ญี่ปุ่นเผชิญคลื่นอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยอุณหภูมิในกรุงโตเกียวพุ่งแตะระดับสูงสุดของเดือน มิ.ย. ในรอบเกือบ 150 ปี ขณะที่ทางการเริ่มออกมาเตือนปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าเนื่องจากความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
สภาพอากาศในกรุงโตเกียววันนี้คาดว่าอุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 34 องศาเซลเซียส หลังจากที่พุ่งแตะระดับ 35 องศาเซลเซียสต่อเนื่องมา 3 วันติด ซึ่งถือเป็นช่วงที่อากาศในเดือน มิ.ย. ร้อนจัดที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกสถิติในปี 1875
คลื่นความร้อนทำให้มีชาวญี่ปุ่นป่วยเป็นลมแดด (heatstroke) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรุงโตเกียวซึ่งประชาชนบางส่วนยังคงเลือกที่จะสวมหน้ากากนอกอาคารเพื่อป้องกันตนเองจากโควิด-19 แม้รัฐบาลจะอนุโลมให้ถอดหน้ากากในที่โล่งได้แล้วก็ตาม
สำนักข่าว Fuji News รายงานเมื่อเวลา 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นว่า มีคนป่วยเข้าโรงพยาบาลจากการเป็นลมแดดเพิ่มขึ้นอีก 13 คน และจนถึงขณะนี้มีชาวญี่ปุ่นที่คาดว่าเสียชีวิตจากการเป็นลมแดดแล้วอย่างน้อย 2 คน ซึ่งทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเองต้องออกมาผ่อนผันเรื่องการรณรงค์ประหยัดไฟในช่วงนี้
“เป็นไปได้ว่าอาจจะมีผู้สูงอายุบางคนที่ยอมปิดแอร์เพราะรัฐบาลขอให้ช่วยกันประหยัดไฟในช่วงนี้ แต่ได้โปรดเถอะครับ... อากาศมันร้อนขนาดนี้ ท่านก็อย่าลังเลที่จะใช้แอร์ช่วยทำความเย็นเลย” โคอิจิ ฮางิอูดะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ระบุในงานแถลงข่าว
ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นได้ขอความร่วมมือให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในกรุงโตเกียวช่วยกันประหยัดไฟเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาไฟฟ้าดับ
วิกฤตคลื่นความร้อนคราวนี้เกิดขึ้นเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในญี่ปุ่น ซึ่งผลสำรวจพบว่าราคาสินค้าและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นถือเป็นปัญหาหลักๆ ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญ และเป็นปัจจัยฉุดรั้งคะแนนนิยมของรัฐบาลให้ตกต่ำลง
กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินลดเหลือเพียง 3.7% ในกรุงโตเกียวและอีก 8 จังหวัดใกล้เคียงเมื่อช่วงเย็นวันจันทร์ (27) ส่วนในเย็นวันนี้ (16.30-17.00 น.) คาดว่าเหลือไม่ถึง 5%
ทั้งนี้ หากกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกินลดต่ำกว่า 3% มีความเสี่ยงที่รัฐอาจจำเป็นต้องมีการสลับตัดไฟ
กระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นแถลงวันนี้ (28) ว่า แม้สถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังขอให้ผู้บริโภคช่วยกันประหยัดและใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น
ที่มา : รอยเตอร์