xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! บิ๊กรัฐบาลสหรัฐฯ เดินทางถึงไทย ท่ามกลางความตึงเครียดอเมริกา-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงเทพฯ แล้วเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ (9 ก.ค.) และมีแผนพบปะหารือในไทยในวันอาทิตย์ (10 ก.ค.) ส่วนหนึ่งในความพยายามครั้งใหม่ของอเมริกา ในการประสานความร่วมมือกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคสำคัญที่ต้องแข่งขันกับจีน ในขณะเดียวกัน เขาจะพยายามหาแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับแนวทางการฟื้นตัวประชาธิปไตยในพม่า

บลิงเคน กำลังเดินทางเยือนไทย พันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย หลายวันหลังจาก หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เดินทางมาเยือน ทั้งนี้ หวัง อี้ ทัวร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครอบคลุมกว่า และเขาใช้โอกาสดังกล่าวเน้นย้ำการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานอันมหาศาลของปักกิ่ง

สหรัฐฯ ให้คำจำกัดความจีน ซึ่งปกครองด้วยระบบเผด็จการและกำลังเฟื่องฟูในด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรทหาร ในฐานะคู่แข่งที่เด่นชัดทั่วโลก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ทั้งสองประเทศหาทางลดอุณหภูมิความตึงเครียดระหว่างกัน ด้วย หวัง และ บลิงเคน พบปะพูดคุยกันนานอย่างไม่ปกตินานกว่า 5 ชั่วโมง บนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันเสาร์ (9 ก.ค.)

ก่อนบินมายังกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำวันเสาร์ (9 ก.ค.) บลิงเคน บอกว่าเขาพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับหวัง และยืนยัน 2 ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกต้องการปกป้องไม่ให้การแข่งขันระหว่างพวกเขาลุกลามบานปลายจนควบคุมไม่อยู่

บลิงเคนกล่าวว่า สหรัฐฯ กำลังส่งเสริม "มาตรฐานสูงสุด" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ "ไม่ผูกมัดประเทศต่างๆ ด้วยหนี้สิน" คำพูดวิพากษ์วิจารณ์โครงการปล่อยกู้ข้ามชาติอันน่าดึงดูดใจของปักกิ่ง

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เคยเชิญพวกผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันในเดือนพฤษภาคม เพื่อแสดงถึงพันธสัญญาของอเมริกาต่อภูมิภาคแห่งนี้ แม้ว่าในตอนนั้นรัฐบาลกำลังพุ่งเป้าไปที่การตอบโต้ปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์มองว่าสหรัฐฯ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับภูมิภาคแห่งนี้ โดยในขณะที่วอชิงตันทุ่มเงินกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ในด้านอาวุธ สนับสนุนยูเครน แต่ จีน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ได้ให้สัญญามอบเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1,500 ล้านดอลลาร์ สำหรับต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกระตุ้นการพื้นตัวทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลไบเดน ตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ด้วยการแถลงมอบเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และบอกว่ากำลังให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ในความร่วมมือในขอบเขตต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ในด้านสาธารณสุข วัคซีนโควิด-19 และการศึกษา ขอบเขตที่ทาง บลิงเคน จะเน้นย้ำอีกครั้งระหว่างพบปะพูดคุยกับบรรดาผู้นำระดับสูงในกรุงเทพฯ ในนั้นรวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย

นอกจากนี้ บลิงเคน จะพบปะกับบรรดาตัวแทนกลุ่มเยาวชนจากพม่าในประเทศไทย หลังจากเหตุรัฐประหารในพม่า โค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ได้ปิดประตูกระบวนการอันยาวนานหลายทศวรรษและประคับประคองโดยสหรัฐฯ ในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในประเทศแห่งนี้

รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตอบโต้เหตุยึดอำนาจดังกล่าว ด้วยการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานคณะรัฐประหาร แต่มันไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในการกดดันกองทัพทรงอิทธิพลที่มีประวัติไม่ไว้วางใจอิทธิพลภายนอก

เมื่อราวๆ 1 ปีก่อน ประชาคมอาเซียนนำเสนอแผนหนึ่ง ซึ่งจะผลักดันให้คณะรัฐประหารพูดคุยเจรจากับฝ่ายต่อต้าน แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ในจุดยืนร่วมกับสหรัฐฯ แบบที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก หวัง เดินทางเยือนพม่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และสนับสนุนให้คณะรัฐประหารพูดคุยเจรจากับฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน

ดเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำเอเชียตะวันออก กล่าวว่า "บลิงเคนจะหาทางเพิ่มแรงกดดันใส่รัฐบาล ตัดแหล่งทุนของพวกเขา และดำเนินการบีบบังคับใหพม่าคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย"

คริเทนบริงค์ เรียกไทยว่า "คู่หูที่สำคัญ" ในด้านประชาธิปไตยในพม่า แต่ขณะเดียวกันการเดินทางเยือนกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ยังเป็นการสานต่อความสัมพันธ์อันปกติกับไทย ประเทศที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยก่อรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2014

รายงานของเอเอฟพีระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ในศึกเลือกตั้งปี 2019 และในไทยเปิดกว้างต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ นำพาประเทศแห่งนี้กลับสู่การยอมรับของสหรัฐฯ อีกครั้ง

บลิงเคนเคยมีกำหนดเดินทางเยือนกรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว แต่มีอันต้องเลื่อนออกมา หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบรรดาคณะผู้แทนของเขา

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น