xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ผงะ! พบจุลชีพที่มนุษย์ไม่รู้จักเกือบ 1,000 ชนิดในธารน้ำแข็ง ‘ทิเบต’ หวั่นเป็นต้นตอ ‘โรคระบาด’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิทยาศาสตร์ค้นพบจุลชีพซึ่งมนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อนกว่า 900 ชนิด อาศัยอยู่ภายในธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบต ซึ่งจากการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมพบว่าพวกมันบางตัวเสี่ยงที่จะก่อให้เกิด “โรคระบาด” ได้ หากถูกปลดปล่อยออกมา

ทีมนักวิจัยจาก Chinese Academy of Sciences ได้เก็บตัวอย่าง 21 ชิ้นจากธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบตซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหิมาลัยกับทะเลทรายทากลามากัน และได้นำจุลชีพที่พบในน้ำแข็งเหล่านี้ไปตรวจลำดับพันธุกรรม จนสามารถสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Tibetan Glacier Genome and Gene (TG2G) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาวิเคราะห์ด้านพันธุกรรมของจุลชีพในธารน้ำแข็งเหล่านี้อย่างจริงจัง

จากรายงานที่เผยแพร่ลงในวารสาร Nature Biotechnology นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้ค้นพบจุลชีพ 968 ชนิดถูกแช่อยู่ในธารน้ำแข็ง ซึ่งมีทั้งแบคทีเรีย สาหร่าย อาร์เคีย (archaea) และราต่างๆ แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ 98% เป็นจุลชีพที่ไม่เคยถูกค้นพบที่ไหนมาก่อน

ความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ไม่คาดฝันมาก่อนว่าจะเจอ เนื่องจากการดำรงชีวิตอยู่ในธารน้ำแข็งนั้นมีปัจจัยท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่ต่ำมาก รังสีที่รุนแรงจากดวงอาทิตย์ วงจรการถูกแช่แข็ง-ละลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมไปถึงสารอาหารที่มีอยู่จำกัด

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่า จุลชีพบางตัวที่พบมีอายุยาวนานแค่ไหน ทว่าจากการศึกษาในอดีตพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสามารถ “ปลุก” จุลชีพซึ่งอาจถูกแช่อยู่ในธารน้ำแข็งมานานถึง 10,000 ปี

อย่างไรก็ดี ความหลากหลายของจุลชีพที่พบ ประกอบกับวิกฤตละลายของธารน้ำแข็งจากภาวะโลกร้อน ทำให้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เตือนถึงความเสี่ยงที่จุลชีพอันตรายบางชนิด โดยเฉพาะแบคทีเรีย อาจจะหลุดรอดออกมาสร้างปัญหาต่อมนุษย์

“จุลชีพก่อโรคซึ่งติดอยู่ในธารน้ำแข็งอาจกลายเป็นบ่อเกิดของโรคระบาดในระดับท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งโรคระบาดใหญ่ (pandemic) หากพวกมันถูกปลดปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม” ทีมนักวิจัยระบุ

การศึกษาชิ้นนี้ยังพบหลักฐานบ่งบอกว่าแบคทีเรียที่พบใหม่บางตัวอาจจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย โดยทีมนักวิจัยพบโมเลกุลที่เป็นปัจจัยการก่อโรค (virulence factors) ถึง 27,000 ตัว ซึ่งอาจจะทำให้แบคทีเรียที่พบใน TG2G สามารถรุกรานและเพิ่มปริมาณขึ้นในโฮสต์ (host) และ 47% ของปัจจัยก่อโรคเหล่านี้ยังไม่เคยถูกพบที่ไหนมาก่อน จึงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าแบคทีเรียพวกนี้จะอันตรายมากน้อยเพียงใด

สาเหตุอีกประการที่อาจทำให้ธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบตกลายเป็นบ่อเกิดของโรคระบาดในอนาคตก็เนื่องจากว่า มันเป็นต้นธารของแม่น้ำสำคัญหลายสาย เช่น แม่น้ำแยงซี แม่น้ำเหลือง และแม่น้ำคงคา ซึ่งหล่อเลี้ยง 2 ประเทศใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลกอย่างจีนและอินเดีย

ที่มา : livescience
กำลังโหลดความคิดเห็น