ผู้ช่วยของนายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการีออกมาเรียกร้องวานนี้ (23 มิ.ย.) ให้สหภาพยุโรป (อียู) หยุดเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรกดดันรัสเซีย แต่ควรสนับสนุนให้ทั้งมอสโกและเคียฟทำข้อตกลงหยุดยิง และเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพ
ระหว่างการประชุมซัมมิตอียูซึ่งได้มีการประกาศรับรองสถานะ “ผู้สมัครสมาชิก” ให้แก่ยูเครน ผู้ช่วยนายกฯ ฮังการีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ยิ่งอียูคว่ำบาตรรัสเซียมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างความเดือดร้อนต่ออียูเองมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่รัสเซียยังคงอยู่รอดได้
“ท้ายที่สุดแล้ว ยุโรปจะเป็นฝ่ายแพ้สงครามครั้งนี้เพราะปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งที่เราอยากจะแนะนำคือ อียูควรหยุดกระบวนการคว่ำบาตรเสีย” บาลาซ ออร์บาน ซึ่งเป็นผู้ช่วยคนสนิท ทว่าไม่ได้เกี่ยวดองเป็นญาติกับนายกฯ ฮังการีแต่อย่างใด ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
ฮังการีขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในชาติอียูที่มีจุดยืนฝักใฝ่รัสเซียมากที่สุด และต้องพึ่งพาทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในปริมาณมหาศาล
รัสเซียมีโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในฮังการี ขณะที่รัฐบาลบูดาเปสต์ก็เคยขัดขวางแพกเกจคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียของอียูมาแล้ว กระทั่งเจรจาขอรับการยกเว้นนำเข้าได้สำเร็จ
“สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ก็คือ ยิ่งเราคว่ำบาตรพวกเขามากเท่าไหร่ เศรษฐกิจของเราก็ยิ่งแย่ลง ถามว่าคนรัสเซียเดือดร้อนไหม? แน่นอนพวกเขาเจ็บปวด แต่ก็ยังอยู่รอดได้ และที่ร้ายไปกว่านั้นคือพวกเขายังสามารถรุกคืบยึดดินแดนยูเครนได้มากขึ้นด้วย” บาลาซ ออร์บาน ระบุ
“เราเดินมาถึงจุดที่ควรตระหนักได้ว่า เราใช้ยุทธศาสตร์นี้มา 4 เดือนแล้ว แม้จะประสบความสำเร็จบ้าง แต่ถ้ามองกันด้วยเหตุด้วยผล หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปยุโรปจะเป็นฝ่ายเดือดร้อน ดังนั้นเราต้องมองแนวทางอื่นๆ บ้าง เช่น การเจรจา การหยุดยิง สันติภาพ และการทูต นั่นคือทางออกสำหรับเรา”
นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มต้นปฏิบัติการทางทหารในยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. กลุ่ม 27 ชาติอียูได้ออกแพกเกจคว่ำบาตรมอสโกมาแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการอายัดทรัพย์สินและแบนวีซ่าพวกนักธุรกิจทรงอิทธิพล (oligarchs) และเจ้าหน้าที่รัฐบาลหมีขาว ควบคุมการส่งออก อายัดทรัพย์สินธนาคารกลางรัสเซีย ตัดสถาบันการเงินรัสเซียออกจากเครือข่ายธุรกรรมการเงิน SWIFT และห้ามการนำเข้าน้ำมันและถ่านหินจากรัสเซีย
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ยุโรปบางคนออกมาเตือนว่า พวกมหาเศรษฐีรัสเซียอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเรือยอตช์หรือบ้านพักหรูในยุโรป และอาจจะยักย้ายถ่ายโอนสินทรัพย์สภาพคล่อง (liquid assets) จำพวกเงินสดออกจากอียูไปแล้วก็เป็นได้ ส่วนมาตรการจำกัดการส่งออกก็อาจจะถูกหลบเลี่ยงโดย “จีน” หรือประเทศคู่ค้าของรัสเซียรายอื่นๆ
การที่ยุโรปอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนต่อมอสโกมากนัก เพราะทุกวันนี้รัสเซียยังมีรายได้วันละหลายพันล้านดอลลาร์จากการขายน้ำมันและก๊าซให้ยุโรป และต่อให้ยุโรปหยุดซื้อน้ำมันรัสเซียอย่างสิ้นเชิงในปีหน้า น้ำมันดิบเหล่านี้ก็ยังสามารถส่งขายให้ “จีน” หรือ “อินเดีย” ได้อยู่ดี
เจ้าหน้าที่ยุโรปบางส่วนยังเชื่อว่ามาตรการคว่ำบาตรจะบ่อนทำลายเศรษฐกิจรัสเซียได้แน่นอน เพียงแต่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล
ที่มา : รอยเตอร์