xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : NATO เชิญ ‘ฟินแลนด์-สวีเดน’ เข้ากลุ่มอย่างเป็นทางการ ยก ‘รัสเซีย’ เป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศเชิญสวีเดนและฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการในวันพุธ (29 มิ.ย.) ในความเคลื่อนไหวซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในด้านความมั่นคงของยุโรปในรอบหลายสิบปี พร้อมกับยกสถานะของรัสเซียขึ้นเป็น “ภัยคุกคาม” ที่ร้ายแรงที่สุดต่อความมั่นคงของกลุ่มพันธมิตร

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำนาโตที่กรุงมาดริดของสเปน โดย เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต เรียกการประชุมสุดยอดครั้งนี้ว่าเป็น “ซัมมิตแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์” ในขณะที่นาโตกำลังเผชิญวิกฤตความมั่นคงร้ายแรงที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

“วันนี้เราได้ตัดสินใจเชิญฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของนาโต” แถลงการณ์ร่วมของนาโตระบุ

อย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นสมาชิกของฟินแลนด์และสวีเดนจะต้องผ่านกระบวนการให้สัตยาบันรับรองโดยรัฐสภาของทั้ง 30 ชาตินาโตเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกราวๆ 1 ปี และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้ง 2 ชาติจะได้รับการคุ้มกันทางทหารภายใต้มาตรา 5 ของสนธิสัญญานาโตซึ่งระบุเอาไว้ว่า “การโจมตีต่อสมาชิกประเทศหนึ่งประเทศใด ย่อมหมายถึงการโจมตีต่อสมาชิกนาโตทุกประเทศ”

ในระหว่างนี้ นาโตมีแผนที่จะเสริมกำลังทหารในภูมิภาคนอร์ดิก รวมถึงจัดซ้อมรบและปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนทางเรือในทะเลบอลติกให้บ่อยยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่สวีเดนและฟินแลนด์

“เราจะดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า นาโตจะสามารถปกป้องสมาชิกทุกประเทศได้ รวมถึงฟินแลนด์และสวีเดน” สโตลเตนเบิร์ก ระบุ

เมื่อวันอังคาร (28) ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกีได้บรรลุข้อตกลงผ่าทางตันร่วมกับผู้นำฟินแลนด์และสวีเดนเกี่ยวกับมาตรการด้านความมั่นคงหลายอย่าง ซึ่งทำให้อังการายอมเปิดทางให้ทั้ง 2 ชาติเข้าร่วมกลุ่มนาโตในที่สุด

ตุรกีเคยเป็นชาติสมาชิกหนึ่งเดียวของนาโตที่ประกาศคัดค้านไม่ให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้ากลุ่ม โดยอ้างเรื่องที่ทั้ง 2 ประเทศให้ที่พักพิงแก่พวกนักรบจากพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ซึ่งตุรกีถือเป็นผู้ก่อการร้าย อีกทั้งยังไม่พอใจที่เฮลซิงกิและสตอกโฮล์มระงับส่งออกอาวุธให้มาตั้งแต่ปี 2019

ผู้นำฟินแลนด์และสวีเดนรับปาก แอร์โดอัน ว่าจะทำงานอย่างเข้มข้น และให้ความร่วมมือกับตุรกีในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน รวมถึงแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการกับพวกนักรบ PKK ให้หนักหน่วงขึ้น นอกจากนี้ ยังจะยกเลิกข้อจำกัดด้านการขายอาวุธให้แก่ตุรกีด้วย

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับข้อตกลงไตรภาคีดังกล่าว โดยผู้นำสหรัฐฯ ทวีตข้อความว่า นี่คือก้าวย่างสำคัญที่จะนำไปสู่การเชื้อเชิญฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมนาโต อันจะเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มพันธมิตร และยกระดับความมั่นคงร่วม

ปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซียกระตุ้นให้เฮลซิงกิและสตอกโฮล์มทิ้งจุดยืนเป็นกลางหันมาร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ โดยฟินแลนด์นั้นมีพรมแดนติดต่อกับรัสเซียเป็นระยะทางถึง 1,300 กิโลเมตร ส่วนการเข้าร่วมของสวีเดนจะช่วยให้นาโตมีกองกำลังที่ผ่านการฝึกฝนอย่างดีเยี่ยมมากขึ้น และเพิ่มความได้เปรียบรัสเซียในแถบทะเลบอลติก


ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระบุในวันพุธ (29) ว่าประเทศของเขา “ไม่ได้มีปัญหา” หากฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโต แต่หากมีการเสริมกำลังทหารและขยายโครงสร้างพื้นฐานของนาโตในทั้ง 2 ประเทศ รัสเซียก็จำเป็นที่จะต้อง “ตอบโต้” อย่างสาสมเช่นกัน

องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1949 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของสหภาพโซเวียต และการที่รัสเซียส่งทหารบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ก็ได้กลายเป็นตัวกระตุ้นให้นาโตฟื้นบทบาทด้านความมั่นคงอย่างจริงจังอีกครั้ง หลังจากที่เคยล้มเหลวมาแล้วในสงครามอัฟกานิสถาน และเผชิญความแตกแยกกันเองอย่างหนักในยุคที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำอเมริกา

“เรากำลังส่งสารที่ชัดเจนแจ่มแจ้งไปยังประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียว่า : คุณจะไม่ชนะ” นายกรัฐมนตรี เปโดร ชานเชซ แห่งสเปน กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมนาโต

- รัสเซียคือ ‘ภัยคุกคาม’

นาโตยังได้ประกาศแนวคิดทางยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเปลี่ยนสถานะของรัสเซียจาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” กลายมาเป็น “ภัยคุกคามหลัก” โดยตรงของกลุ่มพันธมิตร

เอกสารว่าด้วยแนวคิดทางยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโตกล่าวหารัสเซียว่ามุ่ง “สถาปนาเขตอิทธิพลและการควบคุมโดยตรงด้วยวิธีข่มขู่ บ่อนทำลาย รุกราน และผนวกดินแดน” โดยมีการใช้ทั้งกองทัพตามแบบแผน (conventional military) รวมถึงกลยุทธ์ด้านไซเบอร์และไฮบริดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้

นาโตระบุด้วยว่า การเสริมกำลังทหารของรัสเซียทั้งในภูมิภาคบอลติก ทะเลดำ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมถึงแผนบูรณาการทางทหารร่วมกับเบลารุส ถือเป็นการ “ท้าทายความมั่นคงและผลประโยชน์ของนาโต”

นาโตยังแสดงความกังวลที่รัสเซียยกระดับกองกำลังนิวเคลียร์ให้มีความทันสมัย ข่มขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ และพัฒนาระบบจรวดที่ “ใช้งานได้ 2 ทาง” (dual-capable delivery systems) โดยหมายถึงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่สามารถติดตั้งได้ทั้งหัวรบแบบดั้งเดิมและหัวรบนิวเคลียร์

เพื่อรับมือความเคลื่อนไหวที่อันตรายเหล่านี้ นาโตประกาศจะเสริมความเข้มแข็งทั้งในด้านการป้องปราม (deterrence) และป้องกัน (defence) ขณะเดียวกัน ก็ยืนยันว่ากลุ่มพันธมิตร “ไม่ได้มุ่งเผชิญหน้า” กับรัสเซีย และยังคงหวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีเจรจากันได้


เอกสารแนวคิดด้านยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโตยังมีการเอ่ยถึง “จีน” เป็นครั้งแรก โดยระบุว่า “ความทะเยอทะยานและนโยบายข่มขู่ที่รัฐบาลจีนใช้ มีส่วนท้าทายผลประโยชน์ ความมั่นคง และค่านิยมของเรา” พร้อมทั้งกล่าวหาปักกิ่งว่าใช้ปฏิบัติการทางไซเบอร์และไฮบริดแบบมีเป้าประสงค์ร้าย ใช้ถ้อยคำยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า และเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเพื่อโจมตีและบ่อนทำลายความมั่นคงของนาโต

ในแง่เศรษฐกิจ นาโตชี้ว่าจีนหวังแผ่อิทธิพลครอบงำภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสำคัญๆ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน วัตถุดิบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และห่วงโซ่อุปทานของโลก

“จีนใช้อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างการพึ่งพาทางยุทธศาสตร์และขยายอิทธิพล พวกเขามุ่งทำลายกฎระเบียบสากลทั้งในด้านอวกาศ ไซเบอร์ และทางทะเล” นาโต ระบุ

กลุ่มพันธมิตรยังแสดงความกังวลด้วยว่า การที่มอสโกและปักกิ่งผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้น “จะยิ่งช่วยส่งเสริมกันและกันในการบั่นทอนกฎระเบียบสากล”

อย่างไรก็ดี นาโตไม่ได้มองจีนเป็น “ศัตรู” เสียทีเดียว และยังคงเปิดกว้างสำหรับการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับปักกิ่ง ควบคู่ไปกับสร้างความตระหนักรู้และเตรียมพร้อมรับมือจีนในฐานะคู่แข่งที่เติบโตเร็ว

ผู้นำนาโตยังเห็นพ้องที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนในระยะยาว นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธนับพันๆ ล้านดอลลาร์ที่มอบไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนีประกาศชัดเจนว่าจะมีการส่งอาวุธให้แก่เคียฟอย่างไม่ขาดสาย

“เราจะยังทำเช่นนี้ต่อไป และทำอย่างเข้มข้นจริงจัง ตราบเท่าที่จำเป็นในการช่วยเหลือให้ยูเครนสามารถปกป้องตนเองได้” ผู้นำเมืองเบียร์กล่าว

นาโตยังมีแผนขยายกองกำลังตอบโต้ฉับพลันที่อยู่ในสภาวะ “พร้อมรบ” จากปัจจุบันซึ่งมีอยู่ 40,000 นายให้กลายเป็น 300,000 นาย หรือเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าตัว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเผชิญหน้ากับรัสเซีย

การตัดสินใจรุกรานยูเครนของ ปูติน กลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งความสัมพันธ์ระหว่างนาโตกับมอสโกให้ดำดิ่งสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 และยังเป็นข้ออ้างให้สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซียหนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

ในมุมของปูติน เขามองว่าโลกตะวันตกต้องการทำลายรัสเซียอยู่แล้ว และมาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ก็ถือเป็นการประกาศสงครามทางเศรษฐกิจ ทว่ารัสเซียเองก็พร้อมเผชิญหน้า และจะหันไปยกระดับความร่วมมือกับมหาอำนาจรายอื่น อย่างเช่น จีน อินเดีย และกลุ่มชาติตะวันออกกลาง เป็นต้น

ล่าสุด “อิหร่าน” ซึ่งมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลกได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ กลุ่มที่ทางปักกิ่งและมอสโกอวดอ้างว่าเป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ทรงพลัง และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจากการร่วมมือกับชาติตะวันตก ขณะที่ อาร์เจนตินา ก็แสดงความปรารถนาที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยเช่นกัน

มอสโกแถลงโอ้อวดว่าการสมัครเข้ากลุ่ม BRICS ของทั้งอิหร่านและอาร์เจนตินาเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ และตะวันตก “ล้มเหลว” ในความพยายามโดดเดี่ยวรัสเซีย

ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จีนเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม BRICS โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งกลุ่มซึ่งอยู่ที่ 27.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่อินเดียมีขนาดรองลงมาคิดเป็นสัดส่วน 13% ส่วนรัสเซียและบราซิล คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7%

กลุ่ม BRICS ยังมีประชากรรวมกันมากกว่า 40% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนถึง 26% ของเศรษฐกิจโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น