รอยเตอร์/เอพี/เอเจนซีส์ - กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงเครื่องบินรบจีนร่วม 29 ลำ รวมเครื่องบินทิ้งระเบิด H-6 จำนวน 6 ลำ และเครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศอีก 1 ลำ ล้ำเข้าเขตปกป้องตัวเองทางอากาศไทเปวันอังคาร (21 มิ.ย.) ใหญ่สุดนับตั้งแต่พฤษภาคมที่ผ่านมา
รอยเตอร์รายงานวานนี้ (22 มิ.ย.) ว่า ไต้หวันส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นฟ้าเข้าสกัดการลุกล้ำทางอากาศเขต ADIZ ของไทเปในวันอังคาร (21) หลังปักกิ่งส่งเครื่องบินรบ PLA จำนวน 29 ลำบุกรุกเข้ามา
เอพีและรอยเตอร์รายงานว่า อ้างอิงจากแถลงการณ์กระทรวงกลาโหมไต้หวันพบว่า เครื่องบินจำนวน 29 ลำ ประกอบไปด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด H-6 ราว 6 ลำ เครื่องบินสำหรับเติมน้ำมันกลางอากาศ 1 ลำ เครื่องบินต่อต้านอิเล็กทรอนิกวอร์แฟร์ 1 ลำ เครื่องบินรบขับไล่ 17 ลำ เครื่องบินเตือนล่วงหน้าและควบคุม 1 ลำ เครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ 1 ลำ เครื่องบินสอดแนม 1 ลำ
เป็นการส่งเข้าก่อกวนไต้หวันชุดใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่ต้นปีและเกิดขึ้นไม่ถึงเดือนหลังจากที่ปักกิ่งส่งฝูงบินรบ PLA จำนวน 30 ลำ ล้ำเข้าเขต ADIZ ไต้หวันในภารกิจที่คล้ายกัน
กระทรวงกลาโหมไต้หวันชี้จากแผนที่พบว่า มีเครื่องบินบางส่วนบินเข้าพื้นที่มาทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะปราตัส (Pratas island) ซึ่งเป็นเกาะในการปกครองของไต้หวันในทะเลจีนใต้
รอยเตอร์ชี้ว่า อย่างไรก็ตามพบว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดจีนที่มีเครื่องบินสอดแนมและเครื่องบินต่อต้านอิเล็กทรอนิกวอร์แฟร์ประกบมาด้วยได้บินเข้าสู่ช่องแคบบาชิ (Bashi Channel) ที่กั้นระหว่างไต้หวันและฟิลิปปินส์ก่อนที่จะบินเข้าไปในมหาสมุทรแปซิฟิก ก่อนที่จะบินกลับเข้าไปในจีนในเส้นทางเดิมที่บินมา
กระทรวงกลาโหมไต้หวันกล่าวว่า ในการตอบโต้นอกจากที่จะส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นสกัดเพื่อส่งสัญญาณเตือนและสั่งให้ระบบมิสไซล์เตรียมความพร้อมและจับตาต่อความเคลื่อนไหว
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวผ่านแถลงการณ์ต่อรอยเตอร์ในเรื่องนี้ว่า ปักกิ่งสมควรต้องยกเลิกการกดดันและคุกคามทางทหาร การทูตและทางเศรษฐกิจต่อไต้หวัน
ขณะที่เรือรบสหรัฐฯ ยังคงแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันในปฏิบัติการเสรีภาพการเดินเรือ และในวันที่ 10 พ.ค. สหรัฐฯ ส่งเรือ USS พอร์ต โรแยล (USS Port Royal) ที่มีระบบมิสไซล์นำวิถีวิ่งผ่าน
เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามวาทะระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่โต้เถียงประเด็นช่องแคบไต้หวันว่าเป็นน่านน้ำสากลหรือไม่ โดยในวันพุธ (16) ก่อนหน้าสหรัฐฯ กล่าวยืนยันกับนิวสวีกว่า สหรัฐฯ จะยังคงจุดยืนเดิมที่ถือช่องแคบไต้หวันเป็นน่านน้ำสากล และเป็นเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศ
ซึ่งส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ย้ำว่า สหรัฐฯ จะยังคงบิน เดินเรือ และปฏิบัติการในที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตและนั่นรวมไปถึงช่องแคบไต้หวัน โดยฝ่ายสหรัฐฯ ชี้ว่า มีเสรีภาพการเดินเรือและเสรีภาพการบินผ่านช่องแคบไต้หวันตามกฎหมายระหว่างประเทศ
เอพีรายงานว่า การออกมาปฏิเสธอำนาจอธิปไตยจีนเหนือช่องแคบไต้หวันจากสหรัฐฯ สร้างความไม่พอใจให้ปักกิ่งเป็นอย่างมาก โดยในบทบรรณาธิการวันพุธ (22) ของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สซึ่งเป็นกระบอกเสียงของปักกิ่งยังคงอ้างว่า ตลอดระยะความยาว 180 กิโลเมตรของช่องแคบไต้หวันนั้นไม่ใช่น่านน้ำสากลตามที่สหรัฐฯ กล่าวอ้าง แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของปักกิ่งเนื่องมาจากไต้หวันถือเป็นส่วนหนึ่งของจีน