ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ซอลซ์ แห่งเยอรมนี และนายกรัฐมนตรี มาริโอ ดรากี แห่งอิตาลี เดินทางโดยรถไฟไปถึงกรุงเคียฟในวันนี้ (16 มิ.ย.) ซึ่งถือเป็นการไปเยือนยูเครนครั้งแรกของผู้นำ 3 ชาติใหญ่ที่สุดในอียูนับตั้งรัสเซียเปิดฉากรุกรานในเดือน ก.พ.
กำหนดการเยือนในครั้งนี้ถูกวางแผนอย่างเงียบๆ มานานหลายสัปดาห์ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้นำทั้ง 3 ชาติไม่ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือต่อยูเครนมากเท่าที่ควร
สถานีโทรทัศน์ BFM TV ได้ถ่ายทอดสดนาทีที่ขบวนรถไฟพา 3 ผู้นำยุโรปเดินทางจากโปแลนด์ไปถึงเมืองหลวงยูเครน โดยประธานาธิบดี มาครง ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากก้าวลงสู่ชานชาลาว่า “นี่คือช่วงเวลาสำคัญ และเราต้องการส่งสารแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไปถึงชาวยูเครน”
เมื่อถามว่าเหตุใดผู้นำทั้ง 3 ชาติจึงเลือกที่จะมาเยือนเคียฟในเวลานี้ เจ้าหน้าที่ทำเนียบเอลีเซ่คนหนึ่งให้คำตอบว่า เนื่องจากเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดก่อนจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอียูในสัปดาห์หน้า ซึ่งหนึ่งในวาระสำคัญก็คือการพิจารณาว่าจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอียูหรือไม่
ชอลซ์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Bild ของเยอรมนีว่า ตนและผู้นำอีก 2 ท่านไม่เพียงหวังที่จะแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับยูเครนเท่านั้น แต่ยังรับรองด้วยว่า “ความช่วยเหลือที่เราได้จัดเตรียมทั้งในด้านการเงิน มนุษยธรรม หรือแม้กระทั่งอาวุธ จะยังคงถูกมอบให้แก่ยูเครนต่อไป.... ตราบเท่าที่มีความจำเป็นสำหรับการต่อสู้ของยูเครน”
ในวันศุกร์นี้ (17) คณะกรรมาธิการยุโรปจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานะ “ผู้สมัคร” ของยูเครน ซึ่งเป็นประเด็นที่บรรดาชาติใหญ่ๆ ในยุโรปยังคงลังเล
มาครง ให้สัมภาษณ์ที่โรมาเนียเมื่อวันพุธ (15) โดยระบุว่า “ถึงเวลาแล้ว” ที่ยุโรปจะต้องให้ความมั่นใจแก่ยูเครนเกี่ยวกับเจตนารมณ์ต่างๆ ของอียู
“มันถึงจุดที่พวกเราจะต้องส่งสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจน สิ่งที่พวกเราชาวยุโรปจะมอบแก่ยูเครนและประชาชนของพวกเขาที่กำลังต่อสู้อย่างหาญกล้าเยี่ยงวีรบุรุษ” มาครง กล่าวโดยไม่ลงรายละเอียด
รัฐบาลเคียฟกล่าวหาฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ว่าล่าช้าในการจัดส่งอาวุธเพื่อช่วยยูเครนต่อต้านการบุกของรัสเซีย และมองว่าทั้ง 3 ชาติเห็นความเจริญรุ่งเรืองของชาติตนเองสำคัญกว่าเสรีภาพและความมั่นคงของยูเครน
โอเล็กซี อเรสโตวิช ที่ปรึกษาของประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Bild ในสัปดาห์นี้ว่า ตนรู้สึกกังวลว่าผู้นำ 3 ชาติยุโรปอาจ “กดดัน” ให้เคียฟต้องยอมรับข้อตกลงสันติภาพในแบบที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน พึงพอใจเพื่อยุติสงคราม
“พวกเขาคงจะบอกให้เรายุติสงครามซึ่งทำให้เกิดวิกฤตด้านอาหารและปัญหาเศรษฐกิจ และให้เราต้องช่วยรักษาหน้าคุณปูติน” อเรสโตวิช กล่าว โดยอ้างถึงถ้อยแถลงของผู้นำฝรั่งเศสที่บอกว่ายูเครนไม่ควรบีบให้ ปูติน ต้อง “อับอายขายหน้า” เกินไป
ด้านนายกฯ อิตาลีได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร (14) ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องผลักดันให้ยูเครนและรัสเซียเปิดเจรจาสันติภาพโดยเร็วที่สุด “ทว่าเงื่อนไขของข้อตกลงก็จะต้องเป็นสิ่งที่ยูเครนรับได้ด้วย”
ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี