เอเจนซีส์/เอเอฟพี - ศาลแขวงญี่ปุ่นวันพุธ (13 ก.ค.) ออกคำพิพากษาสั่งให้ 4 อดีตผู้บริหารบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (Tokyo Electric Power Co) หรือเทปโก ต้องรับผิดชอบเป็นค่าเสียหายสำหรับวิกฤตโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะปี 2011 จำนวน 13.32 ล้านล้านเยน หรือ 97 พันล้านดอลลาร์ สูงสุดในประวัติศาสตร์เท่าที่เคยตัดสินมาหลังทำลายสิ่งแวดล้อมย่อยยับรวมไปถึงชีวิตมนุษย์จากการที่โรงงานปล่อยกัมมันตภาพรังสีสู่ด้านนอก ชี้เป็นวิกฤตที่ป้องกันได้หากโรงงานเตรียมแผนป้องกันก่อนหน้า
เจแปนไทม์ส สื่อญี่ปุ่นรายงานวันนี้ (13 ก.ค.) ว่า คำพิพากษาที่ออกมาจากศาลแขวงญี่ปุ่นวันพุธ (13) กลายเป็นเงินค่าปรับสูงสุดในคดีแพ่งญี่ปุ่นที่มีจำนวนมากถึง 13.32 ล้านล้านเยน หรือ 97 พันล้านดอลลาร์ ในคดีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะที่เกิดไฟไหม้ครั้งมโหฬารหลังจากญี่ปุ่นเกิดคลื่นยักษ์สึนามิปี 2011 จนทำให้แท่งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดหลอมละลายและสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมาสู่ด้านนอก
หัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลแขวงโตเกียว โยชิฮิเดะ อาซากุระ (Yoshihide Asakura) ชี้ในคำพิพากษาว่า อดีตผู้บริหารบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (Tokyo Electric Power Co) หรือเทปโก ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหารที่ไม่ได้ออกมาตรการป้องกันสึนามิเบื้องต้นสำหรับโรงงานฟูกุชิมะหมายเลข 1
อาซากุระ ชี้ต่อในคำพิพากษาว่า เหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะที่เกิดไฟไหม้ปี 2011 และสารกัมมันตภาพรังสีถูกปล่อยออกมาสู่ด้านนอกนั้นเป็น "สิ่งที่สามารถป้องกันได้" หากว่าที่อาคารหลักของโรงงานและห้องอุปกรณ์สำคัญได้รับการป้องกันด้วยมาตรการป้องกันน้ำท่วมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญเพราะแท่งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายหลังระบบปั่นไฟหลักของโรงงานเกิดน้ำท่วมที่เป็นผลมาจากคลื่นยักษ์สึนามิ
คดีโรงงานไฟฟ้าฟูกุชิมะนี้ถูกฟ้องโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเทปโก 48 คนที่ต้องการฟ้องต่ออดีตเจ้าหน้าที่บริษัทเทปโก 5 คน รวมอดีตประธานกรรมการบริหารวัย 82 ปี ทซึเนฮิสะ คัตซึมาตะ (Tsunehisa Katsumata)และอดีตประธานวัย 72 ปี มาซาตากะ ชิมิสุ (Masataka Shimizu)
โจทก์ฟ้องบรรดาผู้บริหารจากการที่คนเหล่านี้เพิกเฉยไม่ทำตามคำแนะนำออกมาตรการป้องกันสึนามิให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและต้องการเรียกร้องค่าเยียวยาสูงถึง 22 ล้านล้านเยน ซึ่งคำพิพากษาที่ออกมาสั่งจ่ายเพียง 13.32 ล้านล้านเยนเท่านั้น
สื่อญี่ปุ่นชี้ว่า คำตัดสินในวันพุธ (13) ถือเป็นครั้งแรกที่ศาลญี่ปุ่นออกคำสั่งให้ฝ่ายบริหารบริษัทเทปโกต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตร้ายแรงที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างย่อยยับ รวมไปถึงชีวิตมนุษย์เป็นผลจากรังสีนิวเคลียร์
ทั้งนี้ ค่าเสียหายจำนวน 22 ล้านล้านเยนที่ฝ่ายโจทย์เรียกร้องนั้นเป็นตัวเลขที่อยู่ในรายงานเดือนธันวาคมปี 2016 จัดทำโดยคณะกรรมการชุดร่วมที่มีตัวแทนจากทั้งบริษัทเทปโก และกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพื่อประเมินตัวเลขที่ต้องใช้ในการจัดการวิกฤต
ในรายงานยังระบุว่า บริษัทเทปโกจำเป็นต้องใช้ 8 ล้านล้านเยนสำหรับค่ารื้อถอนโรงงานและอีก 8 ล้านล้านเยนสำหรับการเยียวยาเหยื่อ นอกจากนี้ ทางโรงงานต้องใช้ 6 ล้านล้านเยนสำหรับมาตรการกำจัดการปนเปื้อนและการเก็บของเสียนิวเคลียร์ชั่วคราว ซึ่งรายจ่ายทั้งหมดนี้โจทก์อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทเทปโกไม่จำเป็นต้องเสียหากว่าไม่มีอุบัติเหตุนิวเคลียร์เกิดขึ้น
แต่ทว่าฝ่ายจำเลยและบริษัทเทปโกอ้างว่าค่ารื้อถอนโรงงานอยู่ที่ 1.56 ล้านล้านเยนเท่านั้นสำหรับภายในไตรมาสที่ 4 ของงบประมาณประจำปีที่เริ่มในเดือนเมษายนปี 2020
คนเหล่านั้นยังโต้ว่าค่าเยียวยาการรื้อถอน และค่าใช้จ่ายมาตรการเก็บของเสียนิวเคลียร์ชั่วคราวส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโตเกียวจำนวน 510 พันล้านดอลลาร์ภายในสิ้นสุดงบงบประมาณประจำปี 2020
อย่างไรก็ตาม บริษัทออกมายอมรับว่ายังคงไม่ทราบตัวเลขสุดท้ายที่แน่นอน
เจแปนไทม์สรายงานต่อว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นสามารถยื่นเรื่องดำเนินคดีทางกฎหมายเรียกร้องความรับผิดชอบจากสมาชิกบอร์ดบริหารและคนอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายให้บริษัทเป็นผลมาจากการบริหารอย่างผิดพลาดได้ และเมื่อมีการตัดสิน เงินค่าเสียหายจะถูกจ่ายให้บริษัทไม่ใช่ให้กลุ่มผู้ถือหุ้น
เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า ฮิโรยูกิ คาวาอิ (Hiroyuki Kawai) ทนายของฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเคยกล่าวผ่านแถลงการณ์ที่สำคัญในงานแถลงข่าวปี 2012 หรือ 1 ปีหลังเกิดเหตุมีใจความว่า
“คำเตือนที่ออกมาเพื่อต้องการกล่าวว่า หากคุณทำการตัดสินใจอย่างผิดพลาดหรือทำผิด คุณต้องจ่ายค่าเสียหายด้วยเงินของคุณเอง”
และเสริมต่อว่า “คุณอาจต้องขายบ้าน คุณอาจต้องใช้ชีวิตเกษียณอายุทั้งชีวิตของตัวเองในความทุกข์ระทม ที่ญี่ปุ่นจะไม่มีสิ่งใดได้รับการแก้ไขและไม่มีความก้าวหน้าหากปราศจากการกำหนดให้ต้องมีการรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว”