xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอิเหนาจ่อพบ ‘เซเลนสกี-ปูติน’ ร่วมดับไฟสงครามก่อนเป็นเจ้าภาพประชุม G20

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซียในฐานะประธานกลุ่ม G20 จะเดินทางเยือนยูเครนและรัสเซียในสัปดาห์หน้า เพื่อมีส่วนร่วมไกล่เกลี่ยให้ทั้ง 2 ฝ่ายปิดฉากสงครามด้วยสันติวิธี ซึ่งจะถือเป็นผู้นำเอเชียคนแรกที่เดินทางไปเยือนเคียฟและมอสโกเพื่อภารกิจนี้

สงครามรัสเซีย-ยูเครนถือเป็นวิกฤตการณ์ที่บั่นทอนบรรยากาศการประชุมผู้นำกลุ่ม G20 ที่อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย.ปีนี้ โดยรัฐบาลอิเหนาพยายามสร้างความเป็นเอกภาพในหมู่รัฐสมาชิกท่ามกลางแรงกดดันจากชาติตะวันตกที่ขู่จะ “บอยคอตต์” ไม่เข้าร่วมประชุม หากมีการเชิญผู้นำรัสเซียมาด้วย

เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย แถลงวันนี้ (22 มิ.ย.) ว่า แผนการเยือนรัสเซียและยูเครนของประธานาธิบดี วิโดโด หรือที่ชาวอิเหนาเรียกกันสั้นๆ ว่า “โจโกวี” จะถูกดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ “ไม่ปกติ”

“ประธานาธิบดีมีความห่วงใยวิกฤตมนุษยธรรมที่เกิดขึ้น และจะพยายามร่วมแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านอาหารอันเป็นผลพวงจากสงครามที่ส่งผลกระทบไปยังทุกประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่มีรายได้น้อย” มาร์ซูดี กล่าว

“และท่านจะพยายามผลักดันให้ทุกฝ่ายมุ่งไปสู่การสร้างสันติภาพ”


การสู้รบที่ยืดเยื้อมาเกือบ 4 เดือนเต็มทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน จุดชนวนวิกฤตอาหารและราคาพลังงานพุ่งสูง และทำให้หลายๆ ประเทศประสบวิกฤตเงินเฟ้อครั้งใหญ่ ขณะที่บางชาติเริ่มจำกัดการส่งออกสินค้าเพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ

ประธานาธิบดี วิโดโด มีกำหนดเข้าพบกับประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้เอ่ยปากเชื้อเชิญผู้นำทั้งสองให้มาร่วมการประชุม G20 ที่เกาะบาหลีช่วงปลายปีนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียยังปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ วิโดโด อาจจะหยิบยกมาพูดคุยกับ เซเลนสกี และปูติน

“สถานการณ์ค่อนข้างซับซ้อนในตอนนี้ สงครามที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่จะส่งผลกระทบกับมนุษยชาติ ทั้งในด้านวิกฤตอาหาร พลังงาน และการเงิน” มาร์ซูดี กล่าว พร้อมเผยว่าในฐานะประธาน G20 ผู้นำอินโดนีเซียได้มีการหารือกับผู้นำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เยอรมนี และตุรกีไปแล้วก่อนหน้านี้

“เราตัดสินใจไม่ใช้การทูตแบบป่าวประกาศ (megaphone diplomacy) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อโลก” เธอเอ่ยเสริม

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น