลุ่ม BRICS ไม่ใช่พันธมิตรอย่างเป็นทางการในเหตุผลด้านการทหารและเศรษฐกิจ แต่บ่อยครั้งชาติสมาชิกแสดงจุดยืนเป็นหนึ่งเดียวกันคัดค้านฉันทมติของตะวันตก ยกตัวอย่างเช่นไม่มีใครในกลุ่ม BRICS ที่โหวตร่วมกับสหรัฐฯ และพันธมิตรลงมติประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ณ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนมีนาคม แถมนับตั้งแต่นั้นจีน และอินเดียยังได้ยกระดับความเชื่อมโยงทางการค้าของพวกเขากับรัสเซียมากยิ่งขึ้น
ระหว่างการประชุมร่วมพวกผู้นำกลุ่ม BRICS เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เผยว่าสมาชิกทั้ง 5 ชาติกำลังดำเนินการจัดตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศใหม่บนพื้นฐานระบบตะกร้าเงินของประเทศสมาชิก ลดการพึ่งพิงระบบการเงินตะวันตก
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีรัสเซีย ยังเผยว่ารัฐสมาชิกของ BRICS อยู่ระหว่างการพัฒนากลไกทางเลือกที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน
อีกด้านหนึ่งเว็บไซต์ Global Times ของทางการจีน รายงานว่า บรรดาผู้ค้าทั้งหลายในกลุ่ม BRICS ต่างมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นในกลุ่มประเทศของตนเอง โดยเฉพาะเงินหยวน เป็นอีกหนึ่งสกุลหลักในการเจรจาทำธุรกรรมทางการค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามมองหาทางเลือกอื่นนอกจากสกุลเงินดอลลาร์ ที่จะนำมาใช้เป็นตัวกลางชำระหนี้ระหว่างประเทศภายในกลุ่ม BRICS
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)