เอเจนซีส์ - นักข่าวรัสเซียชื่อดัง ดมิตรี มูราตอฟ (Dmitry Muratov) เตรียมเปิดประมูลรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพที่ชนะไปในปีที่ผ่านมาให้บรรดาเด็กๆ ของยูเครนที่พลัดถิ่นเพราะสงครามที่ก่อโดยเครมลินในคืนวันจันทร์ (20 มิ.ย.) และเงินที่ได้จะส่งเข้าโดยตรงไปที่องค์การยูนิเซฟของสหประชาชาติ ซึ่งตลอดช่วงเวลาสงครามที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในยูเครนมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ นักข่าวฝ่ายค้านชื่อดังรัสเซียกล่าวว่า เขาวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อชะตากรรมของเด็กกำพร้ายูเครนเหล่านี้
วอชิงตันเอ็กแซมมิเนอร์ของสหรัฐฯ รายงานวันนี้ (20 มิ.ย.) ว่า นักข่าวรัสเซีย ดมิตรี มูราตอฟ (Dmitry Muratov) กล่าวผ่านแถลงการณ์ทางวิดีโอมีใจความว่า “มันจะต้องเป็นการเริ่มต้นของแฟลชม็อบในฐานะตัวอย่างให้ทำตามเพื่อให้คนหันมาประมูลของมีค่าที่อยู่ในความครอบครองเพื่อช่วยเหลือชาวยูเครน”
การคว่ำบาตรนานาชาติที่มีต่อรัสเซีย ไม่ได้รวมไปถึงความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเพื่อช่วยเหลือชาวยูเครนที่ยากไร้ มูราตอฟ กล่าวเสริม และเรียกร้องให้คนทั่วโลกหันมาทำตามอย่าง
ทั้งนี้ การประมูลสำหรับเหรียญรางวัลโนเบลสันติภาพที่ถือเป็นรางวัลสูงสุดของรางวัลโนเบลที่เขาชนะมาในปี 2021 ร่วมกับนักข่าวฟิลิปปินส์ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. และนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงล่าสุดเช้าวันจันทร์ (20) มีมูลค่าที่เสนอประมูลสูงถึง 550,000 ดอลลาร์ โดยองค์กรผู้จัดการประมูลได้กล่าวว่า เชื่อว่าเงินที่ได้จะสูงกว่านี้ก่อนจะสิ้นสุดของวันจันทร์ (20)
โจชัว เบเนช (Joshua Benesh) เจ้าหน้าที่หัวหน้ายุทธศาสตร์ประจำสถาบันเฮอริเทจ อัคชันส์ (Heritage Auctions) เปิดเผยกับเอพีว่า ถือเป็นดีลที่ดีมากๆ โดยเขาแสดงความเห็นว่า “ไม่ใช่ทุกคนในโลกที่มีรางวัลโนเบลเพื่อประมูล และไม่ใช่ทุกวันของสัปดาห์ที่จะได้เห็นรางวัลโนเบลเข้ามาสำหรับการประมูล”
มูราตอฟ ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2021 จากการทำงานอย่างหนักในฐานะนักข่าวท่ามกลางสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยากลำบากของการเซ็นเซอร์ และการนำเสนอข่าวอย่างเป็นอิสระในการรายงานเปิดโปงรัฐบาลเครมลินของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน
ทั้งนี้ มูราตอฟที่ผ่านมาได้ต่อสู้เพื่อเป็นอิสระในการเสนอข่าวภายใต้มาตรการที่กดดันจากเครมลิน และมักต้องพบกับการคุกคามถึงชีวิตสำหรับการก่อตั้งสำนักข่าวอิสระรัสเซีย โนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta) ที่เขาทำหน้าที่ในฐานะบรรณาธิการบริหาร
แต่ทว่าโนวายา กาเซตา กลับถูกปิดลงในเดือนมีนาคม ท่ามกลางการกวาดล้างนักข่าวและนักสื่อสารมวลชนทั่วประเทศและต่อต้านอย่างเปิดเผยต่อปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของปูตินในยูเครน สื่อสหรัฐฯ รายงานว่านับตั้งแต่ โนวายา กาเซตา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1993 พบว่ามีนักข่าวเสียชีวิตไปแล้วถึง 6 คน
ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคมนักข่าวรัสเซียเคยประกาศว่า เขาจะบริจาคเงินสดจำนวน 500,000 ดอลลาร์ที่ได้รับมาพร้อมกับรางวัลโนเบลให้กองทุนผู้ลี้ภัยยูเครน
เอเอฟพีรายงานว่า รัสเซียถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 150 ของดัชนีเสรีภาพสื่อโลก WPFI (World Press Freedom Index) ประจำปี 2021 หล่นไป 1 ลำดับจากปี 2020 อ้างอิงจากองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders)