องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผย “อินเดีย” มีแนวโน้มแซงหน้าจีนขึ้นเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในปี 2023 พร้อมเตือนว่าอัตราการเจริญพันธุ์ที่สูงขึ้นอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดีย
รายงานของยูเอ็นซึ่งเผยแพร่เนื่องในวันประชากรโลก (World Population Day) ระบุว่า จำนวนประชากรทั่วโลกจะแตะหลัก 8,000 ล้านคนในวันที่ 15 พ.ย.ปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 8,500 ล้านคนภายในปี 2030 และ 10,400 ล้านคนภายในปี 2100
อินเดียเคยมีประชากรทั้งหมด 1,210 ล้านคนเมื่อปี 2011 ตามการสำรวจสำมะโนประชากรที่รัฐบาลทำทุกๆ 10 ปี ทว่าในปี 2021 นั้นยังไม่มีข้อมูล เนื่องสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐต้องเลื่อนการทำสำรวจออกไปก่อน
ยูเอ็นประเมินว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา โดยเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% ในปี 2020
อัตราการเจริญพันธุ์ หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงทั่วโลกอยู่ที่ 2.3 คนต่อสตรี 1 คนในปี 2021 ซึ่งลดลงมากจากเมื่อช่วงปี 1950 ที่ผู้หญิง 1 คนจะให้กำเนิดบุตรเฉลี่ย 5 คน และคาดว่าตัวเลขจะลดลงเหลือเพียง 2.1 ต่อผู้หญิง 1 คนภายในปี 2050
ยูเอ็นยังพบด้วยว่า อายุคาดเฉลี่ยแรกเกิด (life expectancy at birth) ของประชากรทั่วโลกลดเหลือเพียง 71 ปีในปี 2021 จากสถิติ 72.8 ปีเมื่อปี 2019 โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วราวๆ 14.9 ล้านคน ระหว่างเดือน ม.ค. ปี 2020 จนถึง ธ.ค. ปี 2021
ยูเอ็นประเมินว่า จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะ 30 ปีข้างหน้าจะกระจุกตัวอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ คองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และแทนซาเนีย ขณะที่ 61 ประเทศมีแนวโน้มที่ประชากรจะลดลงราว 1% หรือมากกว่านั้นในช่วงเวลาเดียวกัน สืบเนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง
ที่มา : รอยเตอร์