อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ผู้ทำงานในหน่วยงานแฮกเกอร์ของซีไอเอ ถูกศาลชั้นต้นสหรัฐฯ ในนครนิวยอร์ก ตัดสินเมื่อวันพุธ (13 ก.ค.) ว่า มีความผิดจริงในข้อหาโจรกรรมข้อมูลลับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของหน่วยข่าวกรองแถวหน้าของสหรัฐฯ แห่งนี้ จากการปล่อยเครื่องมือแฮกที่มีมูลค่าสูงสุดของหน่วยงานนี้ให้ “วิกิลีกส์” เมื่อปี 2017 ขณะที่เจ้าตัวตอบโต้ว่า ตนตกเป็นแพะรับบาปของซีไอเอ และเอฟบีไอที่ต้องเสียหน้าจากการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญจำนวนมาก
โจชัว ชุลต์ วัย 33 ปี ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ให้หน่วยเจาะระบบของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ตอนที่เขาซุ่มนำเอาเครื่องมือซึ่งมีชื่อรหัสว่า “วอลต์ 7” (Vault-7) ที่ซีไอเอใช้เจาะระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีออกมาด้วยหลังลาออก และส่งไปให้วิกิลีกส์ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านการเก็บข้อมูลลับ นำเอาไปเผยแพร่ต่อ
วอลต์ 7 เป็นชุดมัลแวร์ ไวรัส โทรจัน และ “ซีโร่เดย์” ซึ่งเป็นการโจมตีผ่านช่องโหว่ที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และจากการเปิดเผยข้อมูลของชุดเครื่องมือเหล่านี้ทำให้สาธารณชนรับรู้วิธีที่ซีไอเอแฮกสมาร์ทโฟนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นของแอปเปิล หรือแอนดรอยด์ ในการปฏิบัติการล้วงความลับนอกประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนทีวีที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้กลายป็นอุปกรณ์ดักฟัง
ก่อนถูกจับ ชุลต์ ช่วยซีไอเอสร้างเครื่องมือแฮก เช่น อุปกรณ์ถอดรหัส ที่ศูนย์บัญชาการใหญ่ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ ในเมืองแลงก์ลีย์ รัฐเวอร์จิเนีย
ทางด้าน เดเมียน วิลเลียมส์ อัยการสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ ระบุว่า ชุลต์ขุ่นเคืองซีไอเอ เนื่องจากเชื่อว่า ซีไอเอไม่ให้ความสำคัญกับตนจึงเพิกเฉยต่อการร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการทำงาน ดังนั้น เขาจึงปล่อยข้อมูลในเอกสาร 8,761 ฉบับ โดยรับรู้ว่า การกระทำดังกล่าวจะสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างและเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ หากมีการนำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนและทำให้ระบบวอลต์ไร้ประโยชน์ และเป็นภัยต่อหน่วยงานข่าวกรองของอเมริกาเนื่องจากข่าวกรองสำคัญอาจตกไปอยู่ในมือผู้ที่ต้องการโจมตีอเมริกา
วิลเลียมส์สำทับในคำแถลงซึ่งออกมาภายหลังศาลตัดสินในคดีนี้แล้วว่า ชุลต์ถูกตัดสินในคดีจารกรรมที่โจ่งแจ้งและสร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอเมริกา
ชุลต์ นั้นตกเป็นผู้ต้องสงสัยตั้งแต่แรกนับจากที่วิกิลีกส์เริ่มเผยแพร่ข้อมูลลับเกี่ยวกับ วอลต์-7 ทว่าเริ่มต้นทีเดียว เขาถูกตั้งข้อกล่าวหาในเดือนกันยายน 2017 จากกรณีการครอบครองภาพอนาจารเด็กจำนวนมาก ตามที่ปรากฏอยู่ในคอมพิวเตอร์ของเขา
ในเวลาต่อมา จึงมีการเพิ่มข้อกล่าวหาโจรกรรมและส่งต่อข้อมูลการป้องกันประเทศภายใต้กฎหมายการจารกรรม
ปี 2020 คณะลูกขุนตัดสินว่า ชุลต์ มีความผิดในข้อหาสถานเบา อย่างเรื่องให้การเท็จและละเมิดอำนาจศาล ขณะที่กลับไม่สามารถตัดสินชี้ขาดได้สำหรับความผิดฉกรรจ์อื่นๆ ดังนั้นจึงต้องมีการคัดเลือกคณะลูกขุนชุดใหม่ และพิจารณาคดีกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ในวันพุธ (13) คณะลูกขุนชุดใหม่มีคำตัดสินออกมาว่า ชุลต์มีความผิด 8 กระทงตามกฎหมายการจารกรรม และอีกกระทงในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยความผิดแต่ละกระทงเกี่ยวกับการจารกรรมมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี
ระหว่างการแถลงปิดคดีก่อนจะถึงขั้นตอนการพิจารณาตัดสินของคณะลูกขุนนั้น ชุลต์ แถลงกับคณะลูกขุนว่า ซีไอเอและสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ทำให้เขากลายเป็นแพะรับบาปจากการเสียหน้าที่ข้อมูลลับจำนวนมากรั่วไหลไปถึงวิกิลีกส์และถูกนำออกเปิดเผยในปี 2017 มันเป็นการมุ่งร้ายต่อเขา เนื่องจากว่าในความเป็นจริงแล้วมีเจ้าหน้าที่จำนวนเป็นร้อยทีเดียวที่สามารถเข้าถึงข้อมูลซึ่งรั่วไหลเหล่านั้นได้ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะตัวเขา
การปล่อยข้อมูลนี้ที่ทำให้ซีไอเองุนงงซึ่งเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2017 ถูกระบุว่าเป็นการสูญเสียข้อมูลลับที่สร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งที่ซีไอเอเคยพบมา และกระตุ้นให้รัฐบาลพิจารณาจัดการอย่างแข็งกร้าวกับวิกิลีกส์ ซึ่ง ไมค์ พอมเพโอ ที่เป็นผู้อำนวยการซีไอเอในขณะนั้นเรียกว่า “หน่วยข่าวกรองปฏิปักษ์”
สำหรับการกำหนดระวางโทษที่ ชุลต์ จะได้รับจากการถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจริงคราวนี้ ทางผู้พิพากษายังไม่ได้นัดหมายกำหนดวันแน่นอน เนื่องจากยังคงต้องรอคอยให้ ชุลต์ เสร็จสิ้นจากกระบวนการถูกพิจารณาความผิดในคดีอีกคดีหนึ่ง ที่เขาถูกตั้งข้อหาว่ามีภาพอนาจารเด็กอยู่ในครอบครองและดำเนินการส่งภาพเหล่านั้น ทั้งนี้ในคดีหลังนี้ ชุลต์ให้การว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด
(ที่มา : เอพี, เอเอฟพี)