xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวร้ายต่อเนื่อง! ศรีลังกาสั่งปั๊มน้ำมันเลิกขาย 2 สัปดาห์ ขอขึ้นค่าไฟฟ้าสุดโหด 835% แก้ขาดทุน ส่งรัฐมนตรีบินเข้ากาตาร์-รัสเซียเรื่องพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ศรีลังกาตรึงเข็มขัดสั่งห้ามจำหน่ายน้ำมันทุกประเภททั่วประเทศให้ประชาชนทั่วไปนาน 2 สัปดาห์ ส่วนบริษัทการไฟฟ้าศรีลังกาขอขึ้นค่าไฟ 835% แก้ปัญหาขาดทุนมหาศาล ส่ง 2 รัฐมนตรีออกเดินทางไปกาตาร์และรัสเซียเพื่อหาข้อตกลงทางพลังงาน หลังรัฐบาลโคลัมโบประกาศอนุญาตให้บริษัทต่างชาติสามารถนำเข้าและจำหน่ายเชื้อเพลิงในประเทศได้

เอเอฟพีรายงานเมื่อวานนี้ (27 มิ.ย.) ว่า ศรีลังกาซึ่งกำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจขั้นร้ายแรง ล่าสุด ออกคำสั่งห้ามจำหน่ายน้ำมันตามสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศแก่ประชาชนทั่วไปนาน 2 สัปดาห์

วิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงมากที่สุดนับตั้งแต่แดนสิงหลเป็นเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948 รัฐบาลโคลัมโบไม่มีเงินตราต่างประเทศสำหรับสินค้านำเข้าจำเป็นมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว

โฆษกรัฐบาลศรีลังกา บันดูลา กุนาวาร์ดานะ (Bandula Gunawardana) แถลงเหตุผลการห้ามจำหน่ายน้ำมันทุกประเภทให้สาธารณชนทั่วไปเพื่อต้องการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งเบนซินและดีเซลในยามฉุกเฉิน

ซึ่งในเวลานี้ตามปั๊มน้ำมันต่างๆ มีทหารคอยถือปืนตรึงกำลังคุ้มครอง

เขาได้เรียกร้องให้บริษัทเอกชนอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้จากเหตุผลที่การขนส่งสาธารณะไม่สามารถเปิดให้บริการได้

“นับตั้งแต่เที่ยงคืนวันนี้จะไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงจำหน่ายเว้นแต่ในภาคส่วนสำคัญ เป็นต้นว่า บริการสาธารณสุข เพราะเราต้องการสงวนสต๊อกสำรองที่เหลือน้อยที่ยังคงมีไว้”

นอกจากนี้ โฆษกรัฐบาลศรีลังกาของนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห ยังกล่าวขออภัยประชาชนต่อการไม่มีน้ำมันจำหน่าย

ทั้งนี้ วันอาทิตย์ (26) รัฐบาลให้สัญญาที่จะใช้ระบบเหรียญปันส่วนหน้าปั๊มแจกจ่ายให้คนที่เข้าคิวเพื่อจำหน่ายน้ำมันแบบปันส่วนให้แต่ก็ล้มเหลว

ข่าวร้ายของศรีลังกายังคงเกิดขึ้นไม่หยุดเพราะพบว่าบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าศรีลังกาต้องการขอขึ้นราคาค่าไฟประชาชนทั่วไปสูงถึง 835% เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน

โดยองค์การไฟฟ้าศรีลังกา PUCSL (Public Utilities Commission of Sri Lanka) กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า มีความจำเป็นต้องขึ้นค่าไฟ 835% แก่ผู้ใช้ไฟรายย่อยที่ได้รับการอุดหนุนสูงสุดจากรัฐเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน โดยในไตรมาสแรก บริษัทไฟฟ้าซีลอน CBS (Ceylon Electricity Board) ขาดทุนไป 65 พันล้านรูปี หรือราว 185 ล้านดอลลาร์

เอเอฟพีรายงานว่าในแถลงการณ์กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ใช้ไฟศรีลังกาที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อเดือนและจ่ายในอัตราเหมาจ่ายที่ 54.27 รูปี หรือราว 15 เซนต์สหรัฐ ทางบริษัทไฟฟ้าศรีลังกาต้องการปรับราคาขึ้นเป็น 507.65 รูปี หรือราว 1.44 ดอลลาร์

แต่ทว่า จานากา รัตนายาเก (Janaka Ratnayake) ประธานองค์การไฟฟ้าศรีลังกา PUCSL ออกมาแสดงความเห็นกับนักข่าวในกรุงโคลัมโบอย่างไม่เห็นด้วยว่า “ผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่จะไม่สามารถแบกรับต่อการขึ้นราคาอย่างสูงเช่นนี้”

และกล่าวต่อว่า “ดังนั้นแล้วทางเราขอเสนอการอุดหนุนโดยตรงจากกระทรวงการคลังศรีลังกาเพื่อให้การปรับขึ้นนั้นลดมากกว่าครึ่งหนึ่งของในสิ่งที่พวกเขาร้องขอ”

อัตราค่าไฟในประเทศยังไม่มีการตัดสินแต่ค่าไฟน่าจะขึ้นไปราว 43% ถึง 61% สำหรับผู้ใช้ไฟในส่วนของธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ บริษัทไฟฟ้าศรีลังกา CBS ยังได้รับอนุญาตให้สามารถเรียกเก็บเพิ่มเป็นสกุลเงินดอลลาร์สำหรับผู้มีรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า ผู้ส่งออก เพื่อช่วยด้านการเงินสำหรับการนำเข้าน้ำมันและอะไหล่อุปกรณ์สำคัญ

ซึ่งที่ผ่านมาศรีลังกาออกคำสั่งตัดกระแสไฟฟ้า 13 ชั่วโมงต่อวัน แต่หลังจากที่ฝนตกลงมาเพิ่มระดับน้ำให้อ่างเก็บน้ำพลังงานไฟฟ้าทำให้รัฐบาลศรีลังกาลดเวลาการตัดกระแสไฟฟ้า 4 ชั่วโมงต่อวัน

ขณะเดียวกัน วันนี้ (28) โคลัมโบประกาศอนุญาตให้บริษัทจากผู้ส่งออกพลังงานต่างประเทศสามารถนำเข้าและจำหน่ายพลังงานได้

รอยเตอร์รายงานวันนี้ (28) ว่า นายกรัฐมนตรีวิกรมสิงเห ส่งตัวแทน 2 คนไปกาตาร์และรัสเซียเพื่อเจรจาข้อตกลงพลังงานเพื่อช่วยให้ศรีลังกาสามารถกลับมามีเชื้อเพลิงใช้ได้ตามปกติ

โดยในวันอังคาร (28) รัฐมนตรีพลังงานศรีลังกา กาญจนา วิเจเสเกรา (Kanchana Wijesekera) อยู่ที่กาตาร์หลังจากออกเดินทางไปตั้งแต่คืนวันจันทร์ (28) ส่วนรัฐมนตรีการศึกษาศรีลังกา ซูซิล ปรีมาจายันต์ (Susil Premajayanth) มีกำหนดถึงรัสเซียในวันที่ 3 ก.ค.

วิเจเสเกรา ตั้งความหวังว่าต้องการผู้ส่งออกน้ำมันระยะยาวในกาตาร์ที่สามารถทำงานร่วมมือศรีลังกาในด้านประเด็นปัญหาเงินตราต่างประเทศและปัญหาอื่นๆ

นอกจากนี้ เขายังกล่าวผ่านทางทวิตเตอร์ต่อว่า ได้พบกับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงโคลัมโบในวันจันทร์ (27)

“การยังคงความสัมพันธ์แข็งแกร่งระดับทวิภาคีระหว่างสองชาติทั้งสองของพวกเรา ขณะเดียวกัน ตั้งเป้าไปที่การพัฒนาโอกาสทางการค้าได้ถูกหารืออย่างกว้างขวางในการประชุมนี้”

สัญญาณไฟจราจรเปิดทำงานในวันอังคาร (28) ตามถนนในกรุงโคลัมโบ แต่ทว่าโรงเรียนและบริษัทเอกชนยังคงปิดโดยพนักงานต่างทำงานจากบ้าน

ส่วนรถประจำทางยังคงเห็นวิ่งให้บริการส่วนร้านค้าต่างๆ ได้แก่ร้านขายของชำและบริการอื่นๆ ยังเปิดปกติ

รัฐบาลศรีลังกามีแผนการเปลี่ยนให้ที่ดินของศาสนสถานต่างๆ ทั่วประเทศที่ไม่ใช้งานรวม 617,763 เอเคอร์เปลี่ยนเป็นแปลงผักทางการเกษตรเพื่อเพิ่มอาหารให้ประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น