เอพี/MGRออนไลน์ - กลุ่มฮิวแมนไรท์วอชล่าสุดวันนี้ (7 มิ.ย.) ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทยที่ส่งชาวโรฮิงญาจำนวน 59 คน ที่เดินทางออกมาจากบังกลาเทศออกไปโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ UNHCR เข้าประเมินสถานะผู้ลี้ภัยเหล่านี้ แต่รีบผลักไสกลับลงทะเลทันทีปล่อยให้เสี่ยงตายตามยถากรรม
เอพีรายงานวันนี้ (7 มิ.ย.) ว่า นับตั้งแต่ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาที่เคยอาศัยในพม่าโดนกวาดล้างอย่างหนักเมื่อปี 2017 และทำให้ต้องหนีตายออกนอกประเทศไปกว่า 700,000 ราย ส่วนใหญ่หนีเข้าไปในบังกลาเทศที่มีพรมแดนติดกัน หรือไม่ก็มาเลเซียทางทะเล ซึ่งการกวาดล้างครั้งใหญ่นี้ทั้งสหรัฐฯ และชาติต่างๆ ประณามว่า เข้าขั้นระดับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
และนับตั้งแต่นั้นมาพบว่าโรฮิงญาต่างพากันฝ่าอันตรายเพื่อที่จะได้แสวงหาสู่ดินแดนใหม่ที่สามารถเป็นบ้านที่แท้จริงได้ แต่ทว่าการเดินทางที่ยากลำบากเหล่านี้มักถูกดำเนินการโดยกลุ่มค้ามนุษย์ผิดกฎหมายที่เรียกร้องค่าตอบแทนมหาศาลสำหรับนำชาวโรฮิงญาใส่ในเรือพายท้องแบนที่หากว่าไม่จมลงระหว่างทางเนื่องมาจากคลื่นลมแรงหรือพายุ ก็มักจะต้องขึ้นที่ฝั่งแห่งใดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มักจะพบกับเรือชนกลุ่มน้อยจากโรฮิงญา โดยทางการไทยมีนโยบายในการผลักดันผู้หนีภัยเหล่านี้กลับลงทะเลแต่หลังจากที่ให้ทั้งอาหาร น้ำ และน้ำมันเชื้อเพลิงตามการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
เอพีรายงานว่า ชาวโรงฮิงญาที่ล่องมาขึ้นฝั่งถึงไทยจะถูกฝ่ายทางการไทยควบคุมตัวไว้หรือไม่จะถูกแก๊งค้ามนุษย์ส่งไปทำงานใช้แรงเยี่ยงทาส
กองทัพเรือไทยแถลงว่า ได้ส่งชาวโรฮิงญาจำนวน 59 คน กลับออกไปหลังคนทั้งหมดล่องเรือหาปลาขนาดใหญ่จากบังกลาเทศมาจนถึงไทย โดยคนทั้งหมดขึ้นฝั่งที่เกาะกลางทะเลอันดามันของไทย
ในแถลงการณ์ระบุว่า “เมื่อคนเหล่านี้มาถึงพบว่ากัปตันเรือได้นำคนทั้งหมดมาที่เกาะแห่งนี้พร้อมกับกล่าวว่านี่คือมาเลเซีย”
ทั้งนี้ พบว่าชาวโรฮิงญาทั้งหมดที่หนีภัยมาประกอบไปด้วยชาย 31 คน หญิง 23 คน เด็กชาย 3 คน และเด็กหญิงอีก 2 คนถูกควบคุมตัวหลังทางการฝ่ายไทยพบว่าเข้าประเทศผิดกฎหมายเมื่อวันเสาร์ (4) ที่เกาะดง
สื่อไทยรายงานก่อนหน้าว่า คนทั้งหมดต่างอยู่ในสภาพอิดโรยและหิวโหย โดยนายพันธ์พงศ์ คงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล ในวันเสาร์ (4) ได้รับรายงานจากนายมุมีน มะลินี ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ว่าขณะที่นำเรือตรวจการณ์พร้อมเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราป้องกันตามภารกิจปกติ เมื่อถึงบริเวณเกาะดง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะหลีเป๊ะ ประมาณ 8 ไมล์ อยู่ห่างจากฝั่ง อ.เมืองสตูล ประมาณ 80 ไมล์ พื้นที่หมู่ที่ 8 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล จึงเข้าตรวจสอบ
เบื้องต้นพบเป็นชาวโรฮิงญา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่นั่งอยู่ตามโขดหินบนเกาะดงประมาณ 50-70 คน แยกอยู่กันเป็นกลุ่มๆ แต่ละคนมีสภาพอิดโรย หลังจากนั้นจึงได้ประสานทหารเรือ หน่วยปฏิบัติการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 491 ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ อ.เมืองสตูล เข้าตรวจสอบและสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าน่าจะนำมาปล่อยไว้เมื่อคืนวันศุกร์ (3)
เอพีรายงานว่าในแถลงการณ์ของกองทัพเรือไทยยืนยันว่า ชาวโรฮิงญาทั้ง 59 คนนี้ได้ถูกส่งกลับออกไปจากเกาะดงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในแถลงการณ์ยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ทางกองทัพจะยังคงดำเนินตามกระบวนการตามมาตรฐานของไทยที่รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมสำหรับบุคคลที่เข้าข่ายว่าจะเป็นต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย
แต่การส่งตัวชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาที่รอนแรมมานานกลางทะเลจากบังกลาเทศออกไปโดยไม่ยอมให้ที่พักพิงนี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนชื่อดังที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ "ฮิวแมนไรท์วอช" โดยทางกลุ่มออกมาวิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าฝ่ายทางการไทยมีหน้าที่ต้องประเมินคนเหล่านี้ว่า เข้าข่ายสถานะผู้ลี้ภัย หรือไม่ก่อนที่จะผลักไสคนทั้งหมดพ้นจากพรมแดนออกไป
อีเลน เพียร์สัน (Elaine Pearson) รักษาการผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอชประจำภาคพื้นเอเชียกล่าวผ่านแถลงการณ์มีใจความว่า “การปกป้องชาวโรฮิงญาผู้ขอลี้ภัยถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาลไทยที่ต้องอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยประจำสหประชาชาติ UNHCR ในการเข้าตรวจสอบสถานะผู้ลี้ภัยผ่านทางการสัมภาษณ์”
และในแถลงการณ์ยังกล่าวต่อว่า “รัฐบาลไทยสมควรที่ต้องยุตินโยบายควบคุมตัวชาวเรือมนุษย์โรงฮิงญาที่ช่วยไว้ได้แต่โยนกุญแจทิ้ง” โดยชี้เป็นนัยว่าเป็นนโยบายที่ควบคุมตัวคนเหล่านี้อย่างไม่มีกำหนด และชี้ต่อว่า “ไทยสมควรอนุญาตให้สำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเข้าตรวจสอบชาวโรฮิงญาที่เดินทางมาถึงไทยเพื่อตรวจสอบและให้การช่วยเหลือสำหรับคนเหล่านี้ที่แสวงหาสถานะผู้อพยพ”
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมมีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 16 คนหลังจากเรือเกิดล่มระหว่างพายุทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า แต่มีผู้รอดชีวิตมาได้ 35 ราย