xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ออสติน” บินพบประยุทธ์ถึงกรุงเทพฯ กระชับสัมพันธ์แน่น เสนอตัวช่วยปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย เปิดวาทะเด็ด ...

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.) นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมอีกหนึ่งตำแหน่ง พบรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน หลังเคยพบก่อนหน้าเดือนที่แล้วที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพนตากอนออกแถลงการหารือร่วมสุดชื่นมื่น ผู้นำไทยมีความเห็นเดียวกับสหรัฐฯ ในประเด็นความมั่นคงระดับภูมิภาค ฝ่ายสหรัฐฯ แสดงความสนใจกระชับความสัมพันธ์แนบแน่นเพิ่มปฏิบัติการร่วมการร่วมระหว่างกัน และสนับสนุนการปรับปรุงกองทัพให้มีความทันสมัยตามความต้องการฝ่ายไทย

เอพีรายงานวันนี้ (14 มิ.ย.) ว่า ภายใต้นโยบายเน็ตเวิร์กความเป็นหนึ่งของความเป็นพันธมิตรและพาร์ตเนอร์ของวอชิงตันในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งนี้รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน เดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อพบกับนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมฝ่ายไทย และทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสหารือร่วมกัน

เอพีชี้ว่า ผู้นำทั้งสองเคยพบกันก่อนหน้านี้แล้วที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ในเดือนที่ผ่านมาระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพ

และสำหรับออสตินนั้นการเดินทางเข้ามาที่ไทยเมื่อวานนี้ (13) ถือเป็นครั้งแรกของเขาในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ สื่อในประเทศรายงานว่า ผู้นำไทยต้องการหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ด้านการจัดซื้ออาวุธต่างๆ รวมไปถึงเครื่องบิน F-35 แต่ทว่าเจ้ากระทรวงเพนตากอนไม่ได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้

เอพีรายงานว่า แถลงการณ์ที่ออกมาจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หลังเสร็จสิ้นมีใจความว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมในมุมมองด้านประเด็นความมั่นคงระดับภูมิภาค และยังมีการหารือของโอกาสการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสหรัฐฯ และไทย

ในแถลงการณ์ยังระบุต่อว่า ออสตินได้ประกาศความสนใจของวอชิงตันต่อการเพิ่มความแข็งแกร่งของความสามารถในปฏิบัติการร่วมระหว่างกองกำลังสหรัฐฯ และของไทยและการสนับสนุนต่อความต้องการของฝ่ายไทยสำหรับปรับปรุงกองทัพไทยให้มีความทันสมัย

แถลงการณ์ยังชี้ต่อว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และออสตินได้หารือไปถึงความร่วมมือเป็นอย่างแรกในด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่ทั้งด้านไซเบอร์และเทคโนโลยีอวกาศ และรวมไปถึงการเรียกร้องจากฝ่ายไทยสำหรับความร่วมมือเพิ่มขึ้นทางด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ

อ้างอิงจากเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ไม่ได้อยู่ในรายงานของเอพีพบว่า ออสตินกล่าวที่กรุงเทพฯ มีใจความว่า “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกถือเป็นความสำคัญยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ เป็นขุมอำนาจระดับโลกที่มีผลประโยชน์ทั่วโลกและพร้อมไปกับความรับผิดชอบ และ “ระหว่างเรากำลังเดิน และ (เรา) เคี้ยวหมากฝรั่งในเวลาเดียวกัน”

(The Indo-Pacific is a U.S. national security strategy priority, but the United States is a global power with global interests and responsibilities, and "we are walking and chewing gum at the same time. )

ซึ่งเป็นการเปิดฉากเยือนภูมิภาคของออสตินที่มีเป้าหมายต้องการให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนั้นเปิดกว้างและเสรีเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำให้การสนับสนุนยูเครนด้านยุทโธปกรณ์ทางการทหารในการสู้รบกับ “รัสเซีย” มหาอำนาจนิวเคลียร์ขั้วตรงข้ามไปพร้อมกัน

ออสตินกล่าวที่กรุงเทพฯ ถึงสาเหตุที่อเมริกันระหว่างเดินสามารถเคี้ยวหมากฝรั่งได้อย่างใจเย็นไปพร้อมกันเป็นเพราะนโยบายเน็ตเวิร์กที่ไม่สามารถเทียบเคียงได้ของความเป็นพันธมิตรและพาร์ตเนอร์ของสหรัฐฯ (Unparalleled network of alliances and partnerships) 

เอบีซีนิวส์ สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า เขาแสดงความรู้สึกที่มีความภาคภูมิใจที่นโยบายเน็ตเวิร์กของความเป็นพันธมิตรและพาร์ตเนอร์ของวอชิงตันนั้นหยั่งรากลึกในปีที่ผ่านมา

"จีน" ถือเป็นเป้าหมายใหญ่ของสหรัฐฯ และออสตินในภูมิภาคจากประเด็นไต้หวันและทะเลจีนใต้และการสยายอำนาจและอิทธิพลของปักกิ่งไปทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งล่าสุด จีนได้ช่วยกัมพูชาประเทศเพื่อนบ้านของไทยในการพัฒนาฐานทัพเรียมบริเวณอ่าวไทยที่จะเปิดโอกาสให้ "จีน" สามารถเข้ามาใช้ในด้านการทหารภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะสร้างความวิตกให้สหรัฐฯ ออสเตรเลียแล้ว ยังรวมไปถึงเวียดนามและอาจมีไทยรวมอยู่ในนั้น

บีบีซีภาคภาษาไทยเคยรายงานว่า เอเชีย ไทมส์ ได้อ้างแหล่งข่าวทางการทูต และนักวิเคราะห์หลายคน โดยไม่ได้ระบุชื่อ มีเนื้อหาว่า รัฐบาลจีนได้โน้มน้าวกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2017 เพื่อขอตั้งฐานทัพเรือ ซึ่งสามารถใช้รองรับเรือรบขนาดกลาง เรือพิฆาต และเรืออื่นๆ ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

เดอะการ์เดียนรายงานวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาอ้างอิงการรายงานหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ที่ได้อ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า ฐานทัพเรือเรียม (Ream Naval Base) ของกัมพูชาที่ได้รับการช่วยเหลือด้านการก่อสร้างจากปักกิ่งจะมีบางส่วนที่จะถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการทหารของกองทัพจีนและถือเป็น “ฐานทัพแรกของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มีสำคัญทางยุทธศาสตร์ของจีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ปักกิ่งในการสร้างเครือข่ายที่ตั้งทางการทหารทั่วโลกเพื่อต้องการยกระดับตัวเองให้กลายเป็นขั้วอำนาจระดับโลก" แข่งกับสหรัฐฯ โดยฐานทัพจีนนอกประเทศมีเพียงแห่งเดียวอยู่ที่จิบูตี (Djibouti) ในทวีปแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม ทั้งจีนและกัมพูชาออกมาปฏิเสธข่าวที่ชี้ไปว่า จีนจะเข้ามาใช้ฐานทัพเรียมใกล้ไทยในกัมพูชา

ซึ่งออสตินได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังการเสร็จสิ้นการหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการทำให้การเยือนเปลี่ยนเป็นความคาดหมาย

“ความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้คือผลประโยชน์ที่สำคัญของสหรัฐฯ และวิสัยทัศน์ของการเป็นภูมิภาคอินโด-แปฟิซิกที่เปิดกว้างและเสรีที่ “พวกเรา” แบ่งปันร่วมกันกับพันธมิตรและพาร์ตเนอร์ของพวกเราในระดับภูมิภาค” ออสตินประกาศจุดยืนของสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในที่ประชุมแชงกรีลา ไดอะล็อก

ซึ่งสำหรับการเดินทางมาไทยรอบนี้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แวะมาที่กรุงเทพฯ ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามเพื่อเพิ่มความร่วมมือขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ในแถลงการณ์กล่าวว่า กองทัพสหรัฐฯ “กำลังทำงาน” ร่วมกับกองกำลังของไทยในการปรับปรุงกองทัพไทยให้มีความทันสมัย ได้มีการหารือโดยมีศูนย์กลางในประเด็นนี้และเพิ่มการฝึกซ้อมรบร่วมภายใต้ปฏิบัติการคอบบร้าโกลด์ "ให้มีความซับซ้อนก้าวหน้ามากขึ้น"




กำลังโหลดความคิดเห็น