xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานอภิมหาเสี่ย ‘เรย์แบน’ อิตาลี: 87 ปีจากบ้านเด็กกำพร้า สร้างอาณาจักรใหญ่คับโลก 2 ล.ล.บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อภิมหาเศรษฐีลีโอนาร์โด เดล เวกคิโอ ผู้ร่ำรวยที่สุดรายหนึ่งของโลก มีวิสัยทัศน์ธุรกิจอันแม่นยำและคมกริบ เป็นที่ยอมรับและยำเกรงของผู้คน ประสบการณ์มากมายในด้านช่างฝีมือที่ผลิตชิ้นส่วนแว่นตา ตลอดจนประสบการณ์ขณะการคร่ำหวอดอยู่ในโรงงานของตนเองที่ผลิตทั้งชิ้นส่วนแว่นตาและกรอบแว่นตา เอื้อให้เขาเห็นช่องว่างและโอกาสที่จะเติบใหญ่ไปทั่วโลก ยุทธศาสตร์ธุรกิจของเขาล้วนแต่นำความสำเร็จให้แก่เขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายกิจการแว่นตาลักซ์ชัวรีในแนวตั้ง จนกระทั่งสามารถครอบคลุมครบตั้งแต่ส่วนของการออกแบบ-การผลิตกรอบ-การผลิตเลนส์-การประกอบ-และการจัดจำหน่าย อาณาจักรธุรกิจแว่นตาของเขากลายเป็นจอมยักษ์เบอร์หนึ่งของโลก มีมูลค่ามหาศาลกว่า 2 ล้านล้านบาทกันเลยทีเดียว
ลีโอนาร์โด เดล เวกคิโอ อภิมหาเศรษฐีหมายเลข 2 ของอิตาลี หนึ่งในสุดยอดผู้ประกอบการร่ำรวยที่สุดของโลกด้วยธุรกิจระดับโลกหมวดแว่นตาเพื่อความโฉบเฉี่ยวเท่หรู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แว่นแมนๆ แบรนด์เรย์แบน เขาโบกมือลาไปสู่โลกทิพย์ในวัยกำลังดี 87 ปีบริบูรณ์ ทิ้งไว้ซึ่งตำนานการสร้างความโคตะระร่ำรวยด้วยสมองและสองมือแห่งความเป็นเลิศด้านงานช่าง กลายเป็นนายช่างฝีมือฉมังผู้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ชาญฉลาดเพื่อต่อยอดกิจการ ขยายแล้วขยายอีก โดยอิงอยู่กับวิสัยทัศน์แม่นยำ และการทำงานหนักอย่างสนุกทุ่มเท ตำนานสู้แล้วรวยของเขายืนยันว่าชีวิตที่ ยากจน-อดทน-ฉลาด-เห็นโอกาส-ลุย-รวย-รวยทะยาน-รวยล้นฟ้า มีอยู่จริง

ซูเปอร์ลีโอนาร์โดแหวกฝ่าออกจากความยากจนระดับผ้าขี้ริ้วรุ่งริ่งในบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้า ด้วยการรีบเข้าสู่ระบบแรงงานตั้งแต่เป็นหนุ่มน้อยวัย 14 ปี ด้วยอาชีพเด็กฝึกงานภายในร้านช่างโลหะโดยได้รับค่าตอบแทนเล็กน้อยเหลือเกิน แต่เขาสามารถเก็บเกี่ยวความรู้และทักษะ กระทั่งสามารถสร้างตัวขึ้นเป็นเจ้าของโรงงานเล็กๆ ที่ผลิตกรอบแว่นตาและชิ้นส่วนอะไหล่ฝีมือเนี้ยบกริ๊บในแถบเทือกเขาโดโลไมต์ เมืองอากอร์โด ก่อนจะยกระดับธุรกิจขึ้นเป็นเครือธุรกิจแว่นตาระดับโลกที่นำความโฉบเฉี่ยวสไตล์อิตาเลียนใส่เข้าไปขั้นตอนการดีไซน์ ทำให้แว่นตามิใช่แค่ของใช้ประจำวันที่แก้ปัญหาการมองไม่ชัด หากยังเป็นเครื่องประดับเสริมหล่อเท่ เพิ่มสวยเก๋ พร้อมบ่งบอกความร่ำรวยของผู้สวมใส่ไปในเวลาเดียวกัน

หลายทศวรรษผ่านไปพร้อมกับความสำเร็จที่เชิดชูให้มหาอาณาจักรธุรกิจแว่นไฮโซไซตี้ได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุดล้มคว่ำ และด้วยวิสัยทัศน์การตลาดอันแหลมคม อภิมหาเศรษฐีนักสร้างธุรกิจรายนี้ยังพัฒนาแหล่งสนับสนุนเงินเครื่องจักรผลิตรายได้ให้เข้าสู่เครือธุรกิจการเงินเมดิโอบังคาและธุรกิจประกันภัยเจเนอราลี บลูมเบิร์กรายงานเช่นนั้น

บัดนี้ อภิมหาเศรษฐีเดล เวกคิโอ ผู้ร่ำรวยที่สุดรายหนึ่งของโลกได้ปิดฉากชีวิตนักอุตสาหกรรมและเจ้าพ่อธุรกิจเจ้าของอาณาจักรสุดฟู่ฟ่าโฉบเฉี่ยว เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเอเอฟพีระบุว่าสิ้นใจที่โรงพยาบาลด้วยโรคนิวมอเนีย ทั้งนี้ ในสิริอายุ 87 ปี ผู้ประกอบการระดับซูเปอร์แมน ผู้ซึ่งทำให้ความเป็นผู้ประกอบการมือทองของตน กลายเป็นตำนานที่น่าทึ่งกึ่งน่าอิจฉา ดั่งว่าจะใช้เวทมนตร์เสกสรรขึ้นมา แต่ทว่า มันมิใช่อย่างนั้นเลย เงินแต่ละก้อนที่เพิ่มพูนในกำปั่นของเอล เวกคิโอ ได้มาจากความฉลาดลุ่มลึกและการทำงานหนักอย่างทุ่มเทใส่ใจ โดยเดินบนสุดยอดยุทธศาสตร์ที่ไม่เคยผิดพลาดนั่นเอง

ลีโอนาร์โด เดล เวกคิโอ เป็นสุภาพบุรุษร่างสันทัด แต่งกายสะอาดประณีต พูดน้อยและพูดจาด้วยถ้อยคำเรียบง่ายเสียงเบาทว่ามั่นคง เขาเชื่อในเรื่องของการไม่คุยโม้ฟุ้งกระจาย เขาหลีกห่างสปอตไลท์ ซึ่งทำให้เขารุกคืบขึ้นหน้าได้ก่อนที่คู่แข่งจะทันสังเกต สื่อมวลชนประชดว่าเขาเป็นชายผู้ไร้ตัวตน “Mr. Nobody” ขณะที่คู่แข่งธุรกิจของเขาโวยว่าเขาทำตัวเป็นเจ้าพ่อของอุตสาหกรรมและเล่นอิทธิพลมากเกินไป และทำธุรกิจผูกขาด เขาไม่โต้ตอบและรักษามาตรฐานการเป็นผู้ประกอบการนิสัยดีที่เสียภาษีอย่างถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ภาพลักษณ์ของเขาจึงปลอดภัยจากเรื่องอื้อฉาวด้านคอร์รัปชั่นซึ่งอภิมหาเศรษฐีอิตาลีรายอื่นๆ ถูกเล่นงานอย่างหนัก
คุณแม่ยากจนข้นแค้น ฝาก ด.ช.ลีโอนาร์โดไว้กับบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้า พออายุ 14 รับเริ่มทำงานมีรายได้ของตนเอง

โดยที่เป็นลูกคนที่ 4 และเป็นเด็กข้างถนน ยากจนมอมแมม ซึ่งโตขึ้นมาในเมืองมิลานยุคยับเยินด้วยระเบิดในห้วงแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง เด็กชายลีโอนาร์โด เดล เวกคิโอ เด็กกำพร้าพ่อ ถูกคุณแม่กราเซีย ร็อกโค พาไปฝากให้พักอาศัยอยู่กับบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าของเมืองมิลานในปี 1942 ตอนที่มีอายุเพียง 7 ขวบ

“ดิฉันไม่มีใครช่วยดูแลลูกเลยค่ะ” คุณแม่ร็อกโคเขียนไว้ในจดหมายที่ซุกอยู่กับแฟ้มประวัติเด็กชายลีโอนาร์โด ณ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามาร์ตินิตต์ คุณแม่ผู้ทำงานหาเงินเลี้ยงลูกด้วยอาชีพสาวโรงงานเขียนด้วยว่า การที่ลูกได้อยู่ในบ้านมาร์ตินิตต์คือความหวังขั้นสูงสุดว่าลีโอน้อยจะไม่อดตาย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งคุณแม่และทุกคนไม่คาดคิดเลยก็คือ น้องลีโอจะเดินหน้าขึ้นไปเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ร่ำรวยที่สุดของโลก บลูมเบิร์กเล่าไว้

ลีโอนาร์โด เดล เวกคิโอ ผู้กำพร้าพ่อตั้งแต่ที่ลืมตาดูโลกในวันที่ 22 พฤษภาคม 1935 จึงต้องว้าเหว่ห่างอ้อมอกแม่ และเติบใหญ่ขึ้นมาในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามาร์ตินิตต์ซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่าเข้มงวดหนักหนา นาน 7 ฤดูหนาว และเมื่ออายุเพียง 14 ปีก็ได้รับอนุญาตให้ออกสู่โลกกว้างแม้เป็นวัยที่ต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะเขามีงานทำอยู่ในเมืองมิลานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เลี้ยงชีพได้ ซึ่งนั่นเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของน้องลีโอในปี 1949

ชีวิตลูกจ้างในช้อปโลหะผู้เชี่ยวชาญการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนจิ๋วๆ สำหรับแว่นตา ได้ฝึกสร้างและสะสมทักษะความรู้ของลีโอนาร์โดขึ้นมาเป็นช่างฝีมือขั้นเทพ นอกจากนั้น ในเวลาเดียวกัน เขาใฝ่ใจกับการศึกษาเล่าเรียนในระบบ จนกระทั่งได้รับอนุปริญญาจากสถาบันเบรรา อะคาเดมี ออฟ อาร์ต ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเก่าแก่ของรัฐซึ่งโด่งดังในด้านวิจิตรศิลป์ เว็บไซต์เดอะฟลอเรนทีนให้ข้อมูล

หนุ่มน้อยเดล เวกคิโอ เป็นคนมีวิสัยทัศน์ตั้งแต่อายุยังน้อย ประสบการณ์ความอดอยากหิวโหยและการมีเจ้าหัวใจคอยบงการมากมายภายในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ถูกใครต่อใครสั่งโน่นนี่นั่นตลอดเจ็ดปี ทำให้หนุ่มน้อยตั้งเป้าชีวิตที่จะพัฒนาตนเองขึ้นเป็น “ช่างฝีมือ” ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก เดล เวกคิโอเล็งเห็นว่าอาชีพช่างฝีมือคือช่องทางอันมั่นใจได้ว่าชีวิตข้างหน้าจะไม่มีทุกข์เรื่องอดอยากหิวโหย – และเหนืออื่นใด ในความเป็นหนุ่มราศีพฤกษภแห่งกระทิงดุวัวดื้อ เขาบอกตนเองว่าจะไม่มีใครมาสั่งให้ทำโน่นนี่นั่น เขาจะเป็นนายของตนเอง

9 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก เสี่ยหนุ่มฉกรรจ์นาม เดล เวกคิโอ ณ วัย 23 กะรัต สลัดพ้นจากคราบหนุ่มน้อยอดอยากยากจน มาเป็นผู้ชายวัยตั้งตัว ผู้พรักพร้อมด้วยทักษะฝีมือและประสบการณ์ อีกทั้งยังมีใบอนุปริญญาอยู่ในมือ เขาตัดสินใจผละออกจากชีวิตลูกจ้าง ก้าวสู่ความเป็นผู้ประกอบการและมีธุรกิจของตนเอง ทั้งนี้ ด้วยทุนที่สะสมขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เขาเปิดช้อปโลหะขึ้นในเมืองมิลาน ทำการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับแว่นตา เว็บไซต์เดอะฟลอเรนทีนให้ข้อมูลอย่างนั้น

แว่นกันแดดนักบิน เรย์แบน แสนเท่ ที่ทอม ครูซ สวมเข้าฉาก Top Gun Maverick (2022) ซึ่งอยู่ในภาพบานนี้ของบริษัทลูซอตติกา ถูกผลิตอย่างพิเศษโดยมีการวัดสัดส่วนโครงหน้าหล่อๆ ของคุณพระเอก เพื่อความเป๊ะปัง ดูว้าว ขั้นสุด  แว่นกันแดดนักบิน เรย์แบน เป็นวัตถุเสริมหล่อคู่บุญของ “ป๋าพีท มาเวอริค” มาตั้งแต่ที่ภาพยนตร์ Top Gun (1986) เข้าฉากในโรงหนังเมื่อ 36 ปีที่แล้ว แต่ในตอนนั้น เรย์แบน ยังมิได้ถูกครอบครองโดยลูซอตติกาจนกระทั่งปี 1999 และเจ้าของเรย์แบนจ้างให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญหาทางให้เรย์แบนได้ไปอยู่บนใบหน้าของดาราดังๆ บนหนังฟอร์มใหญ่ยักษ์ทุกเรื่องเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น พีท มาเวอริค จึงได้ช่วยโปรโมทให้เรย์แบนรุ่นนี้เป็นหนึ่งในสุดยอดไอคอนอมตะแว่นกันแดดนักบินของโลกตราบจนถึงทุกวันนี้ เว็บไซต์ข่าว concavebt.com เม้าท์มอยไว้อย่างนั้น
มั่นใจในฝีมือชั้นเยี่ยมและด้วย ‘ตัวช่วย’ และทุนที่สะสมเพียงพอ ก็ตั้ง ลูซอตติกา ผลิตกรอบแว่นป้อนบริษัทใหญ่

ธุรกิจของ เดล เวกคิโอ มีการก้าวกระโดดครั้งสำคัญหลังจากที่ทำอุตสาหกรรมเล็กๆ ของตนเองจนมั่นคงอยู่ราว 3 ปี โดยเขาย้ายไปสร้างธุรกิจในแถบเทือกเขาโดโลไมต์ เมืองอากอร์โด (ใกล้เมืองเวนิสในแคว้นเวเนโตทางตอนเหนือที่ชิดพรมแดนตะวันออกและติดทางออกทะเลผ่านอ่าวเวนิส) และตั้งบริษัทลูซอตติกาขึ้นมาเมื่อปี 1961 บลูมเบิร์กเล่าไว้

แรงจูงใจของเดล เวกคิโอ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญมากๆ สำหรับผู้ประกอบการ คือ การได้รับที่ดินฟรีจากภาครัฐ ภายใต้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างงานรองรับเยาวชนหนุ่มสาว ซึ่งจะช่วยดึงกำลังแรงงานมิให้พากับอพยพออกไปสู่เมืองใหญ่

ธุรกิจของเสี่ยหนุ่มเป็นช้อปโลหะขนาดเล็ก ซึ่งมิใช่เพียงผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์แว่นตา หากยังผลิตกรอบแว่นตาเต็มตัว ผลิตภัณฑ์ของเขาซึ่งมีคุณภาพสูงด้วยฝีมือเป๊ะปัง ถูกผลิตตามดีไซน์และสเปกที่กำหนดมากับใบออร์เดอร์ซึ่งเขาประมูลได้จากบรรดาผู้ผลิตแว่นตาหลายบริษัท กิจการของลูซอตติกาดีวันดีคืนและขยายใหญ่จนกระทั่งมีช่างในทีมรวม 12 ราย

ภายในเวลา 6 ปี นับจากค.ศ. 1961 เสี่ยเดล เวกคิโอ สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายธุรกิจลำดับต่อไปของตนได้สำเร็จ กล่าวคือ การยกฐานะจากการเป็นซัปพลายเออร์ส่งผลิตภัณฑ์ของตนป้อนเข้าสู่บริษัทอื่น ขึ้นไปเป็นบริษัทผู้ผลิตแว่นตาเต็มตัวภายใต้ตราสินค้า ลูซอตติกา เดอะฟลอเรนทีนเล่าไว้เช่นนี้

ยิ่งกว่านั้น ในปี 1971 เขาเปิดตัวสู่ตลาดกรอบแว่นตาระหว่างประเทศ โดยผลิตคอลเลกชั่นกรอบแว่นเซ็ตแรก แบรนด์ลูซอตติกา นำไปออกงานเทรดแฟร์ MIDO (Mostra Internazionale Dell’Ottica) ซึ่งเป็นนิทรรศการแห่งอุตสาหกรรมแว่นตาระดับระหว่างประเทศ ณ เมืองมิลาน เว็บไซต์บริษัทลูซอตติกาให้ข้อมูลไว้ในหมวดประวัติบริษัท

พัฒนาการธุรกิจอย่างก้าวกระโดดนี้ นอกจากจะประสบความสำเร็จในเชิงการตลาด ยังนำไปสู่การแปลงร่างขึ้นสู่ความเป็นบริษัทผู้ผลิตแว่นตาเต็มตัว มิใช่แค่โรงงานเล็กๆ นอกวงการที่ผลิตชิ้นส่วนเข้าไปป้อนแก่บริษัทต่างๆ

อนุสาวรีย์แว่นตา ณ สำนักงานลูซอตติกาในเมืองอากอร์โด แถบเทือกเขาโดโลไมต์อันงดงามแห่งแคว้นเวเนโตทางตอนเหนือของอิตาลี

โลโก้ซึ่งทั้งโก้ เท่ และทั้งคลาสิกหรูอมตะ ของอาณาจักรแว่นตาแบรนด์ลูซอตติกา สะท้อนอยู่บนเลนส์แว่นกันแดด ในความเป็นศิษย์เก่าสถาบันการศึกษาด้านศิลปะอันเก่าแก่ของรัฐ นามว่า สถาบันเบรรา อะคาเดมี ออฟ อาร์ต นั้น ลีโอนาร์โด เดล เวกคิโอสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมาจาก คำว่า Lux คือ แสง กับคำว่า ottica คือเลนส์ดวงตา
ผงาดเป็นอาณาจักรธุรกิจแว่นตา ด้วยยุทธศาสตร์ควบรวมกิจการชั้นเยี่ยมมาเป็นเขี้ยวเล็บช่วยงานการตลาด

เมื่อมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง เป้าหมายธุรกิจต่อไปย่อมต้องเป็นการไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งโนว์-ฮาวด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบุกไปสยายปีกปักหลักในตลาดใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา

ซูเปอร์ผู้ประกอบการ เดล เวกคิโอเลือกใช้ยุทธศาสตร์ควบรวมกับกิจการของบริษัทผู้จัดจำหน่ายระดับค้าส่งที่มีโนว์-ฮาวฉกาจฉกรรจ์ด้านตลาดแว่นตาของอิตาลี โดยเขาเลือกบริษัทสการ์โรน และใช้เวลา 3 ปีก็บรรลุเป้าหมายเรื่องนี้ได้สำเร็จในค.ศ. 1974

หลังจากนั้นเป็นยุทธศาสตร์การเปิดตลาดต่างประเทศ ด้วยกลยุทธ์การตั้งบริษัทลูกไว้ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศผู้นำของอุตสาหกรรมการผลิตแว่นตาระดับโลก ต่อด้วยการควบรวมกิจการกับบริษัทอาวองท์-การ์ด ออปติกส์ อิงค์ บริษัทฝรั่งเศษที่มีชื่อชั้นขั้นสูงระดับผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของตลาดสหรัฐฯ การควบรวมกิจการสำเร็จในปี 1981 เว็บไซต์บริษัทลูซอตติกาให้ข้อมูลอย่างละเอียด

เรี่ยวแรงร่างกายและพลังจิตพลังใจของหนุ่มกระทิงห้าวชาวราศีพฤกษภนามว่า มหาเศรษฐีเดล เวกคิโอ ช่างมโหฬารเหลือเกิน เขาใช้เวลา 2 ทศวรรษต่อมา (1980s -1990s) ไปกับยุทธศาสตร์เติบโตผ่านการควบกิจการกับบรรดาบริษัทคุณภาพดีด้านการจัดจำหน่ายในภูมิภาคต่างๆ ของตลาดโลก พร้อมกับเจาะเข้าไปเติบใหญ่ในตลาดประเทศต่างๆ ด้วยกลยุทธ์เปิดบริษัทลูกและการสร้างบริษัทร่วมลงทุนภายในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจไซส์ใหญ่โตทั้งปวง

อภิมหาเศรษฐีเดล เวกคิโอ ศิษย์เก่าสถาบันเบรรา อะคาเดมี ออฟ อาร์ต เป็นหนึ่งในผู้ที่หลงใหลในความงามของโบราณวัตถุ  ในชายคาของสำนักงานใหญ่ลูซอตติกา มีพิพิธภัณฑ์แว่นตาโบราณชั้นเยี่ยม เช่น กรอบแว่นตาทำจากกระดองเต่าในภาพนี้ ซึ่งเป็นงานศิลป์สุดงดงามประณีตจากประเทศจีนเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 18
ขยายฐานด้วยยุทธศาสตร์ Licensing Agreements ในคอนเซ็ปต์ ‘แว่นตาคือแฟชั่นขั้นไฮโซ’

ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นห้วงหนักหน่วงระส่ำระสายเพราะนายใหญ่ต้องการนวัตกรรมที่ใหม่จริง ฉีกจริง โดนใจผู้บริโภคได้เป๊ะขั้นสุด วิกฤตนี้มาบรรจบเจอกับวิวัฒนาการที่หักเหและก้าวกระโดด จากการมีแว่นตาเป็นของใช้ติดตัวเพื่อแก้ปัญหาสายตา ไปสู่การมีแว่นเป็นเครื่องประดับแฟชั่นสร้างบุคลิกให้ดูดี ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ผู้พบเห็นรู้สึกเกรงใจ

จอมทัพแห่งลูซอตติกาวิเคราะห์แล้ว ก็ต่อสายไปหาจอมเทพแห่งการออกแบบสินค้าแฟชั่นผู้ซึ่งเลอเลิศที่สุดในสามโลก ได้แก่ จิออร์จิโอ อาร์มานี เจ้าของศักยภาพแห่งจินตนาการอันมหาศาล ผู้มีไอเดียใหม่ไม่รู้จักหมด ผู้เป็นประมาณว่าพ่อทุกสถาบันการออกแบบ โดยมีการลงนามกันในปี 1988 เพื่อสร้างข้อตกลง Licensing Agreements ที่ลูซอตติกาจะสร้างผลิตภัณฑ์แว่นตาโดยจะเสกสรรค์อย่างประณีตเป๊ะปังตามรายละเอียดทุกสิ่งอย่างที่อาร์มานีออกแบบและกำหนดขึ้นมา พร้อมกับติดแบรนด์เนมอันทรงคุณค่าของอาร์มานีเพื่อให้ผู้ซื้อมั่นใจในความเลิศหรูยามสวมใส่ พร้อมกับทำการวางตลาดให้อย่างสมฐานะแห่งชื่อชั้นของแบรนด์ ข้อตกลงนี้ผูกพันกันยาวๆ 15 ปีทีเดียว

นั่นเป็นการเริ่มสถาปนาเครือข่าย Licensing Agreements ซึ่งในสามทศวรรษต่อมา ค่ายลูซอตติกาเดินหน้าสร้างความตกลงแบบนี้กับบรรดาสุดยอดแฟชั่นเฮาส์ทั่วจักรภพแห่งสินค้าเครื่องประดับลักซ์ชัวรี

ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน เป็นแฟนเก่าเหนียวแน่นกับแว่นกันแดดนักบิน เรย์แบน  สื่อมวลชนทราบกันดีในเรื่องนี้ตั้งแต่ที่เขายังเป็นวุฒิสมาชิกคนดังแห่งพรรคเดโมแครต กระทั่งล้อแซวกันว่าแว่นนักบินเรย์แบนเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของโจ ไบเดน ในปี 2011 โต๊ะข่าวการเมืองของซีเอ็นเอ็นจัดทำอัลบั้ม 11 ภาพรองประธานาธิบดีไบเดนกับแว่นนักบิน หนึ่งในนั้นเป็นภาพซึ่งรองประธานาธิบดีไบเดนนั่งอยู่กับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในพิธีการที่อาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย ในเดือนกันยายน 2011
ตะลุยครองโลกด้วย 3 ยุทธศาสตร์: เข้าครองกิจการที่ช่วยขยายอาณาจักร-สร้างข้อตกลง Licensing-ปักหลักในตลาดยักษ์ใหม่ๆ

เมื่อตรวจดูไทม์ไลน์การควบรวมซื้อกิจการ การสร้างข้อตกลง Licensing Agreements และการเข้าปักหลักในตลาดใหญ่ยักษ์แหล่งใหม่ๆ ตั้งแต่รอบทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ข้อมูลจากเว็บไซต์ของลูซอตติกาดอทคอม ทำให้เห็นได้ชัดว่า อภิมหาเศรษฐีเดล เวกคิโอลุยสร้างเขี้ยวเล็บให้แก่บริษัทลูซอตติกา และสร้างโอกาสทางการตลาดขึ้นในทุกทวีปทั่วโลก อีกทั้งยังลุยเข้าครอบครองบริษัทต่างๆ เพื่อการขยายกิจการแว่นตาลักซ์ชัวรีให้ครบเครื่องในแนวตั้งได้อย่างสมบูรณ์ และในสหัสวรรษที่ 3 นี้ ก็ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งปวง มีการสร้างนวัตกรรมแว่นตาไฮเทคที่เก่งกาจฉลาดเยี่ยม

-ปี 1990 เข้าครองธุรกิจแว่นตาของ Vogue แฟชั่นเฮาส์รายยักษ์แห่งสหรัฐฯ ที่มีตลาดอยู่ทั่วโลก

-ทศวรรษ 1990 กับการทำข้อตกลง Licensing Agreements: Brooks Brothers เจ้าพ่อตลาดค้าปลีกเสื้อผ้าซึ่งยั่งยืนเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ (1992); Bulgari จ้าวแห่งงานฝีมืออิตาลี การออกแบบที่ร่วมสมัยพร้อมรายละเอียดที่วิจิตรตรึงตาตรึงใจ และคุณภาพที่เหนือชั้น (1997); Chanel แบรนด์แห่งความหรูหรามีสไตล์ ให้ความรู้สึกลึกซึ้งชวนหลงใหล และสิ่งสำคัญคือความโดดเด่นมีความพิเศษในตนเอง (1999)

-ปี 1995 เข้าครองบริษัทแว่นตาชั้นนำของอิตาลี คือ Persol ซึ่งเป็นเลิศด้านฝีมือช่าง ความงดงามมีรสนิยม และเทคโนโลยี

-ปี 1997 ปักหลักในมณฑลกวางตุ้งของจีน โดยตั้งโรงงานร่วมทุนกับญี่ปุ่น

-ปี 1999 เข้าครองกิจการด้านแว่นตา Ray-Ban จากบริษัทบอช แอนด์ ลอมบ์

-ปี 2001 เสริมแกร่งกิจการค้าปลีกแว่นกันแดดด้วยการเข้าครองบริษัท Sunglass Hut หนึ่งในผู้จัดจำหน่ายแว่นกันแดดในตลาดไฮเอนของทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย และประเทศอังกฤษ

-ปี 2003 บุกตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยเข้าครองบริษัทเจ้าพ่อของภูมิภาค ได้แก่ OPSM ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกแว่นตาและสินค้าถนอมสายตา

-ทศวรรษ 2000 และทศวรรษ 2010 แห่งการทำข้อตกลง Licensing Agreements กับ 12 แฟชั่นเฮาส์ชั้นนำของโลก: Prada และ MIU MIU (2003); Versace (2003); DKNY (2005); Dolce & Gabbana (2006); Burberry (2006); Ralph Lauren (2007); Tiffany (2008); Tory Burch (2009); Coach (2012); Michael Kors (2015); Valentino (2017)

-ปี 2004 ขยายส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกของทวีปอเมริกาเหนือ ผ่านการเข้าครองบริษัท Cole National ซึ่งเป็นเจ้าของร้านแว่นตาจำนวนมหาศาลภายใต้ 3 เครือข่ายแห่ง 3 แบรนด์ ได้แก่ Pearle Vision กับ Sears Optical และ Target Optical ซึ่งตั้งร้านอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ

-ปี2005 และ 2009 เร่งเครื่องยุทธศาสตร์การปักหลักในตลาดใหม่ไซส์บิ๊ก โดยเข้าไปภายใต้แบรนด์ดังคับโลกอย่าง Sunglass Hut ได้แก่ ย่านตะวันออกกลาง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศแอฟริกาใต้ อินเดีย เม็กซิโก บราซิล ทวีปยุโรป และประเทศจีน โดยเข้าครองเครือแว่นตาจีนถึง 3 เจ้าในกรุงปักกิ่ง เมืองเซี่ยงไฮ้ และในมณฑลกวางตุ้ง นอกจากนั้น ยังส่ง Sunglass Hut เข้าไปปักหลักในห้าง Macy’s ยักษ์ใหญ่แห่งเครือข่ายห้างสรรพสินค้าแห่งทวีปอเมริกาเหนือ

แว่นตาเรย์แบน แสนหรูสวมแล้วดูเลิศสมราคา ลำพังเฉพาะความงามของโลโก้เรย์แบน ก็เหนือชั้นกว่าทุกสถาบันกันเรียบร้อยแล้ว
-ปี2007 ผนวกกิจการกับบริษัท Oakley แบรนด์ระดับไอคอนของผลิตภัณฑ์เครื่องกีฬา

-ปี2011 เข้าสู่ 4 ประเทศอเมริกาใต้ ในยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจค้าปลีกแว่นตาในชิลี เปรู เอกวาดอร์ และโคลัมเบีย โดยเข้าครองบริษัท Mulitopticas Internacional ซึ่งเป็นเจ้าของเชนร้านแว่นตาเจ้ายักษ์ใหญ่สามแบรนด์ดังในสี่ประเทศดังกล่าว

-ปี2014 ยกระดับศักยภาพการตลาด โดยบุกตลาดค้าขายออนไลน์เต็มตัว ผ่านการเข้าครองบริษัท Glasses.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่พัฒนาล้ำยุคสุดๆ ในอุตสาหกรรมแว่นตา

-ปี2014 ทุ่มทุนสร้างด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยพัฒนาแว่นตา “อัจฉริยะ” โดยร่วมกับหุ้นส่วนสุดยอดเจ๋งอย่าง กูเกิล และ อินเทล

-ปี2016 ออกผลิตภัณฑ์แว่นตาอัจฉริยะภายใต้แบรนด์ Oakley ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือกับ Intel และ Radar Pace แว่นตาอัจฉริยะเพื่อนักวิ่งและนักปั่นจักรยานมีระบบโค้ชที่ทำงานตามคำพูดของผู้สวมใส่

-ปี2018 รวมกิจการเข้ากับบริษัท Essilor International กลายเป็นโฮลดิ้งคอมปานีในชื่อว่า EssilorLuxottica พร้อมกับเข้าไปสร้างธุรกิจด้านเลนส์สายตากับเลนส์สำหรับแว่นกันแดดของคนสายตาสั้น โดยกลุ่มบริษัทเจ้ามโหฬารแห่งนี้ เป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลกในด้านการออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่าย เลนส์สายตาและเลนส์กันแดดสำหรับคนสายตาสั้น

-ปี2019 เสริมแกร่งธุรกิจการผลิตเลนส์ โดยเข้าครองบริษัท Barberini ผู้ผลิตเลนส์แว่นกันแดดชั้นนำของโลก โนว์-ฮาวที่ได้มาจะเข้าไปช่วยธุรกิจสำคัญคือธุรกิจในส่วนของแว่น Ray-Ban และแว่น Persol โดยตรง

เฟซบุ๊กในความร่วมมือกับลูซอตติกาเปิดตัวแว่นตาอัจฉริยะ นามว่า Ray-Ban Stories ซึ่งฉลาดล้ำเหลือเกิน ผู้ที่สวมใส่เค้าแล้ว จะหล่อเหลาขึ้นมาในบัดดล พร้อมกับใช้เค้าทำโน่นนี่นั่นได้อย่างสนุก อาทิ ใช้ถ่ายภาพกับถ่ายวิดีโอ ใช้ฟังดนตรี และยังใช้รับสายโทรศัพท์ได้ด้วย สนนราคาเมื่อวันที่เปิดตัว 9 กันยายน 2021 อยู่ที่สามร้อยดอลลาร์ทอนกลับมาดอลลาร์นึง ทั้งนี้ เฟซบุ๊กพัฒนาแว่นอัจฉริยะโดยใช้กรอบแว่น Wayfarer สุดคลาสสิกของเรย์แบน ผลิตภัณฑ์หัวแก้วหัวแหวนของลูซอตติกา
ตั้งเป้าใหม่ในวัย 87 ปี: จะอัพมูลค่าอาณาจักรสู่ 3 ล.ล.บาท จะทำอย่างไร ไม่บอก เขาไม่โม้ฟุ้งอะไรทั้งนั้น

70 ปีผ่านไป ไวเหมือนนอนแล้วตื่น สดชื่นใจ ซูเปอร์ผู้ประกอบการนาม ลีโอนาร์โด เดล เวกคิโอ ได้สร้างตำนานมหัศจรรย์แห่งอาณาจักรธุรกิจและความร่ำรวยจากกระเป๋าเงินใบจิ๋ว บวกสมองและสองมือ มาเป็นประธานบริษัทเอสซีลอร์-ลูซอตติกา จอมยักษ์วิสาหกิจเมก้าไซส์แห่งธุรกิจแว่นตาสัญชาติฝรั่งเศส-อิตาเลียน นายจ้างของผู้คน 180,000 รายทั่วโลก และขยายกิจการและมีฐานลูกค้ามหาศาลอยู่ในทุกทวีปทั่วโลก โดยเป็นเจ้าพ่อเบอร์หนึ่งในธุรกิจกรอบแว่นตางามหรูลักซ์ชัวรี อาทิ แว่นเรย์แบน และในเทคโนโลยีแว่นตาอัจฉริยะ อีกทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตเลนส์ กับในเซ็กเตอร์แว่นเพื่อผู้มีความผิดปกติทางสายตา

เมื่อช่วงที่ก้าวสู่วันครบรอบชีวิต 87 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤษคม 2022 ท่านประธาน เอล เวกคิโอ สร้างเป้าหมายใหม่ให้ตนเอง ที่จะผลักดันให้เอสซีลอร์-ลูซอตติกา ผงาดเข้าสู่กลุ่มบริษัทที่มีทรัพย์สินสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ส.ร.อ. (หรือราว 3.3 ล้านล้านบาท) จากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์ (หรือราว 2 ล้านล้านบาท) บลูมเบิร์กรายงาน

ในความเป็นชาวราศีพฤกษภ อภิมหาเศรษฐีเดล เวกคิโอ ชอบที่จะพูดน้อย และเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่ในความมั่นคงทางอารมณ์โดยไม่หิวแสงหรือเสาะหาคำอวยใดๆ เขาไม่ใส่ใจจะตอกย้ำภาพลักษณ์ที่เขาครองความเป็นจ้าวแห่งอาณาจักรแว่นตาแบรนด์แฟชั่นหรูระดับจักรวาล สิ่งที่เขาให้ความสำคัญอย่างสม่ำเสมอคือการอยู่ห่างๆ สปอตไลท์สื่อมวลชน เขามักจะปฏิเสธการให้สัมภาษณ์เรื่องการงานหรือวิสัยทัศน์ต่อธุรกิจในอนาคต เขาจะยืนยันตลอดเลยว่าผลงานของบริษัทสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ในตัวมันเอง

ยิ่งเรื่องจะไปกล่าวถึงชีวิตวันเด็กที่เติบโตในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามาร์ตินิตต์ด้วยแล้ว ไม่ต้องไปสัมภาษณ์เลย อภิมหาเสี่ยเดล เวกคิโอไม่เคยใส่ใจจะไปตรวจดูแฟ้มตัวเองในบ้านเด็กกำพร้า ในบทสัมภาษณ์หนึ่งซึ่งนานแสนนานจึงจะมีขึ้นสักครั้ง เขาพูดในสุ้มเสียงเรียบๆ ใช้ถ้อยคำธรรมดาตอบคำถามว่า เขามาถึงตำแหน่งแห่งที่อันสูงสุดได้อย่างไร

“ผมต่อสู้เพื่อจะเก่งที่สุดในทุกสิ่งที่ผมทำเสมอครับ - มันแค่นั้นล่ะครับ” เดล เวกคิโอ พูดเรียบๆ มีจังหวะจะโคนสบายๆ พลางจิบเอสเพรสโซที่ภัตตาคารส่วนตัวด้านในอาคารสำนักงานใหญ่ลูซอตติกาเมืองมิลาน

“ผมไม่เคยรู้สึกว่าพอครับ” ประธานบริษัทเอสซีลอร์-ลูซอตติกา เปิดเผยแค่นั้นตอนที่ถูกถามถึงแรงขับเคลื่อนด้านการงาน ซึ่งนั่นอยู่ในบทสัมภาษณ์อีกคราวหนึ่งในวันซึ่งมีการพาชมโชว์รูมใหม่ของบริษัท

นอกจากคุณลักษณ์ดังกล่าว เดล เวกคิโอ ยังเด่นเรื่องวินัยเพื่อรักษาความสงบมั่นคงแก่ชีวิต เขาให้สัมภาษณ์แก่เอพีที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทเมื่อปี 1995 ว่า

“ผมก็ไม่ได้ชอบจ่ายภาษีหรอกนะ แต่ผมชอบนอนหลับให้สบายทุกคืน”

ทั้งนี้ เจ้าพ่อนักอุตสาหกรรมรายนี้สามารถรักษาภาพลักษณ์ผุดผ่องปลอดภัยจากข่าวอื้อฉาวเรื่องคอร์รัปชันได้เป็นอันดี ขณะที่ความอื้อฉาวประเด็นนี้ได้เขย่านักธุรกิจอิตาเลียนอย่างหนักหนาในช่วงต้นทศวรรษ 1990

เหนืออื่นใด ซูเปอร์ผู้ประกอบการเดล เวกคิโอไม่ปริปากถึงเคล็ดวิชาสำคัญแห่งการใช้ตลาดหลักทรัพย์เข้าไปเสริมแกร่งแก่ศักยภาพทางการเงิน ที่ต้องใช้ในการซื้อกิจการยอดเยี่ยมมากมายให้มาเป็นเขี้ยวเล็บและแขนขาแข็งแกร่งของลูซอตติกา ทั้งนี้ เขานำลูซอตติกาเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเมื่อปี 1990 และเข้าตลาดหลักทรัพย์มิลานเมื่อปี 2000

กระนั้นก็ตาม เดล เวกคิโอเคยให้สัมภาษณ์ว่า การต่อสู้มากมายของเขาภายในอุตสาหกรรมการเงินเป็นผลจากที่เขาคิดการณ์ใหญ่

จากหนูน้อยลีโอนาร์โด เดล เวกคิโอ เด็กข้างถนน ยากจนมอมแมม คุณแม่เป็นสาวโรงงาน คุณพ่อผู้เป็นคนขายผักด่วนเสียชีวิตไปตั้งแต่ที่เขายังอยู่ในครรภ์มารดา ผู้ชายคนนี้ผู้ที่เพลิดเพลินกับการทำงานหนักตามลักษณะของชาวราศีพฤกษภ และผู้ที่ช่างคิดช่างจินตนาการตามอิทธิพลจากราศีเมถุน เขาได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศอิตาลี ด้วยการนำพาอาณาจักรแว่นลักซ์ชัวรีขึ้นแท่นจ้าวแห่งธุรกิจแว่นตาของโลก
แม้เจ้าตัวไม่ค่อยจะอยากเล่า คนรอบข้างก็บอกเล่าแทน

อันที่จริง มันก็ดูเหมือนว่าข้อมูลเท่านี้นับว่าเพียงพอที่จะให้เห็นภาพของผู้ชายคนหนึ่งที่สร้างทรัพย์สมบัติอันมหาศาลผ่านการทุ่มเททำงานหนักอย่างวิริยะอุตสาหะ 20 ชั่วโมงต่อวัน อันเป็นชีวิตที่เจ้าตัวบอกว่าไม่เสียใจแม้สักน้อยหนึ่งที่ได้ทุ่มเทไป ไม่มีความเสียใจแม้กับอุบัติเหตุเมื่อวัยเยาว์ซึ่งทำให้เสียปลายนิ้วชี้ไปส่วนหนึ่ง

ในช่วงที่เป็นเด็กฝึกหัดในช็อปงานโลหะซึ่ง หนุ่มน้อยลีโอนาร์โดทุ่มเทพลังกายพลังใจทั้งหมดเพื่อจะให้ตนเองมีรายได้เลี้ยงชีพและก้าวพ้นจากบ้านเด็กกำพร้าออกมาได้ ในปี 1949 ณ วัยเพียง 14 ปี นั้น เขาได้ค่าแรงแค่ 300 ลีรา (ประมาณ 15 เซนต์สกุลยูโร) จากการทำงานอย่างทรหด 10 วัน

หนึ่งในภารกิจที่ร้านช่างโลหะแห่งนั้น คือ ออกไปซื้ออาหารกลางวันให้แก่เพื่อนร่วมงาน แต่สำหรับตัวเขาซึ่งเป็นเด็กในวัยกำลังโตแต่ยากจนอย่างยิ่ง ไม่เคยยอมเจียดเงินไปซื้อสิ่งใดใส่ท้องเลย อภิมหาเศรษฐีแห่งอนาคตยอมอดทนรับประทานซุปผักกะหล่ำที่คุณแม่กราเซีย ร็อกโค ปรุงและเทใส่กระติกให้ทุกเช้าก่อนจะออกไปทำงาน บลูมเบิร์กรายงานไว้

“หลายปีเชียวครับที่อาหารกลางวันของผมอิงอยู่กับกะหล่ำปลีต้ม กลิ่นของกะหล่ำปลีต้มเตือนใจให้นึกถึงความพยายามใหญ่หลวงกับความใฝ่ผันว่า ผมต้องสร้างสิ่งที่เป็นของผมเอง แม้มันจะเล็ก แต่มันจะเป็นสิ่งที่ผมจะใส่ความคิดและความสามารถของผมลงไป” เอพีเล่าไว้

ในวันคืนข้นแค้นเหล่านั้น หากมีแม่หมอยิปซีเปิดไพ่ทาโรต์ทำนายไว้ว่า ในปี 2022 หนุ่มน้อยเดล เวกคิโอ ผู้ยากจนอย่างเหลือเกิน จะมีทรัพย์สินส่วนตัวประมาณ 27,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 900,900 ล้านบาท คงมีแต่เขาคนเดียวที่เชื่อคำทำนายดังกล่าว ขณะที่ ใครต่อใครคงส่ายหน้าและบอกว่าไม่มีทางจะเป็นไปได้

กระนั้นก็ตาม ความร่ำรวยล้นฟ้าดังกล่าวคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเป็นตัวเลขประมาณการของนิตยสารฟอร์บส์ในเดือนเมษายน 2022 และทำให้ป๋าเดล เวกคิโอ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอภิมหาเศรษฐีรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของอิตาลี เป็นรองให้เพียงตระกูลแฟร์เรโร ผู้ผลิตซอสขนมปังขนมเค้กรสช็อกโกแลตแสนอร่อยยี่ห้อ นูเทลลา แห่งดินแดนคาบสมุทรรูปทรงรองเท้าบู้ต

แม้อภิมหาเศรษฐีเดล เวกคิโอ มีความโดดเด่นเฉพาะตัว คือ การฝ่าฟันความยากจนขึ้นมาเป็นจอมราชันย์ธุรกิจ แต่เขามีบางสิ่งที่ร่วมกันกับอภิมหาเศรษฐีอื่นๆ ของอิตาลีที่ก้าวเข้าครองอุตสาหกรรมของประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อาทิ ซิลวิโอ แบร์ลูสโคนี ลูเซียโน เบเนตตง และจิออร์จิโอ อาร์มานี กล่าวคือ ซูเปอร์ผู้ประกอบการเหล่านี้ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นมาในทศวรรษ 1930 และถูกบ่มเพาะศักยภาพภายในสภาพแวดล้อมที่ประเทศอิตาลีย่อยยับจากสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องสร้างประเทศขึ้นใหม่ ซึ่งหมายถึงโอกาสที่เปิดกว้างแก่ผู้ประกอบการทั้งปวง

“คนในเจเนอเรชันของพวกเราประสบยุคสมัยอันยากลำบากต่างๆ ที่ทำให้พวกเราแข็งแกร่ง ภายในหลายๆ ปีแห่งสงครามและการสร้างประเทศขึ้นใหม่” อาร์มานี นักออกแบบผู้โด่งดังและร่ำรวยอยู่ในธุรกิจเครื่องใช้หรูหราราคาเกินเอื้อม ให้สัมภาษณ์อย่างนั้น และบอกว่าผู้คนในอิตาลีเริ่มต้นใหม่จากสถานการณ์ที่ทุกอย่างย่อยยับ และจากเศษซากปรักหักพัง

ทั้งนี้ อาร์มานีกับเดล เวกคิโอเป็นคู่บุญของกันและกันที่พลิกโฉมธุรกิจแว่นตาได้สำเร็จหรูเลิศตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 โดยทำให้สินค้าที่เป็นของใช้จำเป็นติดเนื้อติดตัว กลายเป็นสิ่งประเทืองความงามและเสริมสร้างภาพลักษณ์ซึ่งเติมความรู้สึกดีๆ ให้แก่ชีวิต

จิออร์จิโอ อาร์มานี จอมเทพแห่งวงการนักออกแบบแฟชั่นชาวอิตาเลียน มีความเป็นศิลปินอยู่ในดีเอ็นเอ ทุกภาพถ่ายของเขาจะสะดุดตาผู้พบเห็นด้วยลีลาการวางมือไม้ ท่วงท่าและหน้าผม เขาคืออีกหนึ่งนักธุรกิจอัจฉริยะที่ประเทศอิตาลีภาคภูมิใจ เขาได้รับการจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของวงการแฟชั่น โดยมีทรัพย์สินส่วนตัวมหาศาลถึง 6,240 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลในตารางมหาเศรษฐีพันล้านของค่ายบลูมเบิร์กเมื่อปี 2020

ขณะที่ทุกท่วงท่า สีหน้า และลีลาในการเข้ากล้องของจิออร์จิโอ อาร์มานี จะมีเนื้อหาบางอย่างปรากฏอยู่ แต่เขามักจะสวมเสื้อผ้าที่แลเสมือนไม่มีอะไร แต่ในทุกชิ้นที่โอบกอดเรือนกายของเขาจะดูดีมีสไตล์ไปทุกมิติ ภาพนี้ของอาร์มานีบันทึกและเผยแพร่โดยเกียน แองเจโล พิสโตเอีย เมื่อกันยายน 1997
เดล เวกคิโอ มิได้มีแผนจะรีบจากโลกด้วยวัย 87 ปี เขามั่นมากว่าแสนล้านดอลล์ (3 ล.ล.บาท) ทำสำเร็จแน่

หลังจากที่ผนวกรวมกิจการลูซอตติกาเข้ากับเอสซีลอร์ได้สำเร็จในปี 2018 กลุ่มบริษัทซูเปอร์ยักษ์นามเอสซีลอร์-ลูซอตติกาก็ทยอยปรับกระบวนลงสู่เสถียรภาพ และงอกเงยสู่ระดับสินทรัพย์ ณ ปี 2022 ที่ 68,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ในปี 2021-2022 ดวงใจของอภิมหาเสี่ยเดล เวกคิโอ อันแข็งแกร่งเป็นกระทิงหนุ่มอมตะจึงใคร่ครวญถึงไปยังเป้าหมายใหม่ที่จะเร่งขับเคลื่อนให้ขนาดของกิจการทะยานขึ้นเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท - - หมุดหมายใหม่ของชีวิตเปี่ยมพลวัตร

เดล เวกคิโอ เคยกล่าวว่าการไปถึงเป้าหมายมูลค่าตลาดดังกล่าวจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า ซูเปอร์ยักษ์เอสซีลอร์-ลูซอตติกาจะแกร่งฉกาจเพียงพอที่จะอยู่รอดได้ในยุคที่ต้องเผชิญกับความท้าทายเชิงเทคโนโลยี บลูมเบิร์กรายงาน

ปัญหาการปรับตัวให้อยู่รอดในยุคสมัยที่เทคโนโลยีรุดหน้าก้าวกระโดด เป็นประเด็นที่จอมทัพแห่งลูซอตติกาครุ่นคิดศึกษาเพื่อสร้างยุทธศาสตร์อนาคตตลอดมานับตั้งแต่ทศวรรษ 2010 แล้ว ด้วยเหตุนี้ ในปี 2014 เขาหวนกลับเข้าคุมทิศทางการปฏิบัติภารกิจของลูซอตติกา ซึ่งตามด้วยดรามาอื้อฉาวที่เขาทำให้ผู้คนโกรธกริ้วมากมายที่ไปบี้ให้ซีอีโอในขณะนั้นต้องลาออก ทั้งนี้ ในช่วงนั้น ลูซอตติกายังเป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก กับตลาดหลักทรัพย์มิลาน (โดยทำการถอนทะเบียนออกจากสองตลาดนี้ในปี 2017 และ 2019)

ดรามาเมาท์สนุกครานั้นทำให้บรรดาคู่แข่งธุรกิจของลูซอตติกา เร่งเครื่องดิสเครดิตเดล เวกคิโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในข้อกล่าวหาซ้ำๆ เล่นกันหลายปีไม่มีเบื่อ ว่าพลังอำนาจดุจเจ้าพ่อกอดฟาเธอร์ของเขาทำให้อิทธิพลของเขาขยายใหญ่เกินไปภายในอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเสียงวิจารณ์เผ็ดร้อนอื่นๆ ได้เหน็บแนมว่าเขาเป็นแค่ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจอิตาเลียนวัยเฒ่าชราซึ่งงอแงไม่ยอมปล่อยมือพ้นจากบริษัท

เดล เวกคิโอยักษ์ไหล่ให้แก่ทุกข้อกล่าวหา และบอกกับบลูมเบิร์กในปี 2022 ว่า

“บริษัทปรับเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมากมายมหาศาลกว่าที่เคยปรับเปลี่ยนในรอบ 50 ปีก่อนหน้านั้น เราติดหล่มอยู่ เราต้องกลับมาโอบรับความเปลี่ยนแปลง”

วิสัยทัศน์ต่อปัญหาปัจจุบันและทิศทางอนาคตดังกล่าวนำพาให้อัจฉริยะเดล เวกคิโอ เดินเครื่องผลักดันอย่างจริงจังในพัฒนาด้านตลาดออนไลน์ และ 2 ปัจจัยความสำเร็จก็บรรลุครบครัน ได้แก่ การซื้อบริษัทคู่แข่งที่เป็นยักษ์ค้าปลีกออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดของยุโรป และการก้าวเข้าควบคุมธุรกิจเลนส์ระดับโลก นอกจากนั้น เอสซีลอร์-ลูซอตติกาได้แสดงให้เห็นทิศทางอนาคตไว้แล้ว ผ่านดีลที่พัฒนาร่วมกับเมต้า แพลตฟอร์ม บลูมเบิร์กรายงาน

ความก้าวหน้ามหาศาลที่ขับเคลื่อนไปได้เรียบร้อยแล้วนั่น น่าจะทำให้อัจฉริยะเดล เวกคิโอ ไม่เต็มใจจะเปลี่ยนภพภูมิสู่พระหัตถ์โอบอุ้มของพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่ยังทำงานสนุกเพลิดเพลินอยู่แท้ๆ เทียว

ลูซอตติกาทุ่มทุนสร้างอย่างยิ่งที่จะให้ เรย์แบน ลูกรักของบริษัท ได้ปรากฏบนซีนต่างๆ ของภาพยนตร์ Top Gun Maverick (2022) ตามกลยุทธ์ Product Placement อันเป็นโฆษณาแฝงที่ต้องเสียเงินกันบ้าง โดยในเที่ยวนี้ เรย์แบนปรากฏสู่สายตาท่านผู้ชมรวมได้แปดนาทีครึ่ง น้อยกว่าเมื่อคราวปี 1986 กระนั้นก็ตาม เป็นการปรากฏตัวที่ทรงคุณภาพดีกว่า เพราะท่านผู้ชมหลายร้อยล้านรายทั่วโลก ได้เห็นโลโก้บนกรอบแว่นตั้ง 19% ของการปรากฏตัวทั้งหมด เว็บไซต์ข่าว concavebt.com รายงานอย่างนั้น ในภาพนี้เป็นอีกหนึ่งความประทับใจของ Top Gun Maverick (2022) ที่แว่นตาเรย์แบนได้เข้าฉาก แต่ทว่า เรย์แบนไปอยู่ในมือข้างซ้ายของนางเอก (เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี) และถูกสะโพกเปรี๊ยะปังบังไว้บางส่วน
ไม่มีผู้ใดเพอร์เฟ็กต์: เดล เวกคิโอ ยังไม่บรรลุเป้าหมายด้านตลาดการเงิน และด้านชีวิตครอบครัวเมีย 3 ลูก 6

หกสิบปีนับจากที่ตั้งบริษัทลูซอตติกา อภิมหาเสี่ยเดล เวกคิโอ ประสบความสำเร็จด้วยปัจจัยสำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การอุทิศตนอย่างทุ่มเทเพื่อพัฒนาและขยายธุรกิจ ในการนี้ เขายอมรับว่าความสำเร็จอันมากมาย แลกมาด้วยราคาที่แพงลิ่วทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคต้นๆ ของชีวิตผู้ประกอบการนั้น เขาให้เวลาแก่ลูกๆ ได้เพียงน้อยนิดเหลือเกิน

“ผมวางเรื่องงานไว้ก่อนทุกสิ่งทุกอย่าง และโรงงานกลายเป็นครอบครัวที่แท้จริงของผม” เขาเล่าอย่างนั้น

ในความเป็นหนุ่มอิตาเลียนภายในสังคมชาวคริสต์แห่งโรมันคาทอลิก บรรทัดฐานทางสังคมต่อชีวิตสมรสของชาวคริสต์ คือ การรับศีลแต่งงานและรับพระพรแห่งพระผู้เป็นเจ้าผ่านพิธีมงคลสมรสอันศักดิ์สิทธิ์ที่บาทหลวงจัดให้ภายในโบสถ์ ซึ่งไม่ควรเลิกราหย่าร้าง โดยในปัจจุบัน ชาวคริสต์ที่หย่าร้างด้วยเหตุจำเป็นต่างๆ และแต่งงานใหม่ จะมีเพียงพิธีจดทะเบียนกับพิธีรับคำอวยพรจากบาทหลวง

สำหรับเดล เวกคิโอ นั้น ในสภาพการณ์ที่เขาแทบจะไม่มีเวลาให้แก่ครอบครัว เขาจึงมีการแต่งงานแล้วหย่าร้างหลายครั้ง สรุปรวมได้ว่าเขามีภรรยามาแล้ว 3 ราย และมีบุตรธิดาจากการแต่งงานทั้ง 3 นี้ เป็นจำนวน 6 ราย เป็นบุตรชาย 4 ธิดา 2

แต่ในช่วงที่ผ่านมา เขาชดเชยให้แก่ลูกๆ หลานๆ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัวลูกหลานในเมืองมิลาน หรือบางช่วงก็ในบ้านที่ฝรั่งเศสกับบ้านที่เกาะแอนติกัว

กระนั้นก็ตาม มันมิใช่ว่าเขาได้ยุติที่จะคิดการณ์ใหญ่ ความเคลื่อนไหวครึกโครมหลายคราที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าเขาอาจจะเล็งไปถึงบทบาทแห่งการเขย่าอุตสาหกรรมการเงินของประเทศ บลูมเบิร์กตั้งประเด็นอย่างนั้น

นอกเหนือจากที่สร้างสัดส่วนการถือครองหุ้นในอินเวสต์เมนต์แบงก์ใหญ่อย่าง Mediobanca SpA แห่งอิตาลี จนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดแล้ว เดล เวกคิโอยังเป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนที่คัดค้านการบริหารงานของบริษัทประกันภัยหมายเลข 1 ของอิตาลี นามว่า เจเนอราลี ประกันภัย หรือก็คือ Assicurazioni Generali SpA

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้น การต่อสู้ในส่วนของเจเนอราลีไม่ประสบความสำเร็จโดยไม่สามารถเข้าควบคุมเจเนอราลีได้ แต่เดล เวกคิโอกล่าวว่าเขาต้องการที่จะช่วยสร้างความเป็นผู้นำระดับโลกขึ้นมาภายในอุตสาหกรรมการเงินของอิตาลี

“คุณต้องกล้าพอที่จะเดินหน้ากระทำการ เพื่อจะก้าวขึ้นหน้าต่อไป” เดล เวกคิโอกล่าวและบอกว่าผู้ประกอบการชาวอิตาเลียนมากมายยังขาดแรงขับเคลื่อนที่จะนำกิจการขึ้นระดับสุดยอด

ชาวอิตาเลียน “เป็นช่างที่ยอดเยี่ยม เป็นศิลปินที่ยอดเยี่ยม แต่บ่อยครั้งที่เราหยุดเพียงระดับนั้น คุณต้องมีความกล้าที่จะเดินหน้าขึ้นไปโดยไม่หยุดยั้ง”

อภิมหาเสี่ยเจ้าของตำนานสู้แล้วรวยและสู้สู่ความเป็นเลิศในสิ่งที่ถนัด กล่าวไว้อย่างองอาจ เพราะเขาเป็นอัจฉริยะ

ชาวอิตาเลียน “เป็นช่างที่ยอดเยี่ยม เป็นศิลปินที่ยอดเยี่ยม แต่บ่อยครั้งที่เราหยุดเพียงระดับนั้น คุณต้องมีความกล้าที่จะเดินหน้าขึ้นไปโดยไม่หยุดยั้ง” อภิมหาเสี่ยลีโอนาร์โด เดล เวกคิโอ เจ้าของตำนานอภิมหาธุรกิจ 87 ปีมหัศจรรย์ กล่าวไว้อย่างนั้น
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า


(ที่มา: บลูมเบิร์ก theflorentine.net เว็บไซต์บริษัทลูซอตติกา เอพี ฟอร์บส์ รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น